28 ต.ค. 2564

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

 

          มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
          “สิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้
          “แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้
          “ผู้ทรงสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตร

          สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงหมายความถึงการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปร่าง องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของแบบผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษที่ปรากฏแก่สายตา ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2557  การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522

          ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม

          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับจดทะเบียน จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ โดยการพิจารณาสาระสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วหรือไม่ 

          โดยมาตรา 57 กำหนดว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
          (1) แบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (2) แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (3) แบบผลิตภัณฑ์ที่เคยมีประกาศโฆษณาตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 28 มาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (4) แบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใน (1) (2) หรือ (3) จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11133/2553  ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 กำหนดว่า แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" เมื่อสิทธิบัตรของโจทก์ระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของสปอยเลอร์รถจักรยาน แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่อ้างว่าได้คิดค้นขึ้นเป็นเหล็กแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวยู เป็นรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามลักษณะของการใช้สอย มากกว่าความสวยงาม เมื่อรูปร่างแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่มาก่อนแล้ว ในโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์รถจักรยานจึงต้องถือว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2552  เมื่อโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายช้อนส้อมเช่นเดียวกับที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องหยุดดำเนินการไป นับได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบหรือถูกโต้แย้งสิทธิแต่ผู้เดียวในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64 วรรคสอง ได้ความว่าช้อนส้อมของโจทก์มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ได้พิจารณาถึงแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแตกต่างจากช้อนส้อมของโจทก์ เท่ากับว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีหรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรและถือว่าไม่มีความใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1)
          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 ต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
          การที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่มีความใหม่ ย่อมจะไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64

          สิทธิในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยผู้ทรงสิทธิบัตรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตรนั้นด้วย

          อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุสิบปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 16 หรือมาตรา 74 มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของสิทธิบัตรนั้น

3 ก.พ. 2564

หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดิน แต่ไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินตามวัตถุประสงค์การเวนคืน ... ต้องคืนเจ้าของเดิม | เวนคืนที่ดิน | คดีปกครอง

         สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งจะมีระบุไว้เสมอในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพยนั้น รัฐจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐ เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอยางอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น โดยกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกําหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท
          อย่างไรก็ดี แม้รัฐจะตรากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ตามอำนาจหน้าที่เพื่อ ประโยชน์สาธารณะตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ในทางปฏิบัติมีบางครั้งที่หน่วยงานทางปกครองผู้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ได้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรืออาจนำไปใช้เพียงบางส่วน ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพยกับหน่วยงานทางปกครองที่ใช้อำนาจนั้น


          ซึ่งมีกรณีตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 422/2558 กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งหมด แต่กลับนำที่ดินบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของการเวนคืน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย เนื้อที่ 30 ตารางวา แต่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี ถูกนำไปใช้เป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเนื้อที่ 12.65 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้สร้างพื้นผิวจราจรและทางเท้า วางระบบสาธารณูปโภคบนที่ดิน เช่น ท่อระบายน้ำ ป้าย ต้นไม้ เครื่องหมายจราจรและอื่น ๆ ส่วนที่สองเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ นางสาว น. เช่าทำประโยชน์ เนื้อที่ 3.35 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 14 ตารางวา เป็นที่ว่างไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ที่ดินส่วนที่สองมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้มีการนำไปหาผลประโยชน์ในทางธุรกิจโดยนำไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) คืนที่ดินส่วนนี้โดยยินยอมจะชำระเงิน ค่าที่ดินส่วนที่ขอคืนให้
          กรณีดังกล่าวจึงมีประเด็นปัญหาว่า จะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือไม่? และเจ้าของที่ดินมีสิทธิขอคืนที่ดินส่วนที่สองนั้นหรือไม่ ?ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กำหนดไว้ว่า ตามปกติการที่รัฐจะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้เท่าที่มีความจำเป็นตามขอบเขตวัตถุประสงค์ แห่งการเวนคืน และต้องกำาหนดระยะเวลาเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง เมื่อรัฐได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว รัฐย่อมจะต้องนำไปใช้ตามความจำเป็นภายในขอบเขตวัตถุประสงคแห่งการเวนคืน ถ้ารัฐมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนเพียงบางส่วน หรือมิได้ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ส่วนการคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทและการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไปให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530) ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 30 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้เพื่อก่อสร้างถนนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับทางขึ้น - ลงทางพิเศษศรีรัช และให้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษารวมทั้งใช้สอยเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ โดยเมื่อพิจารณาการนำที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนไปใช้ประโยชน์แล้วเห็นว่า ที่ดินส่วนแรกเป็นการนำที่ดินไปสร้างทางพิเศษตามความหมายของคำว่าทางพิเศษตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ที่บัญญัติว่า ทางพิเศษ หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ไม่ว่า ในระดับพื้นดิน ใต้พื้นดิน เหนือพ้นพื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และหมายความ รวมถึง ... ทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง ท่อ ทางระบายน้ำ เครื่องหมายจราจรและอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ เกี่ยวกับงานทางพิเศษ อันถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้นําที่ดินส่วนแรกไปสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว สำหรับที่ดินส่วนที่สอง ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แสดง พยานหลักฐานเกี่ยวกับแผนงานการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้ต่อศาลและเมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำที่ดินส่วนที่สองบางส่วนไปเรียกเก็บค่าเช่าจากนางสาว น. ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่สองในการสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้นําที่ดินที่บังคับเวนคืนมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งไม่อาจกระทําได้ แม้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จะมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการใช้ และการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 33 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) ได้บัญญัติให้ใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนเพื่อประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย และถ้าไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ต้องคืนให้เจ้าของเดิม หรือทายาท เว้นแต่จะนำไปใช้ เพื่อการอื่นและโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งกรณีนี้มิใช่การตกลงซื้อขายกันตามมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นมาตรการหนึ่งในการที่รัฐโดยเจ้าหน้าที่เวนคืนสามารถที่จะเลือกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฉะนั้น เมื่อไม่มีการใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่สองนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการตรากฎหมายเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นอีก ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะเรียกคืนที่ดินได้ โดยผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนที่ดินในส่วนที่สองให้แก่ผู้ฟ้องคดี
          พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันดำเนินการคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินที่ได้รับจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

          คดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมานานแล้วขณะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มีผลใช้บังคับประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งออกใช้บังคับและได้มีบทบัญญัติในเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและเรื่องการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ซึ่งระบุให้ที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มดำเนินการตามวัตถุที่ประสงค์ในการเวนคืนไม่ช้ากว่าห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในเรื่องนั้นๆ หรือภายในระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วแต่กรณี หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนภายในระยะเวลา หรือเหลือจากการใช้ประโยชน์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทมีสิทธิขอคืนที่ดินนั้นได้ ซึ่งการขอคืนที่ดินดังกล่าว เจ้าของเดิมหรือทายาทต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าหน้าที่ภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ในกรณีที่หากว่าที่ดินที่เวนคืนไปนั้นได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ปรากฏว่าในภายหลังหมดความจำเป็นในการใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว หรือเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะขอคืนตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว กรณีนี้เจ้าของเดิมหรือทายาทจะไม่มีสิทธิขอคืน ดังนั้น ปัจจุบันนี้การขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562