1 มี.ค. 2567

ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

          ความผิดฐานปลอมเอกสาร          


          ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 264  "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน"

           หลักเกณฑ์
          (1) ผู้ใด
          (2) (ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
               (ข) เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
               (ค) ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
          (3) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)

           และต้องมี
          (1) เจตนา
          (2) เจตนาพิเศษ ---> เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

          คำว่า "เอกสาร" ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 1 (7) แห่งประมวลกฎหมายอาญา  “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
          สาระสำคัญของเอกสารจึงอยู่ที่การทำให้ปรากฏความหมาย ด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น ตามปกติแล้วเอกสารมักจะเป็นกระดาษ แต่จะทำไว้บนวัตถุอื่นใดก็ได้ เช่น เครื่องหมายตัวอักษรและเลขที่พานท้ายปืนแสดงถึงลำดับของปืนที่มาขึ้นทะเบียนว่าปืนได้ขึ้นทะเบียนที่จังหวัดใด อำเภอใด และเป็นลำดับปืนกระบอกที่เท่าใด ตัวอักษรและเลขดังกล่าวทำให้ปรากฏความหมาย ดังนั้น ตังอักษรและเลขที่พานท้ายปืนจึงเป็นเอกสาร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2503) หรือเครื่องหมายตัวอักษรและเลขที่ปรากฏบนท่อนซุง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2470) หรือที่ปรากฏอยู่บนโลหะ เช่น ป้ายทะเบียนรถยนต์และเลขหมายที่เครื่องยนต์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2523) เหล่านี้จึงเป็นเอกสารเนื่องจากได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น บนวัตถุนั้นๆ


          แม้ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสาร แต่เมื่อนำไปปิดลงในหนังสือเดินทางดังกล่าว ย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงของหนังสือเดินทางเปลี่ยนแปลงไป ภาพถ่ายของจำเลยที่ไม่เป็นเอกสารจึงเกิดเป็นเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2537  จำเลยเอาหนังสือเดินทาง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศออกให้แก่นายสิทธิชัย หอมพวงษ์ มาแก้ไขโดยแกะเอาภาพถ่ายของนายสิทธิชัย หอมพวงษ์ที่ปิดอยู่ในปกด้านในออกแล้วเอาภาพถ่ายของจำเลยปิดลงไปแทนนั้น แม้ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ก็ตาม แต่เมื่อนำไปปิดลงในหนังสือเดินทางดังกล่าว ย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงของหนังสือเดินทางเปลี่ยนแปลงไปว่าจำเลย คือ นายสิทธิชัย หอมพวงษ์ และเป็นหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้แก่จำเลยโดยตรง ภาพถ่ายของจำเลยที่ไม่เป็นเอกสารจึงเกิดเป็นเอกสาร หนังสือเดินทางของนายสิทธิชัย หอมพวงษ์ กลายเป็นหนังสือเดินทางของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการ เมื่อจำเลยนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเดินทางออกไปและเข้ามาในราชการอาณาจักร ย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม

          (ก) การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

          เนื่องจากเอกสารจะมีขึ้นในรูปแบบใดๆก็ได้ การปลอมเอกสารจึงไม่จำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2546  การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้ จำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวง ต. ว่า จำเลยที่ 2 คือ ย. เจ้าของรถยนต์บรรทุกมีความประสงค์จะขายรถยนต์คันดังกล่าว ต. ตกลงรับซื้อไว้และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กัน โดยพวกของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ย. ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าว มอบให้ ต. ยึดถือไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจาก ต. และไม่ให้ ต. ใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืน ทำให้ ต. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 กับพวก จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้ ต. ยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548  คำว่า “เอกสาร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงมีต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
          จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือซื้อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

          (ข) เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง

          การเติมตัดทอนหรือแก้ไขข้อความต้องกระทำในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558  ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก
          ต้องเป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารในขณะที่ไม่มีอำนาจที่จะทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2487   กำนันทำรายงานเรื่องผู้ต้องหา เสนอพนักงานสอบสวนระบุชื่อผู้ต้องหา เมื่อเสนอไปแล้วพายหลังแก้ชื่อผู้ต้องหา ถ้าหากแก้เพื่อไห้เข้าใจว่ารายงานไว้แต่เดิมก็ผิดฐานปลอมหนังสือ (ปลอมเอกสาร)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2508  การเติมข้อความในเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเองแต่จำเลยหมดอำนาจที่จะเติมแล้วเพราะได้นำไปใช้เป็นหลักฐานในการขายสินค้าเชื่อให้แก่นายสมบูรณ์จนนายสมบูรณ์กับโจทก์ที่ 2 ได้ตรวจรับสิ่งของและเซ็นชื่อไว้ในบิลนำส่งของที่ซื้อเชื่อนั้นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารได้  
          แต่ถ้าเป็นการแก้ไขในขณะที่ตนเองยังมีอำนาจที่จะทำได้ ยังไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2507  หนังสือที่บุคคลคนหนึ่งทำขึ้น บุคคลนั้นก็ชอบที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดได้ก่อนส่งมอบให้บุคคลอื่นไป แม้บุคคลนั้นจะได้ตัดทอนหนังสือนั้นเสียบางส่วน ก็เป็นการกระทำที่ไม่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ใด อันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร หรือใช้เอกสารปลอมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 197/2509  โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานได้ทำเสร็จเรียบร้อย และประกาศแจกโฉนดให้ราษฎรแล้ว โจทก์มาขอรับ เซ็นชื่อรับ และเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มอบโฉนดให้โจทก์ไป ต่อมามีผู้มาขออายัดการออกโฉนด จำเลยจึงไม่แจกโฉนด และลบวันเดือนปีและลายเซ็นชื่อซึ่งจำเลยได้เซ็นในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินเสีย เพราะเกรงว่าจะเป็นโฉนดที่สมบูรณ์ การที่จำเลยลบวันเดือนปีและลายเซ็นชื่อของตนเองเช่นนี้ ไม่เป็นการปลอมเอกสาร เพราะว่าเมื่อยังไม่ได้ส่งมอบโฉนดให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าที่ดินรายนี้ได้ออกโฉนดแล้ว และโฉนดรายนี้ยังเป็นเอกสารที่อยู่ในความยึดถือหรือในความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ และถือได้ว่ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการออกโฉนด ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขเสียได้
          การแก้ไขต้องทำให้ข้อความหรือความหมายในเอกสารที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2530  การที่จำเลยตัดเลขหมายประจำแชชซีรถยนต์คันสีแดงออกแล้วตัดเอาหมายเลขประจำแชชซีของรถยนต์คันสีฟ้ามาเชื่อมต่อไว้แทน เมื่อหมายเลขประจำแชชซีรถยนต์คันสีฟ้าเป็นหมายเลขประจำรถยนต์ที่แท้จริง แม้จะนำมาติดกับรถยนต์คันอื่นแต่ไม่มีการขูดลบแก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษร หรือตัวเลขหมายแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารเพราะความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องมีการปลอมแปลงเอกสารขึ้นทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน หรือกระทำให้ข้อความหรือความหมายในเอกสารที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2548  การที่จำเลยที่ 1 ตัดโครงคัสซีของรถยนต์ของกลางบริเวณตัวอักษรตัวเลขออกแล้วนำชิ้นส่วนของโครงคัสซีที่ระบุตัวอักษรตัวเลขอื่นมาเชื่อมติดใหม่ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขุดลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษรตัวเลขคัสซีแต่อย่างใดการกระทำของจำเลขที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตัวอักษรตัวเลขคัสซี
          การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นทำลายตัวอักษรตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนเครื่องยนต์ของรถยนต์ของกลางแล้วตอกตัวอักษรตัวเลขให้ตรงกับตัวอักษรตัวเลขของเครื่องยนต์ที่จำเลขที่ 1 ซื้อจากบุคคลอื่น แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวโดยไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตัวอักษรตัวเลขของเครื่องรถยนต์ของกลาง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 เท่านั้น
          การที่จำเลขที่ 1 นำรถยนต์ของกลางซึ่งมีการปลอมตัวอักษรเลขเครื่องยนต์ไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกฯ ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลขที่ 1 ในการใช้หลักฐานปลอมดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางประกอบขึ้นจากโครงคัสซี เครื่องยนต์ อุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ จากชิ้นส่วนรถยนต์เก่าจนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อรับจดทะเบียนรถยนต์ของกลางสมดังเจตนาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2543  แม้จำเลยจะทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมขึ้นมาโดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่น หรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงบางอย่างไว้เช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265
          การทำลายเอกสารไม่เป็นการปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6266/2545  การที่จำเลยขูดลบเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของเจ้าพนักงานออกทั้งหมดเป็นเพียงการทำลายเอกสารไม่ใช่การปลอมเอกสาร เพราะไม่มีเอกสารเหลืออยู่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268

          (ค) ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
          การประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารนี้ ไม่ว่าในเอกสารที่แท้จริงหรือในเอกสารปลอมก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2508   จำเลยไม่ใช่นายช่วง แต่มาอ้างต่อศาลว่าเป็นนายช่วง และข้อเท็จจริงที่จำเลยเบิกความว่าได้รู้เห็นเหตุการณ์ จำเลยก็มิได้รู้เห็นจริง กับจำเลยได้ลงนามปลอมว่า นายช่วง ในคำเบิกความที่ศาลจดไว้อีกด้วย ความผิดฐานเบิกความเท็จสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยการลงนามปลอม การลงนามปลอมของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 อีกด้วย แต่จำเลยหามีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 อีกมาตราหนึ่งไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278-279/2501  การที่จำเลยเขียนชื่อและประทับตราชื่อห้างร้านที่ไม่มีตัวจริงแต่เป็นห้างร้านที่สมมุตขึ้นและใช้ชื่อและประทับตราที่สมมุติขึ้นในการออกเช็คสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คที่ไม่มีห้างร้านตัวจริง เป็นผิดฐานปลอมหนังสือทั้งฉบับ
          ลายมือชื่อไม่มีกฎหมายให้เซนต์แทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจมาให้เซนต์แทนก็ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2517  ลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจก็เซ็นแทนไม่ได้ จำเลยเซ็นชื่อสามีจำเลยลงในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินจึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอม แต่ความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องมีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อผู้เสียหายรู้จักชื่อและตัวสามีจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนจำเลยซึ่งเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ยังได้สมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลยและรู้เห็นว่าจำเลยได้ลงชื่อสามีจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาตอนทำสัญญานั้น จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หลงผิดหรือหลงเชื่อ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหายตามกฎหมายสามีจำเลยก็ไม่เสียหายเพราะเป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยไว้  จำเลยจึงไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2525   กรณีเกี่ยวกับลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่ออนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยทำหนังสือถึงผู้จัดการสหกรณ์แจ้งให้ทราบว่า ศ. น้องสาวโจทก์เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศและขอลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ โดยใช้ชื่อโจทก์หรือลงลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ศ.และสหกรณ์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิด

          การปลอมเอกสารต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
          เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำว่าการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปลักษณะเดียวกับจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540   จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลายมือชื่อ ส.ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส.กับจำเลยในขณะที่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า ส.กู้ยืมเงินจำเลย 100,000 บาท ถ้า ส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว ส.ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส.อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด.ว่าที่ดินของ ส.เป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 265
          ข้อความที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ตาม ป.อ.มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า "ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง" นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด.ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลย คือทายาทของ ส. แต่อย่างใด แต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้

          แต่ถ้าไม่น่าจะเกิดความเสียหายก็ไม่มีความผิด เพราะถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอก แม้พยายามก็ไม่ผิด

          กรณีที่ถือว่าได้รับความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2517   จำเลยกู้เงินผู้เสียหายแล้วทำหนังสือสัญญากู้ลงลายมือชื่อผู้อื่นในช่องผู้กู้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเองเป็นผู้กู้ การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริตเพื่อจะให้ได้เงินที่กู้ไป แต่มิให้ผู้เสียหายใช้สัญญากู้นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลย ผู้เสียหายได้รับความเสียหายจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิเมื่อจำเลยได้มอบสัญญากู้ให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2506   จำเลยขำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินที่เจ้าหนี้เซ็นชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยแก้ 10,000 บาท เป็น 70,000 บาท ต่อมาจำเลยคัดสำเนาใบรับเงินที่ปลอมนั้นมาแสดงต่อศาลทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เพราถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้จะต้องขาดเงินที่ควรได้รับชำระหนี้ไป 60,000 บาท การปลอมของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 264 แล้ว และเอกสารนี้เป็นใบรับเงินชำระหนี้ แสดงว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในจำนวนเงินนี้ระงับไปแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และการที่จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่ปลอมแสดงต่อศาลเป็นการอ้างถึงเอกสารที่ปลอม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 ด้วย ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 ตามอัตราโทษในมาตรา 265

          กรณีที่ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2521  แก้ตัวเลขในสลากกินแบ่ง 1 ตัว ให้เป็นหมายเลขที่ถูกรางวัลเพื่อให้เพื่อนเลี้ยงอาหารจำเลยก่อน แล้วจำเลยทิ้งสลากกินแบ่งในถังขยะในบ้าน มีผู้เก็บสลากกินแบ่งนั้นไปขอรับรางวัลนอกความรู้เห็นของจำเลย การหลอกให้เลี้ยงอาหารเป็นการล้อเล่นระหว่างเพื่อนซึ่งทำอยู่เป็นปกติ ไม่เป็นความเสียหายแก่ประชาชนหรือเพื่อนของจำเลย ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2505  ทำสัญญากู้เงินกันไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา  ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในท้ายสัญญา โดยผู้กู้มิได้รู้เห็นด้วยแล้วผู้ให้กู้นำสัญญานั้นมาฟ้องต่อศาล  ดั่งนี้ ผู้ให้กู้หามีผิดฐานปลอมเอกสารไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5932/2538   การที่โจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้โดยการขีดฆ่าตัวเลขและตัวอักษรจากจำนวน 25,700 บาท เป็นจำนวน20,200 บาท และลงชื่อกำกับไว้เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลย และคดีนี้โจทก์แก้ไขจำนวนเงินที่กู้ให้ลดลงจากเดิม กลับจะเป็นประโยชน์แก่จำเลย สัญญากู้จึงไม่เป็นเอกสารปลอม และเป็นเอกสารที่สมบูรณ์รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2539 การที่จำเลยนำเอาภาพถ่ายของจำเลยเองมาปิดทับลงในสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของจำเลย ถึงแม้จะกระทำไปเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง แต่ในเมื่อเป็นภาพถ่ายของจำเลยและเป็นสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แม้จำเลยจะนำไปใช้ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามที่โจทก์ฟ้องไปได้

          ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
          ข้อนี้เป็นเจตนาพิเศษ "เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540   จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลายมือชื่อ ส.ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส.กับจำเลยในขณะที่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า ส.กู้ยืมเงินจำเลย 100,000 บาท ถ้า ส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว ส.ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส.อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด.ว่าที่ดินของ ส.เป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 265
          ข้อความที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ตาม ป.อ.มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า "ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง" นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด.ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลย คือทายาทของ ส. แต่อย่างใด แต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้

       
           มาตรา 264 วรรคสอง  "ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน" 

          องค์ประกอบ
          (1) ผู้ใด
          (2) กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่น
          (3) โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น

           และต้องมี
          (1) เจตนา
          (2) เจตนาพิเศษ เพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน

          ตามมาตรา 264 วรรคสองนี้ ไม่ใช่การปลอมเอกสารโดยตรง เพียงแต่กฎหมายให้ถือว่าผู้ที่กระทำตามมาตรา 264 วรรคสอง ผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับความผิดฐานปลอมเอกสาร

          วัตถุแห่งการกระทำคือแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นลงไว้แล้ว
          คำว่า "ลายมือชื่อ" มีบทนิยามในมาตรา 1 (10) ว่า หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734-1735/2523  โจทก์ได้ลงชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้ให้จำเลยที่ 1 ไป โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงไปในสัญญากู้ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 92,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2514 ซึ่งเป็นสัญญาปลอม จำเลยทั้งสอง จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2505  ภรรยาโจทก์มอบแบบสัญญาเช่าที่โจทก์ลงชื่อแล้วในช่องผู้ให้เช่าให้จำเลยขอยืมไปเพื่อให้คนอื่นดู ต่อมาจำเลยกลับไปกรอกข้อความว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าห้องโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยเช่นนี้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสาร

          ต้องเป็นการกรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าของลายมือชื่อนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2522  กรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อของโจทก์โดยโจทก์มิได้ยินยอมให้กรอก แล้วนำเอกสารมาฟ้องเรียกเงินกู้เป็นการปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรค 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2537  ที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 กลับกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปลอมหนังสือมอบอำนาจด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นทั้งเป็นสามีภรรยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการใช้เอกสารปลอมด้วย

          องค์ประกอบภายในที่ผู้กระทำจะต้องมี คือ เจตนาตามมาตรา 59 และเจตนาพิเศษเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2528   การกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนการที่จำเลยกรอกข้อความในตราสารการโอนหุ้นซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่ได้รับคำสั่งหรือความยินยอมของโจทก์ และโอนหุ้นของโจทก์ที่มิได้สั่งขายไปเป็นของบุคคลอื่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และโจทก์มิได้เสียหายทั้งไม่ปรากฏว่าอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือใช้เอกสารสิทธิปลอม  
          การกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นให้ไว้ โดยเชื่อว่ากรอกข้อความตรงตามที่ผู้ลงลายมือชื่มอบหมายให้กรอกก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2543   จำเลยทั้งสามร่วมกันนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะหย่าขาดจากกันไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานว่า โจทก์ลงลายมือชื่อต่อหน้า แต่การกรอกข้อความดังกล่าวในหนังสือมอบอำนาจนั้นโจทก์ระบุในฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำขึ้นภายหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงทางแพ่งแล้ว ทั้งกิจการมอบอำนาจตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นกิจการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงทางแพ่งที่โจทก์แสดงเจตนาไว้ ประกอบกับการที่จำเลยที่ 1 นำเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างก็ตรงตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ จึงมิได้เป็นการกระทำขึ้นเพื่อนำเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือไปจากข้อตกลงอันอาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้ใดผู้หนึ่งหรือประชาชน ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปแล้วไม่นำเงินที่เหลือจากการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปซื้อหรือวางเงินดาวน์บ้านหลังใหม่ และไม่นำเงินไปฝากธนาคารเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่บุตรทั้งสาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องกระทำภายหลังจากขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ ไม่เกี่ยวกับการไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยการใช้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ คดีโจทก์จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266, 268
          แต่ถ้ากรอกข้อความผิดไปจากที่เขามอบหมายให้กรอกก็อาจเกิดความเสียหายเป็นความผิดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2539   จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายทราบแล้วว่า ย.ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ 2 ยังนำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังมิได้กรอกข้อความคงมีแต่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ย.ในช่องผู้มอบอำนาจเรียบร้อยแล้วมาบอกให้ ส. กรอกข้อความ ส.กรอกข้อความว่า ย.มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแทน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยพลการ เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้เสียหาย แม้เป็นการกระทำที่ตรงกับความประสงค์ของย.ก็ตาม แต่การมอบอำนาจยังไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตาย การมอบอำนาจก็สิ้นผล แต่จำเลยที่ 2 กลับทำให้การมอบอำนาจซึ่งยังมิได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ดูเสมือนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ด้วยการกรอกข้อความ การกระทำดังกล่าวแม้ผู้เสียหายจะไม่เสียหายแต่ก็อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง


          ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือฐานปลอมเอกสารราชการ


          มาตรา 265  "ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท"

          การกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 265 จำกัดเฉพาะการปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการเท่านั้น และเนื่องจากมาตรานี้เป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 วรรคท้ายด้วย จึงต้องทราบด้วยว่าเอกสารที่ทำการปลอมนั้นเป็นเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการด้วย

          เอกสารสิทธิ ก็เป็นไปตามมาตรา 1 (9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

          ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ทร.17 ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เพราะมิได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2527   เอกสารใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 ของ ย. เป็นเอกสารซึ่ง ปลอมว่านายทะเบียนตำบลบ้านโฮ่งได้รับแจ้งย้ายออกของ ย. ว่าย้ายออกจากบ้านเลขที่ 190/7 หมู่ที่ 8 ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 4/8 ถนนประชาราษฎร์แขวงบางซื่อเท่านั้น มิได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่ ย. ในตัวเอกสารนั้น ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของ ย. ก็เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าพนักงาน ได้รับคำขอของ ย. ไว้แล้วมิได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่ ย.ในตัวเอกสารนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ คงถือได้ว่าเป็นเอกสารราชการเท่านั้น

