มาตรา 1574 "นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใดๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย"
เมื่อศาลอนุญาตให้ขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์แล้ว ผู้ซื้อจะอ้างว่าถูกหลอกให้ซื้อเพื่อคัดค้านการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1574 บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องที่ผู้ร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามและอนุญาตให้ผู้ร้องขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม ประเด็นดังกล่าวจึงยุติ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามในราคาใหม่ คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า สมควรกำหนดให้ขายใหม่ในราคาเท่าใดเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ร้องต้องนำสืบเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ว่ามีราคาเท่าใดและสมควรขายในราคาเท่าใด หาได้เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าถูก ก. หลอกลวงขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้คัดค้านหลงเชื่อวางเงินมัดจำให้ ก. ก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านต้องไปว่ากล่าวต่อ ก. เอง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม
*** เมื่อเป็นกรณีที่ทำนิติกรรมใดเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งต้องขออนุญาตศาลแล้ว จะเลี่ยงโดยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125 - 2126/2558 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 บอกล้างนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 3 บอกเลิกความยินยอมที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในชั้นอุทธรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยในวันดังกล่าวโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นไม่เป็นศาลเยาวชนและครอบครัว ทั้งไม่ได้รับการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ เห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายและเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8535/2547 ข้อความตามบันทึกข้อตกลงที่ว่า จำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินพิพาทในเฉพาะส่วนของ ส. นั้น ย่อมมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การถอนชื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกจากโฉนดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงบางส่วนซึ่งทรัพย์สินของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นการประนีประนอมยอมความ จึงเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (2) และ (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบกรรม มีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาล บันทึกข้อตกลงการถอนชื่อจากโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6
หากทำนิติกรรมใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1574 ย่อมมีผลให้นิติกรรมนั้นไม่ผูกพันผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555 หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552 เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574 (12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115/2555 การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที และยังเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุเกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่า รับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และเป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 บัญญัติว่า “ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” ดังนั้น สิทธิการเช่าจึงเป็นทรัพย์สิน และเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ภายใต้การบังคับคดีตามกฎหมาย จึงอาจจำหน่ายจ่ายโอนแก่บุคคลอื่นได้เพื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าแทนตน สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้น และตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 1574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งผู้เยาว์นั้นต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครอง อันได้แก่ บิดาและ/หรือมารดา ในบทมาตราดังกล่าวนี้บัญญัติว่า “...ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต...” และมีอนุมาตราแสดงการกระทำที่ต้องห้ามไว้สิบสามอนุมาตรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นบทเคร่งครัดที่จะต้องปฏิบัติตาม ลักษณะที่เป็นบทเคร่งครัดของมาตรา 1574 ประกอบกับการเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำไว้อย่างชัดแจ้งนั้น ทำให้นิติกรรมใดที่ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืน คือ หากเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1574 (1) ถึง (13) แล้ว นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย...การนั้นเป็นโมฆะ” และการที่นาง บ.ในฐานะผู้ปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้ โดยการนำสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ของโจทก์ทั้งสองโอนให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่นาง บ. เป็นหนี้จำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายพลอยโดยตีราคาสิทธิการเช่าดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น เป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (11) นั่นคือ นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3) เมื่อนาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 แทนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นโดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ยินยอมให้นาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลว่านาง บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน หาเป็นเช่นนั้นไม่ หากกรณีดังกล่าวสามารถทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องขออนุญาตจากศาล และเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ตามสำเนาแบบคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ และสำเนาบันทึกข้อความที่ทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันทีตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 เกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่ารับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้
แต่ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตรา 1574 โดยลำพัง ต้องปรับตามมาตรา 21 มีผลให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558 โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
กรณีผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก แม้มีทายาทบางคนเป็นผู้เยาว์ ก็ไม่ต้องขออนุญาตศาล เพราะไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544 ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้
แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง
เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก