6 มี.ค. 2567

สิทธิในการรับมรดกของพระภิกษุในฐานะทายาท

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1622  "พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754
          แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้"

          1. พระภิกษุในฐานะทายาทโดยธรรม

          คำว่าเรียกร้องตามมาตรา 1622 วรรคหนึ่ง หมายถึงการฟ้องคดีมรดก ดังนั้น การใช้สิทธิอย่างอื่นในฐานะทายาทโดยธรรมจึงไม่อยู่ในข้อห้าม เช่น ฟ้องเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลภายนอกที่ยึดถือไว้โดยมิชอบ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นมรดก ภิกษุก็สามารถฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2485  พระภิกษุได้รับมรดกที่ดินมาแล้วให้ผู้อื่นอาศัย ย่อมฟ้องขับไล่ผู้อาศัยในระหว่างเป็นภิกษุได้ กรณีไม่เข้า มาตรา 1622 ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทายาทฟ้องร้องเรียกมรดกของผู้ตายโจทก์ไม่จำเป็นต้องสึกจากสมนะเพสก็ฟ้องจำเลยได้

          มาตรา 1622 วรรคแรก ห้ามเฉพาะการฟ้องร้องเท่านั้น ดังนั้น พระภิกษุอาจพูดจาตกลงแบ่งมรดกกับทายาทอื่นๆได้ หรือถ้าแบ่งโดยทำสัญญากันไว้ พระภิกษุก็ย่อมเรียกร้องเอาตามสัญญาที่ทำกันไว้ได้ กรณีนี้หาใช่เรียกเอาในฐานะทายาทโดยธรรมไม่

          กรณีพระภิกษุถูกทายาทอื่นฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก พระภิกษุย่อมยกข้อต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม หาเป็นการต้องห้ามไม่ แต่อย่างไรก็ตาม พระภิกษุไม่สามารถฟ้องแย้งให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ตนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2495  โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินและเรือนจากจำเลยโดยอ้างว่ามารดายกให้โจทก์แต่ผู้เดียว แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นมรดกของผู้ตายตกได้แก่โจทก์และจำเลย ดังนี้ ศาลก็อาจพิพากษาให้โจทก์รับส่วนแบ่งไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ส่วนข้อที่ผู้มีส่วนควรได้มรดกอาจจะมีอยู่นั้นก็เป็นเรื่องของผู้นั้นจะต้องร้องขอเข้ามาเองหาใช่เป็นหน้าที่ของศาลไม่
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมแต่ถ้าพระภิกษุถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วศาลก็พิพากษาให้พระภิกษุได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย ก็ไม่เป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622

          อย่างไรก็ตาม หากพระภิกษุประสงค์จะฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมก็สามารถทำได้ โดยลาสิกขาออกมาฟ้องคดีภายในอายุความตามมาตรา 1754 แต่ถ้าพระภิกษุจะฟ้องเรียกทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์มรดก เช่น การฟ้องเรียกร้องทรัพย์ในฐานะเจ้าของรวมนั้น พระภิกษุย่อมฟ้องร้องได้โดยไม่ต้องลาสิกขา เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2535  เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์และ ล.บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาและร่วมกันครอบครองโดยมิได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทจึงมิใช่มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และ ล. มารดาของจำเลยทั้งห้าเมื่อ ล.ตายส่วนของ ล. ตกแก่จำเลยทั้งห้า การที่จำเลยทั้งห้าไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวม จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุ ก็หามีบทกฎหมายห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2543  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายถึงกรณีที่เจ้ามรดกตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วย ได้ฟ้องทายาทคนอื่น ๆ ขอแบ่งมรดก แต่โจทก์ได้รับการยกให้ซึ่งบ้านและที่ดินจาก ล. ในขณะที่ ล. มีชีวิตอยู่โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว การฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3773/2538  การที่โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดห้ามไว้ พระภิกษุก็เป็นบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การให้กู้ยืมเงินก็เป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อนได้ทางหนึ่งอีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 224 บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์มีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้

          2. พระภิกษุในฐานะผู้รับพินัยกรรม

          กรณีนี้ กฎหมายกำหนดว่า พระภิกษุอาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ ตามมาตรา 1622 วรรคสอง ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามฟ้องร้องไว้ ดังนั้น หากทายาทไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้แก่พระภิกษุ พระภิกษุนั้นมีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมได้