16 ก.พ. 2561

สัญญาขายฝาก


          มาตรา 491  "อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้"

          สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง โดยมีข้อตกลงในการทำสัญญาซื้อขายซึ่งทำให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อ และมีข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
          เมื่อสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง สัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์จึงต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด โดยต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2552  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 บัญญัติว่า สัญญาขายฝากคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อความตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ซึ่งตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ การขายฝากที่ดินจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) คือ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกรณีขอสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น เมื่อตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินระบุว่าผู้ขายฝากได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากครบถ้วนแล้ว การนำพยานบุคคลมาสืบว่ายังได้รับเงินไม่ครบ ย่อมเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  โจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้


          ข้อพิจารณาในกรณีที่ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้


          (1) ถ้อยคำที่จะถือว่าเป็นข้อตกลงให้ไถ่ทรัพย์คืน จะใช้ถ้อยคำอย่างไรไม่สำคัญ เพียงให้ได้ความเข้าใจได้ว่าให้มีการไถ่คืนก็ใช้ได้ เช่น ซื้อกลับคืน ซื้อกลับมา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2486  ขายที่ดินต่อกันแล้วมีข้อตกลงไว้ท้ายสัญญานั้นว่าถ้าผู้ขายต้องการซื้อคืนผู้ซื้อยอมขายให้ดังนี้ ถือว่าเป็นเรื่องขายฝาก การขายฝากที่ไม่ได้ตกลงว่าจะไถ่คืนเท่าไรก็ต้องไถ่คืนเท่าราคาที่ขายต่อกัน


          (2) ข้อตกลงให้ไถ่คืนหรือซื้อคืนจะต้องเกิดในขณะทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินนั้น จึงจะทำให้เป็นสัญญาขายฝาก แต่ถ้าผู้ซื้อให้สิทธิผู้ขายไถ่คืนได้ในภายหลัง ก็เป็นเพียงคำมั่นว่าจะขายนอกเหนือไปจากสัญญาซื้อขายนั้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2528  ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกัน ไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจาก จำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้

          (3) ถ้าพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว ต่อมามีการตกลงจะซื้อคืนกัน ก็จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายขึ้นใหม่ต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2535  หลังจากครบกำหนดการขายฝากแล้ว ส. ผู้ซื้อฝากกับ บ.ผู้ขายฝากทำหนังสือสัญญากันมีข้อความว่า "บ. ได้ให้เงิน ส.ค่าไถ่ถอนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 33,000 บาท ส. ขายคืนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ บ." ในวันที่ ส. รับเงินจาก บ.นั้น ส. และ บ. ได้พากันไปสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ. แต่ยังโอนกันไม่ได้เพราะ บ.ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมการโอน ได้ตกลงกันว่าก่อนปีใหม่ 2-3 วันจะไปโอนกันใหม่ แต่ ส. ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนแสดงว่า ส. จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ.ภายหลัง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการขยายเวลาการขายฝาก เนื่องจากได้ครบกำหนดการขายฝากและ บ.หมดสิทธิไถ่คืนการขายฝากไปก่อนแล้ว

          (4) ข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ถ้าทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษแล้วจะต้องจดทะเบียนข้อตกลงดังกล่าวไว้ด้วย กล่าวคือต้องทำนิติกรรมตามแบบที่กฎหมายในเรื่องซื้อขายกำหนดไว้ในมาตรา 456 เพราะเหตุว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า ส่วนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมมาก่อน แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด พ. ระงับไปแล้วถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยลำพัง
          ส่วนที่ ส. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท ทั้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. ทันที และคำฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะประสงค์เข้าอยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง พฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ล. รับซื้อฝากบ้านพิพาทเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคู่สัญญาทำสัญญากันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491โจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  โจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท



          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินคืน

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินมีบัญญัติอยู่ในมาตรา 494 และ 495

          มาตรา 494  "ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
          (1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
          (2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

          มาตรา 495  "ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์"

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ถ้ากำหนดไว้ในสัญญาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่กำหนดเวลาในสัญญาดังกล่าวจะต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนด 10 นับแต่เวลาซื้อขาย ส่วนถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย หากในสัญญากำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ไว้เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ก็จะต้องลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องกำหนดระยะเวลาไถ่ทรัพย์สินไว้ในสัญญาขายฝาก ดังนั้น หากในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินไว้ ก็ต้องใช้ระยะเวลาตามกฎหมาย โดยบังคับตามมาตรา 492 ประกอบมาตรา 494 คือ 10 ปีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ และ 3 ปีสำหรับสังหาริมทรัพย์

          สัญญาขายฝากนั้น ถึงแม้ผู้ขายฝากตายไปทายาทก็ยังมีสิทธิไถ่ทรัพย์นั้นได้ตามกำหนด และกรณีนี้จะไม่เอาอายุความมรดกมาใช้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2509  อายุความตามมาตรา 1754 เป็นอายุความห้ามฟ้องคดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก ส่วนคดีที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าหนี้มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษในมาตรา 1754 แต่อย่างใด เมื่อเป็นคดีที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนาย ก. ผู้ขายเดิมฟ้องขอไถ่ทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากตามมาตรา 497(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยหลังจากนาย ก. ผู้ขายเดิมตายเกิน 1 ปีคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ เพราะคดีนี้ไม่เป็นคดีมรดกหรือเป็นคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก จะนำมาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้        


          การขยายเวลาไถ่ทรัพย์สิน

          กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินสามารถขยายได้ตามมาตรา 496
          มาตรา 496  "กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา 494
          การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086 - 2087/2550  สัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากทำกับจำเลยผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากตามราคาที่ขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคแรก หากจำเลยมีเงินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากด้วยการนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าที่ดินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคแรก
          บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ แม้มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็มีผลบังคับให้ผูกพันโจทก์ผู้รับไถ่ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่มิได้กำหนดเวลาไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 494 กล่าวคือ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก เมื่อจำเลยฟ้องขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก จำเลยจึงมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์
          เมื่อจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ขายฝากหลังจากทำสัญญาขายฝากให้โจทก์แล้วโดยโจทก์ยินยอมและโจทก์ทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ที่ดินที่ขายฝากให้จำเลย การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่ขายฝากต่อไปหลังจากครบกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาเดิมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

          แต่ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาไถ่แล้วภายหลังผู้ซื้อฝากยินยอมจะขายทรัพย์สินคืนให้นั้น เข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ มิใช่การขยายเวลาไถ่ทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2530  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายฝากที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินให้โจทก์ กำหนดไถ่ภายในหนึ่งปี ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ไถ่ขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว จำเลยรับว่าขายฝากที่ดินและบ้านแก่โจทก์และครบกำหนดไถ่แล้วจริงแต่โจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินและบ้านได้ในภายหลัง จำเลยกำลังจะหาเงินมาไถ่ ดังนี้หากได้ความจริงตามคำให้การของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวอาจเข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ซึ่งบังคับกันได้ มิใช่เป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์
       


          บุคคลผู้มีสิทธิไถ่

          ตามมาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคล 3 ประเภทเหล่านี้ คือ

          (1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม คือ บุคคลที่ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สิน ถ้าผู้ขายฝากตายไป ทายาทของผู้ขายฝากก็มีสิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2530  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 บุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต้องเป็นผู้ขายเดิมทายาทผู้ขายเดิมผู้รับโอนสิทธิหรือบุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้เป็นการกำหนดตัวผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว โจทก์มิใช่บุคคลที่มีสิทธิในการไถ่ที่ดินพิพาทตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นแม้โจทก์จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้ขายฝากหรือไม่ก็ตามโจทก์จะอ้างเหตุว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสและขอใช้สิทธิไถ่ที่พิพาทหาได้ไม่.

          (2) ผู้รับโอนสิทธินั้น คือ สิทธิในการไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากถือเป็นทรัพย์สินจึงสามารถขายหรือโอนกันได้ หากผู้ขายฝากหรือทายาทได้ขายหรือโอนสิทธินั้นให้บุคคลอื่นไป บุคคลที่รับโอนสิทธินั้นมาย่อมมีสิทธิในการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2538  สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายมีการวางมัดจำหรือชำระราคาบางส่วนไว้แล้วเข้ากรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งอาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แม้ไม่มีเอกสารมาแสดงเมื่อมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วหรือไม่โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ มิใช่เป็นการสืบพยานเพื่อหักล้างเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ดังนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 497 กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับการไถ่แม้ว่าจะมิใช่คู่สัญญาขายฝากก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับการไถ่ โจทก์จึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2492  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่นาขณะที่ฟ้องคดีนาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยได้ตกไปเป็นของผู้รับซื้อฝากเสียแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนกลับคืนมาก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้จำเลย ทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ศาลพิพากษาบังคับได้
          คดีผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาอาจมีทางที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝากแทนที่จำเลย แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ ต้องยกฟ้อง

          (3) บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้ 
          อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ของผู้ขายฝากไม่ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2523  การที่ก่อนครบกำหนดไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้มีหนังสือแจ้งขอสวมสิทธิไถ่ทรัพย์แทนผู้ขายฝากซึ่งเป็นลูกหนี้นั้น ถือไม่ได้ว่าผู้มีสิทธิในการไถ่ทรัพย์ได้ใช้สิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืน เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497


          ผู้มีหน้าที่รับไถ่

          ตามมาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคล 2 ประเภทเหล่านี้ คือ
          (1) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม คือ บุคคลที่รับซื้อฝากไว้มีหน้าที่รับไถ่ แต่ถ้าภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์นั้นผู้ซื้อเดิมตาย ทายาทของผู้ซื้อเดิมก็มีหน้าที่รับไถ่
          (2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน



          สินไถ่

          มาตรา 499  "สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
          ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559  บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว
          น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


          การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สิน

          มาตรา 492  "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
          ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 333 วรรคสาม"

          การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบตามมาตรา 492 ต้องปฏิบัติดังนี้
          (1) มีการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
          (2) ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ครบถ้วน หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2540  การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้น โจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝาก และจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 499 และมาตรา 500 เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลย ฉะนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินพร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตาม แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่ให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินดูและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝาก แต่กลับได้ความจาก ว. พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยให้มารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองบอกให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ ซึ่งในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว
          ถ้าผู้ขายฝากขอใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากไว้ภายในกำหนดเวลาไถ่แล้ว แต่ผู้ซื้อผัดผ่อนประวิงเวลาไปเรื่อยจนพ้นกำหนดไถ่ถอนคืน ก็ต้องถือว่ามีการใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดระยะเวลาไถ่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2508  ผู้ขายฝากขอไถ่ถอนที่ดินซึ่งขายฝากไว้ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ผู้ซื้อขอผัดผ่อนประวิงเวลาไปเรื่อย จนพ้นกำหนดไถ่ถอนคืน ดังนี้ จะถือว่าผู้ขายผิดนัดไม่ใช้สิทธิขอไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากภายในกำหนดหาได้ไม่ และไม่เป็นการขยายเวลาไถ่ถอนจากสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 ด้วย (อ้างฎีกา 339/2502)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2515  ก่อนครบกำหนดไถ่คืนการขายฝาก ผู้ขายได้ติดต่อขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนจากผู้ซื้อและนัดวันที่จะไปจดทะเบียนไถ่ถอนกันแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่ไปตามนัด หลังจากนั้นผู้ขายได้พยายามติดต่อกับผู้ซื้ออีก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ผู้ขายจึงไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้เป็นหลักฐานว่าผู้ขายพร้อมแล้วที่จะไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดดังนี้ ถือได้ว่าผู้ขายได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดแล้วโดยชอบ ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องรับไถ่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 899/2495)
          ผู้ซื้อนำทรัพย์ที่รับขายฝากไปโอนให้แก่ภริยาโดยเสน่หาทั้งๆ ที่ผู้ซื้อรู้อยู่ว่าผู้ขายยังมีสิทธิไถ่คืน ดังนี้ เป็นการฉ้อฉลอันทำให้ผู้ขายเสียเปรียบ ผู้ขายชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนให้นั้นเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2516  โจทก์ขายฝากที่นาไว้กับจำเลย ต่อมาโจทก์ขอไถ่การขายฝากภายในกำหนดเวลา แต่จำเลยไม่ยอมโดยเกี่ยงจะให้โจทก์ชำระค่าเช่านาที่ค้างด้วย โจทก์จึงไม่ยอมวางเงินค่าขายฝาก เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ยอมรับค่าขายฝากจากโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอไถ่จากจำเลยภายในกำหนดเวลาขายฝากแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2521  โจทก์มีเงินแต่ยังเบิกไม่ได้เพราะเป็นวันหยุดราชการรุ่งขึ้นไม่ได้ไถ่ขายฝากเพราะจำเลยว่าหนังสือสัญญาอยู่ที่อื่นให้มาไถ่วันหลังถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2536  บันทึกด้านหลังของหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพากษากำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์ขายฝากต้องนำเงินค่าไถ่ถอนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาขายฝาก หากไม่สามารถติดตามตัวจำเลยผู้ซื้อฝากเพื่อขอไถ่ถอนได้นั้น หากปรากฎว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพากษาตามกำหนดเวลาแล้ว แต่จำเลยหลีกเลี่ยงประวิงเวลาเอาไว้ไม่ให้ไถ่ถอน โจทก์จึงหาจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2539  แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ ซึ่งตามสัญญาระบุให้ชำระสินไถ่เป็นจำนวน 8,800,000 บาท สินไถ่จำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก การชำระค่าสินไถ่ด้วยแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นเช็คที่ทางธนาคารออกให้ เช็คดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเงินสด หากจำเลยมีความสงสัยว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่มีเงินก็อาจตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คได้ แต่จำเลยก็ยืนกรานไม่ยอมรับแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นการผิดปกติ เพราะหากจำเลยต้องการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาหรือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับชำระหนี้เองและโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้ว แม้โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยเรื่องไถ่ถอนการขายฝากด้วยตนเอง แต่ ส.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกระทำแทนแล้ว ส่วนการติดต่อล่วงหน้า 30 วันก่อนมีการไถ่ถอนหรือไม่ไม่ปรากฎ ซึ่งแม้จะติดต่อการไถ่ถอนล่วงหน้าไม่ครบ 30 วัน แต่จำเลยก็ได้มาพบโจทก์กับพวกที่ธนาคารและไม่ได้ยกระยะเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นสาระสำคัญ จำเลยคงยกเรื่องไม่รับแคชเชียร์เช็คและต้องการเงินสดเท่านั้น แสดงว่าระยะเวลาบอกกล่าวการไถ่ถอนล่วงหน้า 30 วันไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป โจทก์จึงไม่ผิดสัญญาในข้อนี้


          ผลของการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินโดยชอบ

          (1) ตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง "....มีผลให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี"
          (2) ดอกผลของทรัพย์สินที่ขายฝากตกเป็นของผู้ขายฝากนับแต่นั้น
          (3) กรรมสิทธิ์จะกลับคืนมาเป็นของผู้ไถ่โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โอนทางทะเบียนก่อน แม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษก็ตาม
          (4) ผลตามมาตรา 501 "ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน"
          (5) ผลตามมาตรา 502
          มาตรา 502  "ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใด ๆ ซึ่งผู้ซื้อเดิม หรือทายาท หรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่
          ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไซร้ ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลืออยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้น แต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง"