30 ก.ค. 2559

ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 334  "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"

          มาตรา 335    "ผู้ใดลักทรัพย์
          (1) ในเวลากลางคืน
          (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟหรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกัน หรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ
          (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ
          (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
          (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
          (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
          (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ
          (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณ
          (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
          (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
          (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้"

          มาตรา 335 ทวิ  "ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 336  "ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 336 ทวิ  " ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 334 มาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ หรือมาตรา 336 โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"

          มีคำพิพากษาฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          โจทก์เป็นหนี้จำเลย จำเลยจึงมายึดรถกะบะของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557  จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

          เจ้าของรวมในสวนยางพาราแต่ยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว แต่จ้างคนเข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางไปเพียงผู้เดียว เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  แต่เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557  แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างเคยมีคู่สมรสและมีบุตรมาก่อน ต่อมาได้อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2516 แล้วจดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 และมีบุตรด้วยกัน ปี 2539 จำเลยไปมีภริยาใหม่ ปี 2546 จำเลยฟ้องหย่าผู้เสียหายแล้วถอนฟ้อง ปี 2548 ผู้เสียหายฟ้องหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษาในปี 2549 ให้หย่าขาดจากกันและคดีถึงที่สุด ที่ดินโฉนดเลขที่ 3558 เดิมจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เสียหาย ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะซึ่งปลูกยางพาราประมาณ 1,000 ต้น ซึ่งผู้เสียหายอ้างว่าตนกับบุตรสาวที่เกิดจากสามีเดิมเป็นผู้ปลูกและบำรุงรักษาโดยจำเลยไม่เกี่ยวข้องเพราะรับราชการอยู่ที่อื่น ส่วนจำเลยอ้างว่าตนเป็นผู้จับจองทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้รวมต้นยางพาราบางส่วนเมื่อประมาณปี 2516 หรือปี 2517 ภายหลังเกิดพายุเกย์ได้รับความเสียหายจึงได้ซื้อต้นยางพารามาปลูกทดแทนประมาณ 1,000 ต้น และกรีดน้ำยางได้เมื่อปี 2539 โดยจำเลยและผู้เสียหายช่วยกันดูแลรักษาและนำรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องภายหลังการหย่า จำเลยได้ว่าจ้างนาย ส.และนาย อ. ไปกรีดน้ำยางพาราในที่ดินเกิดเหตุ บุคคลทั้งสองได้กรีดน้ำยางรองใส่ถ้วยยางแต่ยังไม่ได้เก็บน้ำยางไปรวมประมาณ 300 ต้น เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองและจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีนี้
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายและจำเลยเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ และยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว ที่จำเลยจ้างนาย ส. เข้าไปกรีดน้ำยางพาราก็ทำโดยเปิดเผยเพราะเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้ เห็นว่า การเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 ดังนั้น แม้ฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยว่า จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในน้ำยางพารา แต่จำเลยก็จะเอาน้ำยางพาราที่นาย ส. กรีดจากต้นยางพาราไปเพียงผู้เดียว โดยขณะนั้นผู้เสียหายเป็นผู้เดียวที่ครอบครองและได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายจะครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุแทนจำเลยด้วยเพราะมีเหตุพิพาทและหย่าขาดจากกันแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองย่อมเป็นการทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไปเป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

          จำเลยทำงานในโรงพยาบาล ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องทำงานตามหน้าที่ และเหตุเกิดช่วงเวลาทำงาน จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำความผิดจึงมิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557  จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 6.15 นาฬิกา ผู้เสียหายซึ่งไปเฝ้าดูแลพันเอก บ. บิดาของผู้เสียหายที่พักรักษาโรคปอดอยู่ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษเลขที่ 1301 หอผู้ป่วย 1 อายุรกรรมชายในโรงพยาบาลอานันทมหิดล สถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ได้เข้าห้องน้ำภายในห้องผู้ป่วยดังกล่าว แล้วถอดแหวนเพชร 1 วง ราคา 20,000 บาท กับแหวนทองคำประดับพลอย 1 วง ราคา 10,000 บาท ไว้บนถาดวางสบู่เหนือที่ใส่ม้วนกระดาษชำระที่มีลักษณะตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ เมื่ออาบน้ำและซักผ้าเสร็จผู้เสียหายออกจากห้องน้ำนำผ้าที่ซักไปตากที่ระเบียงด้านข้างห้องผู้ป่วยนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลนำถุงปัสสาวะของพันเอก บ. ใส่กระป๋องไปเทใส่โถส้วมชักโครกในห้องน้ำที่ผู้เสียหายเพิ่งออกมา หลังจากนั้นจำเลยออกจากห้องผู้ป่วยพิเศษเลขที่ 1301 ไป ต่อมาผู้เสียหายเข้าห้องน้ำเพื่อจะเอาแหวนทั้งสองวงที่วางไว้ แต่พบว่าหายไป ผู้เสียหายทราบจากพันเอก บ. ว่าเห็นจำเลยนำถุงปัสสาวะไปเททิ้งในห้องน้ำจึงแจ้งเรื่องให้หัวหน้าหอผู้ป่วยทราบ หัวหน้าหอผู้ป่วยเรียกพยาบาล 2 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน และจำเลยซึ่งอยู่เวรและเกี่ยวข้องในวันดังกล่าวมาตรวจค้นตัวและตรวจค้นล็อกเกอร์ประจำตัวของบุคคลทั้งห้านั้นแล้วไม่พบแหวนของผู้เสียหายที่หายไป จากนั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ และทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา วันที่ 23 กรกฎาคม 2553 จำเลยเข้ามอบตัวเพื่อขอต่อสู้คดีตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหา ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ จำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยคือคนร้ายที่ลักแหวน 2 วงของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานใดที่เห็นจำเลยเอาแหวนทั้งสองวงของผู้เสียหายไป และหัวหน้าหอผู้ป่วยตรวจค้นไม่พบแหวนของผู้เสียหายที่จำเลยก็ตาม แต่ในเหตุที่มีจำเลยเพียงคนเดียวเข้าไปเทปัสสาวะของพันเอก บ. ลงโถส้วมในห้องน้ำที่เกิดเหตุแล้วแหวนทั้งสองวงของผู้เสียหายซึ่งวางอยู่ใกล้โถส้วมดังกล่าวหายไป ทั้งการตรวจค้นจำเลยก็มิได้กระทำในเวลาใกล้ชิดกับเวลาที่จำเลยออกจากห้องน้ำที่เกิดเหตุ รูปคดีจากพยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุผลโดยชัดแจ้งว่าจำเลยคือคนร้ายที่ลักแหวน 2 วงของผู้เสียหายไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรกมานั้น เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          ทำสัญญาซื้อขายหน้าดิน โดยผู้ซื้อไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย ผู้ซื้อเข้าไปขุดหน้าดินจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนา ส่วนผู้ขายนำหน้าดินของผู้เสียหายไปขาย เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว โดยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านผู้ซื้อกับพวก ผู้ขายมีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุก และลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น

          ถ้าเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555   ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์