พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ได้แก่
“พนักงาน” หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้นๆ ทั้งนี้ นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย (มาตรา 3)
ในมาตรา 3 พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐมีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และ
(2) องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้น รัฐเป็นเจ้าของ หรือรัฐมีส่วนถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด และ
(3) พนักงานดังกล่าวได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ
(4) ถ้าพนักงานดังกล่าวนั้นเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ก็จะไม่ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ แต่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ จึงได้แก่ พนักงานในรัฐวิสาหกิจหรือในบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบ เช่น การประปา การไฟฟ้า องค์การสวนสัตว์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัทการบินไทย เหล่านี้เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557 การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
พนักงานการไฟฟ้าถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าแผนกบัญชีและการเงินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้า แล้วพนักงานคนดังกล่าวเบียดบังเงินนั้นเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2555 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติจะมีคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้พนักงานในแผนกหมุนเวียนช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วเบียดบังเป็นของตน จึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต และเป็นการกระทำที่มีเจตนาเบียดบังตามวาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายชำระ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน
ก. ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม 2541 ซึ่งมีการระบุจำนวนเงินแน่นอนแล้ว เมื่อ ก. นำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าและออกใบเสร็จรับเงิน ย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องเขียนค่าไฟฟ้าทั้งสองจำนวนลงในเศษกระดาษอีก ทั้งการประทับตรายางว่า ชำระเงินแล้วโดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และวันเดือนปีกำกับในเศษกระดาษดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำเป็นหลักฐานมอบให้แก่ ก. ว่าได้ชำระเงินแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการออกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบของผู้เสียหาย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
พนักงานซึ่งปฏิบัติงานในบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัดที่รัฐบาลมีหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2511 จำเลยเป็นลูกจ้างของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีอันเป็นโรงงานของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัด ซึ่งรัฐบาลมีทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โดยจำเลยมีหน้าที่ซ่อมเครื่องจักรของโรงงานฯ แต่ในระหว่างเกิดคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการให้เป็นพนักงานชั่งอ้อยของโรงงานจำเลยมีรายได้ประจำจากโรงงานดังนี้ ถือว่าจำเลยเป็นพนักงานตามความหมายของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และการที่จำเลยได้ทำการชั่งอ้อยที่มีผู้นำมาส่งหรือขายให้แก่โรงงานนั้น ได้ชื่อว่าจำเลยมีหน้าที่ทำ หรือจัดการทรัพย์ใดๆ ตามความหมายใน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้การที่จำเลยถือโอกาสชั่งอ้อยจำนวนเดียวโดยโยกคันชั่ง 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ได้สลิปการชั่งอ้อยเกินมา 1 ชุด แล้วนำสลิปที่ได้เกินมานั้นไปใช้เป็นหลักฐาน ว่าเป็นการชั่งอ้อยของผู้มีชื่อในวันถัดมา อันจะทำให้โรงงานต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อเกินกว่าที่จะต้องจ่าย หากมีผู้พบปะทราบการกระทำนั้นเสียก่อนที่โรงงานจะจ่ายเงินถือว่าเป็นความผิด
พนักงานธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน ถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2534 จำเลยเป็นหัวหน้าแผนกการเงินของธนาคาร มีหน้าที่เก็บรักษาเงินเมื่อถูกตรวจสอบพบว่าเงินหายก็ยอมรับว่าเป็นผู้ยักยอกเงินที่เก็บรักษาไว้ไปในทันทีและโดยสมัครใจ ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2539 จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยจำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยจำเลยไม่มีอำนาจ แม้จะได้ความว่าหลังจากจำเลยลาออกจากโจทก์แล้วต่อมาโจทก์ได้ยอมรับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัท ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ก็ตามก็เป็นเพียงการที่โจทก์ผ่อนผันให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ที่ก่อนไว้เท่านั้น หาเป็นการสละหรือยอมให้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นระงับไม่ เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต่อโจทก์อันเป็นความผิดแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่คำนึงถึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่มีอำนาจหลายวันด้วยกัน แต่ในแต่ละวันจำเลยจะอนุมัติเพียงครั้งเดียว ดังนี้ แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวกันในอันที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ชอบเจตนาเช่นนั้นก็มีได้เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่ง เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปวันหนึ่งเป็นการกระทำกรรมหนึ่ง จำเลยอนุมัติทั้งหมด 144 วันจึงเป็นความผิด 144 กรรม มิใช่เป็นความผิด 338 กรรม ตามที่จำเลยอนุมัติเช็คและใบหักหนี้แต่ละฉบับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2541 โจทก์ไปขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสินพบว่าสมุดฝากเงินของโจทก์ซึ่งเก็บไว้ที่ธนาคารมีเงินเหลืออยู่ น้อยกว่าที่ฝากไว้จริง และตรวจสอบสมุดฝากเงินของ ฉ. ภริยาโจทก์ และสมุดฝากเงินของ จ. บุตรโจทก์ก็พบว่าเงินในสมุดฝากเงินเหลือน้อยผิดปกติเช่นกัน โจทก์จึงขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคารออมสินปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินตามที่โจทก์ขอตามสิทธิและความจำเป็น อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 13 โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ภริยาและบุตรเสียหาย เพราะโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรถูกคนร้ายปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีหรือไม่เพียงใด และไม่อาจเอาผิดกับผู้รับผิดชอบของธนาคารออมสินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยเป็นพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำการขายไม้ฝ่าฝืนระเบียบเกินอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2528 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยเป็นพนักงานประจำป่า หมวดทำไม้ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการทำไม้สัมปทานและควบคุมการทำไม้ นอกโครงการและไม้ของกลางในคดีนี้ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการ เสนอความเห็นหาตัวผู้รับจ้างเกี่ยวกับไม้ที่รับมอบไว้จำเลยใช้อำนาจในหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต โดยจัดการรับชักลากและขนไม้ของกลางซึ่งตนเองมีหน้าที่ดูแลรักษาดังกล่าวไปแล้วทำการขายไปโดยมิได้ขออนุมัติผู้บังคับบัญชาก่อนอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและเกินอำนาจหน้าที่ของตนทำให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับความเสียหายขาดราคาค่าไม้ของกลางที่ควรจะได้ไปเช่นนี้ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ มาตรา 8
พนักงานขับรถขององค์การสวนยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2538 การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถขององค์การสวนยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับใบรับ-จ่ายน้ำมันมาแล้วมอบให้ ว.ไปเบิกน้ำมันใส่รถยนต์ส่วนตัวของ ว.ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำใบรับ-จ่ายน้ำมันไปเบิกน้ำมันใส่รถของผู้เสียหายเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในกิจการของผู้เสียหาย ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจึงมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 แต่หามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายในมาตรา 147 และจำเลยเป็นพนักงานขับรถเพียงแต่มอบใบรับ-จ่ายน้ำมันที่จำเลยได้รับมามอบให้ ว. ไปเบิกน้ำมันใช้เป็นส่วนตัวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เมื่อจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11เท่านั้น พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่เป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43
แต่เจ้าพนักงานสงเคราะห์ตำแหน่งพนักงานสงเคราะห์ยางจังหวัด ถือเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญาบังคับ การกระทำจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2535 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานสงเคราะห์ตำแหน่งพนักงานสงเคราะห์ยางจังหวัดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตรัง ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 ได้ยักยอกปุ๋ยของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งอยู่ในอำนาจจัดการดูแลรักษาของจำเลยตามหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ของจำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้บทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "พนักงาน" ไว้หมายถึง บุคคลต่างๆตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 จำเลยย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายจึงไม่เป็นพนักงานตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้
เมื่อการแต่งตั้งไม่ชอบ ก็ไม่มีฐานะเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หากมีการทุจริตก็ไม่ผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2531 การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่างๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มีคำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นกรรมการแทนแต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการและดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงานสำนักงานดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ได้ การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วนจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้พนักงานการรถไฟเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ก็ไม่อาจใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2530 พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา เมื่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จำหน่ายตั๋วเดินทางยักยอกเงินค่าตั๋วเดินทางที่จำเลยได้รับไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายไม่เป็น 'พนักงาน' ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ด้วย
อยู่ระหว่างทดลองงาน ยังไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงาน ก็ไม่ถือว่าเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2523 ขณะกระทำความผิดจำเลยอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน หากได้ผลเป็นที่ไม่พอใจก็ให้ออกได้โดยไม่ต้องตั้งกรรมการยังไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานการไฟฟ้านครหลวงจึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2513 คำว่าพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานโดยมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ด้วยตนเอง ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นคนงานทดลองปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์การสวนสัตว์ยังไม่ได้รับการบรรจุและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่องานอย่างใดโดยเฉพาะ แต่ทำงานอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่ง ย่อมไม่เป็นพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อจำเลยยักยอกทรัพย์ขององค์การสวนสัตว์ไป ก็ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 4
แต่พนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาไม่ถือเป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2515 การที่จะถือว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาเป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หรือไม่ จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐ เมื่องานหรือทุนที่ดำเนินการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐ จำเลยจึงไม่เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวข้างต้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือใช้หนังสือปลอมและยักยอกดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาที่ว่าจำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หรือไม่ ตามคำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "พนักงาน" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะถือว่าจำเลยเป็นพนักงาน จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐทางพิจารณาได้ความว่า คุรุสภาตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 เป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนิติบุคคล อาจมีรายได้จากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภา และทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ ซึ่งบุคคลอุทิศให้คุรุสภาและภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไข ข้อบังคับ หรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุทิศกำหนดไว้ ให้คุรุสภารักษาและจัดการตามที่เห็นสมควรแก่ประโยชน์แห่งคุรุสภา และได้ความจากคำเบิกความของนายกำธร สถิรกุลซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาพยานโจทก์ต่อไปว่ากรรมการอำนวยการของคุรุสภาได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ใช้ทุนของคุรุสภา เป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของคุรุสภาเริ่มแรกใช้เงินซึ่งยืมมาจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้ใช้คืนหมดเมื่อ 10 ปีกว่ามาแล้ว ผลกำไรส่วนหนึ่งส่งให้แก่คุรุสภาอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ขยายงาน ก่อนตั้งองค์การค้าของคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการได้โอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชฯ สังกัดกรมอาชีวศึกษา กับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สังกัดกรมสามัญศึกษาให้คุรุสภาด้วย คุรุสภาจึงเอางานทั้งสองนี้มาร่วมกันตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชกับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ให้แก่คุรุสภา ทรัพย์สินที่โอนมาก็ตกเป็นของคุรุสภา การที่คุรุสภาเอาเงิน 2 งานที่ได้รับโอนมาดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นใหม่ งานหรือทุนที่ดำเนินการจึงเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐ จำเลยจึงไม่เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินไปจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานทุจริตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
แม้เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ถ้าพนักงานกระทำการซึ่งไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงและผู้บังคับบัญชาก็มิได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2532 จำเลยหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ โดยหลอกลวงแจ้งเงื่อนไขในการทำสัญญาอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองในการหาผู้ฝากและเงินสมนาคุณแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินแก่จำเลย แม้จำเลยจะหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่จำเลยก็ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การที่ธนาคารออมสินได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามสัญญาซึ่งมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลย มิใช่จ่ายให้จำเลยโดยเหตุที่จำเลยหลอกลวง และมิใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงของจำเลย การหลอกลวงของจำเลยเป็นแต่เพียงทำให้ประชาชนเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินเท่านั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยเป็นพนักงานธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี ตำแหน่งพนักงานบริการรับใช้ มีหน้าที่เก็บกวาดบริการภายในธนาคาร และงานอื่นตามแต่ผู้จัดการจะใช้ ในการหาผู้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ ธนาคารเปิดโอกาสให้พนักงานธนาคารหาเงินฝากประเภทดังกล่าวได้นอกเวลาทำการ และมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนให้เป็นเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองจากธนาคาร เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่พนักงานธนาคาร การที่จำเลยหาผู้ฝากเงินไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของจำเลยและผู้บังคับบัญชาจำเลยก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยทำหลักฐานเท็จขอเบิกเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองในการหาผู้ฝากเงินประเภทดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11