3 มี.ค. 2567

สิทธิที่จะทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง | คดีปกครอง

          กระบวนการพิจารณาทางปกครองนั้น อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติหลักการสําคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการที่จะมีโอกาสได้รู้ข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งเป็นหลักการรับฟังความสองฝ่าย คือ ฝ่ายปกครองจะไม่อาจใช้อํานาจได้ตามอําเภอใจ หากการกระทํานั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เป็นคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ฝ่ายปกครองจะต้องให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตน โดยมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ได้กําหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจไปกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน กล่าวคือ ถ้าหากว่าคําสั่งทางปกครองที่จะออกไปนั้น มีท่าทีว่าจะไปกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งทางปกครองนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องรับฟังคู่กรณีก่อนเสมอ โดยการที่เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นเหตุผลในการออกคําสั่งทางปกครองไปให้แก่คู่กรณีได้รับทราบด้วย และยังจะต้องเรียกคู่กรณีเข้ามาโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ซึ่งเมื่อคู่กรณีได้เข้ามาโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนเสร็จแล้ว ตัวเจ้าหน้าที่คนนั้นก็จะต้องนําเอาข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานมาพิจารณาประกอบด้วย แล้วจึงค่อยตัดสินใจออกคําสั่งทางปกครองต่อไป ดังนั้น ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้โอกาสคู่กรณีเข้ามาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแล้วออกคําสั่งทางปกครอง ก็จะต้องถือว่าคําสั่งที่ออกมาดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ นี้


          มีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 23/2553  ข้อเท็จจริงมีว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อํานวยการพิพิธภัณฑ์สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สถาบันพระปกเกล้า) และได้รับแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) ให้ปฏิบัติหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการของคณะอนุกรรมรวบรวมจัดหาสิ่งของ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับมอบแหนบพระราชทาน ปปร. ที่จัดทําเป็นของที่ระลึก ไปเก็บรักษาไว้ในตู้เหล็กภายในห้องทํางานของผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีการตรวจสอบประเมินราคา ลงทะเบียนรับหรือทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมและเจ้าหน้าที่ผู้รับ รวมทั้งมิได้ทําประกันภัยไว้ด้วย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทราบว่าแหนบพระราชทาน ปปร. ที่ผู้ฟ้องคดีคืนให้กับพลตรีหม่อมราชวงศ์ ศ. ก้ามปูหายไปหนึ่งข้อและสายสร้อยถูกเปลี่ยนเป็นทองชุบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทําการประมาทเลินเล่อในการทํางาน เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรงสมควรลงโทษปลดออก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นพนักงาน
          ผู้ฟ็องคดีได้อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการบริหารงานบุคคล โดยอ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยมิได้แจ้งหรือมอบแบบบันทึกสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในการสอบสวนวินัยให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถโต้แย้งคัดค้านหรือนําพยานหลักฐานมาหักล้างได้และคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงเดิมที่ปรากฏในรายงานการสอบสวนวินัยเท่านั้น การสอบสวนวินัยและการพิจารณาอุทธรณ็จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนําคดีมาฟ้องเพิกถอนคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากพนักงาน
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนพนักงานและลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นไปตามระเบียบสถาบันพระปกเกล้าว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัย พ.ศ. 2545 โดยข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 11 ของระเบียบดังกล่าว กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยมีหน้าที่ในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับเรื่องที่ทําการสอบสวน รวมทั้งมีหน้าที่รายงานความเห็นเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดวินัยหรือไม่อย่างไร และควรได้รับโทษสถานใด ตลอดจนให้มีอํานาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือสิ่งของที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลใดในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มาเพื่อทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่สอบสวนได้และให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิรับทราบข้อกล่าวหา ให้ถ้อยคําหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนเสนอพยานหลักฐานหรือนําพยานหลักฐานมาประกอบการแก้ข้อกล่าวหา หรือคัดค้านกรรมการสอบสวนวินัยและเมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วให้รายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดวินัยตามกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในข้อใด หรือไม่อย่างไร ควรได้รับโทษสถานใดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดําเนินการสั่งลงโทษโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 17 (3) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541 ซึ่งในการลงโทษปลดออกนั้นตามข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2542 ข้อ 37 วรรคท้าย ได้กําหนดให้เป็นอํานาจของเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสถาบันตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้าฯ จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ระเบียบสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัยฯ กําหนดถึงอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนวินัยให้เป็นผู้ดําเนินการดังกล่าว และให้รายงานเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจสั่งลงโทษทางวินัยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสถาบัน นอกจากนี้ตามข้อ 6 ของระเบียบสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนวินัยฯ กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยพิจารณาและวางแนวทางในการสอบสวน ตลอดจนกําหนดประเด็นข้อกล่าวหาและขอบเขตในการสอบสวนก่อนที่จะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อรับทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยมิให้กําหนดถึงการแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบไว้ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนตามระเบียบดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกําหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้
          ดังนั้น ในการสอบสวนวินัย คณะกรรมการสอบสวนวินัยจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า ในกรณีคําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวประสงค์จะให้โอกาสแก่ผู้อาจกระทบสิทธิจากคําสั่งทางปกครองได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนมีคําสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อประกันความเป็นธรรมและให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กําหนดให้คําสั่งทางปกครองที่ออกโดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับฟังคู่กรณีที่จําเป็นต้องกระทําได้ดําเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ไม่เป็นเหตุให้คําสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลังและวรรคสาม กําหนดให้การกระทําดังกล่าวจะต้องกระทําก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้น
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อมิได้มีการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่ได้จากถ้อยคําของพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวในลักษณะของการระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทําของพยานบุคคล ตลอดจนความเกี่ยวข้องของพยานเอกสารที่อ้างอิงว่ามีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอตามแบบ สว. 3 อันเป็นมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัย การรักษาวินัย และการดําเนินการทางวินัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าใจข้อกล่าวหาอย่างชัดแจ้งและสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อย่างเต็มที่ กรณีแห่งคดีนี้จึงถือได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนมิได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่มีให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จากพฤติการณ์เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ดําเนินการเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทําให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังนั้น การส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา จึงไม่เข้าลักษณะของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับฟังคู่กรณีที่จําเป็นต้องกระทําให้สมบูรณ์ในภายหลังก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ตามความในมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ การดําเนินการเพื่อออกคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ดําเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           คําพิพากษาดังกล่าว วางหลักสําคัญเกี่ยวกับสิทธิของคู่กรณีในอันที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ได้ว่า
          (1) องค์กรฝ่ายปกครองจะต้องปฏิบัติต่อสิทธิของคู่กรณีใน 2 ลักษณะ คือ
               1) ต้องให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุที่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองอย่างชัดแจ้งและเพียงพอ
               2) ต้องให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของอีกฝ่ายหรือสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนอย่างเพียงพอ ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่จะใช้สิทธิโต้แย้งและการรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนความครบถ้วนของพยานหลักฐานที่อีกฝ่ายยกขึ้นเป็นข้อกล่าวหา แต่หากฝ่ายปกครองได้ให้โอกาสดังกล่าวแล้ว แต่คู่กรณีไม่รักษาสิทธิของตน ถือว่าฝ่ายปกครองได้กระทําการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          (2) การดําเนินการเพื่อให้คู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงหรือมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน เป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ หากฝ่ายปกครองไม่ปฏิบัติตาม คู่กรณีมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
          (3) สิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน เป็นเงื่อนไขความสมบูรณ์ของคําสั่งทางปกครองที่ฝ่ายปกครองจะต้องถือปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง และคู่กรณีมีสิทธิที่เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติให้ถูกต้องหรือโต้แย้งคัดค้าน หากฝ่าฝืนจะมีผลทําให้คําสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย