05 มีนาคม 2567

สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

          
          สิทธิในทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 37 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก" และมาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติว่า "ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" ทั้งนี้ สิทธิในการครอบครองที่ดินมีอิทธิพลต่อการดํารงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย และส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

          หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในอันที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิได้รับความเสียหาย จนกระทั่งท้ายที่สุดต้องฟ้องศาลปกครองให้มีคําบังคับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทําหน้าที่หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น

          กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทําให้ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้

          คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 283/2552  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีว่า มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เมื่อเจ้าของที่ดินที่แท้จริง (ผู้ฟ้องคดี) ตาม น.ส. 3 ยื่นคําขอออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินบนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับผู้อื่นไปแล้ว เมื่อมีการสอบสวนก็พบว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจจะต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวและออกโฉนดที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงต่อไป แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอํานาจกลับไม่ดําเนินการเพิกถอนและเจ้าพนักงานที่ดินก็ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าโดยอ้างว่ายังไม่ได้มีการแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ และการเพิกถอนจะต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง ยังไม่มีผลใช้บังคับ

          จนกระทั่งทำให้ในที่สุดเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ต้องมาฟ้องศาลปกครองให้พิพากษาหรือมีคําสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหาย

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้มีการแจ้งให้เจ้าของโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว มีการคัดค้านแล้วและการสอบสวนการออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน น.ส.3 ของผู้ฟ้องคดีก็ได้ดําเนินการครบทุกขั้นตอนแล้ว แม้ยังไม่ได้มีกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2543 ออกมาบังคับใช้ก็ตาม ก็สามารถนําพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้บังคับได้ ดังนั้น การไม่ดําเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนไม่สามารถออกโฉนดให้เจ้าของที่แท้จริงได้จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินก็มิได้ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินให้ผู้อื่นโดยไม่ชอบทับที่ดิน น.ส. 3 ของผู้ฟ้องคดีและเมื่อผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดที่ดินและร้องเรียนให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ เจ้าพนักงานที่ดินก็ใช้เวลาตรวจสอบและเสนอความเห็นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคําสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนานถึง 12 ปี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และเมื่อไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้จึงเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

          ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้ผู้มีอํานาจเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนและให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหาย