10 มีนาคม 2567

กระทำความผิดด้วยความจำเป็น

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น 

          มาตรา 67 "ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
          (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
          (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
          ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น เป็นกรณีการกระทำที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หมายความว่า การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ซึ่งจะต่างกับกรณีการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่การกระทำนั้นจะไม่เป็นความผิดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผลก็เหมือนกันคือ ไม่ต้องรับโทษ

          การกระทำโดยจำเป็นแยกได้เป็น 2 กรณี คือ

          กรณีตามมาตรา 67 (1) คือ จำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ 
          มีหลัก ดังนี้
          (1) อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ
          (2) ไม่สามราถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
          (3) ผู้กระทำจะต้องมิได้ก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นโดยความผิดของตน
          (4) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

          กรณีตามมาตรา 67(2) คือ จำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตราย 
          มีหลัก ดังนี้
          (1) มีภยันตราย
          (2) ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
          (3) เป็นภยันตรายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโดยวิธีอื่นใดได้
          (4) ภยันตรายนั้นผู้กระทำโดยจำเป็นมิได้ก่อให้เกิดขึ้น
          (5) กระทำไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
          (6) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแกเหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

          ทั้งสองกรณีถ้าการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้กระทำยังมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้





          
          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67 (1) ต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544 การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ ซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่ง ก็คือเป็นความจำเป็น ซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำ แต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
           ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2514  จำเลยถูกคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกหลายคนแต่ละคนมีอาวุธปืนครบมือ ใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งข้ามฟากเพื่อช่วยคนร้ายให้พ้นจากการจับกุม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกระทำไปเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงขัดขืนได้ จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น จำเลยไม่ต้องรับโทษ          
          เมื่อปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ไม่ต้องรับโทษแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2525 จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้ายซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67(1) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันทีดังนี้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67(1) ที่ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ไม่ได้รับยกเว้นโทษ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2542  จำเลยกับผู้ตายลักลอบได้เสียกัน ต่อมา บ. สามีจำเลยทราบเรื่องและจะให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่ต้องทำตามที่สั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสียทั้งสองคน จำเลยและ บ. อยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงอาจถูก บ. ข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ บ. สามีอาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง ด้วยความกลัวจำเลยจึงยอมทำตาม บ. บอกแผนให้จำเลยนัดผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุและกำชับว่าให้พาผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุให้ได้ ไม่งั้นเตรียมตัวตาย จำเลยจึงไปหลอกชวนผู้ตายให้ไปร่วมหลับนอนกันอีกในวันรุ่งขึ้น วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยพาผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายถูก บ. ฆ่าตาย จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ บ. ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยยอมร่วมมือกับ บ. ฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69

          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) จะต้องมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง จึงจำเป็นต้องกระทำความผิดเพื่อให้พ้นจากภยันตรายนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2529  ฟ้องว่าจำเลยขุดหลุมทำให้ถนนที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลุมที่จำเลยทั้งสองขุดอยู่ในเขตถนนสาธารณะที่โจทก์ฟ้องแล้วไม่ว่าหลุมนั้น จะอยู่ที่ไหล่ถนนฝั่งเดียวกันตามที่ปรากฏในทางพิจารณาหรือทั้งสองข้างถนนดัง ที่กล่าวในฟ้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทั้งสิ้นและข้อแตกต่าง ดังกล่าวก็หาใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยหลงต่อสู้ไม่เพราะจำเลยยอมรับว่าขุดหลุม ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ต่อสู้ว่าไม่เป็นความผิดเพราะไม่ใช่ถนนสาธารณะเท่านั้น
          การกระทำเพราะความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ผู้กระทำจะต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือ ขัดขืนได้หรือเพื่อให้ผู้กระทำหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่ สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ แต่การขุดหลุมของจำเลยทั้งสองเป็นทางระบายน้ำจากนาที่จำเลยทำลงคลองสาธารณะ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมต้นข้าวเมื่อฝนตกมาเท่านั้น ขณะจำเลยกระทำการดังกล่าวฝนยังไม่ตก น้ำยังไม่ท่วมต้นข้าวของจำเลยจึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจำเลยจำเป็น ต้องกระทำ ทั้งเมื่อฝนตกมากและน้ำท่วมต้นข้าวของจำเลย จำเลยก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากนาได้ การกระทำของจำเลยหาใช่ความจำเป็นตามกฎหมายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1660/2511  มีผู้นำช้างไปล่ามไว้ใกล้กับสวนของจำเลยโดยจำเลยไม่รู้ กลางคืนช้างหลุดจากโซ่ พังรั้วลวดหนามเข้าไปในสวนของจำเลย ซึ่งมีบ้านพักของจำเลยกับคนงานปลูกอยู่ คนงานได้ยินเสียงหักข้าวโพดจึงบอกจำเลย จำเลยถือปืนเดินไปดูกับคนงาน จำเลยโผล่จากไร่ข้าวโพดพบช้างอยู่กลางไร่ข้าวโพดห่างประมาณ 4 วา โดยไม่ทันรู้ตัวและกำลังเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นช้างป่า ซึ่งยังมีอยู่ในป่าบริเวณไร่ของจำเลย จึงผลักคนงานให้หลบแล้วเอาปืนยิงช้างไป 2 นัดแล้ววิ่งหนี ดังนี้ ถือว่าการที่จำเลยยิงช้างของผู้เสียหาย เป็นการตัดสินใจโดยกระทันหันด้วยความจำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยกับคนงานโดยจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และการกระทำของจำเลยไม่เกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษฐานทำให้เสียทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2518  นาของ จ. กับพวกอยู่ทางเหนือของพนังกั้นน้ำ นาของจำเลยอยู่ทางใต้ของพนังและอยู่ในที่ลุ่ม เวลามีน้ำมากๆ นาของจำเลยจะถูกน้ำท่วมหมด หลังปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา น้ำท่วมนาของจำเลยเพราะมีผู้ถมดินปิดทางระบายน้ำจำเลยร้องไปทางอำเภอๆ ก็ไม่ทำอะไรจนปี พ.ศ.2516 ที่เกิดเหตุ จ. กับพวกหล่อคอนกรีตทับพนังกั้นน้ำและปิดช่องระบายน้ำอีก ทำให้น้ำท่วมนาของจำเลยสูงถึง 1 เมตรจนจำเลยไม่อาจทำนาได้ เมื่อจำเลยได้ดำเนินการที่จะขจัดความเสียหายโดยการร้องเรียนต่ออำเภอหลายครั้งแล้วไม่ได้ผลจำเลยจึงทุบทำลายพนังคอนกรีตนั้นโดยทำเพียงให้ขาดเป็นช่อง 3 ช่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาจำเลยเท่านั้น แม้จะเป็นความผิด ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67

          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) ที่ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ย่อมไม่ได้รับยกเว้นโทษ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2489  จำเลยได้ถูกกระทำร้ายในขณะที่กำลังกินอาหารโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น จำเลยวิ่งหนีจากเรือนหลังตะวันออกไปทางเรือนหลังที่ผู้อยู่ ผู้ตายได้ทำการขัดขวางจำเลยในขณะที่มีคน 5-6 คนถือไม้วิ่งไล่ทำร้าย จำเลยอยู่อย่างกระชั้นชิดติดๆ กันไป นับได้ว่าจำเลยกำลังตกอยู่ในภยันตรายอันร้ายแรงทั้งเป็นเวลากระทันหันอันจะหลีกเลี่ยงไปทางอื่นให้ทันท่วงทีไม่ได้ จึงเป็นความจำเป็นของจำเลยที่จะต้องผ่านไปทางที่ผู้ตายขัดขวาง การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตาย 1 ที เพื่อหลบหนีภัยตามเหตุที่ปรากฏ จึงยังไม่พอสันนิษฐานว่า จำเลยจงใจเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เห็นว่าการกระทำของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุไปมาก กล่าวคือเพียงแต่ผู้ตายขัดขวางมิให้ผ่านไป ถ้าจำเลยใช้กำลังหักโหมขืนเข้าไปก็ยังทำได้ มิบังควรต้องใช้อาวุธมีดแทงจนเกิดเป็นคดีฆาตกรรม

          กรณีที่ไม่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
          ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
          การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น