02 มีนาคม 2567

การลงโทษทางวินัย ต้องเหมาะสมกับการกระทำผิด | วินัย | คดีปกครอง

 

           การปฏิบัติตของข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการจะต้องระมัดระวังในเรื่องความประพฤติ โดยไม่กระทำการใดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงที่จะทำให้ถูกลงโทษได้  

          ในส่วนโทษสำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก็คือ ปลดออกและไล่ออก 

          และโทษสำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดเงินเดือน 

          ในส่วนของลูกจ้างประจำของส่วนราชการ มีระเบียบ คือ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 โดยข้อ 52 กำหนดว่า ลูกจ้างประจำผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี โดยการพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิดกับระดับโทษนั้น จะต้องมีความเป็นธรรมและเหมาะสมกันด้วย 

          สำหรับกรณีเรื่องนี้ เป็นกรณีที่ลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์เอาทรัพย์สินกันโดยผิดกฎหมาย และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ เนื่องจากเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง         

          ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ทำหน้าที่ในตำแหน่งรักษาอาคาร ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ตำแหน่งคนงาน 

          ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์กับผู้เล่นอื่น รวม 11 คน ในวันหยุดโดยใช้สถานที่ราชการ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีโดยผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ให้การรับสารภาพ และศาลแขวงมีคำพิพากษาลงโทษปรับคนละ 1,000 บาท ต่อมาอธิบดีกรมชลประทานได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และได้มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ 

          ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ อ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ อ.ก.พ.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ และมติที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี  

          ประเด็นก็คือ พฤติการณ์การกระทำของลูกจ้างดังกล่าว ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่? และการลงโทษปลดออกจากราชการเหมาะสมกับการกระทำความผิดดังกล่าว หรือไม่? 

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2559 เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่เป็นเพียงลูกจ้างประจำ ไม่ได้มีหน้าที่ในการกวดขันการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอาคารของหน่วยงาน ไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อหรือบริการประชาชนโดยตรง และในการกระทำผิดไม่ได้เป็นเจ้ามือ เจ้าสำนักหรือเล่นการพนันเป็นอาจิณ และความผิดดังกล่าวได้กระทำนอกเวลาราชการมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับเมื่อพิจารณาแนวทางการลงโทษกรณีการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว ซึ่ง ก.พ. ในฐานะเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมแนวทางการลงโทษที่ปรับบทความผิดและกำหนดระดับโทษได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรณีการเล่นการพนันนั้นมีการลงโทษตัดเงินเดือนและลงโทษลดเงินเดือน การลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงต้องคำนึงถึงระดับโทษที่ส่วนราชการอื่นลงโทษด้วย สำหรับแนวทางการลงโทษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ซึ่งถือเป็นเพียงคำแนะนำให้ส่วนราชการนำไปประกอบการพิจารณา และหาได้หมายความว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดฐานเล่นการพนันแล้วจะต้องเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงทุกกรณี ดังนั้น การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่ากระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 46 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 แต่เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชัตามข้อ 46 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษปลดออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติที่ยกอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน