2 มี.ค. 2567

ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


          มาตรา 157  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

          มารา 157 เป็นเสมือนบททั่วไป หากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติและประพฤติมิชอบแล้วไม่ผิดบทเฉพาะก็จะมาผิดมาตรานี้ ซึ่งความผิดตามมาตรา 157 เราอาจแบ่งการกระทำเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนที่สองเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าทีโดยทุจริต

          องค์ประกอบความผิดส่วนแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

          1. เป็นเจ้าพนักงาน มาตรา 157 ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานทุกประเภท แต่ถ้าเป็นพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ก็จะไปเข้าบทเฉพาะตามมาตรา 200
          เจ้าพนักงาน หมายถึง เจ้าพนักงานทุกประเภท เช่น เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ป่าไม้อำเภอ พนักงานอัยการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557  การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
          ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2557   เจ้าพนักงานซึ่งจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น หมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยอาจระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าให้ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หรือระบุองค์การและให้ผู้ที่สังกัดอยู่เป็นเจ้าพนักงาน หรืออาจเป็นการแต่งตั้งโดยกฎหมายทั่วไปซึ่งระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว สำหรับส่วนราชการ แม้จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ส่วนราชการเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การแบ่งส่วนราชการหรือกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการนั้น มิใช่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย จำเลยที่ 1 (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) จึงหาใช่เจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่

          2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจแยกองค์ประกอบออกเป็น
          (1) "ปฏิบัติ" ได้แก่
          ตำรวจจับโดยไม่ชอบ เช่น จับโดยไม่มีหมาย ทั้งไม่เป็นความผิดซึ่งหน้าและไม่ใช่เหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2516  โจทก์ได้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ความผิดที่โจทก์กระทำเป็นแต่เพียงความผิดฐานลหุโทษ ฐานฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เก็บค่าดูจากประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทุกคนรู้จักหลักแหล่งของโจทก์แล้ว จึงไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(2) การที่จำเลยทั้งหมดผู้เป็นเจ้าพนักงานไปทำการจับกุมโจทก์ในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิป้องกันการจับกุมได้ และการที่จำเลยทั้งหมดควบคุมโจทก์จากโรงภาพยนตร์ไปสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการหน่วงเหนี่ยวโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้นแต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบอีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
          หัวหน้า(สรรพากรจังหวัด)รายงานเท็จจนผู้ใต้บังคับบัญชาถูกตั้งกรรมการสอบสวน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2530   การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสรรพากรจังหวัดสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 3 เสนอสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของห้าง จ. ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติตาม โดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด ตามคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของทางราชการนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งการใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้ เพื่อให้งานดำเนินไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเกิดผลดีแก่ทางราชการทั้งนี้เพราะคำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ย่อมมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเพิ่งจะเข้ารับราชการ ย่อมจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ประกอบกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรของห้างดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          ส่วนการที่จำเลยที่ 2 รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากรว่า โจทก์ได้มอบเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือในการชำระภาษีอากรของห้าง จ. นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 2 รายงานโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัวแกล้งรายงานดังกล่าวจนโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการบรรยายฟ้องในเรื่องแกล้งรายงานของจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 อีกกระทงหนึ่ง นอกเหนือจากข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ได้
          (2) "ละเว้นการปฏิบัติ"
          ตำรวจไม่ใส่ใจเรื่องที่ญาติของผู้ต้องหาขอประกันตัว โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดตามระเบียบราชการเลย แต่ออกไปรับประทานอาหารและไปโต๊ะสนุ๊กเกอร์ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2534  จำเลยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่โจทก์เป็นผู้ต้องหาและถูกจับมาควบคุมไว้ การที่จำเลยพูดในตอนแรกที่ญาติโจทก์แสดงความจำนงขอประกันตัวโจทก์ว่าจะประกันไปทำไมจะดัดนิสัย 2 - 3 วันก่อน และว่าจำเลยไม่ว่างจะไปตั้งด่านตรวจ แต่จำเลยกลับไปรับประทานอาหารโดยมิได้ตั้งด่านตรวจตามที่พูดไว้นานเกือบ 1 ชั่วโมง จึงกลับมาที่สถานีตำรวจแล้วจำเลยพูดกับญาติโจทก์อีกครั้งหนึ่งว่าจะประกันไปทำไม  ตอนนี้ผู้เสียหายกำลังแรงให้ถูกขัง 4 - 5 วันก่อน จากนั้นจำเลยก็ออกไปโต๊ะสนุกเกอร์ ดังนี้ จำเลยมีหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อ และตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา ฯ และมีหน้าที่ต้องขวนขวายกระวีกระวาดแนะนำชี้แจงแก่ญาติโจทก์ที่มาติดต่อขอประกันตัวโจทก์ว่าจะยื่นเรื่องราวได้อย่างไร นำเสนอแก่ใคร และจำเลยต้องคอยให้โอกาสในการที่คนเหล่านั้นจะได้ดำเนินการดังกล่าวไปด้วยดี รวดเร็วและเรียบร้อยตามสมควรแก่เวลาและพฤติการณ์การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ถูกคุมขัง เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157


