9 มี.ค. 2567

ตัวการต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของตัวแทน


          ความรับผิดของตัวการในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำ

          มาตรา 425  "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"
          มาตรา 426  "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น"
          มาตรา 427  "บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย โดยอนุโลม"

          ตัวการก็เช่นเดียวกับนายจ้าง กล่าวคือต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนของตนได้กระทำไป ปัญหาว่าการกระทำละเมิดได้กระทำในขณะทำการเป็นตัวแทนหรือไม่?
          ตัวการ ตัวแทน ก็เป็นไปตามมาตรา 797 ที่บัญญัติว่า "อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น
          อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544  การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2553  จำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างจากกรมทางหลวง ตามสัญญาจำเลยจะนำไปทำสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่ได้ จำเลยผิดสัญญานำไปให้บริษัท บ. รับเหมาช่วง ความรับผิดขั้นสุดท้ายต่อกรมทางหลวงยังอยู่ที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรง สัญญาข้อ 9 จำเลยรับว่า ผู้รับจ้างช่วงเป็นตัวแทนของจำเลย บริษัท บ. จึงเป็นตัวแทนจำเลยในการทำงานโดยมีจำเลยเป็นตัวการ เมื่อบริษัท บ. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2553  จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคของโครงการรวมทั้งจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามประกาศโฆษณาขายอาคารชุดดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลให้ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ หากระบบป้องกันอัคคีภัยไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ตามที่โฆษณาไว้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 1 ให้ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยให้แก่อาคารชุด จึงเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมสายไฟเข้าระบบผิดทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
          การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเข้าจัดการในทรัพย์สินของตนและเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองได้ โดยถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215.
         
          ผู้ประกอบการขนส่งซึ่งยอมให้บุคคลอื่นใช้ชื่อตนในการประกอบการขนส่งจะต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่บุคคลนั้นกระทำขึ้น ถือว่าผู้ประกอบการขนส่งอยู่ฐานะตัวการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7200/2558  จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820

          ทำสัญญายอมให้บุคคลอื่นใช้รอยตราหรือเครื่องหมายของตนในการทำงาน เท่ากับเชิดให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนของตน จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่บุคคลนั้นกระทำขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5896/2558  สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก” ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศง 1998 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการ ซึ่งมีจำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน พท 2201 กรุงเทพมหานคร นำมาเข้าแล่นในนามจำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่เอาประกันภัยกับโจทก์ได้รับความเสียหาย
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ว่า จำเลยร่วมที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 2 ประกอบอาชีพให้เช่ารถแท็กซี่ โดยจำเลยที่ 1 มาขอเช่ารถแท็กซี่คันเกิดเหตุ จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ผู้เช่าไปก่อขึ้นนั้น เห็นว่า พยานของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำเลยร่วมที่ 2 กับมารดาจำเลยร่วมที่ 2 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 เช่า แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุค่าเช่ากันไว้และจำเลยร่วมที่ 2 ก็มิได้เบิกความถึงจำนวนอัตราค่าเช่ากันด้วย คงระบุว่าสามารถนำรถของตนให้เช่าได้ตามสัญญาว่าด้วยการนำรถยนต์เข้ามาเดินร่วมกับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก. ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 2 แล้วในสัญญาข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกสหกรณ์ต้องไม่นำรถยนต์หรือป้ายทะเบียนของสหกรณ์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาเช่านี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกไปรับจ้างเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการเช่ากันจริง เพราะไม่มีข้อความระบุในสัญญาเช่าชัดเจนว่าจะตกลงเช่ากันในอัตราเท่าใด ทั้งผู้ให้เช่าก็มิใช่จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นตัวการเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ข้ออ้างจำเลยร่วมที่ 2 ข้อนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
          ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ก็เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือประกอบธุรกิจ ไม่ใช่เป็นการร่วมลงทุนหรือแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์กัน ต่างฝ่ายต่างประกอบกิจการ จึงไม่อาจเป็นตัวการหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างกัน จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันซึ่งกันและกันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก.” จำเลยที่ 2 ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่ เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 ได้โดยเปิดเผย ซึ่งจำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถเข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้างต่อคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อมายังจำเลยร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยนำออกแล่นในนามจำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 เช่นกัน ไม่ใช่เป็นกรณีต่างคนต่างประกอบกิจการแยกจากกัน ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันกับได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

          ใช้ให้คนจุดพลุจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินผู้อื่น ผู้ใช้เป็นตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4622/2557   แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย



          ผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 เจ้าของทรัพย์เดิมมอบอำนาจให้ตัวแทนมายึดทรัพย์คืนโดยไม่ชดใช้ราคา เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์ จึงต้องร่วมกันรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10499/2555   โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใดๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

          พฤติการณ์ที่บริษัทประกันยอมให้ตัวแทนประกันชีวิตติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของบริษัทประกันโดยเปิดเผย เท่ากับบริษัทประกันเชิดให้ตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันล่วงหน้า เมื่อตัวแทนประกันชีวิตนั้นทำการฉ้อฉลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทประกันต้องรับผิดต่อผู้เสียหายเสมือนตัวแทนประกันชีวิตนั้นเป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทนประกันชีวิตต่อผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4861/2555   การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
          โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้
          จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย
          ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้
         

          ความรับผิดของตัวการในเรื่องละเมิดนั้น เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากกิจการที่ตัวแทนได้รับมอบหมายด้วย ถ้าเหตุละเมิดเกิดจากกิจการที่ตัวแทนทำขึ้นโดยไม่ได้รับมอบหมายแล้ว ตัวการก็ไม่ต้องรับผิด สำหรับกิจการที่มอบหมายนั้นต้องเป็นกิจการที่มุ่งให้ไปทำกับบุคคลที่สาม แต่ถ้าไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีวัตถุประสงค์ถึงบุคคลที่สาม ก็ไม่ใช่เรื่องตัวการตัวแทน เป็นต้นว่า การใช้หรือไหว้วานให้ขับรถให้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2505 การใช้หรือวานบุคคลที่มิใช่ลูกจ้างให้ขับรถยนต์ไปในธุรกิจของผู้ใช้เอง โดยผู้ถูกใช้เป็นผู้ที่ขับรถยนต์ได้และเคยขับให้ผู้ใช้มาก่อนแล้วนั้น หากผู้ถูกใช้ขับรถยนต์ไปชนบุคคลอื่นอันเป็นการละเมิดขึ้น ผู้ใช้หาจำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ เพราะมิได้ประมาทเลินเล่อในการใช้หรือวาน
          การรับใช้หรือรับวานขับรถยนต์ให้นั้น ไม่ใช่เป็นตัวแทนเพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม แต่เป็นกิจการระหว่างผู้ใช้กับผู้รับใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลที่สามเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

          ความรับผิดของตัวการในการทำละเมิดของตัวแทนนนั้น จะต้องเป็นการทำละเมิดของตัวแทนที่อยู่ภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542 จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วย
          การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4845/2555  จำเลยที่ 1 มีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถเข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรจอดรถมอบคืนแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกจึงจะนำรถออกจากลานจอดรถได้ แม้ผู้ที่มาใช้บริการที่จอดรถเป็นผู้เลือกที่จอดรถ ดูแลปิดประตูรถ และเก็บกุญแจรถไว้เอง และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณที่จอดรถดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตลอดจนรถที่ลูกค้าจะนำเข้าจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยโดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ อ. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายในการที่รถสูญหายจึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้

          สิทธิไล่เบี้ย
          เมื่อตัวการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากตัวแทนได้ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 426 โดยมีอายุความ 10 ปี