มาตรา 1495 "การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ"
มาตรา 1452 กำหนดเงื่อนไขห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายครอบครัวที่กำหนดให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว หากทำการสมรสซ้อนหรือสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถกล่าวอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนนั้นย่อมเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ซึ่งการสมรสซ้อนนี้แม้ชายหรือหญิงคู่สมรสจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีการสมรสเดิมอยู่แล้ว ก็ยังคงเป็นโมฆะอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามคู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นก่อนที่ตนจะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2527 พ.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ขณะที่ พ. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 อยู่แล้ว เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และ 1496 โจทก์คงเป็นภริยาของ พ. แต่ผู้เดียว
ถ้าขณะก่อนสมรสครั้งหลังชายหรือหญิงได้หย่ามาก่อนแล้ว เท่ากับการสมรสครั้งหลังย่อมมีผลสมบูรณ์ แม้จะมีการเพิกถอนการหย่าในภายหลังก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537 แม้ภรรยาเดิมของจำเลยจะฟ้องเพิกถอนการหย่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีก็ให้เพิกถอนการหย่าไปแล้ว เป็นการทำภายหลังที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พฤติการณ์ของภรรยาเดิมกับจำเลยที่กระทำดังกล่าวไม่อาจฟังได้ว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1496 ประกอบด้วยมาตรา 1452 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
ถ้าหากการสมรสครั้งแรกเป็นโมฆะ เท่ากับไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อน การสมรสครั้งหลังย่อมชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6077/2537 ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ น. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2522 น. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นการสมรสระหว่างจำเลยกับ น. จึงฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 เดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับว่าจำเลยและ น. มิได้ทำการสมรสกัน ดังนั้น การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และ น. ในครั้งหลังจึงกระทำในขณะที่จำเลยไม่มีฐานะเป็นคู่สมรสของ น. การสมรสระหว่างโจทก์และ น. จึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 133 เดิม และมาตรา 1497 เดิม มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับ น. เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496 เดิมได้
แม้ชายหญิงคู่สมรสจะไม่ได้อยู่กินด้วยกันแล้ว ถ้ายังมิได้หย่าก็ต้องถือว่ายังคงเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549 ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้
ผู้มีส่วนได้เสียจะยกเอาความเป็นโมฆะของการสมรสซ้อนขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้อง แม้จะเกิน 10 ปีแล้วคดีก็ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2556 โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557 ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้
ผลของการสมรสซ้อนซึ่งตกเป็นโมฆะ
1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาหากต่อมาได้มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือมีการกล่าวอ้างว่าการสมรสซ้อนนั้นเป็นโมฆะ ต้องถือว่าการสมรสนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น คู่สมรสจึงไม่มีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างกัน จึงไม่ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา สินสมรสไม่เกิดขึ้น เพราะถือว่าทรัพย์สินของใครก็เป็นของคนนั้น สำหรับกรณีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ต้องถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่ายตามสัดส่วนเท่ากัน เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดให้สัดส่วนไม่เท่ากันโดยพิเคราะห์ถึงภาระและพฤติการณ์อื่นทั้งปวง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2537 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาได้ช่วยกันประกอบอาชีพทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มทวีขึ้นซึ่งโจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน โจทก์จำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่ง เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยโจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินร่วมกับจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิแบ่งทรัพย์สินนั้นจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553 ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส
2. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสที่สุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การสมรสซ้อนนั้นแม้คู่สมรสอีกฝ่ายจะทำการสมรสโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
สำหรับชายหรือหญิงที่ทำการสมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2530 การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้
3. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
มาตรา 1500 "การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา 1497/1"
4. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 1536 "เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น"
มาตรา 1538 "ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง
ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา 1536 มาใช้บังคับ
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ด้วย"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2494 บุตรที่เกิดในระหว่างที่บิดามารดาสมรสอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและจดทะเบียนการสมรสกันแล้ว จนกระทั่งบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงมีคำพิพากษาของศาลชี้ขาด ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดากับมารดานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขณะนั้นบิดายังมีภริยาเดิมอยู่มิได้หย่าขาดกันดังนี้ ก็ต้องถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาตลอดมา และมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา