24 มี.ค. 2567

การสอบสวนทางวินัย บุคคลซึ่งเคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมาก่อน ได้เข้าประชุม อ.ก.พ. กรมฯด้วยอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               การดำเนินการสอบสวนทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่ปรากฏบทบัญญัติใดที่บัญญัติถึงกรณีความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ไว้ แต่เมื่อการพิจารณาความผิดทางวินัย ถือเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงต้องนำหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาบังคับใช้เพื่อประกันความเป็นธรรมให้กับคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
               การพิจารณาความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 13 หรือมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังเช่น กรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีการดำเนินการทางวินัยตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จนกระทั่งมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่ปรากฏว่าหนึ่งในอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนเป็นคนเดียวกับประธานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาความผิดทางวินัยในเรื่องเดียวกันด้วย จะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีเหตุอันมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
               ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษากรณีดังกล่าวไว้
               คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.795/2555  ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (อธิบดีกรมการจัดหางาน) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่เรียกรับเงินจากนายจ้างคนงานต่างด้าว โดยมีนาย พ. เป็นประธานกรรมการสอบสวน และคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงควรลงโทษไล่ออกจากราชการ หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับรายงานแล้วก็ได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานพิจารณา ซึ่งในการประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน นาย พ. ได้เข้าประชุม ในฐานะ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานด้วย และที่ประชุมมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงมีคำสั่งตามมติดังกล่าว
               ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับมติจึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ. และหลังจาก ก.พ. มีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าการสอบสวนไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี
               ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการเข้าประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางานของนาย พ. ซึ่งเคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมาก่อนมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามนัยมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 
               ผู้ถูกฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยโต้แย้งว่าการประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ต้องให้กรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการประชุมด้วยเพื่อชี้แจงตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยของ อ.ก.พ. เนื่องจากเป็นผู้รู้รายละเอียดในสำนวนการสอบสวนและมีเอกสารการสอบสวนจำนวนมากและนาย พ. ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับกรณีดังกล่าว
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุไม่มีบทบัญญัติและก.พ. ก็ไม่ได้ออกกฎ ก.พ. ไว้ว่า การประชุมของ อ.ก.พ. กรม จะต้องดำเนินการเช่นใด และบุคคลใดมีสิทธิเข้าร่วมประชุมหรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้บังคับตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อการพิจารณากรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ซึ่งถือว่าเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อ.ก.พ. ผู้ทำการพิจารณาจะต้องมีความเป็นกลางหรือไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ ตามมาตรา 13 หรือกรณีมีเหตุอื่น ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง เมื่อนาย พ. เข้าร่วมประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางานในฐานะ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน มิได้เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงตอบข้อซักถามข้อสงสัยของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน และนาย พ. เคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีมาก่อนและเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการอันเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้ง อ.ก.พ.กรมการจัดหางานก็มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งหากมีมติเป็นประการใด ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติดังกล่าว ดังนั้น นาย พ. ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิมตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ อันเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ย่อมเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้การพิจารณาทางปกครองของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มีผลให้มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               โดยสรุปศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักว่า อ.ก.พ. กรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและมติของ อ.ก.พ. กรม มีผลทำให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติดังกล่าว อ.ก.พ. กรม จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองและการประชุม อ.ก.พ. กรม เป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมเป็น อ.ก.พ. กรม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง จึงต้องมีความเป็นกลางตามนัยมาตรา 13 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  หากเจ้าหน้าที่มีความไม่เป็นกลางย่อมส่งผลโดยตรงต่อการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมย่อมจะส่งผลให้คำสั่งทางปกครองที่ผู้มีอำนาจสั่งตามมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

คำมั่นจะให้ต่อสัญญาเช่า ที่ผู้เช่าเดิมตกลงสนองรับเพื่อต่อสัญญาเช่ามาโดยไม่รู้ว่าผู้ให้เช่าเสียชีวิตแล้ว ย่อมมีผลผูกพันผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาท ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่

          ป.พ.พ.  มาตรา 169  "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 360  "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ"

          สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าผู้เช่าได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญัญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม
          แต่คำมั่นดังกล่าวบังคับได้แค่การต่อสัญญาเช่าครั้งแรกจำนวน 3 ปีที่ผู้เช่าสนองรับโดยไม่รู้ถึงความตายของผู้ให้เช่าเท่านั้น ส่วนการต่อสัญญาเช่าครั้งต่อไปนั้นผู้เช่าทราบถึงความตายของผู้ให้เช่าแล้ว กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ ทายาทย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้เช่าได้ เมื่อทายาทมีหนังสือไปยังผู้เช่า แจ้งว่าทายาทผู้รับโอนตึกแถวไม่ประสงค์จะให้ผู้เช่าเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า ทายาทย่อมฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1602/2548 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุตรนาง ป. เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 18657 ตำบลแม่กล่อง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดานาง ป.ซึ่งตกทอดแก่นาง ป.และทายาทอื่น จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทเลขที่ 734/44 ถึง 734/46 รวม 3 คูหา ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว อายุสัญญาเช่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2535 มีเงื่อนไขว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี โดยมีนางสาว ร. ในฐานะตัวแทนทายาทของบิดามารดานาง ป.เป็นผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าของอำเภอ เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกกันปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวและตึกแถวพิพาททั้ง 3 คูหา ตกเป็นของนาง ป.ครั้นนาง ป.ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงจดทะเบียนรับมรดกที่ดินและตึกแถวพิพาทมาเป็นของโจทก์เมื่อปี 2533 เมื่อครบอายุสัญญาเช่าในปี 2535 โจทก์ไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้จำเลยและฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/1537 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทในฐานะผู้เช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จำเลยและบริวารจึงอยู่ในตึกแถวพิพาทเรื่อยมา ต่อมาเมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์ไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยและบริวารยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาท
           คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีก 3 ปี เพราะมีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากจำเลยสนองรับคำมั่นถายในกำหนด สัญญาเช่าจึงไม่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 หรือไม่ เห็นว่า ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 11 มีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็น 2 เท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บในการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งผู้เช่าต้องเสียค่าธรรมเนียมในการต่อสัญญาครั้งละ 30,000 บาท ให้แก่ผู้เช่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไป ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่านาง ป.ถึงแก่กรมไปก่อนแล้วกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของนางสาว ร.ตัวแทนของนาง ป.จึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม... ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลตลอดไปไม่ แม้ข้อความในสัญญาเช่า ข้อ 11 จะเป็นคำมั่นที่นาง ป.ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งได้ความตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่านาง ป.ถึงแก่ความตายแล้ว ตึกแถวพิพาทจึงจกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาทโดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาดังกล่าวไปจากศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน แสดงว่าจำเลยทราบตั้งแต่ขณะนั้นแล้วว่านาง ป.ถึงแก่ความตายแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทตามเอกสารหมาย ล.2 ไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากวว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย ดังนั้น คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.2 จึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.14 แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า ดังนั้น สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่อสัญญาเช่าตามคำพิพากษาในคดีก่อน จำเลยและบริวารจึงไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทภายหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้
       

กรณีที่ผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ ถูกรอนสิทธิ โดยบุคคลภายนอก

          เมื่อมีการรอนสิทธิในทรัพย์ที่เช่าและเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้น โดยผู้เช่าอาจจะเป็นโจทก์หรือถูกบุคคลภายนอกฟ้องเป็นจำเลย ผู้เช่ามีสิทธิขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมกับตนก็ได้ เพื่อศาลจะได้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมเป็นคดีเดียวกัน (มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549)

          มาตรา 477 "เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอก ผู้ซื้อชอบที่จะขอให้ศาลเรียกผู้ขายเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ซื้อในคดีนั้นได้ เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน"
          มาตรา 549 "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร"



          ถ้าผู้เช่าจะเป็นโจทก์ฟ้องบุคคลภายนอกเป็นจำเลย ผู้เช่าจะต้องได้เข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าแล้ว จึงจะมีอำนาจฟ้องบุคคลภายนอกโดยลำพังได้ แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่า ก็ยังไม่มีอำนาจฟ้องบุคคลภายนอกที่ครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ก่อนโดยลำพัง โดยผู้เช่าจะต้องขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วยเท่านั้น จึงจะมีอำนาจฟ้องโดยชอบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2530  โจทก์เช่าตึกแถวจากวัด แต่ไม่สามารถเข้าครอบครองได้เพราะจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้รอนสิทธิพร้อมกับขอให้ศาลเรียกวัดผู้ให้เช่าเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 477 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2533  โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินและอาคารพิพาทจากผู้ให้เช่าเพื่อประกอบการค้าและอยู่อาศัย จำเลยและบริวารได้เข้าไปใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยในที่ดินและอาคารพิพาท โจทก์แจ้งให้ออกไปแล้วจำเลยไม่ยอมออก ซึ่งแปลความได้ว่าจำเลยได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินและอาคารพิพาทหลังจากโจทก์ทำสัญญาเช่าและผู้ให้เช่าส่งมอบที่ดินและอาคารพิพาทให้โจทก์แล้ว ซึ่งเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยลำพัง แต่ข้อเท็จจริงที่นำสืบมาฟังได้ว่าโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองและใช้สอยที่ดินและอาคารพิพาทก่อนฟ้องคดี ฝ่ายจำเลยได้เข้าไปอยู่ในที่ดินและอาคารพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่า การที่จำเลยอยู่ในที่ดินและอาคารพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ รูปคดีเป็นเรื่องความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 477 โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยเองโดยลำพังไม่ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ โจทก์มิได้คัดค้านและมิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวเป็นอันยุติแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกให้ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า ส่วนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมมาก่อน แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด พ. ระงับไปแล้วถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยลำพัง
          ส่วนที่ ส. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท ทั้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. ทันที และคำฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะประสงค์เข้าอยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง พฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ล. รับซื้อฝากบ้านพิพาทเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคู่สัญญาทำสัญญากันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491โจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8705/2547   แม้โจทก์กับจำเลยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ร่วมและสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงก่อนหน้านี้ไม่ยอมออกไปจากที่พิพาทนั้นย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยโดยการยื่นคำฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์ร่วมยินยอมเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามที่โจทก์มีคำขอแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 409/2548   เมื่อสัญญาเช่าที่พิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมระงับไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อไปอีก จึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมผู้ให้เช่า มิได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินรวมทั้งที่พิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยเป็นผู้รอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท และเรียกค่าเสียหายโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 การวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ให้หมดสิ้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2548  ที่ดินพิพาทอยู่ในนิคมสร้างตนเองและอยู่ในความดูแลครอบครองของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งได้จัดสรรให้ ฮ. ใช้ประโยชน์ ฮ.ได้ปลูกบ้านพิพาทและให้จำเลยครอบครองเปิดเป็นร้านอาหาร ต่อมา ฮ. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทพร้อมสิทธิในที่ดินแก่โจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง แม้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะปลูกสร้างบนที่ดินของทางราชการก็ตาม การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่งเช่นกัน แต่เมื่อสัญญาระหว่าง ฮ. กับโจทก์เป็นการซื้อขายกันเองจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทได้ และแม้กรมประชาสงเคราะห์จะทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทในลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ก็ตาม ก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับบุคคลอื่นนอกจากคู่สัญญาได้ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทและโจทก์ยังไม่อาจเข้าครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในบ้านและที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2554  โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังกับโจทก์ร่วมโดยให้โจทก์มีสิทธิเช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี แต่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุพิพาทไม่ได้เพราะมีบ้านจำเลยปลูกอยู่ ทำให้โจทก์ร่วมผู้ให้เช่าส่งมอบที่ราชพัสดุพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรอนสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทโดยลำพัง
          โจทก์ในฐานะผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ถูกจำเลยรอนสิทธิชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมในฐานะผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 แต่จำเลยกลับเป็นฝ่ายยื่นคำร้องขอให้เรียกโจทก์ร่วมเข้าเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เมื่อโจทก์ร่วมอยู่ในฐานะจำเลยร่วมตามฟ้องแย้ง มิใช่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ จึงเข้าเป็นคู่ความในฐานะถูกฟ้องตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมย่อมไม่อาจมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทได้ดังเช่นคำฟ้อง และคงเป็นเพียงคำให้การแก้ฟ้องแย้งและขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ราชพัสดุพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2558  ส. บิดาโจทก์เช่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และ ส. อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากกรมธนารักษ์ต่อจาก ส. โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทอีกต่อไปจึงฟ้องให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท แม้โจทก์ในฐานะผู้เช่าจะมีสิทธิเข้าใช้สอยทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน และจำเลยอยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. ผู้เช่าเดิมไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อกรมธนารักษ์เจ้าของที่พิพาท หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเรียกกรมธนารักษ์ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 545 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยลำพัง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยเพิ่งกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)



สัญญาเช่าทรัพย์

          เช่าทรัพย์สินเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง 
          มาตรา 537  “อันว่าสัญญาเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” 
          สาระสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์สิน
          1. เป็นสัญญาที่มีบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้เช่าฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินโดยได้รับค่าเช่าตอบแทน กับผู้เช่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งได้ใช้หรือหรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน โดยตกลงจะชำระค่าเช่า          
          2. ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง  สัญญาเช่ามิได้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้เช่าได้ครอบครองทรัพย์สินที่เช่า เพื่อที่จะได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่า ดังนั้น โดยหลักแล้วผู้ให้เช่าจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า และเมื่อผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าแล้ว จะโต้เถียงว่าผู้ให้เช่าไม่มีอำนาจให้เช่าไม่ได้
          3. ผู้เช่าตกลงให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น สัญญาเช่าทรัพย์สินเป็นสัญญาต่างตอบแทนเนื่องจากว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีหนี้ตอบแทนกัน กล่าวคือ ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าโดยได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทน ในทางตรงกันข้ามฝ่ายผู้เช่าซึ่งเมื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่า หากสัญญาเช่านั้นไม่มีการจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทน ก็อาจไม่ใช่สัญญาเช่า แต่อาจเป็นสัญญาอื่น เช่น สัญญายืม หรือหากเป็นการให้อยู่ในอาคารโดยไม่คิดค่าเช่าก็เป็นเรื่องสิทธิอาศัย เป็นต้น          
          4. การเช่านั้นมีกำหนดระยะเวลาจำกัด การเช่าทรัพย์สินจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการเช่าเสมอ ซึ่งคู่สัญญาอาจตกลงกันได้เป็น 2 ลักษณะคือ อาจกำหนดเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ก็ได้ หรือจะกำหนดระยะเวลาการเช่าตลอดอายุของผู้เช่าหรือของผู้ให้เช่าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะกำหนดระยะเวลาการเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี ถ้ากำหนดไว้เกินกว่า 30 ปี สัญญาเช่าดังกล่าวมิได้เสียเปล่าหรือตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ยังคงใช้บังคับได้แต่ให้ลดลงมาเหลือ 30 ปี และเมื่อครบกำหนด 30 ปีแล้วคู่สัญญาอาจต่อสัญญาเช่ากันต่อไปอีกก็ได้ แต่กำหนดระยะเวลาที่ต่อออกไปจะต้องไม่เกิน 30 ปี ตามมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์          
          แต่สัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาก็อาจมีได้ เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่า ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่อาจสันนิษฐานได้ คู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แสดงเห็นได้ว่าการเช่าที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเอาไว้ ก็มีเวลาสิ้นสุดเช่นกัน โดยถือว่าเป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาจำกัด ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์




          หลักเกณฑ์การทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน
          แบ่งทรัพย์สินที่เช่าออกเป็น 2 ประเภท คือ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
          1. การเช่าสังหาริมทรัพย์ 
          กฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องทำตามแบบหรือจะต้องทำตามหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้น แม้ตกลงเช่ากันด้วยวาจาก็สามารถทำได้และมีผลผูกพันคู่สัญญา 
          2. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ 
          กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์แตกต่างกันออกไปตามกำหนดระยะเวลาของการเช่า กล่าวคือ
          (1) กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเช่าตลอดอายุของผู้เช่าหรือของผู้ให้เช่า ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ 
          (2) กรณีเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป หรือการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาตลอดอายุของผู้เช่าหรือของผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี 
          (3) กรณีเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาเช่ากันไว้ หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลใช้บังคับได้เพียง 3 ปี