          เอกสารสิทธิที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) สัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน สมุดคู่ฝากบัญชีอมทรัพย์ ใบคำขอถอนเงินธนาคาร สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากการกุศล ใบบันทึกรายการขายของธนาคาร (แผ่นเซลสลิป)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2517  จำเลยกู้เงินผู้เสียหายแล้วทำหนังสือสัญญากู้ลงลายมือชื่อผู้อื่นในช่องผู้กู้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเองเป็นผู้กู้ การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริตเพื่อจะให้ได้เงินที่กู้ไป แต่มิให้ผู้เสียหายใช้สัญญากู้นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลย ผู้เสียหายได้รับความเสียหายจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิเมื่อจำเลยได้มอบสัญญากู้ให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513   คำว่า 'เอกสารสิทธิ' ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) นั้นมุ่งหมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิหรือหนี้สินและเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลง โอนหรือระงับซึ่งสิทธิหรือหนี้สินทุกอย่าง หนังสือรับรองทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาลซึ่งผู้ยื่นหนังสือดังกล่าวรับรองต่อศาลว่า หลักทรัพย์ตามบัญชีคำร้องขอประกันเป็นของผู้ขอประกัน  หากบังคับแก่ทรัพย์ตามสัญญาประกันไม่ได้หรือได้ไม่ครบ  ผู้ทำหนังสือรับรองทรัพย์ยอมรับผิดใช้เงินจนครบ ซึ่งเท่ากับเป็น หนังสือค้ำประกันผู้ขอประกันตัวอีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นเอกสารสิทธิตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2546   ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปแล้ว ใบถอนเงินจึงเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคารจึงเป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2510   จำเลยได้ซื้อบัตรการกุศล ก่อนวันออกรางวัลบัตรนั้นจึงอยู่ในความครอบครองของจำเลยตลอดมา จนถึงวันที่จำเลยนำไปขอรับรางวัลจึงปรากฏว่ามีการขูดลบแก้ตัวเลขให้ตรงกับเลขรางวัลที่ 1 การขูดลบแก้ตัวเลขเช่นนี้แสดงว่าได้ขูดแก้ในระหว่างที่บัตรนั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลย และขูดแก้เมื่อมีการออกรางวัลแล้ว ให้ตัวเลขตรงกับเลขในบัตรที่ถูกรางวัลที่ 1 ตามธรรมดาย่อมไม่มีบุคคลใดทำการแก้ตัวเลขในบัตรที่แท้จริงแล้วนำไปขายก่อนที่จะมีการออกรางวัล จึงเชื่อได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันนำเอาบัตรการกุศลซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นบัตรปลอมโดยการขูดลบแก้ตัวเลขไปใช้ขอรับรางวัล จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 265
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2542   ผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคาร ก. ไม่เคยนำบัตรเครดิตของธนาคาร ก. ไปสั่งซื้ออาหารหรือใช้บริการของจำเลย และไม่เคยลงลายมือชื่อในใบบันทึกรายการขายสินค้าที่ร้านของจำเลย การที่จำเลยนำใบบันทึกรายการขายสินค้าดังกล่าวที่เป็นเอกสารสิทธิปลอมไปใช้เบิกเงินจากธนาคาร ก.จนได้รับเงินจากธนาคาร ก.แล้ว จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงธนาคาร ก.

          เอกสารสิทธิที่เป็นหลักฐานแห่งการสงวนสิทธิ เช่น แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นเอกสารที่เข้าของสงวนสิทธิครอบครองที่ดินตามที่แจ้ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2506   ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 5 ให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแจ้งการครอบครองที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด ถ้าไม่แจ้งภายในกำหนดให้ถือว่าสละสิทธิครอบครองที่ดินเว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีคำสั่งผ่อนผัน ดังนี้ เห็นว่า หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.1 เป็นหนังสือสำคัญที่จะทำให้ผู้แจ้งคงมีสิทธิครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265

          เอกสารสิทธิที่เป็นหลักฐานแห่งการระงับสิทธิ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าเป็นหลักฐานแห่งการระงับสิทธิของผู้ให้เช่าในการเรียกเก็บเงินจากผู้เช่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2540   ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิของผู้ให้เช่าจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)
          จำเลยนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและเป็นเอกสารเท็จยื่นประกอบแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากคลังจังหวัดชุมพรไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามที่จำเลยขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดชุมพร ก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม มาตรา 268
          แก้ชื่อผู้เสียหายในใบกำกับภาษีโดยผู้เสียหายไม่ให้ความยินยอม เป็นปลอมเอกสารสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10959/2553  ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท จ. โดยบริษัท จ. ออกเอกสารใบส่งของ/บิลเงินสด ใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อ จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเป็น ส. โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย แม้ พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสารจะเป็นผู้แก้ไข แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสารโดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้ พ. เป็นเครื่องมือ
          ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท จ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีกจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเครื่องยนต์ในใบส่งของ/บิลเงินสด และใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์เป็นการปลอมเอกสารหรือไม่ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน จ - 2677 นนทบุรี รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์เลขที่ เอเอส 167122 เอ็กซ์ จากบริษัท จ. มาเปลี่ยนให้ผู้เสียหาย โดยบริษัท จ. ทำใบส่งของ/บิลเงินสด และใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์มอบให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยนำใบส่งของ/บิลเงินสด และใบกำกับภาษีกับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นของผู้เสียหายไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเครื่องยนต์จากผู้เสียหายเป็นชื่อนาย ส. โดยไม่มีอำนาจ แล้วมอบเอกสารให้นาย ฐ. นำไปใช้ประกอบในการจดทะเบียนเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ฐ - 7705 กรุงเทพมหานคร ของนาย ส. ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์เก๋งของผู้เสียหายได้ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า หนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์กับใบส่งของ/บิลเงินสด และใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์เป็นเอกสารของผู้เสียหายและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเครื่องยนต์จากผู้เสียหายเป็นชื่อนาย ส. ในเอกสารกระทำโดยไม่มีอำนาจ ดังนั้น แม้นาย พ. จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสาร แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเครื่องยนต์ในเอกสารของผู้เสียหายให้ผิดไปจากความจริงได้ การแก้ไขเอกสารของผู้อื่นให้ผิดไปจากความจริงโดยไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสาร โดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้นาย พ.เป็นเครื่องมือ ส่วนเอกสารที่ปลอมนั้นเป็นใบส่งของ/บิลเงินสด และใบกำกับภาษีที่บริษัท จ. ออกให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าบริษัท จ. ซึ่งเป็นผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท จ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีก ดังนั้น เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

          ส่วนกรณีที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เช่น หนังสือมอบอำนาจ ใบทะเบียนสมรส(เป็นเอกสารราชการ) แบบคำขอใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3448/2551   หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งบุคคลหนึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ ให้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2547  “เอกสารสิทธิ” ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ แต่แบบคำขอใช้บริการบัวหลวง เอ.ที.เอ็ม ที่จำเลยปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารที่จำเลยใช้ยื่นต่อธนาคารผู้เสียหายเพื่อขอให้ ส. ซึ่งเป็นลูกค้าเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายได้ใช้บัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติ แต่ยังไม่แน่ว่าธนาคารผู้เสียหายจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวหรือไม่ แบบคำขอใช้บริการดังกล่าวมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก – ถอนเงินกับธนาคารผู้เสียหายโดยตรง จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น

          สำหรับเอกสารราชการ ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

          เอกสารราชการ หมายความถึง เอกสารราชการไทยเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2541   แม้คำว่าเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) และมาตรา 265 จะหมายถึงเอกสารของทางราชการไทยเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยประทับตราปลอมของด่านตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่ ที่อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นผ่านออกก็เป็นการปลอมเอกสารราชการของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว

          เอกสารราชการต้องเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นในหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2537   จำเลยเอาหนังสือเดินทางซึ่งกระทรวงต่างประเทศออกให้แก่นายสิทธิชัย หอมพวงษ์ มาแก้ไขโดยแกะเอาภาพถ่ายของนายสิทธิชัย หอมพวงษ์ที่ปิดอยู่ในปกด้านในออกแล้วเอาภาพถ่ายของจำเลยปิดลงไปแทนนั้น แม้ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ก็ตาม แต่เมื่อนำไปปิดลงในหนังสือเดินทางดังกล่าว ย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงของหนังสือเดินทางเปลี่ยนแปลงไปว่าจำเลย คือ นายสิทธิชัย หอมพวงษ์ และเป็นหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้แก่จำเลยโดยตรง ภาพถ่ายของจำเลยที่ไม่เป็นเอกสารจึงเกิดเป็นเอกสาร หนังสือเดินทางของนายสิทธิชัย หอมพวงษ์ กลายเป็นหนังสือเดินทางของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการ เมื่อจำเลยนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเดินทางออกไปและเข้ามาในราชการอาณาจักร ย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9772/2544   จำเลยปลอมใบรับคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ ต่อมาจำเลยใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าวและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบข้อมูลผู้ขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศอันเป็นเอกสารราชการ และในวันเดียวกันหลังจากจำเลยใช้เอกสารราชการปลอมและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ดังกล่าวแล้ว จำเลยปลอมหนังสือข้อมูลผู้ขอหนังสือเดินทางอันเป็นเอกสารราชการ การปลอมเอกสารราชการ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน และเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัว โดยแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ เพียงแต่เมื่อจำเลยนำเอกสารราชการปลอมฉบับแรกไปใช้และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่  จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำเลยมีเจตนาเดียวคือให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อในความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท อันเป็นความผิดกรรมหนึ่งแล้ว และจำเลยยังต้องมีความผิดฐานปลอมหนังสือข้อมูลผู้ขอหนังสือเดินทางอันเป็นเอกสารราชการอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2534   บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานสำนักงานทะเบียนบัตรประชาชนกระทรวงมหาดไทยได้ทำขึ้น บัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเอกสารราชการตามบทนิยามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กับพวกร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นสำหรับเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย มาทำปลอมให้หลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของ ป. ที่แท้จริงแล้วสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่ปลอมแล้วเอาไปใช้อ้างต่อโจทก์ร่วม จึงถือได้ว่าสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนปลอมนั้นเป็นเอกสารราชการปลอมนั่นเอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4492/2536  แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เป็นเอกสารราชการ มิใช่เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2536  จำเลยรู้อยู่แล้วว่าหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่มีหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยไปแจ้งเจ้าพนักงานว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานใช้หมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม กับมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า "เอกสาร"ไว้ว่าหมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแบบแผนอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจากบทนิยามดังกล่าวหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จึงเป็นเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2539  จำเลยทั้งสามร่วมรู้เห็นร่วมมือกันในการดำเนินการจัดทำบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้น้ำหนักที่เกินอยู่จำนวนมากเป็นเกินอยู่เพียงจำนวนน้อยเพื่อช่วยเหลือ ข.ซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วนำไปมอบให้ร้อยตำรวจโท ป.พนักงานสอบสวนใช้แทนบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับเดิมโดยไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักใหม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันปลอมบันทึกการจับกุมอันเป็นเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้นำบันทึกการจับกุมฉบับดังกล่าวไปมอบแก่ร้อยตำรวจโท ป.เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงน้ำหนักที่ลงไว้เดิมในบันทึกประจำวันในครั้งแรก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้นด้วย
          ถ้าไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นก็ไม่ใช่เอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2507  จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอ มิได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากนายอำเภอผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายพระเครืองในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ให้จำเลยมีหน้าที่จำหน่ายหรือรักษาเงินจำหน่ายพระเครื่อง หากจำเลยยักยอกเงินที่จำเลยจำหน่ายพระเครื่องได้ไป การกระทำของจำเลยก็มิใช่เจ้าพนักงานกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยคงมีความผิดฐานยักยอกธรรมดาตามมาตรา 352
          การที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อไป แล้วแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินให้น้อยลง การกระทำของจำเลยก็เป็นการแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ซื้อ จำเลยจึงมีผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 ที่จะเป็นเอกสารราชการนั้น จะต้องเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฎว่า เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกที่จำเลยเขียนขึ้นไว้ทั้งฉบับและจำเลยทำขึ้นไว้เป็นส่วนตัว จำเลยมิได้มีหน้าที่ราชการในการนั้นดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ฉะนั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2545   ใบรับรองการตรวจสภาพรถเป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบกมอบให้บริษัท ต. จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ออกและรับรองการตรวจสภาพรถเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์ได้ผ่านการตรวจสภาพแล้ว พนักงานของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองการตรวจสภาพรถไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้น ใบรับรองการตรวจสภาพรถที่ออกโดยพนักงานของบริษัทดังกล่าว จึงไม่อาจถือว่าเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) การที่จำเลยปลอมใบรับรองการตรวจสภาพรถ จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 แต่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. 264
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2478   ทำใบมอบฉันทะปลอมลายมือเจ้าของที่ดิน แล้วไปยื่นต่อเจ้าพนักงานขอให้ทำการโอนขายได้ดังนี้ ใบมอบฉันทะให้ซื้อขายที่ดินเป็นหนังสือสำคัญ ไม่ใช่หนังสือราชการ
          ลงลายมือชื่อตนเองในตำแหน่งนายก อบต. ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ เป็นปลอมเอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13740/2553   เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นและนำไปใช้เป็นหนังสือรับรองผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบล ห. ซึ่งตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควมคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย ดังนี้ ผู้ที่จะลงลายมือชื่อรับรองผลงานตามหนังสือดังกล่าวจึงเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หนังสือรับรองผลงานจึงเป็นเอกสารที่ออกโดยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แม้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวมิใช่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. ก็ไม่ทำให้เป็นเพียงเอกสารดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการและใช้หนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือรับรองผลงานไม่ใช่เอกสารราชการ โดยนาย ส. ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่และไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ซึ่งหนังสือรับรองผลงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 นั้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยที่ 2 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นเป็นหนังสือรับรองผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย ดังนี้ ผู้ที่จะลงลายมือชื่อรับรองผลงานตามหนังสือดังกล่าวจึงเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หนังสือรับรองผลงานจึงเป็นเอกสารที่ออกโดยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) ระบุว่า “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย ดังนั้น หนังสือรับรองผลงานจึงเป็นเอกสารราชการ แม้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองผลงานปลอมมิใช่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ ก็ไม่ทำให้หนังสือรับรองผลงานซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วเป็นเพียงเอกสารดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเอกสารราชการดังกล่าวขึ้นทั้งฉบับและถ่ายสำเนาหนังสือรับรองผลงานซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมแล้วนำไปใช้อ้างแสดงต่อสำนักงานเทศบาลตำบลเชียงกลาง เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้หนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

          เอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานรับรองในหน้าที่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2530   หนังสือรับรองราคาที่ดิน ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้เป็นเอกสาร ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการ 
          จำเลยที่ 2 เป็นตัวการจัดให้มีการทำปลอมหนังสือรับรองราคาที่ดิน แล้วมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันใน การยื่นคำร้อง ขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาต่อศาล จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265

          เอกสารราชการซึ่งเป็นสำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานรับรอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2522  จำเลยถ่ายภาพจากเอกสารที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ ภาพถ่ายเอกสารที่จำเลยถ่ายมานั้น เจ้าพนักงานไม่ได้รับรองด้วยจึงไม่ใช่เอกสารราชการ แต่เป็นเพียงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) การที่จำเลยกรอกข้อความรายการต้องหาคดีต่างๆ เพิ่มเติมลงไปในภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าพนักงานผู้รับรองความถูกต้องของเอกสารนั้น แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปแจกจ่ายแก่บุคคลอื่น แม้ข้อความที่กรอกเพิ่มเติมในเอกสารจะเป็นความจริง ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และ 268 แต่ไม่เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมตาม มาตรา 265, 268
          ถึงแม้เป็นการทำปลอมในสำเนาเอกสารราชการก็มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2549  จำเลยถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขในช่องชื่อ ชื่อสกุล วันออกบัตร วันหมดอายุ และนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารอีก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยจะมิได้แก้ไขในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3)

          หนังสือบริคณห์สนธิเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยจัดทำขึ้น เพื่อจะนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ยังไม่มีเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3298/2552  หนังสือบริคณห์สนธิเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยจัดทำขึ้น เพื่อจะนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ยังไม่มีเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และไม่ใช่สำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (8)
          จำเลยรู้อยู่แล้วว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในหนังสือบริคณห์สนธิเป็นลายมือชื่อปลอม แต่จำเลยก็ยังส่งมอบหนังสือดังกล่าวให้แก่ จ. เพื่อนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จ. นายทะเบียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

          การปลอมเอกสารซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 266 


          มาตรา 266   "ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
          (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
          (2) พินัยกรรม
          (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
          (4) ตั๋วเงิน หรือ
          (5) บัตรเงินฝาก
          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท"

          มาตรา 266 ก็เช่นเดียวกันกับมาตรา 265 คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นความผิดตามมาตรา 264 เสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาว่าความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่อยู่ในมาตรา 266 หรือไม่

          (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

          โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2540  การที่จำเลยปลอมโฉนดซึ่งเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกขั้นสูงถึงสิบปี พฤติการณ์ที่จำเลยปลอมโฉนดและนำโฉนดที่จำเลยปลอมไปหลอกลวงกู้เงินโจทก์ร่วมถึง 600,000 บาทนั้น มีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงต่อโจทก์ร่วมและสุจริตชนโดยทั่วไป ซึ่งมิใช่วิสัยของคนที่เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมาเป็นเวลาถึง 5 ปีเช่นจำเลยจักพึงกระทำ แม้จำเลยจะใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจจนโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไปแล้ว ก็มีผลเพียงแต่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาฉ้อโกงระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) เท่านั้น แต่ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมซึ่งจำเลยกระทำนั้นหาได้ระงับไปด้วยไม่ พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย
          หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2542  การที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินทั้งเข้าร่วม ลงชื่อเป็นพยานยิ่งกว่าผู้เป็นนายหน้าหาเงินกู้ทั่วไปจะ พึงกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่า น.ส.3 ก. ที่ อ. นำมาให้ผู้เสียหายยึดถือไว้เป็นเอกสารปลอม และนอกจากการกู้ยืมเงิน รายนี้แล้วบุคคลที่จำเลยพามากู้ยืมเงินจากผู้เสียหายล้วนแต่ ใช้ น.ส.3 ก. ปลอมวางเป็นหลักประกันทั้งสิ้น ทั้งเมื่อ ผู้เสียหายมอบเงินให้แล้ว จำเลย น. และ อ. ช่วยกันนับเงินและแบ่งใส่กระเป๋าแต่ละคนแล้วพูดกันว่ายืมเงินกันใช้ก่อน ครั้นเมื่อ อ. ไม่ชำระเงินคืน ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ช่วยติดต่อจำเลยบอกว่าอย่าเพิ่งแจ้งความจะนำเงินมาชำระให้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมกับพวกแบ่งหน้าที่กัน ทำโดยนำ น.ส.3 ก. ปลอมไปวางเป็นหลักประกันเงินกู้และแจ้ง ข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายไปพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และใช้เอกสารสิทธิอันเป็น เอกสารราชการปลอม
          สำเนาใบรับเงินค่าปรับในการเปรียบเทียบปรับคดีอาญา เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ แสดงว่าได้เสียค่าปรับแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2521   ตำรวจได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เสมียนเปรียบเทียบ และได้ทำงานในหน้าที่นั้น แม้ไม่ได้เซ็นทราบคำสั่งถือว่าได้ทราบการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่แล้วการแก้หรือลงจำนวนเงินในสำเนาใบเสร็จให้น้อยลงกว่าต้นฉบับ แล้วส่งเงินต่ำกว่าจำนวนที่ได้รับจริง เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกตาม มาตรา 147 ฐานปลอมเอกสารในหน้าที่ของตนตาม มาตรา 161, 266 ต่างกระทงแต่ละรายที่ได้กระทำ ไม่ใช่ มาตรา 162 ซึ่งเป็นการทำเอกสารเท็จ การกระทำก่อนใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ลงโทษตามกระทงที่หนักที่กระทำหลังจากนั้นต้องลงโทษทุกกรรมในกระทงความผิด ตามมาตรา 161, 266 ลงโทษตาม มาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก

          (2)  พินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2525   แม้ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมมีลักษณะลายเส้นนูนเลอะเลือน จนผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์ลงความเห็นไม่ได้ และมีพยานลงชื่อรับรองสองคนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 เอกสารดังกล่าวก็มีสภาพเป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นเมื่อจำเลยกับพวกนำพินัยกรรมปลอมดังกล่าวส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลสำเร็จแล้ว จำเลยต้องมีความผิดฐานใช้พินัยกรรมปลอมอีกกระทงหนึ่งมิใช่การพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81
          การที่จำเลยกับพวกส่งอ้างพินัยกรรมปลอมเป็นพยานต่อศาลแม้จำเลยจะได้กระทำในฐานะทนายความในคดีแพ่ง จำเลยก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันใช้พินัยกรรมปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

          (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2917/2538  การที่จำเลยทำปลอมแบบพิมพ์ใบหุ้น  แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะนำใบหุ้นนั้นไปดำเนินการกรอกข้อความรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญลงในใบหุ้นเพื่อใช้อย่างใบหุ้นที่แท้จริง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดต่างๆ ลงในใบหุ้น แล้วนำไปฝากขาย ตามพฤติการณ์แสดงว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นในการกรอกข้อความรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญลงในใบหุ้นด้วย จึงเป็นตัวการด้วยกัน เมื่อการกระทำของจำเลยทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานปลอมใบหุ้น

