27 ก.พ. 2567

การได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง


          สิทธิครอบครอง ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1367 ว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”

          สิทธิครอบครองเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินและเป็นสิทธิที่ยิ่งใหญ่รองจากกรรมสิทธิ์ เจ้าของสิทธิครอบครองมีอำนาจใช้สอยทรัพย์ ให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ได้ดอกผล และโอนสิทธิครอบครองได้ คล้ายคลึงกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ทั่วไป เว้นแต่ผู้อื่นนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559  ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
          ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2553  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้วและขณะมีการทำสัญญาซื้อขายนั้นที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิครอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย บิดาจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2552  จำเลยแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตีใช้หนี้และส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 525 ประกอบด้วยมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครองจึงถือได้ว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่ได้มาตามสัญญายกให้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์

          การได้สิทธิครอบครองนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ มีการยีดถือทรัพย์สิน และเจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อตน

          การยึดถือทรัพย์สิน มีความหมายเพียงว่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินได้เท่านั้น และการยึดถือนี้ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือหรือครอบครองนั้นไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทนก็เป็นการยึดถือได้ ตามมาตรา 1368 บัญญัติว่า “บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556  การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1

          เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน คือ มีเจตนาที่จะยึดถือทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเจตนาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10408/2555  แม้โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งให้ ฐ. ไปทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทกับบริษัท ท. มีผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบริษัท ท. สละเจตนาครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ เมื่อโจทก์เข้ายึดถือเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดและฟ้องเรียกเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12473/2553 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. โดยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ป. โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่ จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า ป. และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 (ประเด็นนี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
          สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2553  จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยหาได้ยึดถือที่ดินที่เช่าโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ จำเลยไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดิน จำเลยอาจจะยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาก่อนก็ตาม โดยผลของสัญญาเช่าที่ดินต้องถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2550  การฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 ไม่มีอายุความ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่เป็นอายุความ
          โจทก์ ฮ. และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงรังวัดที่ดินมือเปล่ายังไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไว้ โจทก์ได้ที่ดินเป็นที่พิพาท โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นสัดส่วนตลอดมา การแบ่งแยกเจ้าของรวมจึงไม่อาจจดทะเบียนแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ ถือว่าโจทก์ยึดถือที่ดินส่วนที่เข้าครอบครองเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ต่อมาทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโฉนดที่ดินมีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ฮ. ถือกรรมสิทธิ์รวม โดยไม่ได้ระบุว่ามีส่วนคนละเท่าใดและตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากันก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วนที่ครอบครอง จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเจ้าของรวมยังคงมีส่วนเท่ากันหาได้ไม่

          ข้อสันนิษฐานว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1373 "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง"  คือ มีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น บุคคลอื่นที่ไม่มีชื่อในทะเบียนแต่อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่แท้จริงแล้ว ผู้นั้นก็จะต้องมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าว หาไม่แล้วก็จะเป็นฝ่ายแพ้คดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2553  ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองนั้น มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14737/2551  โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนเท่านั้น หาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามความเป็นจริงไม่ แม้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จะมีชื่อ อ. เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง แต่การที่ อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ล. และได้มอบการครอบครองให้แก่ ล. ถือเป็นการสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ล. ตั้งแต่ปี 2530 แล้ว อ. จึงหมดสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 และเมื่อ ล. ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เข้าไปไถและถมดินในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2536 จึงเป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาที่จะยึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ดังนั้น เมื่อ อ. หมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แม้การขายฝากระหว่างโจทก์ กับ อ. จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8551/2550  โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยบางส่วนออกทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ ก็มีผลให้จำเลยยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานที่มีชื่อในทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์มาด้วยนั้น พอแปลได้ว่าเป็นคำขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนที่ดินที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนชื่อของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้



