15 ธ.ค. 2561

การสละประโยชน์แห่งอายุความ


          เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน (มาตรา 193/24 แห่ง ป.พ.พ.)

          โดยหลักปกติแล้ว เมื่อสิทธิเรียกร้องใดขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ตามมาตรา 193/10 แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความ แต่ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกเหตุอายุความนั้นขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้ได้อีก


          พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

          (1)  ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทแล้ว แสดงว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จึงไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558  ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

          (2)  แม้หนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ลูกหนี้ยังยินยอมชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว ลูกหนี้จึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2544  เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้นแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม กล่าวคือ นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


          (3) ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ถือว่าได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2542  ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 รับว่ายังค้างชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท รวม 4,246,622 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในยอดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามสัญญาจำนองของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำนวน 3,000,000 บาท และให้สัญญาจำนองมีภาระตามสัญญาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2540 หนังสือสัญญารับสภาพหนี้มีข้อความระบุว่า"ถ้าหากนายพิลาไชยพร (จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์) เสร็จสิ้นภายในวันที่25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวแต่ถ้าผิดนัด นายพิลาไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้องข้าพเจ้า นายพิลาไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้ จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน" ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/24 จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539  มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิม นับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คืออย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้ จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ


          (4) พฤติการณ์ที่ลูกหนี้ยอมรับว่ายังเป็นหนี้อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2542 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ตกแต่ง จัดทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร โจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบแล้ว แต่มีงานที่ต้องซ่อมแซมอีกเล็กน้อย ส่วนจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างเกือบครบแล้ว โดยตกลงกันให้ชำระเงินที่ค้าง เมื่อโจทก์ซ่อมแซมงานดังกล่าวเสร็จ กรณีจึงเข้าลักษณะโจทก์ผู้เป็นช่างฝีมือเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
          จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 ฉะนั้น ต้องเริ่มนับอายุความ ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) การนับระยะเวลาจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2534 และครบ 2 ปี ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 23 กันยายน 2537 คดีจึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2536 อันเป็นระยะเวลาก่อนโจทก์ฟ้องซึ่งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือทักท้วงโจทก์ว่า ยอดหนี้รายพิพาทที่โจทก์ทวงถามมานั้นไม่ถูกต้อง อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือแจ้งขอให้โจทก์ลดเงินที่ค้างลงอีก 30,000 บาท และขอให้โจทก์ไปซ่อมแซมงานในส่วนที่ค้างอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังเป็นหนี้โจทก์อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถึงวันฟ้อง ไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่

          (5) เมื่อถูกทวงถามให้ชำระหนี้ ลูกหนี้มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2540  โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7804 และ 8282 ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้ออ้างว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว การฟ้องบังคับตามสัญญาเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/9 จึงต้องบังคับภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ เมื่อการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
          ตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป การเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วย่อมเกิดสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้ผู้ให้เช่าซื้อปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อคือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 572 เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่พิพาทเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2516 และมาฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2535 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่าหลังจากขาดอายุความแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการทวงถามเพื่อให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันโจทก์แต่ประการใด ตรงกันข้ามเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีใจความว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 2 แปลงและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินจัดสรรให้แก่โจทก์ต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้โต้แย้งจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้