          (4) ตั๋วเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2507   เมื่อการที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วนเพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้ และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริง จึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริง และแก่ธนาคารออมสิน การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 266 (4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ เงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 342 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งมาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยผิดมาตรา 264 อีกกระทงหนึ่งนั้น แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2544   การที่จำเลยที่ 1 แก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 เป็นวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 แล้วนำเช็คพิพาทที่แก้ไขวันที่สั่งจ่ายดังกล่าวไปอ้างเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้จากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแก้ไขข้อความในตั๋วเงินที่แท้จริงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้นำเช็คพิพาทไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเช็คตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) และโจทก์เป็นผู้เสียหายแล้ว
          

          ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม 


          มาตรา 268 " ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
          ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว"

          (1) การใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 หมายถึงการใช้อย่างเอกสารเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด แต่ถ้าเป็นการใช้อย่างอื่น เช่น เอาเอกสารนั้นไปใช้ห่อของ ห่อผัก ห่อผลไม้ ไม่ได้ใช้อย่างเอกสารเหล่านี้ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2510   นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้นก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2542   จำเลยที่ 1 นำใบบันทึกรายการขายปลอมไปใช้เบิกเงินจากธนาคารผู้เสียหายจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341
          การที่จำเลยที่ 1 นำใบบันทึกรายการขายปลอมไปใช้เบิกเงินจากธนาคารจนได้รับเงินจากธนาคารแล้ว ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ถือบัตรเครดิตที่ถูกปลอมลายมือชื่อเป็นผู้เสียหาย ปัญหานี้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
          จำเลยที่ 1 ได้ร่วมมือกับบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตปลอมมาใช้กับเครื่องรูดใบบันทึกรายการขายของจำเลยที่ 1 โดยกระทำหลายครั้งในชื่อของผู้ถือบัตรเครดิตถึง 8 คน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 อันนับเป็นคุณมากแล้วกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้

          (2) การอ้างเอกสารปลอม
          การอ้างเอกสารต่างจากการใช้ คือ การอ้างไม่ต้องนำเอกสารนั้นออกแสดง อาจทำโดยอ้างเอกสารเพื่อให้ผู้อื่นนั้นเรียกหรือตรวจดูเอกสารนั้นเองก็ได้ เช่น ขอให้ศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเอกสารปลอมมาจากที่หนึ่งที่ใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2506   จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินที่เจ้าหนี้เซ็นชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยแก้ 10,000 บาท เป็น 70,000 บาท ต่อมาจำเลยคัดสำเนาใบรับเงินที่ปลอมนั้นมาแสดงต่อศาลทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพราะถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้จะต้องขาดเงินที่ควรได้รับชำระหนี้ไป 60,000 บาทการปลอมของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 264 แล้ว และเอกสารนี้เป็นใบรับเงินชำระหนี้แสดงว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในจำนวนเงินนี้ระงับไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และการที่จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่ปลอมแสดงต่อศาลเป็นการอ้างถึงเอกสารที่ปลอม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 ด้วยต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 ตามอัตราโทษในมาตรา 265

          (3) ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิด ตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5246/2548  การกระทำอันเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 โจทก์บรรยายฟ้องความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้ออันเป็นเอกสารปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษีซึ่งหมายความว่าใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมนั้นเป็นใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออก อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) เท่านั้น คำฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือมีการกระทำอื่นใดต่อเอกสารให้ผิดไปจากเดิมอันเป็นองค์ประกอบของความผิดเกี่ยวกับเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 แต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก, 83 และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามบทบัญญัติดังกล่าว

          (4) การใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่างต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ต้องอาศัยเจตนาหรือเจตนาพิเศษ)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2503 (ประชุมใหญ่)   จำเลยนำประกาศนียบัตรปลอมของกลางออกแสดงต่อสายของตำรวจดูเป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้ติดต่อขอซื้อเชื่อถือจะได้ตกลงซื้อ เช่นนี้ ถือได้แล้วว่า เป็นการนำเอกสารปลอมมาใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นและประชาชนแล้ว จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2510  นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว  แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้นก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว  จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

          (5) องค์ประกอบประการสุดท้ายคือเจตนา โดยต้องรู้ว่าเป็นเอกสารปลอมตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือเอกสารเท็จตามมาตรา 267 ด้วย จึงจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2541   ผู้กระทำจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมต่อเมื่อได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเอกสารนั้นปลอม เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้รู้ว่าเอกสารดังกล่าวปลอม การที่จำเลยใช้เอกสารนั้นย่อมขาดเจตนาในการกระทำผิด จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2542   มีคนร้ายลักเอารถยนต์คันของกลางของผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ดังกล่าวได้จากจำเลย รถที่ยึดได้มีการติดแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี และแผ่นป้ายทะเบียนรถซึ่งเป็นของปลอม รถยนต์ที่จำเลยขับได้ติดเอกสารปลอมทั้งหมดไว้ที่รถในลักษณะเปิดเผย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือผู้อื่นที่พบเห็นเข้าใจว่าเอกสารปลอมเหล่านั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง และเข้าใจว่ารถยนต์ที่จำเลยขับเป็นรถยนต์ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลักมาและจำเลยจะนำรถยนต์ของกลางไปขาย ถือได้ว่าเป็นการใช้เอกสารปลอมโดยเจตนา จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม

          (6)  ตามมาตรา 268 วรรคสอง ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2529  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสองที่บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียวนั้น หมายความว่าความผิดฐานปลอมเอกสารแต่ละกระทงนั้นถ้าผู้ใช้เอกสารปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ก็ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้เพียงกระทงเดียวเฉพาะแต่ละกระทงที่ปลอม 
          การที่จำเลยปลอมสำเนาป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 กระทงหนึ่ง และจำเลยปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถแสดงการจดทะเบียนใช้รถมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 อีกกระทงหนึ่งนั้น แม้จำเลยจะได้ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นการใช้เอกสารคนละประเภทกัน จำเลยต้องมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารดังกล่าว 2 กระทง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2541    จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของบริษัทประกันภัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม2539 แล้วจำเลยได้ใช้เอกสารปลอมนั้นติดที่บริเวณกระจกหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 พ - 6729 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตาม ป.อ.มาตรา 264วรรคแรก และฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา264 วรรคแรก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดรวม 2 กระทง แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเองกับเป็นผู้ใช้เองจึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคสอง 
          แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 จำเลยได้กระทำการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี พ.ศ.2539 ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเอกสารราชการ แล้วจำเลยได้ใช้เอกสารปลอมนั้นติดที่บริเวณกระจกหน้ารถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 อีกกรรมหนึ่ง จำเลยจึงกระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามป.อ.มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอง จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียว ตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคสอง เช่นกัน 
          แม้จะใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประกอบในคราวเดียวกันแต่ก็เป็นเอกสารคนละประเภทและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน กล่าวคือ การใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่า มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จริง ส่วนการใช้แผ่นป้ายวงกลมปลอมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าได้มีการเสียภาษีรถยนต์ถูกต้องตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแยกกันต่างหากจำนวน 2 กระทง ตาม ป.อ.มาตรา 91
          ***ตัวอย่างการกระทำที่เป็นการปลอมเอกสาร

          ปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12137/2558    ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก
          ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิมซึ่งมีกรรมการลงชื่ออนุมัติไว้แล้ว เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15733/2557   โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก
          แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร
          จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตามฟ้อง 674,903 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกเป็นเงิน 600,366 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 674,954 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 600,417 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          จำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเองในช่องผู้ถือบัตรในใบบันทึกรายการขาย เพื่อให้ ท. กับพวกและผู้อื่นหลงเชื่อว่าใบบันทึกการขายเป็นเอกสารสิทธิที่ถูกต้องแท้จริง ผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8035/2555   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเองในช่องผู้ถือบัตรในใบบันทึกรายการขาย เพื่อให้ ท. กับพวกและผู้อื่นหลงเชื่อว่าใบบันทึกการขายเป็นเอกสารสิทธิที่ถูกต้องแท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ไม่สืบพยานจึงต้องฟังตามฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเอง มิได้ลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเครดิตก็ตาม แต่การลงลายมือชื่อของจำเลยดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่าบันทึกการขายนั้น ทำโดยเจ้าของบัตรเครดิต ถือว่าจำเลยลงลายมือชื่อจำเลยโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเจ้าของบัตรเครดิตเป็นผู้ลงลายมือชื่อที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิใบบันทึกการขายแล้ว
          แม้ให้ความยินยอมลงลายมือชื่อแทน ก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมเป็นลายมือชื่อจริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4135/2552   แม้ อ. และ ธ. จะปลอมลายมือชื่อ ท. น. และ บ. ตามคำสั่งของจำเลยอันมีลักษณะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบจะไม่มีน้ำหนักพอฟังลงโทษจำเลยได้เท่านั้น ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. ได้
           เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ท. น. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แต่ อ. และ ธ. เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน แม้ ท. น. และ บ. จะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมกลายเป็นลายมือชื่อจริง ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม
          เมื่อผู้มอบอำนาจตาย การมอบอำนาจย่อมสิ้นผล หากไปกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่เว้นไว้ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผู้มอบอำนาจตาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6898/2539  จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายทราบแล้วว่า ย.ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ 2 ยังนำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังมิได้กรอกข้อความคงมีแต่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ย.ในช่องผู้มอบอำนาจเรียบร้อยแล้วมาบอกให้ ส. กรอกข้อความ ส.กรอกข้อความว่า ย.มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแทน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยพลการ เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้เสียหาย แม้เป็นการกระทำที่ตรงกับความประสงค์ของย.ก็ตาม แต่การมอบอำนาจยังไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตาย การมอบอำนาจก็สิ้นผล แต่จำเลยที่ 2 กลับทำให้การมอบอำนาจซึ่งยังมิได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ดูเสมือนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ด้วยการกรอกข้อความ การกระทำดังกล่าวแม้ผู้เสียหายจะไม่เสียหายแต่ก็อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง

          ***ตัวอย่างการกระทำที่ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

          จัดทำเอกสารในหน้าที่รับผิดชอบด้วยตนเองมีข้อความไม่ตรงกับความจริง เป็นเอกสารเท็จ ไม่ใช่เรื่องปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15248 - 15249/2557   จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547  พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
          จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่างๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
          เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
          แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
          กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้ไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นการปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  864/2557  โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม
          แม้จะปลอม ถ้าไม่มีใครเสียหาย ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11320/2556   การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1
          การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
          ทำบันทึกรายงานการประชุมเท็จ แต่ทำในนามของตนเองตามหน้าที่ รายงานการประชุมนั้นเป็นเอกสารจริง ไม่ใช่เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6509/2549   บริษัทโจทก์ที่ 5 เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 5 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ต้องถูกปรับออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พาดพิงไปถึงโจทก์ที่ 5 อันจะถือว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์ที่ 5 มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 5 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 5
          จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264, 368
          นำชิ้นส่วนของโครงคัสซีที่ระบุตัวอักษรตัวเลขอื่นมาเชื่อมติดแทนของเดิมที่ตัดออกไป ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3997/2548   การที่จำเลยที่ 1 ตัดโครงคัสซีของรถยนต์ของกลางบริเวณตัวอักษรตัวเลขออกแล้วนำชิ้นส่วนของโครงคัสซีที่ระบุตัวอักษรตัวเลขอื่นมาเชื่อมติดใหม่ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขุดลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษรตัวเลขคัสซีแต่อย่างใดการกระทำของจำเลขที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตัวอักษรตัวเลขคัสซี
          การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นทำลายตัวอักษรตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนเครื่องยนต์ของรถยนต์ของกลางแล้วตอกตัวอักษรตัวเลขให้ตรงกับตัวอักษรตัวเลขของเครื่องยนต์ที่จำเลขที่ 1 ซื้อจากบุคคลอื่น แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวโดยไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตัวอักษรตัวเลขของเครื่องรถยนต์ของกลาง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 เท่านั้น
          ทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคาร โดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4582/2543  แม้จำเลยที่ 1 จะทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมขึ้นมาโดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงที่ปกปิดไว้แล้วย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ การปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้เช่นนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
          เมื่อสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมดังกล่าวไม่เป็นเอกสารปลอมแล้ว การที่จำเลยเบิกความในคดีอาญาอ้างถึงสัญญาดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการเบิกความเท็จได้ เพราะได้มีการทำสัญญาดังกล่าวกันจริง ทั้งจำเลยก็เบิกความไปตามที่ระบุไว้ในสัญญานั้น อีกทั้งศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ถูกปกปิดมิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จึงมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
          การกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยเชื่อด้วยความสุจริตและได้กรอกลงไปตรงตามความเป็นจริงทั้งได้รับความยินยอมจากเจ้าของลายมือชื่อแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1300/2539   นายดาบตำรวจ ป. กับ นาง ท.ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้โดยรู้ว่านาง ท. ค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย แม้จะฟังว่านาย ก. หรือจำเลยกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อของนายดาบตำรวจ ป. กับนาง ท.แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปฟ้องเรียกเงินกู้ อีกทั้งยังได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายมอบให้แก่นาย ก. ไป ก็เป็นการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยเชื่อด้วยความสุจริตและได้กรอกลงไปตรงตามความเป็นจริงทั้งได้รับความยินยอมจากเจ้าของลายมือชื่อแล้ว สัญญากู้ดังกล่าวย่อมไม่เป็นเอกสารปลอมการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

          แม้การกระทำเป็นความผิด แต่ถ้าการกระทำนั้นนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ลงโทษไม่ได้
          จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ มิได้ร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจดังฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 ไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10786/2557   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วนำไปใช้หรืออ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 83, 264 วรรคแรก, 268 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ มิได้ร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจดังฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 ไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วนำไปใช้หรืออ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264 วรรคแรก, 268 โดยมิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ แล้วนำไปใช้หรืออ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดินอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสองและมาตรา 83 ดังนี้แม้ความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร และความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรกกับวรรคสองเป็นการปลอมเอกสารเหมือนกันดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมเป็นความผิดที่สืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ มิได้ร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจดังฟ้อง เช่นนี้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 ไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น