          ถ้าผู้ครอบครองเจตนาสละการครอบครองหรือโอนโดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การครอบครองก็สิ้นสุดลง ผู้รับโอนย่อมได้ไปซึ่งการครอบครอง ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 1377 และ 1378
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.13 ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้วโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนข้อสัญญาข้อ 2 ที่ว่า ถ้าไม่ไถ่ถอนในกำหนดให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาแท้จริงเพียงการขายฝากดังวินิจฉัยข้างต้นและพันตำรวจตรี พ.พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยมาที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคลองด่านเพื่อตกลงกัน พยานได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งสรุปได้ว่าจำเลยอ้างว่าหลังจากมีการติดต่อไถ่คืนโจทก์ร่วมที่ 2 ผัดผ่อนอ้างว่าได้นำ ส.ค.1 ไปฝากไว้กับญาติ ไม่อาจให้ไถ่ได้ ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่าหลังจากวันสิ้นสุดสัญญา จำเลยได้มาติดต่อขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ได้เลื่อนนัดไปอีก 3 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยได้มาขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ให้ไถ่ถอนในราคา 6 ล้านบาท จำเลยแจ้งว่าไม่มีปัญญาไถ่ พยานปากนี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐทำการตามหน้าที่ราชการไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด นับเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยหาได้ยึดถือข้อความในสัญญาข้อ 2 กันจริงจังแต่ประการใดไม่ประกอบกับสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.13 เป็นแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูปซึ่งนาย จ. ผู้เขียนสัญญาเบิกความว่าโจทก์ร่วมที่ 2 บอกว่าไม่ได้นำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแต่มีหนังสือสัญญาขายฝากมาด้วย จึงให้ทำเป็นสัญญาขายฝากซึ่งจำเลยอาจไม่ได้อ่านข้อความโดยละเอียดก็เป็นได้ แม้หลังจากครบกำหนดไถ่จำเลยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและยังไม่ได้ไถ่ที่ดินพิพาทคืนมาก็ตาม สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของจำเลยอยู่ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมทั้งสองดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองให้จำเลยทราบแต่ประการใด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอนไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2551  โจทก์เข้าไปทำสวนลำไยในที่ดินพิพาท โดยอาศัยสิทธิของ น. โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก น. และจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้ง น. ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองแล้วโดยจ้างให้คนดายหญ้าปีละ 2 ครั้ง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท

          สำหรับการโอนการครอบครองก็โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง หรือถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนผู้รับโอนยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้แล้ว ผู้โอนก็เพียงแสดงเจตนา หรือกรณีผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ผู้โอนก็เพียงแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 1378 ถึง 1380 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8486/2553  ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัท ซ. ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ เป็นที่ดินของรัฐที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายมาก่อนตาม พ.ร.บ.แร่ฯ มาตรา 73 (3) ที่กำหนดมิให้ถือว่าการใช้ที่ดินของผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง คงมีผลให้บริษัท ซ. ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยันต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สำหรับราษฎรด้วยกัน บริษัท ซ. ย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้จนกว่าจะสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การครอบครองที่ดินพิพาทจึงสิ้นสุดลง ในระหว่างที่บริษัท ซ. ยังคงยึดถือครอบครองอยู่ จึงอาจโอนไปซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมมีผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้รับโอน การที่บริษัท ซ. ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หลังจากประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลง ย่อมถือได้ว่า บริษัท ซ. ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยสละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์และยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าต่อไป โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการให้บริษัท ซ. ยึดถือครอบครองไว้แทน ต่อมาเมื่อบริษัท ฟ. ซื้อโรงงานแต่งแร่และเข้าครอบครองที่ดินพิพาท บริษัทดังกล่าวก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อไป จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อมาจากบริษัท ฟ. จำเลยย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ก่อน
          หลังจากจำเลยซื้อโรงงานแต่งแร่จากบริษัท ฟ. แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัท ฟ. ทำไว้กับโจทก์หลังจากนั้นบริษัท ฟ. ยังคงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมา การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบริษัท ฟ. ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก็แต่โดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2535  จ. ทายาทคนหนึ่งทำหนังสือยกทรัพย์สินส่วนของตนซึ่งมีสิทธิจะได้จากการแบ่งปันในกองมรดกให้แก่ ส.และ ส. ยอมรับเอาทรัพย์นั้นแล้ว หนังสือนี้เป็นสัญญาให้โดยเสน่หา หาใช่เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก ลงชื่อยินยอมและรับรู้การยกทรัพย์สินส่วนของ จ. ให้ ส. ในหนังสือยกให้นั้นถือว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้แก่ ส. โดยปริยายแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1379 สำหรับทรัพย์มรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคนนั้น การโอนจึงทำได้โดย จ.ผู้โอนสั่งจำเลยที่ 2 ผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทน ส.ผู้รับโอนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 2 รับรู้การยกให้ดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าต่อไปจำเลยที่ 2 จะถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แทน ส. โดยไม่ต้องจดทะเบียนการยกให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก สัญญาให้จึงสมบูรณ์ โจทก์โต้แย้งเพียงว่าหนังสือยกให้นั้นมิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง แต่รับการให้โดยเสน่หา เท่ากับโจทก์รับว่าหนังสือยกให้ทำเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 จริง เพียงแต่โต้แย้งว่ามิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังที่จำเลยกล่าวอ้างเท่านั้นโจทก์จะฎีกาว่าหนังสือยกให้นี้ทำเมื่อปี 2521 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วหาได้ไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในปัญหานี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3128/2526  โจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อที่ดินมือเปล่าจากจำเลยแล้วเข้าทำฮวงซุ้ยที่ดินส่วนที่เหลือโจทก์ยอมให้จำเลยทำนาได้ (ตามหนังสือสัญญาจำเลยยอมโอนสิทธิในที่ดินแก่โจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยทำประโยชน์ในที่นาพิพาท) จำเลยจะอ้างว่าการซื้อขายเป็นโมฆะหรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่นาพิพาทไม่ได้ เพราะการโอนสิทธิครอบครองก็ดี การสละสิทธิครอบครองก็ดี หาได้มีกฎหมายกำหนดแบบไว้ไม่  เมื่อจำเลยแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองแก่โจทก์และรับที่จะครอบครองแทนโจทก์ต่อไป ต่อแต่นั้นมาการครอบครองที่นาพิพาทของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2519 (ประชุมใหญ่)  จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทรวมทั้งสิทธิการเช่าที่ดินที่ตึกพิพาทตั้งอยู่ตีใช้หนี้โจทก์ โดยยอมให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าของที่ดิน และจำเลยขออยู่ในตึกพิพาทต่อไปอีกสองเดือน แม้การโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทจะไม่บริบูรณ์เพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็มิได้เป็นโมฆะ การที่จำเลยโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาโอนการครอบครองตึกพิพาทให้โจทก์แล้ว ที่จำเลยอยู่ในตึกพิพาทต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์มีบุคคลสิทธิที่จะบังคับจำเลยให้ออกไปจากตึกพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2519)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2514  จำเลยทำสัญญาขายที่นาให้โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อที่นานั้นเป็นที่ดินมือเปล่ามีแต่เพียงสิทธิครอบครองและจำเลยซึ่งเคยครอบครองอยู่ได้ขอเช่าที่นานั้นจากโจทก์หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว กรณีจึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1380 วรรคหนึ่ง ว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผล ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอน ถือได้ว่าได้มีการโอนการครอบครองให้โจทก์แล้วโดยถูกต้อง



          การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381
          มาตรา 1381  "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558  จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของนาย ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองจากทายาทอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ไม่อาจนำไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ เพราะนาย ต. ยกให้นาย อ. บิดาจำเลยตั้งแต่นาย ต. มีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย อ. และตกทอดมายังจำเลย โดยนาย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ภายหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ทายาทและนาย อ. ไปตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนาย ต. นาย อ. ได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันแก่ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. การโต้แย้งตามหนังสือของนาย อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
          เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382