กระบวนการดำเนินการทางวินัยมีขั้นตอนประกอบด้วย การสอบสวน การพิจารณา การลงโทษ การตรวจสอบการลงโทษ การอุทธรณ์ และการเปลี่ยนแปลงการลงโทษ
1. การสอบสวน เป็นกระบวนการบังคับก่อนพิจารณาลงโทษในความผิดวินัย เพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรม กรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ดำเนินการตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร สำหรับกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน ในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้ชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา แต่ในส่วนความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งไม่บังคับให้ต้อง
สอบสวน จะสอบสวนก็ได้ ไม่สอบสวนก็ได้
2. การพิจารณา ต้องกระทำทุกกรณีก่อนลงโทษทางวินัย เพื่อให้การลงโทษเป็นไปโดยถูกต้องและเหมาะสม วิธีการพิจารณาแตกต่างกันระหว่างความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกับความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง กล่าวคือ ความผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องพิจารณาโดยองค์กรบริหารงานบุคคล ส่วนความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงพิจารณาโดยผู้บังคับบัญชา
3. การลงโทษ เมื่อปรากฏจากการพิจารณาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยจึงลงโทษ
4. การตรวจสอบการลงโทษ เป็นกระบวนการควบคุมดูแลอีกขั้นหนึ่งให้การลงโทษเป็นไปโดยถูกต้องและเหมาะสม โดยมีการตรวจสอบ 2 ระดับ คือ ตรวจสอบโดยผู้บังคับบัญชาตามลำดับ กับตรวจสอบโดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคล หากตรวจสอบพบว่าการลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ก็จะสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อไป
5. การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ เป็นกระบวนการเพื่อให้หลักประกันแก่ข้าราชการที่จะได้มีโอกาสและหนทางแสวงหาความยุติธรรมได้อีกขั้นหนึ่ง ถ้าอุทธรณ์ฟังขึ้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้เป็นคุณแก่ผู้นั้นต่อไป
การดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
เมื่อปรากฏว่ามีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยเร็วด้วยความยุติธรรมและปราศจากอคติ (มาตรา 90 วรรคหนึ่ง)
กฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุรีบดำเนินการหรือสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ยุติเรื่อง ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 หรือ มาตรา 93 แล้วแต่กรณี แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กล่าวคือ
1. การกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ในกรณีที่ปรากฏว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว หรือผลการสืบสวนหรือพิจารณาปรากฏว่ากรณีมีมูล ถ้าความผิดนั้นมิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งได้รับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว หากผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามควรแก่กรณี โดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ (มาตรา 92 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวสั่งยุติเรื่อง (มาตรา 92 วรรคสอง) ทั้งนี้ โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ยังคงมี 3 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน (มาตรา 96 วรรคหนึ่ง) ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิดตามมาตรา 96 ซึ่งการลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษใดได้เพียงใด เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงต้องนำกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 มาใช้บังคับ
2. การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ในกรณีที่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยที่ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จให้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถ้าผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาก็สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาและเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
กรณีที่คณะกรรมการสอบสวน หรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 93 หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา 94 (กรณีข้าราชการพลเรือนตำแหน่งต่างกัน หรือต่างกรม หรือต่างกระทรวงกัน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร่วมกัน) เห็นว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณีพิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าว มีมติเป็นประการใด ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่งกฎ ก.พ. ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ปัจจุบันก็คือกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556
การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นไปตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 18 กล่าวคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนสามัญ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกอย่างน้อยสองคน โดยให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นจะแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งมิใช่ข้าราชการการเมืองก็ได้ ทั้งนี้ กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมายหรือผู้ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัย หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัย
การคัดค้านคณะกรรมการสอบสวน เป็นไปตาม กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 22 กล่าวคือ เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ กรรมการสอบสวนอาจถูกคัดค้านได้
(1) เป็นผู้กล่าวหาตามข้อ 3
(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้กล่าวหาตามข้อ 3
(3) เป็นญาติของผู้กล่าวหาตามข้อ 3 คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น
(4) เป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหาหรือกับคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา
(5) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่สอบสวน
(6) เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำผิดตามเรื่องที่กล่าวหา
(7) เป็นผู้ที่มีเหตุอื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ในข้อ 23 กำหนดว่า การคัดค้านกรรมการสอบสวนต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือนับแต่วันที่ทราบว่ามีกรณีตามข้อ 22 โดยหนังสือคัดค้านต้องแสดงข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านตามที่กำหนดไว้ในข้อ 22
หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย
ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จให้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 กล่าวคือ
ในข้อ 27 ให้ประธานกรรมการจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนครั้งแรกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการรับเรื่องตามข้อ 21 (2) และ (3) ในกรณีที่ไม่อาจจัดประชุมได้ภายในกำหนดให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทราบ
ในการประชุมคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสอบสวนกำหนดประเด็นและวางแนวทางการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐาน
ข้อ 28 เมื่อได้วางแนวทางการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(2) แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
(3) ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
(4) พิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
(5) ทำรายงานการสอบสวนพร้อมความเห็นเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ข้อ 29 ให้คณะกรรมการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การสอบสวนโดยไม่รับฟังแต่เพียงข้ออ้างหรือพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย
ข้อ 30 ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานให้สอบปากคำคราวละหนึ่งคน และในการสอบปากคำพยาน ต้องแจ้งให้พยานทราบว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย
การสอบปากคำตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดจึงจะทำการสอบปากคำได้ แต่ในกรณีที่กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดมีมากกว่าสามคน จะให้กรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสามคนทำการสอบปากคำก็ได้
ข้อ 31 การสอบปากคำตามข้อ 30 ต้องมีการบันทึกถ้อยคำของผู้ให้ถ้อยคำตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด แล้วอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังหรือให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ แล้วให้ผู้ให้ถ้อยคำผู้บันทึกถ้อยคำ และกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำนั้นไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่บันทึกถ้อยคำใดมีหลายหน้า ให้ผู้ให้ถ้อยคำและกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำหนึ่งคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ในบันทึกถ้อยคำทุกหน้า
ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามมิให้ขูด ลบ หรือบันทึกข้อความทับข้อความที่ได้บันทึกไว้ในบันทึกถ้อยคำแล้ว ถ้าจะต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความที่บันทึกไว้ ให้ใช้วิธีขีดฆ่าข้อความเดิมและเพิ่มเติมข้อความใหม่ด้วยวิธีตกเติม แล้วให้ผู้ให้ถ้อยคำและกรรมการสอบสวนซึ่งอยู่ร่วมในการสอบปากคำหนึ่งคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ตรงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทุกแห่ง
ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้บันทึกเหตุที่ไม่ลงลายมือชื่อนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำด้วย
ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้ดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ 32 ในการสอบปากคำ ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบปากคำ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งกรรมการสอบสวนที่ทำการสอบปากคำอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน หรือเป็นทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหาตามจำนวนที่กรรมการสอบสวนที่ทำการสอบปากคำเห็นสมควรให้เข้ามาในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา
ข้อ 33 ห้ามมิให้กรรมการสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญาขู่เข็ญ หลอกลวง บังคับ หรือกระทำโดยมิชอบไม่ว่าด้วยประการใด เพื่อจูงใจให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานให้ถ้อยคำอย่างใด
ข้อ 34 การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนจัดให้มีการบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด
เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่อาจนำต้นฉบับมาได้จะใช้สำเนาที่กรรมการสอบสวนหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้
ในกรณีที่ไม่สามารถหาต้นฉบับเอกสารได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายหรือโดยเหตุประการอื่นคณะกรรมการสอบสวนจะสืบจากสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนก็ได้
ข้อ 38 เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 28 (1) แล้ว ให้มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาทำความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ให้รายงานผลการสอบสวนพร้อมความเห็นเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานที่รวบรวมได้เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
การประชุมตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด
ข้อ 40 การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ทำเป็นบันทึกระบุข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร เป็นความผิดวินัยในกรณีใด และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา โดยจะระบุชื่อพยานด้วยหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งแจ้งให้ทราบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือ สิทธิที่จะแสดงพยานหลักฐานหรือจะอ้างพยานหลักฐานเพื่อขอให้เรียกพยานหลักฐานนั้นมาได้ แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
บันทึกตามวรรคหนึ่ง ให้ทำตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความตรงกัน ให้ประธานกรรมการและกรรมการอีกอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย
ข้อ 41 เมื่อได้จัดทำบันทึกตามข้อ 40 แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนมีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้มาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งอธิบายข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบข้อกล่าวหาโดยลงลายมือชื่อพร้อมทั้งวันเดือนปีในบันทึกนั้น แล้วมอบบันทึกนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนบันทึกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวไว้ในบันทึกนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานตั้งแต่วันที่มาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และให้มอบบันทึกนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับบันทึกดังกล่าว ให้ส่งบันทึกนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ
ข้อ 42 เมื่อได้แจ้งข้อกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบตามข้อ 41 แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และวิธีการที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในวันที่มาพบคณะกรรมการสอบสวน หรือแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการก็ได้
ในกรณีแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบตั้งแต่วันที่ครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์
ข้อ 43 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาพบตามที่กำหนดในข้อ 41 ให้ส่งบันทึกตามข้อ 40 จำนวนหนึ่งฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่วันที่ครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งบันทึกดังกล่าวทางไปรษณีย์
คณะกรรมการสอบสวนจะส่งหนังสือกำหนดวัน เวลา สถานที่ และวิธีการที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและชี้แจงว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด ไปพร้อมกับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ 44 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ตามวัน เวลา สถานที่และวิธีการที่กำหนดตามข้อ 42 หรือข้อ 43 โดยได้อ้างเหตุผลหรือความจำเป็น หรือในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุจำเป็น จะกำหนดวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเสียใหม่เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมก็ได้
ข้อ 45 ในการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาด้วยว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งไปในคราวเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการตามข้อ 41 ก็ได้
ข้อ 46 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาใด ให้คณะกรรมการสอบสวนบันทึกการรับสารภาพตามข้อกล่าวหานั้นไว้เป็นหนังสือ ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในข้อกล่าวหานั้นก็ได้ แล้วดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อ 47 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือภายในเวลาที่กำหนดตามข้อ 42 และข้อ 43 ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนจะเห็นควรดำเนินการเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม
ข้อ 52 เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และได้รวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาได้แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมเพื่อพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
ในการพิจารณาทำความเห็นตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการสอบสวนต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพิจารณามีมติในเรื่องที่สอบสวนให้ครบทุกข้อกล่าวหาและทุกประเด็น ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ต้องพิจารณาให้ได้ความด้วยว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด ควรได้รับโทษสถานใด และมีเหตุอันควรลดหย่อนหรือไม่ เพียงใด
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผลการสอบสวนยังไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะลงโทษเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องในหน้าที่ราชการ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามมาตรา 110 (6) หรือ (7) แล้วแต่กรณี ก็ให้ทำความเห็นเสนอไว้ในรายงานการสอบสวนด้วย
การประชุมเพื่อพิจารณาทำความเห็นตามข้อนี้ ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด
ข้อ 53 เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการตามข้อ 52 แล้ว ให้จัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยให้เสนอไปพร้อมสำนวนการสอบสวน
รายงานการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วยเรื่องที่สอบสวนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานที่สนับสนุนหรือหักล้างข้อกล่าวหา ประเด็นที่ต้องพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ 52 วรรคสอง และวรรคสาม และลายมือชื่อกรรมการสอบสวนทุกคน รวมทั้งให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อกำกับไว้ในรายงานการสอบสวนหน้าอื่นด้วยทุกหน้าในกรณีที่กรรมการสอบสวนคนใดมีเหตุจำเป็นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้ประธานกรรมการสอบสวนบันทึกเหตุจำเป็นดังกล่าวไว้ด้วย และในกรณีที่กรรมการสอบสวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้แสดงชื่อและสรุปความเห็นแย้งของผู้นั้นไว้ในรายงานการสอบสวนด้วย ในการนี้ ผู้มีความเห็นแย้งนั้นจะทำบันทึกรายละเอียดความเห็นแย้งและลงลายมือชื่อของตนแนบไว้กับรายงานการสอบสวนด้วยก็ได้
ข้อ 54 ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนและจัดทำรายงานการสอบสวนพร้อมทั้งสำนวนการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนครั้งแรกตามข้อ 27
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนมีเหตุผลและความจำเป็นไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขอขยายเวลาสอบสวนตามความจำเป็น และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน ในกรณีที่ได้มีการขยายเวลาจนทำให้การสอบสวนดำเนินการเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนครั้งแรกตามข้อ 27 ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายงาน อ.ก.พ. กระทรวงที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
ข้อ 55 เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้รับรายงานการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวน ถ้าเห็นว่าการสอบสวนถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามข้อ 56 แต่ถ้าเห็นว่าการสอบสวนยังไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ก็ให้สั่งหรือดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เห็นว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่ครบถ้วน ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนโดยเร็ว
(2) ในกรณีที่เห็นว่าควรรวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติม ให้กำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่ต้องทำความเห็น
(3) ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการใดไม่ถูกต้อง ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว
ข้อ 56 เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนถูกต้องครบถ้วนแล้วให้พิจารณามีความเห็นเพื่อสั่งหรือดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย หรือกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือไม่ได้กระทำผิดวินัย ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ให้ดำเนินการตาม (2)
(2) ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ และไม่ว่าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ก็ตามให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ตามที่กำหนดในข้อ 58 แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาต่อไป
(3) ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผลการสอบสวนยังไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะลงโทษเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่ราชการ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนให้พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 110 (6) หรือ (7) ต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย หรือกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ให้ดำเนินการตาม (2)
ข้อ 58 การส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาตามข้อ 56 (2) ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ เป็นผู้พิจารณา
(2) ในกรณีที่อธิบดี ปลัดกระทรวงในฐานะอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 (6) (9) หรือ (10) เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กรม ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ เป็นผู้พิจารณา
(3) ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวงสำหรับกรณีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ใน (2) หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 (2) (3) (5) หรือ (8) เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ เป็นผู้พิจารณา
ในกรณีที่มีการย้าย การโอน หรือการเลื่อนผู้ถูกกล่าวหาอันมีผลให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่เปลี่ยนแปลงไป ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่หลังจากการย้าย การโอน หรือการเลื่อนนั้นเป็นผู้พิจารณา
ข้อ 59 เมื่อได้รับเรื่องตามข้อ 58 แล้ว อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี อาจพิจารณามีมติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีใด ตามมาตราใด และให้ลงโทษสถานใด เพราะเหตุใด โดยจะต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญด้วยว่ามีการกระทำอย่างใด
(2) ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้มีมติว่าเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงกรณีใด ตามมาตราใด และให้ลงโทษสถานโทษใดและอัตราโทษใด เพราะเหตุใด หรือถ้าเห็นว่าเป็นความผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะมีมติงดโทษ โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ ทั้งนี้ จะต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญด้วยว่ามีการกระทำอย่างใด
(3) ในกรณีที่เห็นว่ายังไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะลงโทษกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงถ้ามีข้อเท็จจริงอันเป็นกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (6) หรือ (7) ให้มีมติให้ผู้นั้นออกจากราชการ โดยจะต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญด้วยว่ามีการกระทำอย่างใด มีกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการเพราะเหตุใด ตามมาตราใด และถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการอย่างใด
(4) ในกรณีที่เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดวินัย ให้มีมติให้สั่งยุติเรื่องหรือถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยแต่เป็นกรณีที่ไม่อาจลงโทษได้ ให้มีมติให้งดโทษ
(5) ในกรณีที่เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอหรือการดำเนินการใดยังไม่ถูกต้องครบถ้วนให้มีมติให้สอบสวนเพิ่มเติม แก้ไข หรือดำเนินการให้ถูกต้องตามควรแก่กรณี
การพิจารณาความผิด
1. ความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มาตรา 96 กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด ส่วนจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษใดได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ในการมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่ำลงไปปฏิบัติแทนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดก็ได้
2. ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มาตรา 97 วรรคสอง กำหนดให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณามีมติให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี และเมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติเป็นประการใดให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
มาตรา 103 และมาตรา 104 บัญญัติให้มีการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของการดำเนินการทางวินัยไว้ กล่าวคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ หรือลงทัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการโดยเฉพาะ หรือสั่งยุติเรื่อง หรืองดโทษแล้วจะต้องรายงานการดำเนินการ ดังนี้
(1) รายงาน อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกดำเนินการทางวินัยสังกัดอยู่พิจารณา
(2) รายงานต่อ ก.พ. ตามระเบียบที่ ก.พ. กำหนด ซึ่งแยกเป็น
(2.1) กรณีดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการต่างกระทรวงกัน (มาตรา 103 วรรคหนึ่ง)
(2.2) กรณีดำเนินการทางวินัยตามมติ อ.ก.พ. กระทรวง ตามมาตรา 97 วรรคสอง (มาตรา 103 วรรคหนึ่ง)
กรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. เห็นว่า การดำเนินการทางวินัยเป็นการไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม เมื่อมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. มีมติ จึงเป็นกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ ก.พ. อาจสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้บังคับบัญชาชั้นต้นได้
ในการดำเนินการของ อ.ก.พ. กระทรวง กรณีพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยนั้น หากผู้แทน ก.พ. ซึ่งเป็นกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง ดังกล่าวเห็นว่า การดำเนินการของผู้บังคับบัญชาหรือมติ อ.ก.พ. กระทรวง เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติไม่เหมาะสม ให้ผู้แทน ก.พ. รายงาน ก.พ. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และเมื่อ ก.พ. มีมติเป็นประการใดให้ผู้บังคับบัญชาสั่ง หรือปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ ก.พ. มีมติ เว้นแต่ผู้ถูกลงโทษได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาต่อ อ.ก.พ. ในกรณีเช่นนี้ ก.พ. จะต้องแจ้งมติต่อ ก.พ.ค. เพื่อประกอบการวินิจฉัยอุทธรณ์
การพิจารณารายงานที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือผู้แทน ก.พ. ซึ่งเป็นกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง รายงานมานั้น ก.พ. มีอำนาจสอบสวนใหม่ หรือสอบสวนเพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด ตามมาตรา 95 ซึ่งในการพิจารณารายงานของ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณีนั้น เมื่อมีกรณีเพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ หรือยกโทษ ให้ผู้สั่งมีคำสั่งใหม่ และในคำสั่งดังกล่าวให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิม พร้อมทั้งระบุวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการลงโทษที่ได้รับไปแล้ว ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
*** การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
ข้าราชการที่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 9 การอุทธรณ์
สำหรับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์โดยกำหนดให้ผู้ถูกสั่งลงโทษ หรือ
ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง ทั้งนี้ การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค
การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ นั้น ก.พ.ค. จะพิจารณาวินิจฉัยเอง หรือจะตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกา หรือออกกฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบหรือกำหนดกรณีใดเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้นำพระราชกฤษฎีกา กฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบหรือกรณีที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้
เมื่อ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัย
กรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. ให้ผู้อุทธรณ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. (มาตรา 116) ซึ่งถือเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด หากมีคดีพิพาทจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 11 (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
เขตอำนาจศาล
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) กรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีปกครองบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้โดยตรงโดยไม่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นก่อน ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ อันได้แก่
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
(4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ในส่วนคดีปกครองเกี่ยวกับวินัยข้าราชการเป็นคดีพิพาทระหว่างบุคลากรภาครัฐซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินการทางวินัยกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทางวินัย โดยผู้ถูกดำเนินการทางวินัยอาจฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) หรือ (3) ก็ได้ หรือในคดีเดียวกันอาจฟ้องมากกว่าหนึ่งประเภทคดีก็ได้
คดีเกี่ยวกับความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในมาตรา 116 วรรคสองกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องถือว่านับจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ ศาลที่มีอำนาจรับคดีเกี่ยวกับความผิดทางวินัยไว้พิจารณานั้น คือ ศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 11 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ประกอบ มาตรา 116 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
แนวคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
(1) คดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
กรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งพักราชการหรือคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจสามารถสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้ ตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สถานะทางกฎหมายของคำสั่งพักราชการและคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 443/2544)
ฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย
ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำ ผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตามควรแก่กรณี ให้เหมาะสมกับความผิด ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ และในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุ
อันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก
คำสั่งลงโทษทางวินัย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรง เป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 183/2544 และ 463/2546)
ฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน
พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 110 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการของการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ เพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยไว้ว่า หากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 93 และผลการสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษ ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ออกจากราชการ ในกรณีที่ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติให้ผู้นั้นออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ก็ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองที่ 41/2544)
(2) คดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในการเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.133/2548 เมื่อปรากฏว่าคำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ทำคำสั่งมีหน้าที่เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เช่น เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำ สั่งลงโทษปลดออกจากราชการของอธิบดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากดำเนินการไม่ถูกต้องตามมาตรา 104 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยให้ดำเนินการทางวินัยใหม่ให้ถูกต้องต่อไป และคำสั่งลงโทษดังกล่าวยังมิได้ถูกเพิกถอน อธิบดีมีหน้าที่เพิกถอนคำสั่งลงโทษและสั่งให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยกลับเข้ารับราชการก่อน จึงจะมีผลให้ข้าราชการผู้นั้นมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่อาจถูกดำเนินการทางวินัยได้ หากอธิบดีดำเนินการทางวินัยใหม่โดยมิได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมและสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นกลับเข้ารับราชการก่อน เมื่อข้าราชการนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและให้อธิบดีมีคำสั่งรับตนเองกลับเข้ารับราชการ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
ฟ้องว่าการดำเนินการทางวินัยล่าช้าเกินสมควร
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.67/2547 กรณีข้าราชการฟ้องว่าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่พิจารณาสั่งการทางวินัยทั้งที่คณะกรรมการสอบสวนได้เสนอจำ นวนกรรมการสอบสวนไปเป็นเวลานานแล้ว ขอให้ศาลสั่งให้มีการสรุปผลการสอบสวนทางวินัย และให้ตนเองกลับเข้ารับราชการตามที่มีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
ฟ้องว่าการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยล่าช้าเกินสมควร
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 260/2546 (ประชุมใหญ่) แม้ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และกฎ ก.พ.ที่เกี่ยวข้องมิได้กำหนดระยะเวลาอันสมควรในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของข้าราชการไว้ แต่การที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร คือ 90 วัน โดยเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ข้าราชการย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ โดยอาจฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ได้
(3) คดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
การฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งลงโทษทางวินัย
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 811/2549 การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้น โดยปกติผู้ฟ้องคดีจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยเป็นคำขอหลักพร้อมทั้งฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าคำฟ้องดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
ฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณีจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่มิได้มาปฏิบัติราชการเนื่องจากถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการล่าช้าเกินสมควร
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 275/2548 การฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เบิกจ่ายเงินเดือนย้อนหลังจากวันที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจนถึงวันที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
ฟ้องเรียกคืนเงินเดือนจากข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยจนต้องออกจากราชการ
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 548/2550 การที่ผู้ฟ้องคดีเรียกเงินคืนจากผู้ถูกฟ้องคดี สืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 92 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งไล่ผู้ถูกฟ้องคดีออกจากราชการย้อนหลังตั้งแต่วันละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นต้นไป ซึ่งคำสั่งดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องออกจาก
ราชการแล้วยังมีผลเป็นการเพิกถอนสถานภาพการเป็นข้าราชการและสิทธิประโยชน์ อันเนื่องมาจากการเป็นข้าราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ผ่านมาในช่วงที่ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการไป อันรวมถึงการเบิกจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย จึงก่อให้เกิดความรับผิดแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องคืนเงินเดือนที่ได้รับไปในระหว่างนั้น ตามนัยมาตรา 51 วรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 53 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ฉะนั้น เมื่อความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเกิดจากการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นการกระทำผิดวินัยตาม พ.ร.บ. ระเบียบ
ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
*** เงื่อนไขเกี่ยวกับขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีกฎหมายกำ หนดขั้นตอนหรือวิธีการสำ หรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด”
กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญถูกลงโทษทางวินัย ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี และกฎ ก.พ.ฯ ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ส่วนการอุทธรณ์ของข้าราชการประเภทอื่นจะเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ
ประเภทนั้นๆ
หากเป็นการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยย่อมเป็นไปตามที่กฎ ก.พ.กำหนดไว้ หากเป็นการอุทธรณ์คำสั่งอื่นที่กฎ ก.พ. มิได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้ ผู้รับคำสั่งก็ยังต้องอุทธรณ์ตามมาตรา 40 ประกอบกับมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ผู้ถูกลงโทษทางวินัยนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้
แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี
(1) คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ผู้ฟ้องคดีจะต้องได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาแล้วตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ การดำเนินการสอบสวนความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนั้นจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.4/2547 ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 5 วิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการครู ผู้อำนวยการวิทยาลัยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ทำบันทึกถึงผู้อำนวยการวิทยาลัยในทำนองว่า ที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยได้เรียกผู้ฟ้องคดีมาพูดคุยชี้แจงเรื่องดังกล่าวนั้น ผู้ฟ้องคดีจะปรับปรุงตัวให้เหมาะสมและปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ต่อมาคณะกรรมการฯ รายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 สมควรให้ว่ากล่าวตักเตือน ผู้อำนวยการวิทยาลัยจึงทำบันทึกว่ากล่าวตักเตือนผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อรับการตักเตือนไว้ด้วย แต่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กรมอาชีวศึกษาเดิม) (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งได้รับรายงานการดำเนินการทางวินัยเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตามมาตรา 83 และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงมีคำสั่งเพิ่มโทษเป็นตัดเงินเดือนจำนวน 5% เป็นเวลา 3 เดือน และให้ติดตามความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งและไม่เคยถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการใดเลย จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า แม้การดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 102 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จะกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามวิธีการที่เห็นสมควรก็ตาม แต่การดำเนินการเพื่อมีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีเป็นการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล เมื่อการดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการสอบถ้อยคำพยาน จำนวน 16 ราย และมีพยานเอกสารบันทึกข้อความของผู้ฟ้องคดียอมรับว่าจะปรับปรุงตัวและปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ย่อมแสดงว่าผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ อีกทั้งผู้อำนวยการวิทยาลัยก็ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีโต้แย้งข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดียอมรับโดยมีบันทึกถึงผู้อำนวยการวิทยาลัยและยินยอมลงชื่อรับการว่ากล่าวตักเตือนการดำเนินการทางวินัยของผู้อำนวยการวิทยาลัย จึงเป็นไปตามมาตรา 99 วรรคห้า มาตรา 103 และมาตรา 109 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามมาตรา 109 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับข้อ 6 ของกฎ ก.