มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
1. การเรียกค่าเลี้ยงชีพตาม ป.พ.พ.มาตรา 1526 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ
(1) เหตุแห่งการหย่านั้น เป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพแต่เพียงฝ่ายเดียว
จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560 ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38
กรณีที่คู่สมรสต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558 โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง
โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์
(2) การหย่าจะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกร้องเอาค่าเลี้ยงชีพนั้นยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561 เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3232/2533 การที่โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตได้ประมาณ 3 เดือนแล้วจำเลยได้ออกจากบ้านไปโดยมิได้กลับมาอีกเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ทั้งมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรแต่อย่างใดนั้นเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(4) โจทก์ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเลยรับราชการไม่มีเวลาดูแล รักษาพยาบาลโจทก์ได้ โจทก์จึงนำน้องชายมาอยู่ในบ้านด้วยเพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือดูแล ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุผลอันจำเป็นและสมควรเป็นอย่างยิ่ง การที่น้องชายโจทก์ทะเลาะกับจำเลยและทำร้ายจำเลยนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งจำเลยเองก็มีอำนาจที่จะบอกให้น้องชายโจทก์ออกไปจากบ้านได้ แต่จำเลยก็มิได้กระทำเช่นนั้น กลับออกไปจากบ้านเสียเอง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโจทก์ป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตนเองมิได้และกำลังต้องการความช่วยเหลือจากจำเลยอยู่ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยถือโอกาสละทิ้งร้างโจทก์โดยมิได้ตั้งใจจะอยู่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามความสามารถและฐานะของตน จึงถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าดังกล่าวเป็นเพราะความผิดของจำเลยเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และเนื่องจากโจทก์มีอาชีพค้าขายของชำแต่หลังจากป่วยเป็นอัมพาตแล้วโจทก์มิได้ทำมาค้าขายอีก ทำให้ขาดรายได้ต้องอาศัยญาติพี่น้องออกค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูประมาณเดือนละ 1,000 บาท โจทก์จึงมีฐานะยากจนลงเช่นนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์หลังจากหย่าขาดจากกัน
ถ้าการหย่านั้นไม่ได้ทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกร้องเอาค่าเลี้ยงชีพยากจนลง ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526
(3) คู่สมรสฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพ จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งมาในคดีหย่านั้น
กรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ก็ไม่อาจบังคับให้อีกฝ่ายรับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550 แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่า โจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้ว จะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้
กรณีตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่า จะต้องตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้เรียบร้อยด้วย จะมาเรียกร้องภายหลังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561 โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าพฤติการณ์เกี่ยวกับรายได้หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540 มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะของคู่กรณีแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้นมีราคาสูงกว่า 700,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาและบุตรอายุ 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์ 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาท จำเลยจะเหลือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
2. การเรียกค่าเลี้ยงชีพอันเนื่องมาจากการหย่าเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 1527
มาตรา 1527 ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1516 (7) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516 (9) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา 1526
กรณีนี้ ฝ่ายจำเลยซึ่งถูกฟ้องหย่าเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงดังกล่าว สามารถฟ้องแย้งให้ฝ่ายโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนเองได้ หากศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ตามมาตรา 1527
3. คู่สมรสสามารถตกลงกันกำหนดเรื่องค่าเลี้ยงชีพไว้ในสัญญาหย่าได้ ถ้าไม่ตกลงค่าเลี้ยงชีพกันไว้ในสัญญาหย่า จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพกันในภายหลังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2523 บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 3 ขณะฟ้องคดีนี้เป็นเวลาที่ใช้บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ การเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1526 ซึ่งจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อมีคดีหย่าและจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกมาในคดีหย่านั้นและศาลจะสั่งให้ได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว กรณีคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงหย่ากันเองและจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีคดีฟ้องหย่าต่อศาลจึงไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพจากกันภายหลังหย่ากันแล้ว
4. การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ
เมื่อศาลพิพากษาให้ฝ่ายใดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแล้ว ฝ่ายนั้นย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงชีพตามจำนวนและระยะเวลาตามที่กำหนด แต่ถ้าฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพทำการสมรสใหม่ หรือกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ เมื่อฝ่ายที่มีหน้าที่จ่ายยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยแสดงให้เห็นว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว