25 ก.ย. 2558

ทรัพย์ส่วนกลาง (อาคารชุด) ระเบียงหน้าห้องชุด ถ้าผู้ขาย(เจ้าของโครงการ)ไม่มีความประสงค์จะให้ใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ก็ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลาง


           พ.ร.บ.อาคารชุดฯ

          “ทรัพย์ส่วนกลางหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม

          มาตรา 15  ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
          (1) ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด
          (2) ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (3) โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคงและเพื่อการป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด
          (4) อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (5) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (6) สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด
          (7) ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (8) สำนักงานของนิติบุคคลอาคารชุด
          (9) อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรือได้มาตามมาตรา 48 (1)
          (10) สิ่งก่อสร้างหรือระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยหรือสภาพแวดล้อมภายในอาคารชุด เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย การจัดแสงสว่าง การระบายอากาศ การปรับอากาศ การระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย หรือการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
          (11) ทรัพย์สินที่ใช้เงินตามมาตรา 18 ในการดูแลรักษา

          มาตรา 48  มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด
          (1) การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือรับการให้อสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าภาระติดพันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
          ทรัพย์ส่วนกลาง (อาคารชุด)  ระเบียงหน้าห้องชุด ถ้าไม่มีความประสงค์จะใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลางโดยตกลงให้ผู้ซื้อเป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงดังกล่าวผู้เดียวเท่านั้น ดังนี้ระเบียงหน้าห้องชุดพิพาทที่ผู้ขาย(เจ้าของโครงการ) ทำสัญญาโอนให้แก่ผู้ซื้อจึงไม่ใช่ทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน จึงไม่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง
          โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดโดยโจทก์ตกลงจะซื้อห้องชุดจากจำเลย 1 ห้องพร้อมระเบียงหน้าห้องชุดเพื่อโจทก์ใช้พักผ่อนและจำเลยได้แสดงเจตนาชัดแจ้งในขณะทำสัญญาว่าจำเลยไม่มีความประสงค์จะใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลาง โจทก์เป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงดังกล่าวเท่านั้นดังนี้ ระเบียงพิพาทที่จำเลยทำสัญญาโอนให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ไม่เป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 15(4)(6) และ(7) ข้อตกลงจะซื้อจะขายระเบียงพิพาทจึงหาต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
           เรื่องนี้ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดกัน 1 ห้องพร้อมระเบียงหน้าห้องชุดนั้นด้วยกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ต่อมาปรากฏว่า จำเลยแจ้งว่าไม่สามารถให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในระเบียงเป็นการส่วนตัวได้ เพราะจดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
           โดย ... โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในระเบียงซึ่งตั้งอยู่ชั้นที่ 24 เนื้อที่ประมาณ 34ตารางเมตร เพื่อการพักผ่อนได้แต่เพียงผู้เดียว ในราคารวมทั้งสิ้น 6,435,870 บาท และตกลงขายที่จอดรถในโครงการให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1 คัน ในราคา 120,000 บาท โจทก์ตกลงซื้อ และในวันทำสัญญาจำเลยจัดให้โจทก์เข้าทำสัญญากับบริษัทพีคเดคคอร์เรเตอร์ จำกัด เป็นผู้ตกแต่งห้องชุดและควบคุมงานเป็นเงิน 2,758,230 บาท โดยอ้างว่าเพื่อให้การก่อสร้างและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งห้องชุดเป็นไปตามมาตรฐาน โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยตรงตามงวดเป็นเงิน 3,091,500 บาท และได้ชำระค่าตกแต่งห้องชุดเป็นเงิน 1,273,500 บาท ระหว่างรอรับโอนพร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ไม่อาจให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในระเบียงเป็นส่วนตัวได้ เพราะได้จดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางแล้ว โจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญา จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 5,385,358.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,365,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา การที่จำเลยไม่สามารถให้โจทก์ใช้ระเบียงได้แต่เพียงผู้เดียวเนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้อ้างว่าเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติอาคารชุด เพราะระเบียบถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้โจทก์ และเงินที่โจทก์ชำระแก่บริษัทพีคเดคเคอร์เรเตอร์ จำกัด เป็นการชำระแก่บุคคลอื่น จำเลยไม่ต้องรับผิด ข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยถือเป็นสาระสำคัญและมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินไปขอให้ยกฟ้อง
          คดีนี้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยโจทก์ตกลงซื้อห้องชุด ชั้นที่ 24 จากจำเลยจำนวน 1 ห้อง พร้อมระเบียงหน้าห้องชุดเพื่อโจทก์ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เพียงผู้เดียว รายละเอียดปรากฎตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด แผนผังและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ตามข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทในคดีนี้ จำเลยทำสัญญาจะขายห้องชุดพร้อมระเบียบให้แก่โจทก์ด้วย ระเบียงที่ว่านี้จำเลยไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุดพ.ศ. 2522 มาตรา 15(4)(6) และ (7) ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 15 บัญญัติ ว่า "ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง (4) อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน (6) สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด (7) ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน" จะเห็นได้ว่า ทรัพย์ที่จะถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามที่ระบุไว้ในมาตรา 15 (4) (6) และ (7) ดังกล่าว ข้างต้นจะต้องเป็นทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน  แต่ระเบียงพิพาทที่จำเลยขายพร้อมห้องชุดให้แก่โจทก์ตามสัญญาในคดีนี้ ปรากฎว่าจำเลยได้แสดงเจตนาชัดแจ้งในขณะทำสัญญาว่า จำเลยไม่มีความประสงค์จะให้ระเบียงพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนกลาง และผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงพิพาทคงมีเฉพาะโจทก์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นระเบียงพิพาทที่จำเลยทำสัญญาตกลงโอนให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลาง ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดตามที่จำเลยอ้างแต่ประการใด นอกจากนี้นาย ศ. เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้รับจดทะเบียนอาคารชุดคดีนี้พยานจำเลยก็ยังได้ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ในการจดทะเบียนอาคารชุดโดยให้ระเบียงทุกชั้นเป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นเป็นความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยไม่ประสงค์จะให้ระเบียงทุกชั้นเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ทางสำนักงานที่ดินก็สามารถจดทะเบียนอาคารชุดให้แก่จำเลยได้ ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าระเบียงของแต่ละชั้นไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่นาย ศ.ตอบคำถามติงทนายจำเลยว่าโดยปกติทั่วไป หากอาคารชุดแต่ละชั้นมีห้องพักหลายห้อง ระเบียงจะถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานที่ดิน แต่ระเบียบดังกล่าวมิใช่กฎหมาย จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด จากเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจะเห็นได้ว่าบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 หาได้ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน 
          # คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2539 

9 ก.ย. 2558

นิติบุคคลอาคารชุด มีสิทธิเพียงจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น หาได้มีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่


พ.ร.บ.อาคารชุดฯ
มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
อาคารชุดหมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
            “ทรัพย์ส่วนบุคคลหมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย
            “ห้องชุดหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล
ทรัพย์ส่วนกลางหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม
.................
มาตรา 33 วรรคสอง "นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้"

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ทรัพย์ส่วนบุคคล ว่า ห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย และให้ความหมายของคำว่า ทรัพย์ส่วนกลาง ว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดพิพาทซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดพิพาทและออกระเบียบข้อบังคับในอันที่จะจัดการและดำเนินการเพื่อความปลอดภัยดูแลกิจการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอาคารชุดก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเพียงจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ แม้จะได้ความว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก หาใช่ออกระเบียบเพื่อบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยหลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ การที่จำเลยที่ 1 ติดตั้งประตูนิรภัยบริเวณด้านหน้าลิฟต์และบันไดของอาคารชุด โดยกำหนดระเบียบว่าจะส่งมอบบัตรผ่านประตูให้แก่เจ้าของร่วมที่ไม่ติดค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเท่านั้น การออกระเบียบข้อบังคับเช่นนี้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคล จึงไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้ทั้งเป็นการรบกวนสิทธิและทำให้เสื่อมความสะดวกแห่งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมในอันที่จะเข้าไปใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล กรณีถือว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ตนทำขึ้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8512/2553)

31 ส.ค. 2558

การขอเลิกการรับบุตรบุญธรรม ต้องทำโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/31 วรรคสาม ถ้ามิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูผู้เยาว์มาตั้งแต่เกิดเนื่องจากมารดาผู้เยาว์ฝากโจทก์เลี้ยงดู ต่อมาบิดามารดาผู้เยาว์ทอดทิ้งผู้เยาว์ โจทก์และสามีจึงเลี้ยงดูผู้เยาว์จนถึงอายุ 4 ปี โจทก์เห็นว่าผู้เยาว์จะต้องเข้าโรงเรียน จึงปรึกษาจำเลยทั้งสองเพื่อให้ผู้เยาว์ได้เรียนหนังสือ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม และศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดา จำเลยทั้งสองจึงจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
          ต่อมา โจทก์ซึ่งเป็นผู้เคยรับเลี้ยงดูผู้เยาว์ยื่นคำฟ้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้เยาว์เลิกจากการเป็นบุตรบุญธรรมของจำเลยทั้งสอง และให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์อีกต่อไป ต่อมาโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีสาระสำคัญว่า จำเลยทั้งสองอนุญาตให้โจทก์รับผู้เยาว์ไปพักอาศัยที่บ้านโจทก์ได้โดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ต้องไม่ทำให้กระทบกระเทือนการเรียนของผู้เยาว์ หากฝ่ายใดผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายครั้งละ 10,000 บาท  ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  
          ต่อมา จำเลยทั้งสองยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ยอมให้ผู้เยาว์ไปพักกับโจทก์และยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำขอของจำเลยทั้งสองที่ขอออกหมายบังคับคดี จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน
          ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้ผู้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองขอออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับมาเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายบังคับคดีที่ออกมาก็ไม่สามารถใช้บังคับคดีได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
          (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8608/2557)

11 ก.ค. 2558

การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ของผู้ร้อง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

           แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ของผู้ร้อง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง(ผู้ครอบครองปรปักษ์์)

ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง  "ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"

แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดย สุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการ ครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
        เรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี โดยโจทก์นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 และนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 24688 ตำบลบุ่งขี้เหล็ก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสอง แปลง โดยการครอบครองปรปักษ์ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาคำสั่งศาล โดยผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24688 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ถอนการยึด โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องชอบที่จะขอให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จะบัญญัติว่า สิทธิของผู้ที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้เป็นผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมิใช่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ขณะที่โจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือว่าได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้โดยชอบก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทจึงเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556)

26 มิ.ย. 2558

แดนแห่งกรรมสิทธิ์ และการใช้กรรมสิทธิ์ เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้

ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ 
           
มาตรา 1335  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย
มาตรา 1336  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  796/2552  เรื่องนี้ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินเดิมจำนวนสองแปลง โดยจำเลยได้ปลูกบ้านคร่อมลงบนที่ดินทั้งสองแปลง ต่อมาที่ดินถูกบังคับคดีนำมาขายทอดตลาด โจทก์ซื้อที่ดินมาจากการขายทอดตลาด ปรากฏว่ามีส่วนของบ้านจำเลยตั้งอยู่บนที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรื้อถอนออกไป  
         ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1653 ตำบลพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 26285 ตำบลพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 37 ตารางวา เป็นของจำเลย โดยด้านทิศเหนืออยู่ติดกับที่ดินของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1898 จำเลยได้สร้างบ้านและสิ่งปลูกสร้างคร่อมบนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ต่อมาที่ดินพิพาทถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1400/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดปรากฏว่า มีบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยบางส่วนอยู่ในที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่ให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ครั้นต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน เป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 และมาตรา 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบท กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

19 มิ.ย. 2558

นิติกรรมอำพราง ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยิมเงิน สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องไปบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155  "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ที่ดินที่พิพาทกันเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลงมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก) คือ เลขที่ 1340 และ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา มีชื่อ จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นาย ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ หลังจากนั้นต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็เปลี่ยนออกเป็นโฉนดเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนาย ต. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาก็มีการโอนที่ดินต่อมาจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แ ละที่ 3 ตามลำดับ 
ต่อมา โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ให้แก่จำเลยที่ ๒ กับเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนชื่อของนาย ต.ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 
เรื่องนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          การ ที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป 
           สรุปว่า แม้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินกันไว้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ก็ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

23 พ.ค. 2558

หมิ่นประมาท : การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจหรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

      การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2555 - จำเลยพูดทวงเงินที่ ถ. ค้างชำระแล้วจำเลยกับ ถ. มีปากเสียงด่าว่ากัน และจำเลยได้ด่าว่า โคตรของมึงยืมเงินกูไปเป็นประจำ ไอ้หรัด อีต้อย ก็ไปยืมเงินกู เหตุเกิดขณะ ถ. กับจำเลยต่างทะเลาะ โต้เถียงกันต่างอยู่ในอารมณ์โกรธ ข้อความที่ว่าไอ้หรัดซึ่งหมายถึงผู้เสียหายเป็นเพียงคำเรียกหาที่ไม่สุภาพ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยก็กล่าวตามข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหาย รับว่าเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยจริง ทั้งการกู้ยืมเงินกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกับว่าผู้เสียหายคดโกง ดังนี้ ตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไปจึงไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

หมิ่นประมาท : การแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          บุตรเข้าใจว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบิดา จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ดังนี้ เป็นกรณีที่ลูกบ้านอยู่ในความปกครองของผู้ใหญ่บ้าน พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านหาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของตน เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์  แต่ถ้ามีคนนอกเข้ามานั่งฟังอยู่ด้วย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาททันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นาย ส.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจากนาย ม.ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างบุตรของนาย ม. นาย ส.จึงไปที่บ้านของนาย ค. บุตรของนาย ม.คนหนึ่ง พบนาย ค.และบุตรของนาย ม.อีกหลายคน บรรดาบุตรของนาย ม.รวมทั้งจำเลยด้วยต่างเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.จึงปรึกษาหารือหรือพูดคุยกับนาย ส.เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่านาย ม.จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมด จะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่า ในฐานะที่จำเลยกับพวกเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของนาย ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปรับทุกข์กับนาย ส. เพื่อให้นาย ส.หาทางช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ครอบครัวของนาย ม. ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
          แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นาง ป.เข้ามาร่วมรับฟังด้วยแล้ว การที่จำเลยกล่าวต่อหน้านาง ป.ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับนาย ม.และหลอกเอาเงินของนาย ม.นั้น เห็นว่า ที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.บิดาของจำเลย ไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้านาง ป.ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทเช่นว่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย และเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

พยานที่รับรองพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น(ต่อหน้า) เป็นสำคัญ

          ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง ไม่ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656
          มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
          บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน (และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น) เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไป เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อใน พินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำ พินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็น โมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบ ด้วยกฎหมายไปได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้