          หน้าที่ของผู้ให้เช่า คือ ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่า นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาจำนวนครึ่งหนึ่ง ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่เช่า

          หน้าที่ของผู้เช่า คือ ต้องชำระค่าเช่าและกฎหมายยังกำหนดให้มีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาจำนวนครึ่งหนึ่ง หน้าที่เกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่า หน้าที่ในการสงวนรักษาและดูแลทรัพย์สิน หน้าที่คืนทรัพย์สินที่เช่า


          สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา 


          สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาคืออะไร โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าคือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ชนิดหนึ่งที่ผู้เช่า ต้องจ่ายค่าตอบแทนใดๆ เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ให้เช่านอกเหนือไปจากค่าเช่าตามปกติ เช่น การเช่าอาคารโดยผู้เช่าจะต้องปลูกสร้างอาคารขึ้นมาแล้ว ยกกรรมสิทธิ์ในอาคารนั้นให้แก่เจ้าของที่ดิน การออกเงินช่วยเจ้าของที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างอาคาร และผู้ให้เช่าจึงจะให้เช่าอาคารนั้น การเช่าที่ดินโดยผู้เช่าจะต้องปลูกต้นไม้ลงบนที่ดินนั้นแล้วยกกรรมสิทธิ์ใน ต้นไม้ให้แก่เจ้าของที่ดิน เป็นต้น
          ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษ ยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานี้ มิได้ถูกกำหนด หรือบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใด หากแต่เกิดขึ้นเพราะแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่กำหนดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ ที่จะให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคู่กรณี เพราะในสัญญาเช่าธรรมดาผู้เช่ามีหน้าที่ชำระค่าเช่าเท่านั้น แต่ในสัญญาเช่าที่มีสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษซ้อนอยู่นี้ นอกจากค่าเช่าตามปกติแล้ว ผู้เช่ายังจะต้องให้ค่าตอบแทนพิเศษอย่างอื่นแก่ผู้ให้เช่าด้วย ดังนั้น หากจะให้บังคับกันเยี่ยงสัญญาเช่าธรรมดาก็อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ ผู้เช่าได้ ซึ่งจะพบตามคำพิพากษาฎีกาเป็นการทั่วไปว่า สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ศาลจะไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ เช่น หากเป็นกรณีการเช่าอสังหาริมทรัพย์แม้จะมิได้ทำตามแบบก็มีผลใช้บังคับ ถือเป็นบุคคลสิทธิ แต่ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวสามารถตกทอดแก่ทายาทได้เป็นต้น
          อย่างไรก็ดี ค่าตอบแทนพิเศษต่างๆ ในบางกรณีก็ไม่ถือว่าเป็นค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือไปจากค่าเช่า เช่น กรณีเงิน กินเปล่าหรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าหน้าดิน เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม่เป็นค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือไปจากค่าเช่าแล้ว สัญญาเช่าดังกล่าวก็จะต้องบังคับกันเช่นสัญญาเช่าธรรมดาทั่วไปเท่านั้น

          ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15922/2553  การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น  การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบ และต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

          ให้สิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว แต่ต้องรับภาระจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้ที่ดินจึงเข้าเกณฑ์การเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537           
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  752/2553  ที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ ส. มีวัตถุประสงค์จะตั้งสาขาในการขายประกันและให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ในบริเวณท้องที่ที่ที่ดินนั้นถูกเวนคืน ส. จึงให้สิทธิแก่โจทก์ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ต้องรับภาระจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ส. เป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับโจทก์ดังกล่าวจึงเข้าเกณฑ์การเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ฉะนั้น การที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า ซึ่งเป็นการครอบครองแทน ส. ผู้ให้เช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยึดถือที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่งผลให้โจทก์ไม่มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินที่ถูกเวนคืนอันจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 18 (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

          สัญญาเช่ามีกำหนดเวลานั้น ย่อมสิ้นสุดลงเพื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2153/2552  เมื่อสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้สัญญาเช่าเป็นอันระงับลงโดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองแผงที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานกระทำละเมิด แต่ตามสัญญาเช่าไม่มีข้อความใดกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าในกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่า จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า แต่ค่าเสียหายในมูลละเมิดดังกล่าวที่เกิดก่อนวันฟ้องคดีย้อนขึ้นไปเกิน 1 ปี เป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

          สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  454/2552  สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20358 ถึงเลขที่ 20362 เลขที่ 20365 เลขที่ 12112 และเลขที่ 14423 รวม 8 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ม. ที่ได้จำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์เมื่อปี 2534 และวันที่ 6 มิถุนายน 2541 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทและที่ดินของบริษัท ม. อีก 3 แปลง รวม 11 แปลง เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างตลาดและจำเลยยินยอมยกกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้แก่บริษัท ม. แต่จำเลยมีสิทธิให้เช่าหรือให้เช่าช่วงตลาดและสิ่งปลูกสร้างโดยบริษัท ม. ตกลงให้สัญญาเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดามีกำหนด 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างตามเอกสารหมาย ล.2 สัญญาเช่าดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 โจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้จากบริษัท ม.
          คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างบริษัท ม. กับจำเลยผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อปี 2542 บ. กรรมการของบริษัท ม. แจ้งจำเลยว่า ที่ดินพิพาทติดจำนองกับโจทก์ต้องนำที่ดินไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่มีเงื่อนไขว่าที่ดินต้องปลอดภาระผูกพันใดๆ จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่งมีข้อความตรงกับสัญญาเช่าและเขียนข้อความเพิ่มเติมว่า มีการทำบันทึกยกเลิกสัญญาเช่าแล้วจำเลยลงชื่อมอบให้ บ.นำไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยกับ บ.ไม่ได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาดังกล่าว แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงถือตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.2 ดังนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่า จำเลยกับบริษัท ม. ร่วมกันแจ้งต่อโจทก์ว่ามีการยกเลิกสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.2 แล้ว ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการแสดงเจตนาลวงก็มีผลผูกพันระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ผู้ร่วมแสดงเจตนาลวงเท่านั้น ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาทดังที่จำเลยฎีกา สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอยู่บนที่ดินพิพาทและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”




          เปลี่ยนลักษณะการใช้อาคารพิพาทจากร้านขายของเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์และทำการซ่อมแซมอาคารพิพาทเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบายใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3005/2551  จำเลยเช่าอาคารจากโจทก์เป็นเวลา 10 ปี การที่จำเลยเปลี่ยนลักษณะการใช้อาคารจากร้านขายของเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบายในการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ตั้งแต่ปี 2530 จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์สองชั้นเลขที่ 1 และเลขที่ 5 ถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จากโจทก์ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี โดยมีการทำสัญญากันใหม่ทุกปี ต่อมาปี 2540 โจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าฉบับสุดท้ายมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อัตราค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท และ 6,000 บาท ตามลำดับ ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า เดิมจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำเป็นร้านอาหาร จึงตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยจะออกเงินค่าก่อสร้างต่อเติมปรับปรุงอาคารพิพาทจำนวน 500,000 บาท ถึง 600,000 บาท โดยจะให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 10 ปี แต่ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าปีต่อปีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษี จำเลยดำเนินการซ่อมแซมอาคารพิพาทโดยเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา ทำฝ้าเพดานใหม่ ทำผิวพื้นชั้นบนใหม่ ทาสีผนังใหม่ เทคอนกรีตพื้นชั้นล่างใหม่ ทำห้องน้ำห้องครัว ฉาบปูนผนังชั้นล่างแล้วทาสี และทำประตูเหล็กชั้นล่าง จำเลยต้องซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 100,000 บาท และต้องเสียคาจ้างช่างเป็นเงิน 50,000 บาท หลังจากนั้นได้เปิดเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์ ต่อมาปี 2541 โจทก์ขอขึ้นค่าเช่าอาคารเลขที่ 1 จากเดิมเดือนละ 8,000 บาท เป็นเดือนละ 15,000 บาท อาคารเลขที่ 5 จากเดิมเดือนละ 6,000 บาท เป็นเดือนละ 10,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอม โจทก์จึงไม่ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับจำเลยและไม่ยอมรับชำระค่าเช่าสำหรับเดือนมิถุนายน 2541 จำเลยได้ส่งเงินค่าเช่าให้แก่โจทก์ทางไปรษณีย์ธนาณัติตามใบแจ้งความเอกสารหมาย จ.1 แต่โจทก์ไม่ไปรับธนาณัติดังกล่าว เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยออกเงินค่าก่อสร้างต่อเติมปรับปรุงอาคารพิพาทจำนวน 500,000 บาท ถึง 600,000 บาทแล้ว โจทก์จะให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 10 ปี นั้น คงมีแต่เพียงคำเบิกความลอยๆ ของตัวจำเลย โจทก์หาได้ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ ทั้ง ม. พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ซ่อมแซมอาคารพิพาทเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การซ่อมแซมดังกล่าวเป็นเพียงแต่ต่อเติมและซ่อมแซมอาคารพิพาทซึ่งชำรุดทรุดโทรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่ และ ส. พยานจำเลยอีกปากหนึ่งซึ่งร่วมในการซ่อมแซมอาคารพิพาทกัน ม. เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า การซ่อมแซมดังกล่าวเป็นการปรับปรุงตกแต่งใหม่เมื่อคำนึงถึงค่าจ้างช่างและค่าวัสดุก่อสร้างที่ใช้ซ่อมอาคารพิพาทเป็นเงิน 150,000 บาท แสดงว่ามิใช่เป็นการซ่อมแซมใหญ่ ประกอบกับสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีข้อความตอนใดระบุเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่จะให้ทำสัญญาเช่ากันตามที่จำเลยอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเรื่องโจทก์ยอมให้จำเลยซ่อมแซมอาคารพิพาทด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองแล้ว โจทก์จะยอมให้จำเลยเช่าอาคารดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี ดังที่จำเลยอ้าง พฤติการณ์ของจำเลยที่เปลี่ยนลักษณะการใช้อาคารพิพาทจากร้านขายของเป็นร้านอาหารประเภทบาร์เบียร์แสดงให้เห็นว่าการซ่อมแซมอาคารพิพาทเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบายใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยเช่าต่อจำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพิพาทต่อมาจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

          จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินโจทก์ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินที่เช่า ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  451/2551  เดิมจำเลยเช่าที่ดินโจทก์เพื่อทำสวน โดยเสียค่าเช่ารายปีละ 7,500 บาท มีการทำสัญญาเช่ากันครั้งละ 1 ปี โดยโจทก์ให้จำเลยเช่าตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปี แล้วและในวันที่ 19 พฤษภาคม 2536 โจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลย ระบุว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อทำสวนสามารถพัฒนาที่ดินกลบร่อง ยกร่อง พร้อมทั้งตกแต่งคันล้อมขึ้นมาใหม่ เพื่อปรับปรุงทำสวนจนเต็มเนื้อที่ โจทก์ตกลงให้เช่าที่ดินแปลงนี้มีกำหนด 30 ปี ครบกำหนดให้สวนและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกันอีก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 มีกำหนดเช่า 1 ปี จากนั้นโจทก์ไม่ยอมทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทอีก ในวันที่ 6 มีนาคม 2544 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเห็นว่าจำเลยจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาระยะเวลาเช่าในปี 2536 จำเลยได้ยกร่องสวนและปลูกต้นมะนาวแล้วตั้งแต่ปี 2537 ทั้งโจทก์ยังเบิกความยอมรับว่าในการปรับระดับที่ดินและยกร่องสวนใหม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 50,000 บาท จะเห็นได้ว่าตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยมิได้มีหน้าที่เพียงแต่บำรุงรักษาซ่อมแซมที่ดินที่เช่าตามปกติ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และหากมีระยะเวลาการเช่าเพียง 1 ปี ตามปกติ จักทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ได้คุ้มกับที่จำเลยได้ลงทุนไปในการพัฒนาที่ดินและทำสวนมะนาว ทั้งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย มิใช่ว่าไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์เลย โจทก์เองก็ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งตกลงยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นการตอบแทน สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงคือได้พัฒนาที่ดิน กลบร่องสวนเดิม ยกร่องสวนใหม่ ตบแต่งคันล้อมขึ้นมาใหม่ และปลูกต้นมะนาวแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

          ลงทุนก่อสร้างโครงเหล็กบนชั้นดาดฟ้าอาคารที่เช่าเป็นเงิน 1,500,000 บาท นั้น เพื่อให้ติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าอันเป็นประโยชน์ของผู้เช่าเอง สัญญาเช่าจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7717/2550   การที่จำเลยได้ลงทุนก่อสร้างโครงเหล็กบนชั้นดาดฟ้าอาคารพิพาทเป็นเงิน 1,500,000 บาท นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำเพื่อให้ติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง โจทก์มิได้เรียกร้องให้จำเลยกระทำแต่อย่างใด ตามสัญญาเช่าพื้นที่และหนังสือสัญญาให้ความยินยอมต่อสัญญาเช่าก็ไม่มีข้อความบ่งบอกว่ามีข้อตกลงพิเศษที่โจทก์จะให้จำเลยเช่าถึง 20 ปี แต่กลับปรากฏว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่ามีสิทธิรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปได้ทั้งหมด ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากจำเลยนอกเหนือไปจากค่าเช่าเท่านั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          สิทธิของผู้เช่ามีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลง และไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9201/2551  สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อันเป็นหนี้เหนือบุคคล หาใช่เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยสิทธิไม่ และการเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลง และไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาททั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ เพราะหากมีข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลภายนอกในระหว่างที่ผู้เช่ามีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 เท่านั้น ดังนั้น พินัยกรรมของ ท. ที่ยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่โจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่เช่าและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมพิจารณาให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เช่าที่ดินแต่ละแปลงต่อไปได้

          ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าก็ต้องบอกเลิกตามข้อตกลงที่ระบุในสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิเช่นนั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าย่อมไม่ชอบ มีผลให้สัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุด ผู้เช่าจึงยังคงมีหน้าที่ชำระค่าเช่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6239/2551  จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
          จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเลขที่ 197-199 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา กับโจทก์มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2545 โดยตกลงชำระค่าเช่าล่วงหน้าแก่โจทก์เป็นรายปี ปีละ 720,000 บาท หลังจากที่จำเลยเช่าพื้นที่ของอาคารดังกล่าวได้ 2 ปี จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2544 บอกเลิกการเช่าไปยังโจทก์และไม่ชำระค่าเช่าปีสุดท้ายให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2544 ไปถึงจำเลยและแจ้งให้ทราบว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยบอกเลิกการเช่า ทั้งยังเตือนให้จำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าปีสุดท้ายเป็นเงิน 720,000 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระค่าเช่า ครั้นต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2544 จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากสถานที่เช่าของโจทก์
          คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นเงิน 720,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มิได้มีข้อความระบุว่าจำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ถึงมาตรา 389 กล่าวโดยสรุปว่าโจทก์ต้องเป็นฝ่ายผิดนัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ หรือการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยตรงกันข้ามกลับได้ความจากโจทก์ว่าหลังจากที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ยังมีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2544 เอกสารหมาย จ.8 ไปถึงจำเลย แจ้งให้จำเลยใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ด้วย โดยส่งหนังสือฉบับดังกล่าวไปยังจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือฉบับนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2544 จำเลยมิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทักท้วงจำเลยแล้วว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบทั้งยังยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่าการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยสัญญาเช่าจึงระงับสิ้นไป โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพียงค่าใช้ทรัพย์ในระหว่างที่สัญญาเช่ายังไม่ระงับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งหนังสือโต้แย้งของโจทก์ เอกสารหมาย จ. 8 ก็ยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้จากจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์โดยคิดคำนวณเป็นค่าใช้สถานที่ในระหว่างที่สัญญาเช่ายังไม่ระงับจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

          ข้อตกลงให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินแล้วได้รับค่าตอบแทนเป็นรายปี มีลักษณะเป็นการเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7722/2550  การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่ด้านนอกบริเวณด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 ในการติดป้ายโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ 1 ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเป็นรายปี และจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 80,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537
          เมื่ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 และทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
          เมื่อข้อตกลงการเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าตามข้อตกลงการเช่าได้

          สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่มีสิทธินำมาให้ผู้ใดเช่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4437/2550   ส. บิดาโจทก์ทั้งสองได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ต่อมาได้มีการก่อสร้างมัสยิดลงบนที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบางส่วนได้ทำเป็นสุสานฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม การอุทิศที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นการอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามหรืออิสลามนิกชนโดยทั่วไป มิได้จำกัดแต่เพียงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันนับแต่เวลาที่อุทิศแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่า

          ผู้เช่าที่มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นตามสัญญาเช่าใช้สิทธินั้นปลูกสร้างตึกแถวไว้ในที่ดินนั้น ตึกแถวไม่ใช่ส่วนควบกับที่ดิน ผู้เช่าสามารถนำตึกแถวออกให้เช่าได้ แต่ไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4260/2550  เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้รับมอบสิทธิในตึกแถวแล้ว ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดแล้ว ระยะเวลาการเช่าห้องพิพาทส่วนที่เกินกว่านั้นย่อมไม่ตกมายังโจทก์ตามมาตรา 569 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

          ผู้เช่าต้องผูกพันตามสัญญาเช่า แม้ผู้ให้เช่าจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5387/2549   จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี และตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม

          การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  983 - 984/2549   จำเลยที่ 19 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจาก ส. แต่ขณะนั้น ส. เป็นเพียงผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 1 (ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ในสำนวนหลัง) โดยสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับโจทก์ที่ 1 มีข้อตกลงว่าในระหว่างการผ่อนชำระเงินค่าที่ดิน ส. จะต้องไม่ทำนิติกรรมใด ๆ ก่อให้เกิดภาระผูกพันที่ดินพิพาทด้วย ดังนั้น สัญญาเช่านาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 19 จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่มีผลผูกพันระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 19 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ไม่
          ส. มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่สัญญาเช่า ดังนั้น แม้ ส. จะให้จำเลยที่ 19 เช่าที่ดินพิพาททำนาก็หาใช่เป็นการที่ผู้เช่านำทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นไปให้เช่าช่วง อันจะมีผลทำให้การเช่าที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 19 เข้าลักษณะเป็นการเช่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 5 ทั้งโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 19 ใช้ที่ดินพิพาทเพื่องานเกษตรกรรมทำนาโดยได้รับค่าเช่า และมิได้กระทำนิติกรรมอื่นใดต่อกันอันจะเป็นการอำพรางการเช่านาด้วย ดังนั้น การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำนาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 19 จึงมิได้มีผลถือว่าเป็นการเช่านาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 19 ตาม พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 5 จำเลยที่ 19 จึงมิได้รับสิทธิและความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว



การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร

          มาตรา 1606  "บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
          (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          (2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
          (3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
          (4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
          (5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
          เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร"


          ข้อสังเกตุ***

          (1) การถูกกำจัดมิให้รับมรดกอาจเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังเจ้ามรดกตายก็ได้
          กรณีอาจเกิดก่อนเจ้ามรดกตาย คือ มาตรา 1606 (1) (2) (4) และ (5)
          กรณีอาจเกิดหลังเจ้ามรดกตาย คือ มาตรา 1605 และมาตรา 1606 (1) (2) (3) และ (5)

          (2) บุคคลที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 นี้ อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมทั่วไป หรือผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างก็ได้ ไม่มีข้อยกเว้น

          (3) กรณีตามมาตรา 1606 (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า การกระทำที่ทำให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ถ้าเป็นการกระทำโดยประมาท หรือไม่มีเจตนา หรือกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นการกระทำโดยป้องกันตัว ก็จะไม่ถูกกำจัดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538  ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2554   เจ้ามรดกตลอดจนบุคคลในครอบครัวถูกสามีของเจ้ามรดกใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในเวลาต่อเนื่องกัน ถือเป็นการตายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง จึงถือว่าทุกคนถึงแก่ความตายพร้อมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 17 ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจึงไม่ตกไปยังบุตรของเจ้ามรดกซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายพร้อมกัน แต่จะตกได้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นน้าของเจ้ามรดก และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า สามีของเจ้ามรดกเป็นผู้กระทำโดยเจตนาให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจดำเนินคดีแก่สามีของเจ้ามรดกได้เนื่องจากสามีเจ้ามรดกฆ่าตัวตายไปก่อน จึงถือได้ว่าสามีของเจ้ามรดกเป็นบุคคลที่ต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ผู้ร้องซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับสามีของเจ้ามรดกจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก และเมื่อผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้

          (4) กรณีตามมาตรา 1606 (2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดก หมายความถึง ทายาทฟ้องคดีด้วยตนเอง ไม่รวมถึงกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และทายาทเป็นผู้เสียหาย

          (5) กรณีตามมาตรา 1606 (3) ต้องเป็นกรณีที่รู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาเท่านั้น แต่ถ้ารู้เห็นเข้าใจว่าเจ้ามรดกถูกทำให้ตายโดยประมาท แม้ความจริงจะถูกฆ่าโดยเจตนาก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรานี้ 

          (6) กรณีตามมาตรา 1606 (4) เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งใจทำพินัยกรรมหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ทำไว้ แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ให้ทำ หรือทางกลับกันเจ้ามรดกตั้งใจจะทำพินัยกรรมหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ไม่ให้ทำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2498   ทายาทตามพินัยกรรม หลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมทำใบมอบอำนาจให้แล้วเอาไปจัดการโอนที่ดินที่ตนจะได้รับตามพินัยกรรมเป็นของตนเสีย กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการฉ้อฉลให้เจ้ามรดกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมผู้นั้นจึงมิต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2530  จำเลยเป็นผู้ที่ฉ้อฉลโดยให้เจ้ามรดกพิมพ์ลาย นิ้วมือในเอกสารพินัยกรรม จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามป.พ.พ. มาตรา 1606(4) จำเลยจึงเป็นผู้ไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

          (7) กรณีตามมาตรา 1606 (5) ได้แก่ การทำปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2516  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมของ ป.เจ้ามรดก ขอให้ลงโทษ แต่โจทก์เองก็ถูกฟ้องว่าปลอมพินัยกรรมของ ป. เหมือนกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษโจทก์ฐานปลอมพินัยกรรม คดีถึงที่สุด ดังนี้โจทก์จึงตกเป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ป.ตาม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (5)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยอันจะมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2518   เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้รับพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมทำพินัยกรรมหายจึงไปขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นหาใช่ผู้รับพินัยกรรมบอกสละ พินัยกรรมซึ่งทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(3) ไม่ เพราะมิใช่เป็นการสละไม่ขอรับมรดกหรือมีเจตนาจะไม่รับเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมผู้รับพินัยกรรมชอบที่จะนำ พินัยกรรมที่หาพบในภายหลังไปขอรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมอีกได้ และการที่หาพินัยกรรมไม่พบนั้นก็ถือไม่ได้ว่าผู้รับพินัยกรรมปกปิดพินัยกรรม

          ผลของการถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรรับมรดก ตามมาตรา 1606

          การถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 ในกรณีที่เกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตายนั้นมีผลให้ผู้ถูกกำจัดหมดสิทธิรับมรดก แต่เนื่องจากการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้นั้น ดังนั้น ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ แต่ถ้าทายาทที่ถูกกำจัดไม่มีผู้สืบสันดาน ก็ต้องเอาส่วนที่ถูกกำจัดนั้นแบ่งแก่ทายาทอื่นๆในลำดับเดียวกัน หรือให้มรดกตกแก่ทายาทอื่นๆ ในลำดับถัดลงไป
          ส่วนการถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 ในกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายนั้นมีผลให้ผู้ถูกกำจัดหมดสิทธิรับมรดก แต่เนื่องจากการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้นั้น ผู้สืบสันดานมิสิทธิสืบมรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว ตามมาตรา 1607
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557  แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน

          การถอนข้อกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
          ข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรนี้ เจ้ามรดกอาจถอนเสียก็ได้โดยให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษร ตามมาตรา 1606 วรรคท้าย ซึ่งเมื่อเจ้ามรดกให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว มีผลให้ทายาทผู้นั้นพ้นจากการถูกกำจัดและมีสิทธิรับมรดกได้