          ป่าไม้ไม่ตรวจไม้แล้วรับรองเท็จว่าตรวจแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2542   ป่าไม้เขตได้ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่คัดเลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทไม้แก่จัดมีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมากและอยู่ในวัยเสื่อมโทรมหรือยอดไม่สมบูรณ์และให้ตีตราคัดเลือกอนุญาตให้ตัดฟันไม้เพื่อบำรุงป่า หรือ บร. กับทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอผู้บังคับบัญชาแล้วป่าไม้เขตจะได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ไปทำการตรวจวัดตีตรารัฐบาลขาย หรือ รข.เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จะต้องตีตราเฉพาะไม้ที่มีตรา บร. เท่านั้น และจะต้องตรวจดูว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะตีตรา รข. ไม่ได้ และจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กลับตีตราไม้ที่ดีมีค่าทางเศรษฐกิจเป็นการขัดคำสั่ง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549  โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน แต่โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่า จ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ได้กระทำความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษเช่นนี้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปการที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
          การพิจารณาคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังจากจำเลยไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว จนโจทก์ทั้งสองต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคนอื่นในเวลาต่อมา แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องก็ไม่มีผลลบล้างการกระทำของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้ดุลพินิจโดยชอบ

          (3) "หน้าที่"
          ต้องเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานนั้นมีหน้าที่ต้องทำ ถ้าเป็นเรื่องนอกหน้าที่หรือพ้นหน้าที่ไปแล้วก็ไม่ผิดมาตรา 157 รวมทั้งถ้าไม่มีหน้าที่เลยก็ไม่ผิดมาตรา 157 เช่น
          ขณะเกิดเหตุอยู่นอกหน้าที่แล้ว ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2525  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดดังนั้น เมื่อโจทก์ไปยื่นคำคัดค้านเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยก็ได้รับคำคัดค้านของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยชอบแล้ว แม้จำเลยจะกล่าวต่อ โจทก์ว่า "มึงมาค้านแล้ว ทำไมมึงมาค้านอีก ฯลฯ" ต่อไปอย่าเข้ามาทำนาที่กูรังวัดไว้ รู้จักว่ากูเป็นที่ดินใหญ่ไหม ขืนดื้อทำไปต้องเป็นข้าวของคนอื่น ฯลฯ"  ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียหายเกี่ยวกับคำคัดค้านของโจทก์ เพราะการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวหาใช่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่
          ถูกสั่งมิให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนแล้ว ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2520   จำเลยรับราชการเป็นตำรวจ แต่ในขณะที่แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานทำการจับกุมผู้เสียหายแล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจ กลับพาไปข่มขืนกระทำชำเราและปล่อยตัวไปนั้น จำเลยถูกสั่งพักราชการแล้ว แม้จะยังมิได้มีคำสั่งปลดหรือให้จำเลยออกจากราชการ จำเลยก็ถูกสั่งมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่งหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของตน ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2523   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบส่วนมาตรา 157 นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ และคดีนี้ข้อเท็จจริงคงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่ ส. ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก บ. เป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใดๆเกี่ยวกับคดีที่ ส. เป็นผู้ต้องหาเลย การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจาก บ. จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2543   ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ในการทำหนังสือขอลาออกของ ซ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          ตำรวจสายสืบขอเงินค่าสืบจากผู้เสียหาย ในขณะที่ยังไม่มีการแจ้งความและยังไม่มีการออกหมายจับคนร้าย ถือว่าขณะนั้นยังไม่มีหน้าที่ จึงไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2530  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทราบจากผู้เสียหายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ผู้เสียหาย แล้วจำเลยพูดว่า เรื่องนี้พอสืบได้แต่ต้องไถ่ทรัพย์คืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือรับของโจรรายนี้และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งความออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดีหรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
          กรณีตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพในข้อหาที่ถูกกล่าวหา ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวอยู่ในอำนาจหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2508   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนโจทก์ ได้ทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นความผิดตามมาตรา 157, 391
          ถ้าตำรวจทำร้ายในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2531  ปกติการทำร้ายร่างกายไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วทำร้ายร่างกายโจทก์โดยเจตนาทำร้ายธรรมดา มิใช่เพื่อประสงค์จะให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะจำเลยจับโจทก์ได้แล้ว ทั้งจำเลยมิใช่พนักงานสอบสวนที่ทำร้ายโจทก์เพื่อประสงค์จะให้โจทก์รับสารภาพ กรณีจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เมื่อโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยจำเลยมีความผิดตามมาตรา 295
          สิบเวรลวนลามทางเพศผู้ต้องหาหญิงที่ถูกตำรวจอื่นจับมาฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ถือว่ากระทำนอกหน้าที่ ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2504  ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต แต่ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเข้าไปคร่อมตัวโจทก์เลิกผ้าและจับนม เป็นการกระทำในทางรักใคร่ในทางชู้สาวหรือจะร่วมประเวณีกับโจทก์ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2535  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ไม่ผิดมาตรานี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157
          การกระทำที่อยู่ในหน้าที่นั้น หน้าที่ต้องเกิดจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้มีอำนาจมอบหมายหรือมีอำนาจสั่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2531  คำสั่งของบุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่ได้มอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติ เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการตามคำสั่งนั้น การที่จำเลยรับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลซึ่งมิใช่หน้าที่ของจำเลยแล้วเบียดบังไว้จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 161 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แม้ต่อมาจำเลยจะได้นำเงินจำนวนที่ยักยอกไปดังกล่าวมาชดใช้คืนแก่เทศบาลก็ตาม ก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเทศบาลซึ่งเป็นผู้เสียหายตกลงให้ระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่า เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
          ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 157 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562  แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้ 


          (4) โดยมิชอบ
          กระทำรักษาความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ถูกขั้นตอนไปบ้าง ไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2515   ผู้เสียหายถูกเตะทั้งรองเท้า มีบาดแผล คือ 1. รอยช้ำบวมที่หน้าผากข้างขวาเหนือคิ้วขวา 2. เบ้าตาขวาช้ำบวมเขียว ตาขาวมีรอยช้ำเลือด 3. ริมฝีปากล่างซ้ายแตก 4. รอยช้ำบวมที่ปลายคาง5. หัวเข่าซ้ายบวมเล็กน้อย มีรอยถลอกเลือดออกซับบาดแผลทั้งหมดควรจะหายภายใน 7 วัน เช่นนี้ ถือว่าได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 แล้ว
          จำเลยเป็นจ่าสิบตำรวจและสิบตำรวจเอกได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ เมื่อนำไปยังสถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายยังร้องเอะอะอาละวาด เตะโน่นเตะนี่ เดินไปมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ จำเลยจึงเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องขังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ดังนี้ไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310
          ตำรวจไม่จับเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุวุ่นวาย ไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2532   จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม และการตรวจค้นยึดสุราแช่จำเลยที่ 1 มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

          3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (เจตนาพิเศษ)
          เป็นเจ้าพนักงานแต่ไปร่วมกระทำความผิดเล่นการพนันด้วยแล้วไม่จับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ไม่เป็นความผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836-7837/2544   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิดแต่จำเลยกลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยการร่วมเล่นการพนันไพ่รัมมี่ แล้วจำเลยไม่จับกุมผู้ร่วมเล่นไพ่รัมมี่ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมเล่นการพนันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
          ถ้าการกระทำนั้นขาดเจตนาพิเศษ ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2543   การที่จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามป.อ.มาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
          จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ลงลายมือชื่อออก น.ส.3 ก. ระบุชื่อ ต.เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามเรื่องราวเท็จ เอกสารปลอมที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำเสนอ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษละเว้นไม่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดิน ต.หรือผู้หนึ่งผู้ใดจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามป.อ.มาตรา 157

