(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร"
ข้อสังเกตุ***
(1) การถูกกำจัดมิให้รับมรดกอาจเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังเจ้ามรดกตายก็ได้
กรณีอาจเกิดก่อนเจ้ามรดกตาย คือ มาตรา 1606 (1) (2) (4) และ (5)
กรณีอาจเกิดหลังเจ้ามรดกตาย คือ มาตรา 1605 และมาตรา 1606 (1) (2) (3) และ (5)
(2) บุคคลที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 นี้ อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมทั่วไป หรือผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างก็ได้ ไม่มีข้อยกเว้น
(3) กรณีตามมาตรา 1606 (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า การกระทำที่ทำให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ถ้าเป็นการกระทำโดยประมาท หรือไม่มีเจตนา หรือกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นการกระทำโดยป้องกันตัว ก็จะไม่ถูกกำจัดตามมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538 ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2554 เจ้ามรดกตลอดจนบุคคลในครอบครัวถูกสามีของเจ้ามรดกใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในเวลาต่อเนื่องกัน ถือเป็นการตายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง จึงถือว่าทุกคนถึงแก่ความตายพร้อมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 17 ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจึงไม่ตกไปยังบุตรของเจ้ามรดกซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายพร้อมกัน แต่จะตกได้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นน้าของเจ้ามรดก และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า สามีของเจ้ามรดกเป็นผู้กระทำโดยเจตนาให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจดำเนินคดีแก่สามีของเจ้ามรดกได้เนื่องจากสามีเจ้ามรดกฆ่าตัวตายไปก่อน จึงถือได้ว่าสามีของเจ้ามรดกเป็นบุคคลที่ต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ผู้ร้องซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับสามีของเจ้ามรดกจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก และเมื่อผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้
(4) กรณีตามมาตรา 1606 (2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดก หมายความถึง ทายาทฟ้องคดีด้วยตนเอง ไม่รวมถึงกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และทายาทเป็นผู้เสียหาย
(5) กรณีตามมาตรา 1606 (3) ต้องเป็นกรณีที่รู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาเท่านั้น แต่ถ้ารู้เห็นเข้าใจว่าเจ้ามรดกถูกทำให้ตายโดยประมาท แม้ความจริงจะถูกฆ่าโดยเจตนาก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรานี้
(6) กรณีตามมาตรา 1606 (4) เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งใจทำพินัยกรรมหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ทำไว้ แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ให้ทำ หรือทางกลับกันเจ้ามรดกตั้งใจจะทำพินัยกรรมหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ไม่ให้ทำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2498 ทายาทตามพินัยกรรม หลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมทำใบมอบอำนาจให้แล้วเอาไปจัดการโอนที่ดินที่ตนจะได้รับตามพินัยกรรมเป็นของตนเสีย กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการฉ้อฉลให้เจ้ามรดกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมผู้นั้นจึงมิต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2530 จำเลยเป็นผู้ที่ฉ้อฉลโดยให้เจ้ามรดกพิมพ์ลาย นิ้วมือในเอกสารพินัยกรรม จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามป.พ.พ. มาตรา 1606(4) จำเลยจึงเป็นผู้ไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
(7) กรณีตามมาตรา 1606 (5) ได้แก่ การทำปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2516 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมของ ป.เจ้ามรดก ขอให้ลงโทษ แต่โจทก์เองก็ถูกฟ้องว่าปลอมพินัยกรรมของ ป. เหมือนกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษโจทก์ฐานปลอมพินัยกรรม คดีถึงที่สุด ดังนี้โจทก์จึงตกเป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ป.ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (5)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยอันจะมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2518 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้รับพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมทำพินัยกรรมหายจึงไปขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นหาใช่ผู้รับพินัยกรรมบอกสละ พินัยกรรมซึ่งทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(3) ไม่ เพราะมิใช่เป็นการสละไม่ขอรับมรดกหรือมีเจตนาจะไม่รับเอาทรัพย์ตามพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมชอบที่จะนำพินัยกรรมที่หาพบในภายหลังไปขอรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมอีกได้ และการที่หาพินัยกรรมไม่พบนั้นก็ถือไม่ได้ว่าผู้รับพินัยกรรมปกปิดพินัยกรรม
ผลของการถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรรับมรดก ตามมาตรา 1606
การถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 ในกรณีที่เกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตายนั้นมีผลให้ผู้ถูกกำจัดหมดสิทธิรับมรดก แต่เนื่องจากการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้นั้น ดังนั้น ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ แต่ถ้าทายาทที่ถูกกำจัดไม่มีผู้สืบสันดาน ก็ต้องเอาส่วนที่ถูกกำจัดนั้นแบ่งแก่ทายาทอื่นๆในลำดับเดียวกัน หรือให้มรดกตกแก่ทายาทอื่นๆ ในลำดับถัดลงไปส่วนการถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 ในกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายนั้นมีผลให้ผู้ถูกกำจัดหมดสิทธิรับมรดก แต่เนื่องจากการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้นั้น ผู้สืบสันดานมิสิทธิสืบมรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว ตามมาตรา 1607
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557 แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
การถอนข้อกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
ข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรนี้ เจ้ามรดกอาจถอนเสียก็ได้โดยให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษร ตามมาตรา 1606 วรรคท้าย ซึ่งเมื่อเจ้ามรดกให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว มีผลให้ทายาทผู้นั้นพ้นจากการถูกกำจัดและมีสิทธิรับมรดกได้