20 มี.ค. 2567

นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลา และการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา

          เงื่อนเวลา

          มาตรา 191  "นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด
          นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด"

          เงื่อนเวลา หมายถึงข้อกำหนดที่คู่กรณีตกลงกำหนดจากเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอน โดยเอาเวลามากำหนด โดยอาจเป็นเวลาตามวันแห่งปฏิทิน หรือกำหนดเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ซึ่งรู้แน่นอนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อใด

          เงื่อนเวลามี 2 อย่าง ได้แก่ เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุด

          นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ทันทีที่ทำนิติกรรมนั้นมีผลสำเร็จบริบูรณ์แล้ว เพียงแต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลาเริ่มต้นที่กำหนดไว้ คู่กรณีก็จะไม่สามารถทวงถามให้ปฏิบัติตามนิติกรรมนั้นได้
          ส่วนนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมเกิดขึ้นมาแล้ว และนิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด


          เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุดจะกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงื่อนเวลานั้นกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายลูกหนี้
          มาตรา 192 วรรคหนึ่ง  "เงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะปรากฏโดยเนื้อความแห่งตราสารหรือโดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าได้ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหนี้หรือแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยกัน"

          นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ ถ้าเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นซึ่งห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด กรณีนี้ลูกหนี้ย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลาที่กำหนด แต่ถ้าเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุด ดังนี้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับผลของนิติกรรมที่ทำไปนั้นจนกว่าจะสิ้นระยะที่กำหนด

          การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          มาตรา 192 วรรคสอง  "ถ้าเงื่อนเวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้ หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น"

          อย่างไรก็ตาม คู่กรณีฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุด ย่อมมีสิทธิสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาได้ โดยไม่ถือเอาตามข้อกำหนดแห่งเงื่อนเวลานั้น

          พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14381/2553  กรณีที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 850 กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่ตามบันทึกการเจรจาตกลงชดใช้ชำระหนี้ค่าปรับที่นามีความว่า เมื่อเดือนมกราคม 2541 โจทก์ได้รับจ้างใช้รถแทรกเตอร์ปรับที่นาให้จำเลยในราคา 20,000 บาท จำเลยชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้ว ในวันทำบันทึกจำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 2,000 บาท ส่วนที่ค้างชำระ 12,000 บาท จำเลยขอผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ในวันที่ 30 เมษายน 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท และงวดที่ 2 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท ดังนี้จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวยอมผ่อนผันให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วได้ อันเป็นการที่โจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของโจทก์เองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง บันทึกดังกล่าวจึงหาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ หากแต่เป็นเพียงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 193/14 (1) อันเป็นผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างต้องเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับภายในกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 193/14 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ค่าจ้างค้างชำระแต่ละงวดถึงกำหนด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2551  โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 งวดที่สองชำระส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่ชำระงวดแรก จำเลยชำระเงินงวดแรกให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยต้องชำระส่วนที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จะครบกำหนดชำระหนี้ในงวดที่สองวันที่ 10 มีนาคม 2542 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงทวงถามให้จำเลยในฐานะลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดชำระหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยในวันสุดท้ายที่จำเลยยังมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้โจทก์อยู่ ยังไม่ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามข้อตกลงแล้วโดยไม่ได้ยกเงื่อนเวลาชำระหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2542  โจทก์และจำเลยทำสัญญารับฝากขายสินค้ากันโดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 120,000 บาท แก่จำเลย และโจทก์วางเงิน ไว้เป็นประกันแก่จำเลย 575,100 บาท โดยพื้นที่รับฝากสินค้า จำเลยเช่ามาจากบริษัทซ.ต่อมาบริษัทซ.บอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถให้โจทก์ใช้พื้นที่ได้ ทำให้สัญญารับฝากขายสินค้าพิพาทต้องเลิกกันโดยโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การชำระหนี้ ของคู่สัญญาอันเกิดแก่การเลิกสัญญานั้น มาตรา 392 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ โจทก์ต้องออกจากพื้นที่พิพาทเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมแต่โจทก์เมื่อยังไม่ได้ออกจากพื้นที่พิพาท จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาเงินประกันคืนจากจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 แต่เมื่อจำเลยได้ฟ้องแย้งและฎีกาขอให้เอาเงินค่าเสียหายที่โจทก ต้องชำระแก่จำเลยหักออกจากเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยขอหักหนี้โดยไม่ต้องการประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาต่อไป ซึ่งย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 วรรคสอง จึงต้องนำเอาค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทให้แก่จำเลยตลอดเวลาที่ยังไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน หักกับเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยดังกล่าว จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน การที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อหักกับเงินประกันของโจทก์ที่เหลืออยู่ จำนวน 352,361.76 บาทแล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินค่าเสียหาย ให้แก่จำเลยอีกจำนวน 212,698.56 บาทนั้นเป็นฎีกาที่เกินกว่า คำขอตามฟ้องแย้งของจำเลย ศาลบังคับให้ไม่ได้เพราะฟ้องแย้ง เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8048/2540  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมปีละ 65,000 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปี แก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า เมื่อกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยยังมีเวลารื้อถอนและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าต่อไปอีก 30 วัน ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยภายใน 35 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดที่จำเลยมีสิทธิส่งทรัพย์ที่เช่าคืนว่าจะไม่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปนับได้ว่าเป็นเวลาอันสมควรและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์มิได้นิ่งเฉย หรือไม่ทักท้วงที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เริ่มแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเป็นต้นไปและสิ้นสุดก่อนวันที่จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งใดที่ตกลงไว้ และต้องใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่โจทก์ ได้มีหนังสือขยายเวลาให้จำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาและส่งมอบทรัพย์ ที่เช่าคืนภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว เมื่อจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงมีสิทธิรื้อถอนส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์ได้จนถึง ภายในวันที่ 24 เมษายน 2536 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว คงเรียกได้แต่เพียงค่าเสียหายปกติ คือ ค่าเช่าในอัตราและเงื่อนไขเดิมส่วนค่าเสียหายที่เป็นเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2536 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามที่ตกลงไว้ได้ซึ่งถ้าเบี้ยปรับอันมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดก้นไว้ล่วงหน้านั้นสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้และเมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 2,000 บาทอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2507  เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาแล้ว ย่อมแสดงว่า ลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2505  สองฝ่ายมีหนี้สินเกี่ยวค้างกัน คิดบัญชีกันแล้วฝ่ายหนึ่งยังเป็นหนี้อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ จึงตกลงทำเป็นสัญญากู้ไว้ ดังนี้ เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเปลี่ยนข้อผูกพันจากสัญญาเดิมมาผูกพันตามสัญญากู้ สัญญากู้จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพราง
          เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ย่อมแสดงว่าลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2535  กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาไว้จึงอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่กำหนดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยที่ยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์จนกว่าจะครบกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว จำเลยก็จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยให้การเพียงปฏิเสธหนี้ของโจทก์โดยมิได้ยกเงื่อนเวลานั้นเป็นข้อต่อสู้ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยาย ปัญหาเรื่องเงื่อนเวลามิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย และได้แจ้งกำหนดนัดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ไปตามนัดทั้งยังมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินแก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์พร้อมกับรับชำระราคาทั้งหมดไปจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2537  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์ จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยจะขายที่ดินให้ผู้อื่นในราคาสูงกว่าโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 แต่จำเลยหลบหน้าไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์วันที่ 13 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงฟ้องจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรับเงินที่เหลือและโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้

          เหตุที่ทำให้ลูกหนี้ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          มาตรา 193  "ในกรณีดังต่อไปนี้ ฝ่ายลูกหนี้จะถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดมิได้
          (1) ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
          (2) ลูกหนี้ไม่ให้ประกันในเมื่อจำต้องให้
          (3) ลูกหนี้ได้ทำลาย หรือทำให้ลดน้อยถอยลงซึ่งประกันอันได้ให้ไว้
          (4) ลูกหนี้นำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาให้เป็นประกันโดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ยินยอมด้วย


กำหนดระยะเวลาการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดิน กรณีออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดเวลาในการฟ้องคดี | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

          แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายกรณีเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 1) เมื่อเจ้าของที่ดินร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด 2) การฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาเท่าใด
          ข้อเท็จจริงคดีนี้เกิดจาก นาง ส.ได้จดทะเบียนให้ที่ดินแก่นาย น. ซึ่งเป็นบุตร โดยที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้ตามที่นาง ส. ได้ยื่นคำขอโดยอาศัยหลักฐานตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 2 ฉบับ ต่อมา นาย น. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีเนื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และยังทับซ้อนกับที่ดินแปลงอื่น โดย น.ส. 3 ก. ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้มีเนื้อที่ติดกัน นาย น. จึงมีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้เพิกถอน หรือแก้ไขโฉนดที่ดินในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อน โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แต่จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้า หรือมีการดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินดังกล่าว นาง ส. และนาย น. (ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่พิพาท และให้ น.ส. 3 ก. ทั้ง 2 ฉบับ กลับคืนสถานะเดิม และให้เจ้าพนักงานที่ดินนำที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ดังกล่าว มาออกเป็นโฉนดที่ดินให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
          กรณีดังกล่าว เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล ตามมาตรา 49

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินกรณีมีการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อใด “ระยะเวลาอันสมควร” ที่เจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องใช้ในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงควรมีกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี เมื่อพ้นระยะเวลาอันสมควร ดังกล่าวแล้ว หากผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาและประสงค์จะฟ้องคดี จะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดดังกล่าว คือ ต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ตรงกับวันอาทิตย์ และวันที่ 11 ธันวาคม 2560 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงเป็นกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลา เป็นวันหยุดทำการ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น คือ ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 49 ดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 392/2561)

         จากคำวินิจฉัยของศาลได้วางหลักเกี่ยวกับคำว่า “ระยะเวลาอันสมควร” สำหรับการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินที่มีกำหนดเวลา 90 วันนับแต่ได้รับหนังสือ และหากไม่ดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว คู่กรณีก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองว่าหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ โดยฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอไว้ ถ้าฟ้องเกินกำหนดเวลาดังกล่าวศาลก็จะไม่รับฟ้อง




ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา  1461 "สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
          สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน"
       
          การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ได้แก่ การอยู่ร่วมบ้าน ร่วมชีวิตในการครองเรือนและร่วมประเวณีต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอยู่กินกับฝ่ายหนึ่งนั้นจะฟ้องร้องบังคับให้อยู่กินกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่อาจเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้
          ส่วนการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน คือ การช่วยปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ด้วยความผาสุกและช่วยให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพแก่กัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องอุปโภคบริโภคในการดำรงชีพ ในการพิจารณาถึงการอุปการะเลี้ยงดูนี้จะพิจารณาโดยคำนึงถึง อายุ สุขภาพ รายได้ และทรัพย์สินของคู่สมรส ฐานะทางสังคม ภาระหน้าที่ของคู่สมรสในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งความสามารถทางร่างกายและจิตใจของคู่สมรสในการประกอบกิจการงานด้วย ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยการชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่จะมีการตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น และสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1598/41 ดังนั้น หากสามีภริยาทะเลาะกันแล้วทำสัญญาแยกกันอยู่ต่างหากโดยภริยาระบุว่าจะไม่เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองที่มีต่อกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น ภริยาก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามีได้ เพราะการสละสิทธิที่จะไม่รับค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่มีผลบังคับ
          หากมีบุคคลภายนอกมาทำละเมิดต่อสามีหรือภริยาให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ภริยาหรือสามีอีกฝ่ายย่อมถูกกระทบกระเทือนสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากผู้ทำละเมิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดแรงงาน และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 และมาตรา 443


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2524  โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้  ความสามารถและฐานะของโจทก์ดีกว่าจำเลย โจทก์ผู้เป็นสามีจึงต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ประกอบด้วยมาตรา 1598/38
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540  ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง นั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปีจึงเป็นระยะเวลาที่สมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2558  โจทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านพิพาทจนกระทั่งโจทก์ที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งหมายความรวมถึงการดูแลทุกข์สุขและความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีภริยาต่อกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สมัครใจที่จะดูแลโจทก์ที่ 2 การให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถดูแลโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยและอยู่อาศัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 จำเลยในฐานะภริยาของโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทเช่นกัน หากจำเลยมีพฤติกรรมกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิฟ้องหย่าเป็นคดีต่างหาก โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
          ส่วนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจะใช้สิทธิของตนให้ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ จำเลยในฐานะภริยามีสิทธิพักอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยด้วยเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557  ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552   วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549   ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540  ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง ย่อมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่จำเลยขอเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004/2538  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง สามีและภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและตามฐานะของตน ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับมรดกจากมารดา จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 1,800 บาท ต่อมาต้องคดีถูกออกจากราชการ ตามฐานะย่อมไม่อาจจะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยก็เป็นเงินทุนของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกจากมารดา ฐานะของจำเลยที่ 1 ดีขึ้น สามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ได้ จึงต้องรับผิดให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์นับแต่ได้รับมรดกจนถึงวันฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2535  จำเลยไม่ยอมอยู่ร่วมกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามอัตภาพ โดยที่จำเลยอยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38

          สามีภริยาแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว แยกเป็น 2 กรณี
          (1) สามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหาก
          ซึ่งสามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ โดยอาจทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ มีผลให้ต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจึงยังไม่สามารถสมรสใหม่ได้ แต่หากการแยกกันอยู่นี้เป็นเหตุที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้และแยกกันอยู่มาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสามปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (4/2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5627/2530   ในคดีหย่า แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณาแต่การที่ จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่า มีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์ หรือไม่เมื่อโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์  ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกันอยู่นั้นฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริต ชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย เมื่อโจทก์ จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ชั่วคราวโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอโจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลย มาตลอดและอยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้จึงมี หน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลย
          (2) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว
          มาตรา  1462 "ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้"
          ในกรณีที่สามีภริยาไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ต่อไป หากขืนอยู่ร่วมกันต่อไปสามีหรือภริยาจะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ต้องเสียหายหรือเดือดร้อยมีสิทธิตามมาตรา 1462 ที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ซึ่งเหตุที่จะร้องขอให้ศาลอนุญาตแยกกันอยู่ชั่วคราวมี 4 กรณี คือ
          ก. สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้
          ข. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ค. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ง. การอยู่ร่วมกันจำทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา



18 มี.ค. 2567

ผู้จัดการมรดก คำสั่งศาลตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ผู้จัดการมรดกบางคนเสียชีวิต ที่เหลือไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้


          ป.พ.พ. มาตรา 1726  ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
          
          กรณีเรื่องนี้ ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจำนวน 3 คน เป็นผู้จัดการของเจ้ามรดกร่วมกัน ต่อมาระหว่างจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ผู้จัดการมรดกเสียชีวิตหนึ่งคน ผู้จัดการมรดกที่เหลือนำคดีมาฟ้องศาลให้ทายาทส่งมอบโฉนดคืน เพื่อจะได้จัดการแบ่งปันมรดก ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสอง(ผู้จัดการมรดก) อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา             
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
          ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553)

ความผิดฐานรับของโจร

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 357  "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          ความผิดฐานรับของโจร
          1. ผู้ใด
          2. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด
          3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
          4. กระทำโดยเจตนา 




          ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกื้อหนุนการกระทำความผิดฐานต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้รวม 9 ฐานความผิด กล่าวคือ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ แต่จะมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก หรือฉ้อโกง ความผิดฐานรับของโจรมีส่วนใกล้เคียงกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดก่อนหรืออย่างช้าในขณะกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้กระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดนั้นสำเร็จลงแล้ว เช่น ช่วยพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดไปเสีย ก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่อาจมีความผิดฐานรับของโจรได้หากทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น

          ช่วยซ่อนเร้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2533   จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจอดไว้ใต้ต้นไผ่ในสวนกาแฟห่างจากทางเดินประมาณ 100 เมตร และห่างจากลานตากกาแฟซึ่งเป็นที่พบตัวจำเลยประมาณ 500 เมตร อันเป็นการจอดในลักษณะซุกซ่อนประกอบกับจำเลยมีอาการตกใจเมื่อพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปฏิเสธเมื่อถูกซักถามถึงรถจักรยานยนต์ของกลาง พฤติการณ์ของจำเลยจึงฟังได้ว่าจำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยจำหน่าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2518  จำเลยติดต่อเรียกและรับค่าไถ่คืนรถแก่เจ้าทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าเจ้าทรัพย์ขอให้ช่วย จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2508   มีคนเอาปืนมาจำนำจำเลย จำเลยไม่มีเงินจึงพาไปจำนำกับผู้อื่น โดยจำเลยช่วยพูดจาให้เขารับจำนำ เช่นนี้ เป็นการช่วยจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2529  จำเลยมีอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ได้นำรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งถูกชิงทรัพย์ไปจำนำ โดยมิได้นำทะเบียนรถไปแสดง เมื่อถูกกล่าวหาก็อ้างแต่เพียงว่าเป็นรถของ ส.โดยมิได้นำตัว ส.มาสืบ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร
          แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ก็ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตามมาตรา 357 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192


          แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์ขอร้องให้ช่วยติดตามไถ่ทรัพย์คืนและมิได้รู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย ก็ไม่ผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2530   จำเลยเป็นคนกลางติดต่อไถ่รถจักรยานยนต์ร่วมกับผู้อื่นตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ไว้จากคนร้ายหรือร่วมรู้กับคนร้ายมาเรียกค่าไถ่จากผู้เสียหาย การที่จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาส่งให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องนำมาคืนตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้องให้ทำ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยพาไปเสีย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1937/2533  จำเลยรู้ว่ายางพาราแผ่นของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายไปลักมาแล้วนำไปซ่อนไว้ การที่จำเลยลงมือเก็บยางพาราแผ่นเตรียมขนไปจึงเป็นการช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          ซื้อ หมายถึง การรับทรัพย์ที่เป็นของโจรไว้โดยมีค่าตอบแทน และการซื้อดังกล่าวจะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2522  จำเลยอยู่ที่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จำเลยเพียงแต่ดูกระบือ ตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ตกลงจะซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงได้ความแต่เพียงว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยิงต่อสู้กับคนร้ายแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยยืนอยู่บริเวณปากถ้ำที่เกิดเหตุ และพบกระบือ 2 ตัวที่ถูกคนร้ายลักไปผูกอยู่ที่ในถ้ำเท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นประจักษ์ว่า จำเลยได้ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่น ซึ่งกระบือที่ถูกลักนั้นแต่ประการใด แต่จำเลยนำสืบว่าเหตุที่จำเลยไปอยู่ที่บริเวณถ้ำเสือที่เกิดเหตุนั้น เพราะผู้ตายกับพวกไปบอกขายกระบือให้จำเลย ขณะที่จำเลยไปหาซื้อกระบือและพักอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านนั้น จำเลยจึงออกจากบ้านไปกับผู้ตายและพวกเพื่อดูกระบือที่บอกขาย จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงและจับกุม พยานจำเลยมีตัวจำเลยกับผู้ใหญ่บ้าน และนาย ฉ.เบิกความถึงเรื่องผู้ตายกับพวกบอกขายกระบือและพาจำเลยออกจากบ้านไปดูกระบือตรงกัน กับได้ความตามคำเบิกความของนาย ฮ. ผู้เสียหายและจ่าสิบตำรวจประสงค์ คงรอด ผู้จับกุมจำเลยซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า เมื่อจับจำเลยได้นั้นพบเงินที่จำเลย 960 บาท และจำเลยแจ้งว่าไปที่ถ้ำนั้นเพื่อดูกระบือที่ผู้ตายกับพวกบอกขาย จำเลยให้การยืนยันเช่นนี้ตลอดมาทั้งที่ให้การต่อ ผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดน 320 และต่อพนักงานสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าในขณะที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวนั้น จำเลยยังมิได้รับกระบือ2 ตัวนั้นไว้ยึดถือหรือครอบครอง จำเลยเพียงแต่ตั้งใจจะซื้อกระบือ แต่ยังไม่ทันได้ตกลงซื้อก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานรับของโจรดังโจทก์ฟ้อง"

          รับจำนำ ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันที่จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้รับตัวทรัพย์ที่จำนำ
          รับไว้ด้วยประการใดๆ เป็นการบัญญัติไว้กว้างๆ เช่น รับฝาก เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2520  จำเลยรับเช็คไว้โดยรู้ว่าเป็นเช็คอันได้มาจากการลักทรัพย์ แม้จำเลยจะไม่มีทางรับเงินตามเช็คได้ เพราะเช็คถูกอายัดไว้แล้ว ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้วไม่ใช่เพียงขั้นพยายาม

           หลักสำคัญอีกประการคือ ต้องกระทำต่อทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิด ได้แก่ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ 
          ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่เรียกว่าเป็นของโจรนั้น หมายถึงเฉพาะตัวทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น ถ้าตราบใดที่ตัวทรัพย์ยังไม่เปลี่ยนสภาพหรือไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นสิ้นสุดการเป็นของโจรแล้ว ทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นของโจรอยู่ต่อไป
          เหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น
          1.ทรัพย์ที่เป็นของโจรได้เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์อย่างอื่น
          2.การเอาทรัพย์ที่เป็นของโจรไปแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์อย่างอื่น ทรัพย์ที่ได้มาใหม่นั้นก็ไม่ใช่ของโจร
          3.ทรัพย์ที่เป็นของโจรหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น เจ้าของทรัพย์ได้ทรัพย์นั้นคืนมา
          4.เมื่อเจ้าของเดิมหมดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันเป็นของโจร เช่น กรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382, 1383 เป็นต้น

          สุดท้ายคือเรื่องเจตนา คือ ขณะที่รับทรัพย์นั้นไว้ รู้หรือไม่ว่าทรัพย์ที่รับไว้นั้นเป็นของโจร หรือทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2540   คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรนั้นข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิด กรณีของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด จะอาศัยพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากบ้านของ ส. โดยคิดหรือคาดคะเนเอาว่าจำเลยได้ครอบครองหรือช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วฟังประกอบบันทึกการตรวจยึดว่าจำเลยมีรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดนั้นหาได้ไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2540   เจ้าพนักงานตำรวจพบชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางวางอย่างเปิดเผยในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลย โดยมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพของกลางดังกล่าวเลย ทั้งจำเลยยังมีบิลเงินสดที่แสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้เพื่อทำการซ่อมซึ่งเป็นฉบับซึ่งแทรกอยู่กับใบเสร็จฉบับอื่นจึงยากที่จำเลยจะทำเพิ่มเติมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540    จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771/2542   อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ผู้ที่จะครอบครองได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจะนำอาวุธปืนนั้นไปจำนำไว้กับจำเลยเองก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว หากจำเลยยอมรับจำนำไว้แม้โดยสุจริตก็เป็นการไม่บังควรเพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่จำเลยอ้างว่ารับจำนำอาวุธปืนของกลางซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จาก ต. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน โดยมิได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของบิดา ต. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3,500 บาท ทั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาท แสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขูดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้ แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานส่อให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาหรือไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจาการกระทำความผิดใน 9 ฐานดังกล่าว ผู้รับไว้ก็ไม่ผิดรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2727/2537  รังนกในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา  การที่ อ.ได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกได้อันเป็นการได้รับผูกขาดจากรัฐบาลนั้น  อ.ผู้รับผูกขาดมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกในถ้ำที่ผูกขาดก็เข้าเก็บเอาได้  ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต  แต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกนั้นยังจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อผู้ที่เก็บรังนกรายนี้ไม่ใช่ลูกจ้างของ อ.  และ อ.ยังมิได้เข้ายึดถือเอารังนกนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 1318  แห่ง ป.พ.พ.  อ.จึงยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกรายนี้  การเก็บรังนกดังกล่าวไปจึงไม่เป็นการลักทรัพย์ของ อ.  และเมื่อรังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร 
          จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4  ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2  จึงเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี  แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา  เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิด  ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213  ประกอบด้วยมาตรา 225