          4. เจตนา
          พนักงานอัยการบรรยายฟ้องคลาดเคลื่อนไป ไม่ถือว่าเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2531   จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบด้วยแล้ว แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ คือ 'ถ้อยคำพูด' ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จเป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลังและมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้นพนักงานอัยการมีความประสงค์จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
          การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานตามอำเภอใจโดยปราศจากเหตุผล ถือว่ามีเจตนากระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7663/2543   แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุมก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
          อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
          การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
          การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562  จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
          อัยการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องคดีโดยมิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ถือว่ามีเจตนากระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549   การวินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการมิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยทีมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการลงข้อความเป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลยพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและยังเห็นได้อีกว่าจำเลยเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง
          ผู้บังคับบัญชาประวิงเวลาไม่ให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ในลักษณะที่ต้องการกลั่นแกล้ง เป็นความผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2544  จำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งพักราชการโจทก์ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยปราศจากเหตุอันสมควรด้วยเหตุที่บริษัท ฮ. ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องต่อมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งยังว่างอยู่ จำเลยสามารถสั่งให้เข้ารับราชการได้ทันที แต่จำเลยกลับเสนอขอกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษา เพื่อจะให้โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งดังกล่าว และได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนคำสั่งทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานราชการมามาก ทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 126 วรรคสาม ระบุไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้นแม้คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติไว้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามในเวลาอันสมควร ทั้งการปฏิบัติตามก็กระทำได้โดยง่าย แต่จำเลยกลับปล่อยให้ล่วงเลยถึง 7 เดือน จึงมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งเหลือเวลา 15 วัน โจทก์จะครบเกษียณอายุ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

          5. เจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
          ถ้าการกระทำนั้นขาดเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562  การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562  โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
   
          องค์ประกอบส่วนที่สอง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าทีโดยทุจริต
          1. เป็นเจ้าพนักงาน
          2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
          3. โดยทุจริต
          4. โดยเจตนา
          ซึ่งองค์ประกอบก็จะคล้ายกับส่วนแรก แตกต่างเฉพาะข้อ 3. คือการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นนั้นต้องมีเจตนาทุจริต
          ตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2525  จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐานก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 การที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วมหาว่ามีพลอยหนีภาษีและยึดพลอยของกลางไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้ แล้วกลับปล่อยโจทก์ร่วมไปไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2536  จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานในการสอบครั้งนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ตาม หน้าที่ในการสอบย่อมคลุมถึงการสอบตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์ เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำเข้าสอบซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้ บ. กับพวกรู้ก่อนเข้าสอบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการครูซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548   การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2547   จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ได้หยิบบัตรเลือกตั้งใส่ในเสื้อที่สวมใส่แล้วเดินออกไปยังจุดนัดพบกับ ต. เพื่อให้ ต. ต่อจากนั้นได้กลับมายังที่หน่วยเลือกตั้ง จนเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขออนุญาตออกไปทำธุระข้างนอกและไปหา ต. กับพวกรวม 3 คน แล้วนำบัตรเลือกตั้งกลับมายังหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ล้วงเอาบัตรเลือกตั้งจากในเสื้อออกมาใส่กล่องบัตรดี บัตรเลือกตั้งทุกแผ่นมีการกากบาทเครื่องหมายไว้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาที่จะมิให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้บัตรเลือกตั้งเสียหายไม่อาจนำไปใช้การได้อีก อันถือได้ว่าเป็นการทำให้ผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งนั้นได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2538  จำเลยเป็นข้าราชการครู มีหน้าที่ปฏิบัติราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง ปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส. ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้างการที่จำเลยให้ ก. นำเหล็กไลท์เกจ อันเป็นวัสดุที่เหลือใช้ซึ่งอยู่ในหน้าที่ความดูแลรับผิดชอบของจำเลยไปเก็บไว้ที่ร้าน ก. และให้ ก. เอาเหล็กดังกล่าวไปเสียจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมอาชีวศึกษา และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิด ป.อ. มาตรา 157
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2562  ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)