6 มี.ค. 2567

ผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของพระภิกษุซึ่งถึงแก่มรณภาพ

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1623  "ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม"
          มาตรา 1624  "ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้"

          เมื่อพระภิกษุมรณภาพลง ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกได้แก่บุคคลใดบ้าง แยกเป็น 2 กรณี คือ

          กรณีแรก ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท ตามมาตรา 1624 หมายความถึง ทรัพย์สินที่บุคคลได้มาก่อนบวชเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนี้แม้ต่อมาบุคคลนั้นจะบวชเป็นพระภิกษุแล้วและต่อมาได้มรณภาพลงในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ทรัพย์สินนั้นก็ไม่ตกเป็นของวัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273 - 274/2475  ถ้าพระภิกษุได้รับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมาก่อนบวช แต่พึ่งมาโอนใส่ชื่อเมื่อบวชแล้ว ที่ดินนั้นไม่เป็นของวัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2536  แม้พระภิกษุ ช.จะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่พระภิกษุ ช.ได้เช่าซื้อและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ พระภิกษุ ช.ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุ ช. มีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ จึงต้องถือว่าพระภิกษุ ช.ได้ที่ดินมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ การจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุ ช.ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุ ช.

          กรณีที่สอง ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศไม่ว่าทางใด และจะได้มาเนื่องจากการเป็นสมณเพศหรือไม่ก็ตาม ต้องอยู่ในบังคับมาตรา 1623 คือ ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของวัด ยกเว้นพระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยการทำพินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2495  พระภิกษุถึงมรณภาพในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร มรดกของพระภิกษุนั้นย่อมตกได้แก่วัดที่พระภิกษุนั้นอยู่ แม้ทายาทจะครอบครองที่ดินมรดกของพระภิกษุนั้นเกิน 10 ปีนับแต่วันมรณภาพทายาทนั้นก็จะเอาที่ดินมรดกนั้นไม่ได้ เพราะที่ดินมรดกนั้นเป็นของวัด จะใช้อายุความ 10 ปียันวัดให้เสียสิทธิหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2532  บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข. บวชเป็นพระภิกษุ การที่พระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพ เงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2536  เมื่อเจ้ามรดกเป็นพระภิกษุถึงแก่มรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้เงินของเจ้ามรดกที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของผู้คัดค้านซึ่งเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของเจ้ามรดก แม้ผู้ร้องที่ 2 จะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้วและเป็นทายาทโดยธรรมก็หามีสิทธิในเงินดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่ทายาทสำหรับเงินจำนวนนี้ และมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2538  พินัยกรรมของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะ ระบุไว้ว่า บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ข. และ ค.เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่จำเลยศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ที่พิพาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของพระภิกษุ ส. ผู้มรณะ และพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนี้ จดหมายของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะฉบับแรกเป็นจดหมายธรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้มรณะฝากไว้ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรมจึงไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนจดหมายฉบับที่สองมีข้อความว่า ลูกหมอ (จำเลย) ที่รักเวลานี้พ่อหลวง (พระภิกษุ ส.)ป่วยจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไร เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่น อยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียว แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมดเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคง สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอไปลงชื่อในสมุดฝากให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลังฯลฯจดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องที่ผู้มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดเงินฝากเงินธนาคาร แม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความรู้สึกในในว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น การที่พระภิกษุ ส.ใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงิน แสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อผู้มรณะได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นพระภิกษุเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546  เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อผู้ตายไว้ครบถ้วนเป็นพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคหนึ่งแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่มีเพิ่มเติมข้อความที่ว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังคงมีผลสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
          เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้