11 มี.ค. 2567

กรมทางหลวงมีหน้าที่ควบคุมดูแลกระแสไฟฟ้าส่องสว่างที่ติดตั้งบนทางหลวง เมื่อไฟฟ้ารั่วเป็นเหตุผู้ที่สัญจรไปมาถึงแก่ความตาย กรมทางหลวงจะต้องรับผิดชอบ | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          กรณีที่กรมทางหลวงได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนทางหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทางในยามค่ำคืน แต่กลับละเลยไม่ตรวจสอบอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย 

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 223/2558  สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ เหตุเกิดขึ้นเวลาประมาณ 01.30 น. ขณะที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนมาถึงสามแยก บริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุล้มลงและเสียชีวิต
          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่บุตรชายตนต้องมาเสียชีวิต เพราะกรมทางหลวงติดตั้งระบบไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ซ่อมแซมสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ จนทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่ว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าเสียหาย
          คดีนี้มีพยานซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุและเข้าช่วยเหลือให้ถ้อยคำว่า เห็นบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถูกรถจักรยานยนต์ล้มทับขา นอนหมดสติ หงายหน้าขึ้น น้ำท่วมไม่ถึงใบหน้า ปากและจมูกโผล่เหนือน้ำ และไม่ได้กลิ่นสุรา โดยอาสาสมัครที่ลงไปช่วยเหลือคนแรกได้แจ้งเตือนว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่ว แต่เนื่องจากสวมรองเท้าบูทจึงไม่ได้รับอันตราย และอาสาสมัครคนอื่นๆ ได้ถูกไฟฟ้าช็อตในระหว่างการช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นมีไฟฟ้าส่องสว่างอยู่ จึงเป็นไปได้ที่ไฟฟ้าอาจรั่ว เนื่องจากระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติไม่ทำงาน นอกจากนี้ ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพก็ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย ไม่มีเลือดออกบริเวณใด
          ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเป็นไปตามมาตรฐานและไม่มีอุปกรณ์ส่วนใดชำรุด อีกทั้งมีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติหากเกิดกรณีไฟฟ้ารั่ว สาเหตุการตายจึงไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้ารั่ว แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายที่ฝ่าฝืนป้ายเตือนห้ามนำรถเล็กผ่านเข้าไป

          คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริเวณที่เกิดเหตุ กรมทางหลวงได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างที่เสาไฟฟ้า 2 ต้นห่างกันประมาณ 40 เมตร โดยใช้สายไฟฟ้าชนิด Nyy ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี มีความทนทาน ป้องกันน้ำได้ และร้อยลงในท่อเหล็กแล้วฝังใต้ดิน โดยไม่มีการโยงสายไฟฟ้าพาดระหว่างเสา และติดตั้งสะพานไฟซึ่งเป็นระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อกระแสไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร แต่ในขณะเกิดเหตุสภาพของท่อเหล็กที่ร้อยสายไฟไว้ข้างในได้หลุดออกจากกันและขณะเกิดเหตุนั้นยังมีกระแสไฟฟ้าส่องสว่างอยู่ จึงเป็นไปได้ที่ไฟฟ้าอาจรั่วออกมาได้ เนื่องจากระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติไม่ทำงาน ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพก็ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย ไม่มีเลือดออกบริเวณใด เมื่อผู้ตายมีอายุเพียง 37 ปี รูปร่างสูงใหญ่ ไม่ได้ดื่มสุรา และไม่มีโรคประจำตัว การที่บุตรชายผู้ฟ้องคดีไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เกิดจากถูกกระแสไฟฟ้าที่รั่วช็อตเป็นเหตุให้หมดสติ และแม้ว่าจะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ก็ยังพอมีรถสัญจรไปมา จึงทำให้เกิดคลื่นน้ำกระเพื่อมพัดพาเอาน้ำเข้าไปในปากและจมูกที่โผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อยได้ อันทำให้แพทย์ระบุสาเหตุว่า จมน้ำเสียชีวิต การเสียชีวิตของผู้ตาย จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายที่ขับขี่รถผ่านเข้าไปในเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งที่มีป้ายเตือนห้ามรถเล็กผ่านเส้นทางดังกล่าวไว้แล้ว แต่การเสียชีวิตเป็นผลโดยตรงจากการติดตั้งสายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด และการละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแล รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์มิให้ชำรุดบกพร่องและระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ อันเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี

          ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการ สำหรับหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนเพื่อมิให้เกิดภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น นอกจากจะต้องให้บริการอย่างเพียงพอและทั่วถึงแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์และระบบป้องกันให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งต้องหมั่นคอยตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ที่ติดตั้งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในเวลาต่อมา