1 มี.ค. 2567

หน้าที่และความรับผิด ของผู้จัดการมรดก


          ผู้จัดการมรดกอาจมีที่มาจากโดยทายาทแต่งตั้ง โดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล ซึ่งผู้จัดการมรดกแต่ละประเภทนั้นกฎหมายให้มีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547  คดีขอจัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 และบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 1718 หรือไม่
          ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2537   ผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง บุคคลใดที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ เมื่อ ง. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดากับบุตรทั้งสามและ ญ.ภริยาของเจ้ามรดก แต่ที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่ง ญ. ก็ถึงแก่ความตายดังนี้ สิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกได้แก่ ญ. จึงเป็นมรดกของ ญ.ที่ต้องตกได้แก่ผู้คัดค้านกับ ถ. บิดามารดาและบุตรทั้งสามของ ญ. ผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ง. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2541  ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก แต่ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมทั้ง 2 ฉบับเป็นทรัพย์คนละส่วนกัน ตามคำร้องขอของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของผู้ตายและมีสิทธิรับมรดกส่วนหนึ่งของผู้ตายตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายคำร้อง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทของผู้ตาย เมื่อปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้จัดการมรดกได้
          การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกส่วนหนึ่ง และฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับมิได้ขัดกัน จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้น พินัยกรรมของผู้ตายทั้งสองฉบับย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และเมื่อผู้ตายมีความประสงค์ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้แยกจากกันเช่นนี้ จึงไม่สมควรที่ศาลจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จึงให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่ละฉบับตามความประสงค์ของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4886/2541   ศ.ภริยาของ ช. ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ส่วนผู้คัดค้านมิใช่บุตรของ ศ. มิใช่ทายาทโดยธรรม และไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ช.และ ศ.ในอันที่จะยื่นคำร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของ ศ.ทั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ.ซึ่งมีทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมกับ ช.ในที่ดินโฉนดเลขที่13566 เมื่อ ศ. ถึงแก่กรรม ที่ดินส่วนที่ ศ. มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมทันที ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 ดังนี้ ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดดังกล่าว และถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดกของ ช.ด้วย ตามป.พ.พ.มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ได้

          เวลาเริ่มต้นมีอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

          กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เริ่มมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาล ซึ่งคำสั่งศาลอาจจะยังไม่ถึงที่สุดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5516/2536  ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ตั้งผู้ร้องผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส.ร่วมกัน ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมยังคงผูกพันตามคำสั่งศาลชั้นต้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ร่วมกันและมีหน้าที่จะต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเอกสารตัวจริงที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกมาไว้ที่ศาล เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จตามกำหนดได้
          กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม เริ่มมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่เมื่อแสดงเจตนาเข้ารับหน้าที่ โดยหากยังไม่เข้ารับหน้าที่และทายาทแจ้งมาว่าจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ หากไม่ตอบรับภายใน 1 เดือนก็ถือว่าปฏิเสธไม่เป็นผู้จัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2535  ข้อกำหนดพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านเป็นส่วนใหญ่ และตั้งพันโทหญิง ม. และนาง ม. บุตรผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านให้ทนายความแจ้งไปยังพันโทหญิง ม. และนาง ม. ว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ คนทั้งสองได้รับหนังสือแล้วไม่ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายใน 1 เดือน นับแต่วันรับแจ้งความ ถือได้ว่าคนทั้งสองปฏิเสธที่จะรับเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1717 ไม่สมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ผู้จัดการมรดกโดยทายาทแต่งตั้ง กรณีนี้เป็นเรื่องตั้งตัวแทนจึงต้องมีคำเสนอคำสนองรับ หากเมื่อตกลงรับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ก็เริ่มมีอำนาจหน้าที่ทันที

          สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

          สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลและผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการตามมาตรา 1719 กล่าวคือ ประการแรก สิทธิและหน้าที่กระทำการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และประการที่สอง สิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้



          การปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก


          (1) ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองมรดกว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ ตามมาตรา 1721

          (2) ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 1722
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525   การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ 

          (3) ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามมาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2523   ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง น. ส. และ สมเป็นผู้จัดการมรดกระหว่างจัดการมรดก ศาลนัดพร้อมผู้จัดการมรดกมาพร้อมกัน ผู้จัดการมรดกแถลงร่วมกันว่า ว.ข., และ ข. ขอซื้อที่นามรดกราคาไร่ละ 3,350 บาท  ผู้จัดการมรดกเห็นชอบและตกลงขาย ศาลชั้นต้นให้รับเงินค่าที่นา 25% ไว้ หลังจากนั้นในวันเดียวกันนั้น สม. ยื่นคำร้องขอซื้อที่นามรดกในราคาไร่ละ 3,500 บาท ศาลชั้นต้นสั่งใหม่อนุญาตขายให้ สม. และคืนเงินให้ ว. กับพวก เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 การจัดการมรดกตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก จะให้ผู้ให้ทำแทนไม่ได้  เว้นแต่จะมีอำนาจทำได้โดยพินัยกรรมและอื่นๆ (มาตรา 1723 ตอนท้าย) กรณีที่จะขายนามรดกให้กับบุคคลใดย่อมเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการมรดก เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเอง มิใช่เป็นอำนาจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไป จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  (ศาลสูงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2523   ป. บ. และ ส. กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ได้จัดแบ่งที่ดินมรดกและตกลงให้มีการทำถนนเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินด้านในๆ มีทางออกสู่ถนนได้กับตกลงกำหนดแนวทางที่จะทำถนนไว้แล้ว ป. บ. และ ส. เป็นโจทก์โดย ป. และ บ. มอบอำนาจให้ ส. ฟ้อง อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมสละที่ดินให้ทำถนน อันเป็นการฟ้องให้สละที่ดินทำถนนเพื่อทายาทอื่นใช้ร่วมกันตามข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ ป. บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นพ้องต้องกัน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกร่วมกันนั่นเองไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนให้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่มีอำนาจ อันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5141/2543   ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1723 เมื่อโจทก์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจึงไม่อาจจัดการมรดกได้โดยตนเอง ทั้งเหตุที่ต้องโทษจำคุกก็เนื่องมาจากการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ ดังนี้ ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

          (4) ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันบุคคลภายนอกได้ให้คำมั่นว่าจะเป็นลาภส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่ทายาทจะยินยอมด้วย ตามมาตรา 1724
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541  เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.ตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน ตามมาตรา 1728 หากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ อ. จำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้
          หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิใช่เพื่อจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทของ อ. แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์มอบให้ไว้ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง อีกทั้งก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาทกัน จำเลยที่ 1 และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าทายาทของ อ.ไม่ต้องการให้ขายที่ดินแปลงพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ อ.ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ กับได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. และศาลได้มีคำสั่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ.ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ เมื่อมิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายกันโดยไม่สุจริต นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ.มาตรา 1736 และมาตรา 1740 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่ผูกพันทายาทของ อ. โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ.ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้

          (5) การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดหลายคนต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากันเมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดตามมาตรา 1726 ซึ่งกรณีนี้แยกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ 
          ก. กรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล กฎหมายให้จัดการร่วมกัน คือ หากคนใดคนหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเสียชีวิต ผู้จัดการมรดกที่เหลือก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป จะต้องมาขออำนาจจากศาล
          ข. กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม กรณีนี้แม้ต้องจัดการร่วมกัน แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งตายไป คนอื่นที่เหลือก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป แต่ต้องถือเอาเสียงข้างมาก ตามมาตรา 1715 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2544  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมาก ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1726 ย่อมไม่ผูกพันกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลังไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และ ข. ในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แจ้งยกเลิกการขายที่ดินพิพาทกับโจทก์แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้



          อำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่กฎหมายบังคับ

          (1) ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย ตามมาตรา 1649 (แต่ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย)
          (2) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำบัญชีทรัพย์มรดก แต่กรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลอาจมีข้อยกเว้นได้ตามมาตรา 1713 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จัดการมรดกเพื่อการใดโดยเฉพาะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552  ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
          ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
          (3) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แจ้งหนี้อันเป็นคุณหรือเป็นโทษระหว่างผู้จัดการมรดกกับกองมรดก ตามมาตรา 1730
          (4) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่หาประกันในการจัดการมรดก ตามมาตรา 1730 ประกอบมาตรา 1597(1) 
          (5) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ในการแถลงความเป็นไปในการจัดการทรัพย์มรดกแก่ทายาท ตามมาตรา 1730 ประกอบมาตรา 1597(2)
          (6) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่สืบหาผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดพินัยกรรม ตามมาตรา 1725
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2538   เมื่อผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามที่พินัยกรรมกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้น แม้ต่อมาผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมจะถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการตามที่จำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดแห่งพินัยกรรมโดยการสืบหาทายาทของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเพื่อแจ้งให้ทราบและรับโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719  ซึ่งไม่ใช่เป็นการจัดการมรดกของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม
          (7) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่เรียกเก็บหนี้สิน ตามมาตรา 1736 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2491   ผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีอำนาจนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องผู้ทำสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ตาย ให้บังคับโอนขายอสังหาริมทรัพย์นั้น แก่กองมรดกได้ 
          (8) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ส่งเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการจัดการทรัพย์มรดกเข้ากองมรดก ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 810
          (9) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกและแบ่งปันมรดก ตามมาตรา 1732 ซึ่งต้องจัดการทำบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี เว้นแต่ผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทเสียงข้างมากหรือศาลจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดก

          กรณีที่ผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อ ผู้จัดการมรดกนั้นก็จะต้องรับผิดต่อทายาทหรือต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา 1720

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาท

          (1) รับผิดชดใช้ดอกเบี้ยสำหรับหนี้เงิน กรณีที่ผู้จัดการมรดกนำเงินที่ควรส่งเข้ากองมรดกไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ก็ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับต้้งแต่วันเอาไปจนกระทั่งถึงวันที่นำเงินส่งเข้ากองมรดก ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 811
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2529  ป.เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ.ตามคำสั่งศาล จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรม ป.ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดก จำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป.ตามคำสั่งศาลโดยระบุรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ของ ป.ไว้เป็นอย่างเดียวกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ ฉ. จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของ ฉ. สืบต่อจาก ป. และตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วย มิใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป.แต่ประการเดียว ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ฉ.ด้วยผู้หนึ่ง ได้ทวงถามจำเลยให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยปฏิเสธ สิทธิของโจทก์จึงถูกโต้แย้ง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
          ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่มิใช่ตัวเงิน ความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่มิใช่หนี้เงิน จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์.    
          (2) รับผิดเพราะประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          (3) รับผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          (4) รับผิดเพราะกระทำไปโดยปราศจากอำนาจหรือกระทำนอกเหนืออำนาจ ตามมาตรา 1720 ประกอบมาตรา 812
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2557  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกพิพาทมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว แล้วต่อมาจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์และทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามมาตรา 1720 และมาตรา 823 จำเลยที่ 2 ผู้รับการยกให้ไม่อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แม้จำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์มรดกพิพาทจากจำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่มีสิทธิ ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งมีทายาทด้วยกันรวม 6 คน การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามมาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ 1 ใน 6 ส่วน จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการให้และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111/2528  คำฟ้องของโจทก์กล่าวโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2  โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แม้จะกล่าวว่าเป็นการฉ้อฉล ก็หาได้ทำให้สาระสำคัญของคำฟ้องเสียไปไม่  และโจทก์ไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีกว่าจำเลยที่ 2 ใช้วิธีการฉ้อฉลอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดมาเป็นของตนผู้เดียว ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ 

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อบุคคลภายนอก

          กรณีนี้นำเอามาตรา 823 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ ถ้าทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ และทายาทไม่ให้สัตยาบันแก่การที่ทำไปนั้น ผู้จัดการมรดกก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพัง เว้นแต่บุคคลภายนอกจะรู้ว่าผู้จัดการมรดกทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