4 มี.ค. 2567

ทายาทต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดก เนื่องจากทำการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก


          ทายาทที่ทำการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นย่อมจะต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดก
          การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียสิทธิในการรับมรดก

          มาตรา 1605  "ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
          มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น"


          ผลของการถูกกำจัดมิให้ได้มรดก 

          มีผลให้ทายาทผู้นั้นสิ้นสิทธิในการที่จะได้มรดก โดยอาจจะสิ้นสิทธิทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้แล้วแต่กรณี คือ ถ้ายักย้ายหรือปิดบังมากกว่าหรือเท่ากับส่วนที่ตนจะได้ก็สิ้นสิทธิมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าหากทำการยักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562   จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน
          ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง
          แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท
          ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

          ข้อสังเกตุกรณีทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก***

          (1) การที่ทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ซึ่งทำขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายนี้ เป็นเหตุให้หมดความเป็นทายาทไปโดยผลของกฎหมาย ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดตามมาตรา 1605 ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ แต่อาจสืบสิทธิได้ตามมาตรา 1607 และมาตรา 1615
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539  แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่

          (2) ทายาทตามมาตรานี้หมายความถึงทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป แต่ไม่รวมไปถึงผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างตามมาตรา 1651 (2) ซึ่งได้รับยกเว้นไว้ในวรรคสอง

          (3) การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ได้แก่ การยักย้ายทรัพย์มรดก หรือการปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539   ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ บ. โดย บ.มีบุตร 4 คน คือโจทก์ทั้งสองจำเลย และ จ. แต่ จ.ถึงแก่ความตายก่อน บ. โดย จ.มีบุตร 3 คน บ.ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ บ.เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของ บ.ทั้งหมดโดยการครอบครอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 10 ปีก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้น แล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ.ในโฉนดเลขที่ 2505 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง
          แต่ถ้าไม่ใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ก็ไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2544   จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินบ้านโดยให้ถ้อยคำยอมรับต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่บ้านโดยรับมรดกจากบิดามารดาประมาณ 15 ปี แล้วครอบครองตลอดมา การออกโฉนดดังกล่าวได้กระทำเปิดเผยตามระเบียบของทางราชการ หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนชื่อตนเป็นเจ้าของที่ดินบ้านดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตนซึ่งได้ปลูกบ้านแยกครัวเรือนออกไปอยู่ในแปลงเดียวกันย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดายกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่นถัดไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไปเพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตนที่จะได้ทรัพย์มรดกที่ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น สำหรับที่นาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ได้ที่นาโดยรับมรดกการครอบครองต่อเนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2504 รวมเวลาการครอบครองและทำประโยชน์จนถึงวันที่สำรวจ 16 ปี ส่วนที่สวนตามโฉนด ที่ออกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีชื่อผู้มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ตามโฉนดมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยปกติของการออกโฉนดต้องมีขั้นตอนในการสอบสวนสิทธิและวิธีการต่าง ๆ ตามระเบียบของทางราชการโดยเปิดเผย เช่นนี้จำเลยที่ 1 ต้องเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่นาและที่สวนโดยชอบแล้ว การประกาศขายที่นาและที่สวนนั้นหากผู้ประกาศขายมีความเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ย่อมไม่ใช่การยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกจำกัดมิให้ได้มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2541  จำเลยได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181, 37183 และ 3493 ไว้ และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายจำนวน 2,790,425.74 บาท นำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัด กับสร้างโบสถ์และซื้อที่ดินให้วัด การที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทต่อไป ส่วนการบริจาคเงินมรดกก็เป็นการจัดการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยฝ่ายโจทก์ยินยอมไม่คัดค้าน ทั้งมารดาโจทก์และจำเลยต่างได้ร่วมกันจัดการศพผู้ตายตลอดจนปรึกษาหารือกันเรื่องทรัพย์มรดกมาโดยตลอด และจำเลยก็จัดการมรดกในลักษณะที่เปิดเผย ทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจะแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งมรดกเช่นนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล


          (4) การถูกกำจัดมิให้รับมรดก หมายถึง ถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนแห่งมรดกที่ทายาทนั้นจะพึงได้รับ ไม่ได้หมายความถึงถูกกำจัดในทรัพย์มรดกที่ถูกยักย้ายหรือปิดบัง

          (5) ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นเหตุให้หมดความเป็นทายาทไปโดยผลของกฎหมาย ทำให้ไม่มีสิทธิถือประโยชน์จากทรัพย์มรดกอันนั้น จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ทายาทอื่นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2492  โจทก์เป็นภริยา และจำเลยเป็นน้องของเจ้ามรดก จำเลยได้ปิดบังที่สวนอันเป็นทรัพย์มรดกไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยบอกแก่โจทก์ว่าที่สวนนั้นผู้ตายโอนไปแล้ว แต่ความจริงยังไม่ได้โอน แล้วจำเลยไปโอนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยปิดบังมรดก แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย จำเลยผู้ปิดบังก็ไม่มีสิทธิที่จะถือประโยชน์ยกอายุความตามมาตรา 1735 มายันแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นฝ่ายผิด อีกประการหนึ่งจำเลยย่อมถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1605 จึงไม่อยู่ในฐานที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิโจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5382-5383/2539   จำเลยที่ 2 ไปรับโอนมรดกแต่ผู้เดียว และนำที่ดินทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและ จ.ด้วยไปโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก จึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่า จำเลยที่ 2 จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามบทกฎหมายดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าโจทก์ทั้งสามและ จ. เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมโดยการยกให้โดยเสน่หาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300  จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 6 หลังจากโจทก์ที่ 3 ได้อายัดที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยกรรมการของจำเลยที่ 6 ทราบเรื่องแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 6 รับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิให้เพิกถอนการโอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้เช่นกัน
          ผู้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่บุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดก ทั้งจำเลยที่ 2 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะทายาท การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาท จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสาม

          (6) กรณีปิดบังทายาทย่อมไม่ใช่ปิดบังทรัพย์มรดก จึงนำเรื่องการถูกกำจัดมิให้รับมรดกมาใช้บังคับไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2506   จำเลยก็เป็นบุตรของเจ้ามรดก เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินกับเรือนที่พิพาทให้แก่จำเลย กับยกโคกระบือให้โจทก์ และเมื่อทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 นั้นต้องเป็นผู้ที่ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก แต่เรื่องที่ดินมรดกนี้ จำเลยไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้ แต่ยังได้ไปขอประกาศรับมรดกอย่างเปิดเผย การที่จำเลยไม่ระบุลงไปในเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกเป็นเรื่องไม่ใส่ชื่อบุคคลในบัญชีเครือญาติเท่านั้น

          (7) แต่กรณีที่ผู้จัดการมรดกซึ่งศาลแต่งตั้ง ไปยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดกในฐานะทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่าเป็นทายาทเพียงคนเดียว ถือเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2532   จำเลยเป็นภรรยา อ. ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อ อ. ตายศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. จำเลยจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. มาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต่อมาจำเลยไปขอรับมรดกของ อ. ในฐานะเป็นทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของ อ. ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มี ทั้งที่จำเลยก็ทราบว่า อ. มีโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเป็นทายาทอีกคนหนึ่ง เป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆ จำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของ อ. ถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

          (8) บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3046/2539   บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อขณะที่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก คือ โจทก์ จ. และ ม. เพียง 3 คนซึ่ง จ. ได้ถึงแก่ความตายภายหลัง ล. จำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรจ. แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ล. ก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของ จ. คือรับมรดกในส่วนของ จ.เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทที่ได้กระทำการตามฟ้องอันจะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของ ล.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2545  ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะบุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายฉะนั้น เมื่อขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม มีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ พ. ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 จำเลย อ. และ ซ. มารดาของผู้ตาย แม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. แต่จะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายก็เพียงในฐานะผู้สืบสิทธิของ พ. โดยรับมรดกเฉพาะส่วนของ พ. เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

          (9) กรณีผู้จัดการมรดกยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล แม้ไม่ระบุทรัพย์มรดกครบถ้วนก็ไม่ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก แต่ถ้าระบุทรัพย์มรดกเพียงบางรายการแล้วรับรองว่าไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกนั้น ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2548   โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยมิได้ระบุว่ามีที่ดิน 2 แปลงด้วย แต่ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อโอนซื้อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะเป็นของทายาทตามเจตนาของเจ้าของมรดก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนเท่านั้น โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ระบุว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีก จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5130/2541   การที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่าผู้ร้องไปขอเบิกเงินจากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้นผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอี่นอีกแต่อย่างใดไม่ และหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย