18 มีนาคม 2567

ความผิดฐานรับของโจร

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 357  "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          ความผิดฐานรับของโจร
          1. ผู้ใด
          2. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด
          3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
          4. กระทำโดยเจตนา 




          ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกื้อหนุนการกระทำความผิดฐานต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้รวม 9 ฐานความผิด กล่าวคือ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ แต่จะมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก หรือฉ้อโกง ความผิดฐานรับของโจรมีส่วนใกล้เคียงกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดก่อนหรืออย่างช้าในขณะกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้กระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดนั้นสำเร็จลงแล้ว เช่น ช่วยพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดไปเสีย ก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่อาจมีความผิดฐานรับของโจรได้หากทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น

          ช่วยซ่อนเร้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2533   จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจอดไว้ใต้ต้นไผ่ในสวนกาแฟห่างจากทางเดินประมาณ 100 เมตร และห่างจากลานตากกาแฟซึ่งเป็นที่พบตัวจำเลยประมาณ 500 เมตร อันเป็นการจอดในลักษณะซุกซ่อนประกอบกับจำเลยมีอาการตกใจเมื่อพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปฏิเสธเมื่อถูกซักถามถึงรถจักรยานยนต์ของกลาง พฤติการณ์ของจำเลยจึงฟังได้ว่าจำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยจำหน่าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2518  จำเลยติดต่อเรียกและรับค่าไถ่คืนรถแก่เจ้าทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าเจ้าทรัพย์ขอให้ช่วย จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2508   มีคนเอาปืนมาจำนำจำเลย จำเลยไม่มีเงินจึงพาไปจำนำกับผู้อื่น โดยจำเลยช่วยพูดจาให้เขารับจำนำ เช่นนี้ เป็นการช่วยจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2529  จำเลยมีอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ได้นำรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งถูกชิงทรัพย์ไปจำนำ โดยมิได้นำทะเบียนรถไปแสดง เมื่อถูกกล่าวหาก็อ้างแต่เพียงว่าเป็นรถของ ส.โดยมิได้นำตัว ส.มาสืบ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร
          แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ก็ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตามมาตรา 357 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192


          แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์ขอร้องให้ช่วยติดตามไถ่ทรัพย์คืนและมิได้รู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย ก็ไม่ผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2530   จำเลยเป็นคนกลางติดต่อไถ่รถจักรยานยนต์ร่วมกับผู้อื่นตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ไว้จากคนร้ายหรือร่วมรู้กับคนร้ายมาเรียกค่าไถ่จากผู้เสียหาย การที่จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาส่งให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องนำมาคืนตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้องให้ทำ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยพาไปเสีย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1937/2533  จำเลยรู้ว่ายางพาราแผ่นของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายไปลักมาแล้วนำไปซ่อนไว้ การที่จำเลยลงมือเก็บยางพาราแผ่นเตรียมขนไปจึงเป็นการช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          ซื้อ หมายถึง การรับทรัพย์ที่เป็นของโจรไว้โดยมีค่าตอบแทน และการซื้อดังกล่าวจะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2522  จำเลยอยู่ที่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จำเลยเพียงแต่ดูกระบือ ตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ตกลงจะซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงได้ความแต่เพียงว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยิงต่อสู้กับคนร้ายแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยยืนอยู่บริเวณปากถ้ำที่เกิดเหตุ และพบกระบือ 2 ตัวที่ถูกคนร้ายลักไปผูกอยู่ที่ในถ้ำเท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นประจักษ์ว่า จำเลยได้ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่น ซึ่งกระบือที่ถูกลักนั้นแต่ประการใด แต่จำเลยนำสืบว่าเหตุที่จำเลยไปอยู่ที่บริเวณถ้ำเสือที่เกิดเหตุนั้น เพราะผู้ตายกับพวกไปบอกขายกระบือให้จำเลย ขณะที่จำเลยไปหาซื้อกระบือและพักอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านนั้น จำเลยจึงออกจากบ้านไปกับผู้ตายและพวกเพื่อดูกระบือที่บอกขาย จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงและจับกุม พยานจำเลยมีตัวจำเลยกับผู้ใหญ่บ้าน และนาย ฉ.เบิกความถึงเรื่องผู้ตายกับพวกบอกขายกระบือและพาจำเลยออกจากบ้านไปดูกระบือตรงกัน กับได้ความตามคำเบิกความของนาย ฮ. ผู้เสียหายและจ่าสิบตำรวจประสงค์ คงรอด ผู้จับกุมจำเลยซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า เมื่อจับจำเลยได้นั้นพบเงินที่จำเลย 960 บาท และจำเลยแจ้งว่าไปที่ถ้ำนั้นเพื่อดูกระบือที่ผู้ตายกับพวกบอกขาย จำเลยให้การยืนยันเช่นนี้ตลอดมาทั้งที่ให้การต่อ ผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดน 320 และต่อพนักงานสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าในขณะที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวนั้น จำเลยยังมิได้รับกระบือ2 ตัวนั้นไว้ยึดถือหรือครอบครอง จำเลยเพียงแต่ตั้งใจจะซื้อกระบือ แต่ยังไม่ทันได้ตกลงซื้อก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานรับของโจรดังโจทก์ฟ้อง"

          รับจำนำ ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันที่จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้รับตัวทรัพย์ที่จำนำ
          รับไว้ด้วยประการใดๆ เป็นการบัญญัติไว้กว้างๆ เช่น รับฝาก เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2520  จำเลยรับเช็คไว้โดยรู้ว่าเป็นเช็คอันได้มาจากการลักทรัพย์ แม้จำเลยจะไม่มีทางรับเงินตามเช็คได้ เพราะเช็คถูกอายัดไว้แล้ว ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้วไม่ใช่เพียงขั้นพยายาม

           หลักสำคัญอีกประการคือ ต้องกระทำต่อทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิด ได้แก่ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ 
          ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่เรียกว่าเป็นของโจรนั้น หมายถึงเฉพาะตัวทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น ถ้าตราบใดที่ตัวทรัพย์ยังไม่เปลี่ยนสภาพหรือไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นสิ้นสุดการเป็นของโจรแล้ว ทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นของโจรอยู่ต่อไป
          เหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น
          1.ทรัพย์ที่เป็นของโจรได้เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์อย่างอื่น
          2.การเอาทรัพย์ที่เป็นของโจรไปแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์อย่างอื่น ทรัพย์ที่ได้มาใหม่นั้นก็ไม่ใช่ของโจร
          3.ทรัพย์ที่เป็นของโจรหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น เจ้าของทรัพย์ได้ทรัพย์นั้นคืนมา
          4.เมื่อเจ้าของเดิมหมดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันเป็นของโจร เช่น กรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382, 1383 เป็นต้น

          สุดท้ายคือเรื่องเจตนา คือ ขณะที่รับทรัพย์นั้นไว้ รู้หรือไม่ว่าทรัพย์ที่รับไว้นั้นเป็นของโจร หรือทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2540   คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรนั้นข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิด กรณีของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด จะอาศัยพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากบ้านของ ส. โดยคิดหรือคาดคะเนเอาว่าจำเลยได้ครอบครองหรือช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วฟังประกอบบันทึกการตรวจยึดว่าจำเลยมีรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดนั้นหาได้ไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2540   เจ้าพนักงานตำรวจพบชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางวางอย่างเปิดเผยในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลย โดยมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพของกลางดังกล่าวเลย ทั้งจำเลยยังมีบิลเงินสดที่แสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้เพื่อทำการซ่อมซึ่งเป็นฉบับซึ่งแทรกอยู่กับใบเสร็จฉบับอื่นจึงยากที่จำเลยจะทำเพิ่มเติมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540    จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771/2542   อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ผู้ที่จะครอบครองได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจะนำอาวุธปืนนั้นไปจำนำไว้กับจำเลยเองก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว หากจำเลยยอมรับจำนำไว้แม้โดยสุจริตก็เป็นการไม่บังควรเพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่จำเลยอ้างว่ารับจำนำอาวุธปืนของกลางซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จาก ต. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน โดยมิได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของบิดา ต. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3,500 บาท ทั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาท แสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขูดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้ แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานส่อให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาหรือไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจาการกระทำความผิดใน 9 ฐานดังกล่าว ผู้รับไว้ก็ไม่ผิดรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2727/2537  รังนกในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา  การที่ อ.ได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกได้อันเป็นการได้รับผูกขาดจากรัฐบาลนั้น  อ.ผู้รับผูกขาดมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกในถ้ำที่ผูกขาดก็เข้าเก็บเอาได้  ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต  แต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกนั้นยังจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อผู้ที่เก็บรังนกรายนี้ไม่ใช่ลูกจ้างของ อ.  และ อ.ยังมิได้เข้ายึดถือเอารังนกนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 1318  แห่ง ป.พ.พ.  อ.จึงยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกรายนี้  การเก็บรังนกดังกล่าวไปจึงไม่เป็นการลักทรัพย์ของ อ.  และเมื่อรังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร 
          จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4  ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2  จึงเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี  แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา  เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิด  ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213  ประกอบด้วยมาตรา 225