ค. ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2539)ฯ ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน สั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีและรายงานไปยัง อ.ก.ค. กรมอาชีวศึกษา ในฐานะ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการลงโทษดังกล่าว และต่อมา ในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อ.ก.ค. กรมอาชีวศึกษามีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น การออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การสอบสวนความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.214/2548 เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีปัญหาขัดแย้งกับนาย อ. ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมา สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมีคำสั่งย้ายผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนอื่น หลังจากนั้น เกิดกรณีทำร้ายร่างกายระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนาย อ. และนาย อ. รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดี จึงถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนกล่าวโทษให้ดำเนินการทางวินัยกับนาย อ. โดยหนังสือร้องเรียนได้กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกย้ายจากโรงเรียนเดิมด้วย สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกัน โดยมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจึงมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดีและนาย อ. คนละ 10% เป็นเวลา 1 เดือน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ และ อ.ก.ค. จังหวัด มีมติให้ยกอุทธรณ์ แต่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้รับรายงานการดำเนินการทางวินัยมีมติลดโทษผู้ฟ้องคดีเป็นภาคทัณฑ์ นอกจากนั้น ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเห็นว่าหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีมีข้อความพาดพิงเกี่ยวกับการสั่งย้ายจึงให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจง เมื่อได้รับคำชี้แจงแล้ว ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเห็นว่าเป็นการร้องเรียนโดยใช้ถ้อยคำไม่สุภาพเรียบร้อย มีลักษณะเป็นการสั่งสอนผู้บังคับบัญชา ส่อเสียด เปรียบเปรย ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น จึงมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 10% มีกำหนด 1 เดือน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษและ อ.ก.ค. จังหวัด มีมติลดโทษเป็นภาคทัณฑ์ ผู้ฟ้องคดีฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทั้งสองฉบับ ศาลวินิจฉัยว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรืออย่างไม่ร้ายแรงต้องมีการสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรม โดยมีขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ คือ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 30 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพียงแต่วิธีการสอบสวนกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงเท่านั้นที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาเลือกใช้วิธีตามที่ตนเห็นสมควรได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ซึ่งปรากฏว่าการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีกรณีทะเลาะวิวาทกัน ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหรือคณะกรรมการฯ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีข้อความใดที่จะอนุโลมได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเข้าใจอยู่ในตัวถึงมูลคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย อีกทั้ง เมื่อสืบสวนแล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบและเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา สำหรับกรณีที่นำข้อความบางตอนในหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีมาเป็นมูลกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอีกกรณีหนึ่งต่างหากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบเพื่อจะได้นำพยานหลักฐานมานำสืบแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว การสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีทั้งสองกรณีจึงเป็นการสั่งลงโทษโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่ง ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสองคำสั่ง
กรณีหนังสือเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิด
การที่หนังสือเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการมีข้อกำหนดที่ขาดความชัดเจน และข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการไปตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง ไม่อาจถือได้ว่าข้าราชการผู้นั้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.98/2548 บริษัท ร. มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบกว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งขนส่งจังหวัด ปฏิเสธการขอจดทะเบียนเพื่อบรรจุรถโดยสารขนาดเล็กให้ครบตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบการ โดยไม่ยอมรับฟังคำชี้แจง อีกทั้งไม่แนะนำว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรและใช้วาจาหยาบคาย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง อธิบดีฯ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรายงานข้อเท็จจริงให้ทราบ ผู้ฟ้องคดีรายงานว่า เส้นทางตามใบอนุญาตประกอบการเป็นเส้นทางที่กำหนดขึ้นเพื่อจัดระเบียบรถโดยสารสองแถวผิดกฎหมาย ปัจจุบันกำหนดให้ใช้รถจำนวน 4 คันถึง 10 คัน บริษัท ร. ซึ่งมีรถบรรจุอยู่ในบัญชีจำนวน 4 คัน ยื่นคำขอบรรจุรถอีก 6 คัน เมื่อพ้นระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการอนุมัติตามหนังสือแจ้งแนวปฏิบัติของกรมการขนส่งทางบก อธิบดีฯ จึงมีหนังสือแจ้งบริษัท ร. ว่า การไม่อนุมัติให้บรรจุรถอีก 6 คัน เป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดระเบียบรถโดยสารสองแถวผิดกฎหมาย ต่อมาบริษัท ร. ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นคดีอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีฯ ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่กำหนดขึ้นเพื่อจัดระเบียบรถโดยสารสองแถวผิดกฎหมาย อธิบดีฯ สั่งให้มีการสอบข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียนฉบับเดิมของบริษัท ร. และมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 5 % เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้เหตุผลว่าเส้นทางสายนี้ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนรถ กำหนดเวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถใหม่แล้ว รวมทั้งมีการประกาศรับคำขออนุญาตประกอบการโดยผู้ประกอบการเดิมเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เส้นทางเดินรถที่กำหนดขึ้นเพื่อจัดระเบียบรถโดยสารสองแถวผิดกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนรถโดยไม่ได้ขออนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยสารรถขนาดเล็กต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ผู้ฟ้องคดีรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและไม่ปฏิบัติตามหนังสือเวียนของกรมการขนส่งทางบก ทำให้การชี้แจงของอธิบดีฯ ต่อผู้ประกอบการเป็นไปตามที่ผู้ฟ้องคดีรายงาน เป็นผลให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิด และเมื่อผู้ประกอบการสอบถามก็มีการโต้เถียงและพูดทำนองท้าท้ายให้ไปร้องเรียนที่กรมการขนส่งทางบก พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และฐานไม่ให้ความสะดวก ไม่ให้ความเป็นธรรมและไม่ให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง มาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษแล้ว แต่ อ.ก.พ. กระทรวง มีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การดำเนินการสอบข้อเท็จจริงไม่ได้สอบสวนพยานสำคัญให้ได้ความชัดเจนว่ามีการโต้เถียงกันอย่างไร จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและมติยกอุทธรณ์ ศาลวินิจฉัยว่า หนังสือเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติของกรมการขนส่งทางบกไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อได้มีการจัดระเบียบรถผิดกฎหมายในเส้นทางสายใดแล้วให้ถือว่าการจัดระเบียบรถผิดกฎหมายดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยวิธีใด การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งบริษัท ร. ว่าไม่สามารถพิจารณาคำขอบรรจุรถตามที่ขอมาได้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าเส้นทางดังกล่าวยังคงเป็นเส้นทางการจัดระเบียบรถผิดกฎหมาย จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรายงานไม่ตรงตามข้อเท็จจริง อีกทั้งอธิบดีฯ ได้วินิจฉัยและมีความเห็นในเรื่องนี้แล้วว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเวลาล่วงพ้นไปเกือบ 3 ปี อธิบดีฯ ได้รื้อเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่และมีคำสั่งลงโทษด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้และไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่อาศัยข้อเท็จจริงเดิมมาวินิจฉัยลงโทษผู้ฟ้องคดี อันเป็นการขัดแย้งกับความเห็นเดิม คำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับการลงโทษฐานไม่ให้ความสะดวก ไม่ให้ความเป็นธรรม และไม่ให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการนั้น อธิบดีฯ รับฟังข้อเท็จจริงจากหนังสือร้องเรียนของบริษัท ร. และนักวิชาการขนส่ง 6 ซึ่งให้การเพียงว่าได้ยินเสียงโต้เถียงกันเท่านั้น ไม่มีการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ได้ความชัดเจน จึงยังไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมดังกล่าว คำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน เมื่อคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีผลให้มติยกอุทธรณ์ของ อ.ก.พ. กระทรวง ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและมติที่ให้ยกอุทธรณ์ และให้อธิบดีฯ คืนสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีเสียไปเนื่องจาก
คำสั่งลงโทษภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
(2) คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง
เมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนกรณีลูกจ้างประจำถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษทางวินัยโดยอาศัยผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน ย่อมเป็นการออกคำสั่งโดยมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด คำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.270/2549 เดิม ผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างประจำ สังกัดหน่วยงานแห่งหนึ่งของกองทัพอากาศ สามีของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทหารอากาศได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้ดำเนินการลงโทษทหารอากาศนายหนึ่งกรณีข่มขืนและข่มขู่ผู้ฟ้องคดี กรมจเรทหารอากาศได้ดำเนินการสอบสวนเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วเห็นว่าทหารอากาศนายนั้นมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ฟ้องคดีขณะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องเรียน โดยไม่ปรากฏชัดว่าเกิดจากการข่มขู่ และทำบันทึกเสนอผู้บัญชาการทหารอากาศให้ลงโทษผู้ฟ้องคดีด้วย ผู้บัญชาการทหารอากาศอนุมัติให้ดำเนินการตามที่เสนอ หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ฟ้องคดีเห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่มีบำเหน็จ แต่กรมสารบรรณทหารเสนอความเห็นว่า ควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้บัญชาการทหารอากาศมีคำสั่งอนุมัติ หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ฟ้องคดีจึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมว่าด้วยลูกจ้างประจำ พ.ศ. 2528 จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำ สั่งลงโทษและให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม ศาลวินิจฉัยว่า ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยลูกจ้าง พ.ศ. 2528 ข้อ 26 วรรคสอง กำหนดว่า ลูกจ้างประจำผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและผู้บังคับบัญชาเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรสอบสวน ให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน ในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหา แต่ปรากฏว่าการลงโทษผู้ฟ้องคดีมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เพียงแต่มีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ของกรมจเรทหารอากาศเท่านั้น จึงมิได้เป็นการปฏิบัติตามข้อ 26 วรรคสองดังกล่าว ในชั้นอุทธรณ์คำพิพากษา ข้ออุทธรณ์ที่ว่าคำให้การของผู้ฟ้องคดีที่ยื่นไว้ต่อเจ้าหน้าที่ถือได้ว่าเป็นการรับสารภาพเป็นหนังสือตามข้อ 28 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวนได้นั้น นอกจากผู้ฟ้องคดีจะปฏิเสธคำกล่าวอ้างแล้ว ยังเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้นขึ้นอ้าง ซึ่งต้องห้ามตามข้อ 101 วรรคสอง ของระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ จึงไม่อาจรับฟังได้ คำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้ผลย้อนหลังไปถึงวันที่ไล่ออกจากราชการภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
การสั่งลงโทษในข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใน “พฤติการณ์และการกระทำ” มาก่อน หรือการสั่งลงโทษโดยเปลี่ยนแปลงข้อกล่าวหาใน “พฤติการณ์และการกระทำ” ใหม่นั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการสั่งลงโทษในข้อกล่าวหาที่ไม่เคยมีการสอบสวนมาก่อน หรือเป็นการไม่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาอันนำไปสู่การลงโทษได้เพียงพอและไม่มีโอกาสได้โต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานของตน แล้วแต่กรณี ส่วนการสั่งลงโทษในข้อกล่าวหาที่ “พฤติการณ์และการกระทำ” นั้น มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนแล้ว แต่ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษหรือผู้พิจารณาความผิดและกำหนดโทษหรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนแจ้ง “ฐานความผิด” ไม่ถูกต้อง ผู้มีอำนาจดังกล่าวย่อมสามารถแก้ไข “ฐานความผิด” หรือ “ปรับบทกฎหมาย” ให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.153/2547 ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งพนักงานธุรการ 4 ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ มีกรณีถูกกล่าวหาว่านำข้อสอบวิชาหนึ่งของคณะฯ ออกจากห้องทำเอกสารไปให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในสังกัดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีและลงทะเบียนเรียนวิชานี้ด้วย จนเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกผลการสอบวิชานั้นในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีรับสารภาพ คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานเปิดเผยความลับของทางราชการ ฐานไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน และประพฤติชั่ว ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 87 วรรคหนึ่ง มาตรา 91 และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งการกระทำความผิดตามมาตรา 82 วรรคสาม เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ส่วนความผิดฐานอื่นเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง คณะกรรมการฯ เห็นสมควรลงโทษปลดออกจากราชการ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย พิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อธิการบดีจึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติดังกล่าว แต่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.ม. เห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แต่เป็นการกระทำผิดวินัยฐานเปิดเผยความลับของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 87 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ส่วนการลงโทษปลดออกจากราชการนั้น เหมาะสมแก่กรณีความผิดแล้ว นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้อธิการบดีแก้ไขคำสั่งลงโทษในส่วนที่เกี่ยวกับฐานความผิดตามมติ ก.ม. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การสั่งลงโทษเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและมติของ ก.ม. ศาลวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการสอบสวนยุติการสอบสวนโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการดำเนินการตามข้อ 14 วรรคสี่ ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นสารภาพ ไม่ใช่กรณีตามข้อ 15 ของกฎ ก.พ. ดังกล่าว ที่ต้องแจ้งตามแบบ สว.3 ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงเป็นการดำเนินการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพฤติกรรมและการกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องเดิมซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงชอบที่ ก.ม. จะพิจารณาความผิดให้ถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่จะกำหนดความผิดในการลงโทษให้ตรงกับบทบัญญัติกฎหมายที่ถูกต้องได้ตามมาตรา 8 (8) และมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ข้อ 13 (9) ข้อ 17 และข้อ 18 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบกับข้อ 10 ของกฎทบวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎทบวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2539) ออกตามความใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใหม่ที่จะต้องมีการสอบสวนตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ และกฎ ก.พ ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ทั้งไม่ปรากฏความบกพร่องส่วนที่เป็นสาระสำคัญในสำนวนการสอบสวน ตามข้อ ๓๗ ของกฎ ก.พ. ฉบับเดียวกัน เมื่อ ก.ม. เปลี่ยนแปลงฐานความผิดซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน จึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรมที่จะต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนใหม่ และเมื่อการกระทำของผู้ฟ้องคดีทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง การกำหนดโทษให้ปลดออกจากราชการจึงเหมาะสมกับการกระทำความผิดแล้ว มติของ ก.ม. และคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีตามมติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.197/2548 ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแห่งหนึ่ง มีกรณีกระทำความผิดโดยเอาปืนพกประจำกายออกมายิงขึ้นฟ้า จำนวน 4 นัด และถูกดำเนินคดีอาญา ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ฟ้องคดีว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยต้องหาคดีอาญาฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 มาตรา 5 ข้อ 3 ข้อ 7 และข้อ 12 ประกอบกับระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีประเภทบุคคล ลักษณะ 1 บทที่ 1 ข้อ 2 (3) (7) และ (12) เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดียิงปืนเนื่องจากเกิดความเครียดจากปัญหาครอบครัว ไม่ได้ยิงด้วยความคึกคะนองและไม่ได้ยิงเนื่องจากการเมาสุรา การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่เป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมารยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจและประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 มาตรา 5 ข้อ 3 และข้อ 7 ประกอบกับระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีประเภทบุคคล ลักษณะ 1 บทที่ 1 ข้อ 2 (3) และ (7) เห็นควรลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดี 60 วัน ตำรวจภูธรจังหวัดมีคำสั่งลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 30 วัน และรายงานผลให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคทราบ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนั้นผู้ฟ้องคดีอยู่ในอาการเมาสุรา การกระทำของผู้ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นกรณีเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนองหรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง ซึ่งมีระดับการลงโทษไล่ออกหรือปลดออกตามที่ ก.ตร. กำหนดไว้ จึงมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นปลดออกจากราชการและรายงาน ก.ตร. ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ซึ่ง อ.ก.ตร. เกี่ยวกับอุทธรณ์และร้องทุกข์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง พฤติการณ์และการกระทำเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงรายงาน ก.ตร. และนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยเห็นควรยกอุทธรณ์ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนเองได้รับการลงทัณฑ์กักขังแล้ว และผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดเนื่องจากความเครียดในปัญหาครอบครัวมิได้ยิงปืนด้วยความคึกคะนอง จึงฟ้องศาลขอให้สั่งให้กลับเข้ารับราชการตามเดิม ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยต้องหาคดีอาญาฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชน ซึ่งเป็นการสอบสวนที่นำไปสู่การลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยระบุว่าผู้ฟ้องคดีมีความผิดฐานเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนองหรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ฟ้องคดีว่าเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนองหรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง คงตั้งข้อกล่าวหาเพียงว่าต้องหาคดีอาญาฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาอันนำไปสู่การลงโทษได้เพียงพอ และไม่มีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและคำสั่งของนายกรัฐมนตรียกอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.21/2550 ผู้ฟ้องคดี เมื่อครั้งรับราชการตำรวจยศร้อยตำรวจโท ขณะปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแห่งหนึ่ง มีญาติผู้ต้องหาร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานสอบสวน หลังจากมีการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ สว.2 ต่อผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งสำนวนการสอบสวนที่สอบสวนเสร็จแล้วให้กับพนักงานอัยการ และยังคงฝากขังผู้ต้องหาต่อไปจนหมดอำนาจฝากขัง ศาลจึงปล่อยตัวผู้ต้องหา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมา คณะกรรมการฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามแบบ สว.3 ให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยข้อกล่าวหามีข้อความเช่นเดียวกับข้อกล่าวหาตามแบบ สว.2 คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีบกพร่องต่อหน้าที่ไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมารยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ ควรลงทัณฑ์กักยามมีกำหนด 30 วัน แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาลงนามในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาและนำมาลงในสารบบคดีอาญาแล้วเหตุใดผู้ฟ้องคดีจึงไม่มอบสำนวนดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่นำส่งพนักงานอัยการ ซึ่งในการสอบสวนเพิ่มเติมนี้ พันตำรวจโท ส. สารวัตรสอบสวนให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่นำสำนวนให้เจ้าหน้าที่นำส่งพนักงานอัยการแต่นำไปเก็บไว้กับตัว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการส่อเจตนาโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ฟ้องคดีตามแบบ สว.2 และ สว.3 ในทำนองเดียวกันกับการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งของสถานีตำรวจภูธรอำเภอ และสรุปความเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ควรลงโทษปลดออกจากราชการ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคเห็นชอบด้วย แต่ อ.ก.ตร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย เห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงมีมติให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ก.ตร. มีมติรับทราบ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติ ก.ตร. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานดังกล่าว จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ ศาลวินิจฉัยว่า การแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งของสถานีตำรวจภูธรอำเภอมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาให้ทันกำหนดเพื่อสั่งฟ้อง หาได้มีการระบุแจ้งอย่างเจาะจงว่าผู้ฟ้องคดีได้เก็บสำนวนคดีไว้ไม่นำส่งพนักงานอัยการ และคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้มีการสรุปพยานหลักฐานตามคำให้การของพันตำรวจโท ส. ที่อ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่นำสำนวนให้เจ้าหน้าที่นำส่งพนักงานอัยการ แต่นำไปเก็บไว้กับตัว เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้ฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้ให้การเพิ่มเติมในเรื่องนี้ การไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนและการไม่สรุปพยานหลักฐานที่ควรระบุดังกล่าว เป็นการไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีต่อสู้ให้การได้ว่าตนมิได้เก็บสำนวนไว้กับตัว ซึ่งการเก็บสำนวนไว้กับตัวย่อมเป็นเจตนากระทำผิด อันทำให้มีความผิดตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ได้ ซึ่งแตกต่างกับการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ส่งสำนวนการสอบสวนให้เจ้าหน้าที่เพื่อส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาได้ทันกำหนด เมื่อการลงโทษผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ถูกต้องตามข้อ 14 และข้อ 15 ของกฎ ก.พ.
ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคไปดำเนินการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2547 ออกตามความใน พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
เมื่อข้าราชการที่มิได้มาปฏิบัติราชการได้ยื่นใบลาป่วยโดยชอบด้วยระเบียบ ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการลาดังกล่าว การที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับการลาป่วยและมีคำสั่งลงโทษในความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.2/2549 ผู้ฟ้องคดีเป็นอดีตข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ผู้ฟ้องคดีขาดราชการติดต่อกันเป็นเวลา 17 วัน โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ได้กลับมาปฏิบัติราชการและยื่นใบลาพักผ่อน 2 ฉบับ ใบลาป่วย 2 ฉบับ โดยใบลาป่วยฉบับที่สองมีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าควรลางาน 3 วัน ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วยังไม่อนุมัติการลาทั้งหมดและได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการฯ ได้เชิญแพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์มาให้ถ้อยคำด้วย ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีป่วยจริง เนื่องจากเครียด ปวดศีรษะ และนอนไม่หลับ โดยมีการรักษามาแล้วประมาณ 2 ปี คณะกรรมการฯ สรุปความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ป่วยหนักถึงขนาดไม่สามารถเข้าทำงานได้หรือมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถมาทำงานได้ ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นการกระทำ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2539)ฯ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จึงเสนอ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยพิจารณา อ.ก.ม.ฯ มีมติไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อธิการบดีมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.ม. ในการพิจารณาของ ก.ม. เห็นว่าการป่วยเป็นโรคจิตถือเป็นเหตุให้ลดโทษได้ จึงมีมติให้ลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ และเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงเกินสมควรแก่เหตุ จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติงานและยื่นใบลาป่วยในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ เป็นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2535 ข้อ 17 ประกอบกับผู้ฟ้องคดีมีใบรับรองแพทย์ประกอบการลาป่วยด้วย หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าใบรับรองแพทย์ที่ผู้ฟ้องคดีนำมายื่นขาดความน่าเชื่อถือก็ชอบที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีใช้ใบรับรองแพทย์ที่ตนเห็นชอบแทน หรือสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตตามระเบียบได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีประวัติเป็นคนไข้โรคจิตเวชโดยมีอาการเครียด นอนไม่หลับ เบื่อ และซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ที่เป็นผู้ตรวจรักษาผู้ฟ้องคดีออกใบรับรองแพทย์โดยเห็นควรให้หยุดงาน 3 วัน เพราะมีความเครียด ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ จึงเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยชอบ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นใบลาป่วยโดยชอบด้วยระเบียบ จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 92 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้บังคับบัญชามิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการลาป่วยของผู้ฟ้องคดีและมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากการงดเว้นไม่อนุญาตให้ลาป่วยดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มติของ ก.ม. และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย คำสั่งของอธิการบดีที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนมติของ ก.ม. คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของอธิการบดีที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
การกระทำอื่นใดที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จะต้องพิจารณาถึงเกียรติของข้าราชการผู้นั้นและความรู้สึกของสังคมที่มีต่อการกระทำของผู้นั้น ประกอบกับเจตนาในการกระทำโดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของผู้นั้นว่าได้กระทำการอันทำให้ราชการได้รับความเสียหายต่อภาพพจน์ชื่อเสียงหรือไม่ การที่ข้าราชการตำรวจมีพฤติการณ์และการกระทำอันเชื่อได้ว่าเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถือว่ากระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การสั่งลงโทษไล่ข้าราชการดังกล่าวออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.340/2549 เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแห่งหนึ่งถูกตำรวจนายหนึ่งร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีมีความประพฤติไม่เหมาะสมในทางชู้สาวกับภรรยาของผู้ร้องเรียน ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้กำกับการฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่ายังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้ฟ้องคดีมีความผิดฐานไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมรรยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจและประพฤติไม่สมควร ผู้กำกับการฯ มีคำสั่งลงทัณฑ์กักขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 30 วัน แล้วรายงานผลการดำเนินการทางวินัยให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นชู้กับภรรยาของตำรวจที่ร้องเรียนจริง ถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและ ก.ตร. มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนมิได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีนำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา อีกทั้งไม่มีประจักษ์พยานที่จะฟังลงโทษผู้ฟ้องคดีได้ จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและคำสั่งที่ให้ยกอุทธรณ์ ศาลวินิจฉัยว่า การดำเนินการสอบสวนและออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการได้ดำเนินการถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาแล้ว สำหรับการพิจารณาว่าการกระทำอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น จะต้องพิจารณาถึงเกียรติของข้าราชการผู้นั้นและความรู้สึกของสังคมที่มีต่อการกระทำของข้าราชการผู้นั้น ประกอบกับเจตนาในการกระทำโดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของข้าราชการผู้นั้นว่าได้กระทำการอันทำให้ราชการได้รับความเสียหายต่อภาพพจน์ชื่อเสียงหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจย่อมได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม แต่จากผลการสืบสวนพบว่า ภรรยาของผู้ร้องเรียนให้การยอมรับว่าเป็นชู้กับผู้ฟ้องคดีซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของพยานที่มีห้องพักติดกับห้องพักของผู้ฟ้องคดี และคำให้การของพ่อตาและแม่ยายของผู้ร้องเรียนที่ให้การเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีกับภรรยาของผู้ร้องเรียน ประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ผู้ฟ้องคดีเมาสุราขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่บ้านภรรยาของผู้ร้องเรียนจนเกิดเหตุการณ์ทุบกระจกหน้าบ้านแตก จำนวน 3 บาน ผู้ร้องเรียนแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่สถานีตำรวจ ผู้ฟ้องคดีให้การรับสารภาพและยอมรับว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับครอบครัวของผู้ร้องเรียนอีก แต่กลับเกิดเหตุการณ์ผู้ฟ้องคดีพาภรรยาผู้ร้องเรียนไปรับประทานอาหารและประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มได้รับบาดเจ็บอีก นอกจากนั้น การร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นชู้กับภรรยาของตนเป็นเรื่องที่น่าอับอายเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ร้องเรียนเอง หากไม่เป็นความจริง ผู้ร้องเรียนคงไม่ใส่ความภรรยาของตนเอง จากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษายกฟ้อง
ข้าราชการตำรวจนำอาวุธปืนพร้อมอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการไปจำนำ เป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.406/2550 ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอแห่งหนึ่ง ได้เบิกอาวุธปืนเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลพญาแมนได้จับกุมนาย ร. กับพวก โดยกล่าวหาว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาวุธปืนที่ถูกจับเป็นของกลางนั้นปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนกระบอกที่ผู้ฟ้องคดีเบิกจากทางราชการ โดยมี จ.ส.ต. อ. นำอาวุธปืนดังกล่าวไปจำนำแลกเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เนื่องจาก จ.ส.ต. อ. ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปก่อนจึงไม่ถูกฟ้องคดีอาญา ส่วนผู้ฟ้องคดีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีนำอาวุธปืนไปจำนำไว้กับ จ.ส.ต. อ. หรือผู้ใด ส่วนการดำเนินการทางวินัยนั้นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี และคณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นไปในทางเดียวกับความเห็นของพนักงานอัยการและเห็นควรระงับทัณฑ์ทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกับ จ.ส.ต. อ. นำอาวุธปืนของทางราชการไปจำนำหรือขายให้ผู้อื่นจริง เข้าลักษณะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงเสนอผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 พิจารณาลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเข้าลักษณะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งลงโทษหนักเกินสมควร จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบสุขของประชาชน มีระเบียบวินัยที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด และโดยปกติทั่วไปผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่สถานที่ทำงานไม่จำต้องพกอาวุธปืนประจำกาย แต่หากมีภารกิจต้องออกไปตรวจพื้นที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็สามารถเบิกอาวุธปืนของทางราชการพกประจำกายออกไปได้ เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ต้องคืนอาวุธปืนให้แก่ทางราชการภายในระยะเวลาอันสมควร การที่ผู้ฟ้องคดีเบิกอาวุธปืนพร้อมอุปกรณ์ของทางราชการเพื่อออกตรวจพื้นที่และเมื่อหมดภารกิจแล้วไม่คืนอาวุธปืนพร้อมอุปกรณ์แก่ทางราชการเป็นเวลาหลายเดือนและการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าให้ จ.ส.ต. อ. ยืมไปเนื่องจาก จ.ส.ต. อ. ลืมอาวุธปืนไว้ที่บ้านซึ่งหากเป็นความจริง ผู้ฟ้องคดีก็ต้องรีบทวงถามให้ จ.ส.ต. อ. รีบนำอาวุธปืนคืนภายในเวลาอันสมควรหลังจากที่ จ.ส.ต. อ. ได้ใช้อาวุธปืนเสร็จแล้ว ประกอบกับจากการสอบสวนปรากฏว่าอาวุธปืนดังกล่าวได้ถูกนำไปจำนำกับ จ.ส.ต. อ. และได้ไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นอีกจำนวนหลายคน รวมทั้งผู้ฟ้องคดีให้การไว้กับผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีและคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงในแต่ละครั้งไม่ตรงกัน ข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีจึงไม่น่าเชื่อถือ การที่ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยโดยเคร่งครัดได้นำอาวุธปืนพร้อมอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการไปจำนำ เป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบ
ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
ข้าราชการผู้ใดใช้อำนาจแฝงจากการเป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ร้องขอหรือสั่งการให้ข้าราชการในสังกัดปฏิบัติหน้าที่อันจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยไม่นำพาถึงความเสียหายที่ทางราชการจะได้รับ พฤติกรรมดังกล่าวย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.408/2550 ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรณีถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ แนะนำ ขอร้อง ชี้ชวน หรือสั่งการต่างๆ ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหลายจังหวัดให้ความร่วมมือในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือ และวัสดุการแพทย์จากบริษัท ห้างร้านในราคาแพงกว่าปกติ ซึ่งน่าเชื่อว่าจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 จึงเสนอผลการสอบสวนต่อคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และคณะอนุกรรมการเห็นด้วยกับผลการสอบสวน จึงได้ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่เพียงบริหารงานบุคคลตั้งแต่ระดับ 6 ลงไปไม่มีอำนาจสั่งการหรือให้คุณให้โทษต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เนื่องจากการคัดเลือกนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ และระยะเวลาที่มีการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดคือเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2541 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการจัดสรรงบประมาณคืนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในเดือนมิถุนายน 2541 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ฟ้องคดีจะโทรศัพท์ไปร้องขอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้จัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์กับบริษัทหนึ่งบริษัทใด ทั้งๆ ที่ยังไม่มีงบประมาณ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า จากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่สุ่มสอบสวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจำนวน 7 จังหวัด ปรากฏว่าต่างให้การยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากผู้ฟ้องคดีให้ช่วยเหลือซื้อยา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์จากกลุ่มบริษัทผู้ขายยาบางบริษัทในลักษณะที่เป็นการระบุเฉพาะเจาะจง หรือให้ซื้อจากตัวแทนบริษัทที่จะไปติดต่อตามจังหวัดต่างๆ และเมื่อตัวแทนบริษัทเหล่านั้นไปติดต่อกับนายแพทย์สาธารณสุขดังกล่าวก็ได้ระบุถึงผู้ฟ้องคดีจริง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อในระดับจังหวัดหลายรายต่างให้การสอดคล้องกันว่า ได้รับแจ้งจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดว่าได้รับการร้องขอจากผู้ฟ้องคดีให้ซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทที่กำหนดให้จริง ซึ่งราคายา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ที่จัดซื้อมีราคาแพงกว่าปกติ 2 ถึง
3 เท่า และบางรายการที่ทางจังหวัดเป็นผู้จัดซื้อได้จัดซื้อเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงที่บ่งบอกถึงการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ที่แพงกว่าปกติ ปรากฏตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลผู้จัดซื้อจึงต่อรองราคาและบริษัทยาบางแห่งได้ปรับลดราคาลงถึงร้อยละ 50 บางรายที่มีการสั่งซื้อไปแล้วผู้ขายนำเงินมาคืนให้หรือนำของมาเพิ่มเพื่อให้ราคาต่อหน่วยลดลง และบางแห่งก็มีการยกเลิกการสั่งซื้อ นอกจากนั้น ผู้ฟ้องคดียังมีความสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจแฝงสามารถให้คุณให้โทษต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและข้าราชการในสังกัดได้ และเมื่อผู้ฟ้องคดีร้องขอหรือสั่งให้มีการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ผู้ถูกร้องขอจำต้องปฏิบัติตามด้วยความเกรงใจ และเพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจ ด้วยเกรงว่าอาจได้รับความเดือดร้อนจากการถูกโยกย้ายได้ ดังนั้น พยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนจึงมีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ใช้อำนาจแฝงจากการเป็นข้าราชการในส่วนกลางที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขร้องขอและสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขหลายจังหวัดจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงในราคาแพงกว่าปกติจริง ซึ่งพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทยาบางบริษัท โดยไม่นำพาว่าทางราชการจะได้รับยาเวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคาหรือไม่อย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และโดยที่ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมควรที่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการทั่วไป แต่กลับใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางมิชอบเสียเอง ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่ลดหย่อนผ่อนโทษให้จึงชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานยังไม่ชัดแจ้งว่า การกระทำผิดวินัยของผู้ถูกสอบสวนเป็นความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ผู้ถูกสอบสวน แต่อาจฟังได้ว่าผู้ถูกสอบสวนเป็นผู้ไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการและกระทำการอันหมิ่นเหม่ต่อการถูกมองว่ากระทำการไม่ค่อยสุจริตอันเป็นมลทินมัวหมอง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.297/2549 เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งผู้อำนวยการกองกลางมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงรวม 4 เรื่อง คือ (1) เรียกและเก็บเงินจากบุคคลภายนอกที่ขอใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (2) นำคนงานของมหาวิทยาลัยไปใช้งานส่วนตัวนอกมหาวิทยาลัยโดยเบิกจ่ายเงินค่าล่วงเวลาของทางราชการ (ที่ถูกคือค่าจ้าง) ให้แก่บุคคลเหล่านี้ (3) นำทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไปเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และ (4) แจ้งให้บุคคลภายนอกทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของมหาวิทยาลัยโดยตกลงค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริง อธิการบดี (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยมติ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 และ มาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 แต่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.ม. เห็นว่าพยานหลักฐานและอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในเรื่องที่สามและที่สี่ฟังขึ้น จึงให้แก้ไขคำสั่งลงโทษเฉพาะในส่วนของกรณีกระทำผิดวินัยว่ามีกรณีกระทำผิดเพียงเรื่องที่หนึ่งและที่สอง และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติ ก.ม. ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนเองมิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า กรณีกระทำผิดเรื่องที่หนึ่ง มีพยานบุคคล จำนวน 6 คน ให้การสอดคล้องต้องกันว่า ผู้ฟ้องคดีได้เรียกพนักงานบริษัทที่มาถ่ายทำรายการโทรทัศน์ไปพบที่ห้องทำงาน เพื่อแจ้งเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินเป็นค่าบำรุงสถานที่ในการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ประกอบกับคำยืนยันเป็นหนังสือของบริษัทฯ ที่แจ้งว่าทุกครั้งที่มีการบันทึกเทปโทรทัศน์ บริษัทฯ ได้ชำระค่าบำรุงให้มหาวิทยาลัยและส่งหลักฐานใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ ใบสำคัญรับเงิน 2 ฉบับ ที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลงนามรับเงิน กรณีจึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าได้มีการจ่ายและรับเงินจริง แต่จากพยานหลักฐานที่ว่าเมื่อพยานรับเงินมาแล้วได้มีการนำเงินมาให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีให้นำไปเป็นกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายนั้น ยังไม่ชัดแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีได้เรียกรับเงินดังกล่าวโดยทุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นใดเป็นการเฉพาะ จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ในข้อกล่าวหานี้ ส่วนกรณีกระทำผิดเรื่องที่สองนั้น แม้จะฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีใช้คนงาน (ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน) ไปทำความสะอาดบ้านของผู้ฟ้องคดีโดยเบิกจ่ายค่าจ้างให้ซึ่งเป็นการใช้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันของมหาวิทยาลัยไปทำงานนอกหน้าที่ราชการ อันเป็นการกระทำการโดยผิดอำนาจหน้าที่ แต่ผู้ฟ้องคดีกระทำไปเพื่อการจัดงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการของบุคลากรในสังกัดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการในสังกัดเดียวกันได้บางส่วน การกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ คงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลที่ไม่รักษาประโยชน์ของราชการและกระทำการอันเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการถูกมองว่ากระทำการไม่ค่อยสุจริต อันเป็นมลทินมัวหมอง หากให้รับราชการต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ควรให้ออกจากราชการเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องต่อไป
การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากข้าราชการผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนดไว้ ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ หากเป็นไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ย่อมเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.389/2550 ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นการประจำในกองเอกสารสิทธิ กรมที่ดิน ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิในโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่จังหวัดระนอง ผู้ฟ้องคดีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกับพวกเรียกรับเงินเพื่อทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ผลการสอบสวนปรากฏว่าพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เห็นควรลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อธิบดีกรมที่ดินจึงเสนอเรื่องให้ อ.ก.พ. กรมที่ดินพิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กรมที่ดิน พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ร่วมกันเรียกรับเงินเพื่อดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ผู้นำเดินสำรวจโดยไม่มีข้อกำหนดห้ามโอน ทั้งที่เป็นที่ดินที่มีการครอบครองภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งจะต้องอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองและผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ควรยกประโยชน์ให้ผู้ฟ้องคดี จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อพยานหลักฐานในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำการสอบสวนสิทธิในที่ดินรายนาย ม. กับพวก ซึ่งเป็นผู้นำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน และมีนาย อ. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากนาย ม. และพวกเป็นผู้ให้ถ้อยคำ โดยนาย อ. ได้ให้ถ้อยคำไว้ตามบันทึกถ้อยคำและใบไต่สวนว่า นาย ม. กับพวกได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ซึ่งในกรณีนี้กรมที่ดินได้มีหนังสือกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติในกรณีการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับซึ่งมิได้แจ้งการครอบครอง โดยกำหนดว่า เพื่อให้การออกโฉนดที่ดินให้กับบุคคลดังกล่าวมีความถูกต้องรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ควรรับฟังพยานบุคคลเพียงด้านเดียว ควรจะต้องมีพยานเอกสารของทางราชการหรือหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินที่เชื่อถือได้ซึ่งทางราชการออกให้ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวที่แสดงไว้อย่างชัดเจนถึงวันเวลาของการได้มาว่าได้มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับประกอบการพิจารณาออกโฉนดที่ดินจึงจะเป็นการชอบ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาพยานเอกสารของทางราชการหรือหลักฐานการได้มาของที่ดินที่น่าเชื่อถือ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวประกอบการให้ถ้อยคำของนาย อ. แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีสามารถตรวจสอบการครอบครองที่ดินของนาย ม. กับพวกได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมิได้ทำการสอบสวนผู้ครอบครองที่ดินในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินให้ชัดเจนและรับฟังเพียงถ้อยคำของนาย อ. จากการไต่สวนและบันทึกถ้อยคำเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมที่ดินกำหนดไว้ตามหนังสือฉบับดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการสำรวจออกโฉนดที่ดินให้แก่ นาย ม. กับพวกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้แก่นาย ม. กับพวก โดยไม่มีข้อกำหนดห้ามโอน ทั้งที่ที่ดินที่นำทำการสำรวจนั้นได้ครอบครองและทำประโยชน์ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งจะต้องอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้นาย ม.กับพวก ได้โฉนดที่ดินไปโดยไม่มีข้อกำหนดห้ามโอน และได้โอนขายให้แก่นาย ธ. (บริษัท พ.) ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้กรมที่ดินได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นกรณีที่ได้มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นความผิดที่เพียงพอที่จะมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการได้แล้ว ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีกรณีที่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีดังกล่าว
การดำเนินการทางวินัยมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการสอบสวน รวมทั้งการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาและไม่จำต้องรอฟังผลคดีอาญา เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดีอาญา แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาลงโทษทางวินัยที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.142/2549 เดิม ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ยศร้อยตำรวจเอก ได้รับคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระสังฆราช ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีต้องหาคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยการลอกเลียนแบบจากหมายกำหนดการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้กับกำหนดการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราชและแอบอ้างใช้ถ้อยคำที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งสำรองราชการผู้ฟ้องคดี คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากนั้น ได้นำผลการสอบสวนเสนอ อ.ก.ตร. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยพิจารณา และมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ตามมติของ ก.ตร.และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติ ก.ตร. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีไม่ได้พิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการถอนฟ้องคดีอาญาซึ่งศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องผู้ฟ้องคดีทุกคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว ถือเป็นการละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหาย ศาลวินิจฉัยว่า การดำเนินการสอบสวนและการออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการได้ดำเนินการถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาแล้ว และโดยสถานภาพของการเป็นข้าราชการตำรวจ ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นแบบที่ดีของสังคม การที่ผู้ฟ้องคดีทำหนังสือแจ้งกำหนดการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 7 ฉบับ ส่งไปยังศูนย์วิทยุสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นข่าวทางราชการโดยแสดงข้อความเป็นเท็จเกี่ยวกับผู้อนุมัติส่งข่าว เป็นการปลอมแปลงโดยพลการด้วยการลอกเลียนแบบจากหมายกำหนดการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแอบอ้างใช้ถ้อยคำในกำหนดการระบุว่าการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราชเป็นการเสด็จแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 แล้ว แม้ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในคดีอาญาและศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไปโดยชอบแล้วก็ตาม แต่ไม่กระทบต่อการพิจารณาลงโทษทางวินัยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพราะการดำเนินการทางวินัยแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญา มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการสอบสวนแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา อีกทั้ง การรับฟังพยานหลักฐานก็แตกต่างกัน และไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะแม้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจะมีความเห็นแตกต่างออกไป หากผู้พิจารณาโทษทางวินัยได้กระทำการนั้นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายก็หาจำต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่งลงโทษเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ศาลพิพากษายกฟ้อง
กรณีที่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดว่าผู้ถูกสอบสวนกระทำความผิดตามที่ถูกร้องเรียนว่าเรียกและรับเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า แต่มีพยานให้ถ้อยคำยืนยันว่าภาพถ่ายของผู้ถูกสอบสวนเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่มาสำรวจและเรียกร้องเงินไป ประกอบกับผู้ถูกสอบสวนยอมรับว่าเป็นผู้สำรวจผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าวจริง กรณีถือได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกสอบสวนเป็นผู้เรียกร้องเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า การมีคำสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.72/2549 กรมสรรพากรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากขณะผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สรรพากร 3 สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่แห่งหนึ่ง ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเรียกและรับเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า ในการสอบสวนปรากฏว่าผู้ประกอบการร้านค้า 4 ราย ให้ถ้อยคำว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรออกไปสำรวจการประกอบกิจการและมีการเรียกร้องเงินจริง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ในขณะที่ภรรยาของผู้ประกอบการร้านค้าแห่งหนึ่งให้ถ้อยคำยืนยันว่าภาพถ่ายของผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่มาสำรวจและเรียกร้องเงินไป คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะลงโทษผู้ฟ้องคดี แต่ฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีพูดจาไม่สุภาพกับเพื่อนร่วมงานและผู้เสียภาษี ควรยุติเรื่อง กรมสรรพากรเห็นชอบด้วยแต่ให้ว่ากล่าวตักเตือนผู้ฟ้องคดีเป็นหนังสือกรณีพูดจาไม่สุภาพกับเพื่อนร่วมงานและผู้เสียภาษีแล้วรายงานผลการดำเนินการทางวินัยให้ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณา อ.ก.พ. กระทรวง เห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เพียงแต่ในการสอบสวนพยานไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษได้เท่านั้น ซึ่งหากให้ผู้ฟ้องคดีรับราชการต่อไปน่าจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ จึงมีมติให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กรมสรรพากรมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีตามมติของ ก.พ. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาและกรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องเสนอเรื่องให้ อ.ก.พ. กรมพิจารณา มิใช่ อ.ก.พ. กระทรวง จึงฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการ ศาลวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะลงโทษผู้ฟ้องคดีและกรมสรรพากรเห็นชอบโดยให้ยุติเรื่องและว่ากล่าวตักเตือนผู้ฟ้องคดีเป็นหนังสือ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เพราะแม้พยานหลักฐานจะไม่แน่ชัดว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามที่ถูกร้องเรียน แต่จากถ้อยคำของพยานซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านค้าตามผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ประกอบกับผู้ฟ้องคดียอมรับว่าเป็นผู้สำรวจผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าวจริง ถือได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เรียกร้องเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า การที่ อ.ก.พ. กระทรวงซึ่งได้รับรายงานตามมาตรา 109 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกับข้อ 14 ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2539 มีความเห็นว่ากรณีมีมูลที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เรียกร้องเงินจากผู้ประกอบการร้านค้า แม้การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดที่จะฟังลงโทษได้ แต่ถ้าให้ผู้ฟ้องคดีรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ จึงมีมติให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน เมื่อกรมสรรพากรมีคำสั่งตามมติดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 116 และมาตรา 109 วรรคหกและวรรคเจ็ด แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว