12 มี.ค. 2567

ความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดที่เขากระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล

          กรณีของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จะต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งผู้ไร้ความสามารถได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าปรากฏว่ามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
          มาตรา 430 "ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิด ร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร"
          มาตรา 430 นี้แตกต่างจากมาตรา 429 ในเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ กล่าวคือ กรณีตามมาตรา 430 นั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้เสียหาย
          การดูแลตามมาตรา 430 มีอยู่ 3 กรณี 
          1. รับดูแลโดยกฎหมายบังคับ เช่น ผู้ปกครองที่ศาลสั่งตั้ง สถานพินิจคุ้มครองเด็กที่รับเด็กต้องคดีมาดูแล ถือเป็นผู้รับดูแลโดยกฎหมายบังคับ
          2. ดูแลโดยสัญญา เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก จ้างคนมาดูแลผู้เยาว์ หรือครูบาอาจารย์ก็ถือว่าดูแลโดยสัญญา
          3. ดูแลโดยข้อเท็จจริง เช่น บิดานอกกฎหมายที่รับผู้เยาว์ไปดูแลในขณะเกิดเหตุ หรือปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาที่รับผู้เยาว์ไปดูแล หรือรับเด็กมาอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น
          ซึ่งการรับดูแลนี้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือเป็นประจำ ก็ถือว่ารับดูแล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีค่าจ้างหรือไม่



          บุคคลผู้รับดูแลมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแล
          1. ครูบาอาจารย์นั้นมีหน้าที่ดูแลนักเรียนผู้เยาว์ด้วย หากนักเรียนผู้เยาว์ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใดในระหว่างอยู่ในความดูแลของครูบาอาจารย์และปรากฏว่าครูบาอาจารย์นั้นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ครูบาอาจารย์นั้นย่อมต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2511  เช้าวันเกิดเหตุ ครูได้เก็บเอาไม้กระบอกพลุที่เด็กนักเรียนเล่นมาทำลายและห้ามไม่ให้เล่นต่อไปตอนหยุดพักกลางวันนักเรียนคนหนึ่งได้เล่นกระบอกพลุที่นอกห้องเรียนไปโดนนัยน์ตานักเรียนอีกคนหนึ่งบอดพฤติการณ์เช่นนี้ครูได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วเหตุที่เกิดละเมิดเป็นการนอกเหนืออำนาจและวิสัยที่ครูจะดูแลให้ปลอดภัยได้ครูจึงไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2515  จำเลยที่ 3 ครูใหญ่ ได้ให้ อ. ครูรองคอยควบคุมดูแลนักเรียนซึ่งรวมทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เล่นบันไดโหนอย่างผาดโผน อ.เห็นก็ห้ามปรามจำเลยที่ 1 พอขาดคำบันไดก็ล้มทับโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้น (เรื่องนี้ฟ้องครูใหญ่ ไม่ได้ฟ้องครูรอง)
          2. นายจ้าง หมายถึงนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้เยาว์ ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ดูแลลูกจ้างผู้เยาว์ด้วย โดยที่ความรับผิดของนายจ้างตามมาตรา 430 นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างเหมือนดังมาตรา 425 แต่การกระทำละเมิดจะเกิดเวลาใดก็ได้ ตราบใดที่ลูกจ้างผู้เยาว์ยังอยู่ในความดูแลของนายจ้างหากไปทำละเมิดแล้วนายจ้างก็ต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนถ้าหากลูกจ้างผู้เยาว์ยังอยู่ในความดูแลของนายจ้างแล้วการทำละเมิดเกิดขึ้นในทางการที่จ้าง กรณีนี้นายจ้างก็ต้องรับผิดทั้งตามมาตรา 425 และมาตรา 430
          3. ผู้รับดูแล คือ ต้องมีความใกล้ชิดดูแลอบรมสั่งสอนผู้เยาว์ด้วย บิดานอกกฎหมายก็ถือเป็นผู้ดูแล ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ถ้าได้ดูแลผู้เยาว์อยู่ก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลเช่นกัน ดังนั้น หากผู้เยาว์ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใดในระหว่างอยู่ในความดูแลของผู้รับดูแลและปรากฏว่าผู้รับดูแลนั้นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ผู้รับดูแลนั้นย่อมต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2518  หลานอายุ 13 ปีมาพักเรียนหนังสืออยู่กับตายายๆ เป็นผู้ดูแลต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับหลานตาม มาตรา 430
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2537   จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยร่วมและเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมต้องย้ายภูมิลำเนาไปประกอบอาชีพในที่ต่าง ๆ หลายแห่งบ่อย ๆ จึงได้ส่งจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้เรียนหนังสือตั้งแต่จำเลยที่ 1 ยังมีอายุประมาณ10 ปี ตลอดมาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว จำเลยร่วมส่งเสียให้เล่าเรียนโดยให้เบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่สถานีตำรวจก็ได้ระบุในข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9084/2539   จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ.มาตรา429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 430 มาปรับใช้บังคับ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลจึงนำ ป.พ.พ.มาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้โดยชอบ
          จำเลยที่ 2 เป็นผู้บอกจำเลยที่ 3 ให้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ขับรถไม่ค่อยเป็นไม่สามารถขับรถยนต์ออกถนนใหญ่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ทราบดีและยังทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรจะเก็บกุญแจรถยนต์จิ๊ปไว้ในที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในการทำละเมิดต่อโจทก์

          ถ้าไม่ใช่ผู้รับดูแลก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2535   จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของหอพักที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เช่าอยู่ และเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจธุระของตนเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ และจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 เพราะเจ้าของหอพักมีหน้าที่เพียงดำเนินกิจการหอพักและควบคุมการเข้าพักในหอพักเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546   ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้
          หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558   เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          แม้จะเป็นผู้รับดูแลผู้เยาว์ก็ตาม แต่ถ้าทางผู้เสียหายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557   จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2