แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทรัพย์และที่ดิน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทรัพย์และที่ดิน แสดงบทความทั้งหมด

16 ตุลาคม 2567

ฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งออกโฉนดทับที่ดินหรือรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น

          ป.ที่ดิน

          มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง  บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
               (1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
               (2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี
               (3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

          มาตรา 61  เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้

          ...........

          มาตรา 61 วรรคแปด  ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด

          มาตรา 62  บรรดาคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลแจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือคำสั่งนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ด้วย


          การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หากออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดิน เช่น ออกทับที่ดินของผู้อื่น หรือรุกล้ำที่ดินผู้อื่น กรณีเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้นย่อมสามารถฟ้องเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเสียได้ 


          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้


          การออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทล้ำเข้าไปในโฉนดที่ดินของผู้อื่น เมื่อเจ้าของโฉนดไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้ามา เจ้าของโฉนดย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2548 การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ถึง 24289 ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ของจำเลยล้ำเข้าไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ โจทก์มีเจตนาซื้ออาคารเลขที่ 56/56 และ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงที่ดินพิพาท โดยโจทก์ได้ใช้ผนังด้านข้างของอาคารเลขที่ 56/56 กับรั้วที่สร้างต่อจากแนวผนังด้านข้างของอาคารกั้นระหว่างอาคารเลขที่ 56/56 กับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยปลูกต้นไม้ประดับไว้ โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารโดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง จากจำเลย
          การได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และที่ดินที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ คดีนี้โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินโฉนดเลขที่ 24286 โดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินรวมไปถึงที่ดินพิพาท จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทและจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนาของผู้ขอออกโฉนดที่ดินทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 กลับไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ซึ่งคลาดเคลื่อนไปหาได้ไม่
          โฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ซึ่งรุกล้ำที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยคลาดเคลื่อน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อนนั้นได้ ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 61 แม้จำเลย จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอนก็ตาม เนื่องจาก มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติรองรับว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด และเมื่อความในมาตรา 61 วรรคแปด ดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินโดยกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการตามคำพิพากษานั้นอย่างไร ซึ่งจำเลยสามารถนำคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปดำเนินการให้ได้รับผลตามคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องอาศัยคำพิพากษาบังคับโจทก์ให้ไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินอีก

          เมื่อไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน แม้จะนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของผู้อื่นไปออกโฉนด ก็เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบ ศาลสั่งเพิกถอนได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2546 จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน การที่จำเลยนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงไม่ชอบ ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และตราบใดที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังไม่ถูกเพิกถอนย่อมถือว่าการละเมิดยังมีอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2538  โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 โจทก์จึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการเรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่ก็เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 3 ว่าด้วยการครอบครองต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี ตามมาตรา 1375 
          ที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยมีการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแล้ว น.ส.3 ย่อมเป็นอันยกเลิก โฉนดที่ดินซึ่งจำเลยรังวัดออกมาจากที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวจึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดิน การที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินน.ส.3 ของโจทก์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดิน จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย


          ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่ามีสิทธิครอบครองเท่านั้น หาก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองจริงก็สามารถนำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ได้ว่าโฉนดออกโดยไม่ชอบ และเมื่อปรากฏว่าโฉนดออกโดยไม่ชอบ แม้โจทก์ไม่ขอให้เพิกถอน ศาลก็ชอบจะเพิกถอนเสียได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546 แม้ที่ดินพิพาทจะมีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของจำเลยก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดและการออกโฉนดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบหรือไม่ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้


          ฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ออกโดยไม่ชอบ ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินหรือทับที่ดินแปลงอื่น เป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของเจ้าของ ฟ้องได้โดยไม่มีกำหนดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2545  การออกโฉนดที่ดินเป็นงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมที่ดิน เมื่อโจทก์เห็นว่าการออกโฉนดที่ดิน คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกรมที่ดินได้ แม้ป.ที่ดิน มาตรา 61 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จะมีบทบัญญัติให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินสำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่กฎหมายประสงค์จะกระจายอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดได้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ห้ามมิให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกโฉนดที่ดินฟ้องกรมที่ดินแต่อย่างใด
          โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เลขที่ 3816 ในส่วนรุกล้ำเข้ามาในโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ตาย ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 เป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น แม้จะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

          ผู้ที่ขอออก น.ส.3 ก. จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเช่นเดียวกันกับการออกโฉนด เมื่อบุคคลผู้ที่ขอออก น.ส.3 ก. มิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ย่อมเป็นการออก น.ส.3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอน จะขอให้ผู้นั้นโอนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2543 จำเลยมิใช่ผู้มิสิทธิครอบครองที่พิพาท ฉะนั้น การออก น.ส.3 ก. เพื่อแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่พิพาท จึงเป็นการออก น.ส.3 ก. ที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง โจทก์ชอบที่จะดำเนินการออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาทตามสิทธิของโจทก์ จะบังคับให้จำเลยซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทโอนสิทธิครอบครอง ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ และแม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

          เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้จะมีการรับโอนสิทธิจากผู้มีชื่อตาม น.ส.3 ก. ไปอีก ผู้รับโอนก็มิได้สิทธิครองครองที่ดิน ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2542 คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฉะนั้นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกไว้ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 7 ผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 6 ในที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้โอน การได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ ดังนี้ คดีนี้จำเลยที่ 7จะอ้างสิทธิใด ๆ ที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ คดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย ดังนี้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของโจทก์ในคดีก่อน โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้และการที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 7 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วใส่ชื่อโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนจะแปลว่าเป็นการขอให้บังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ไม่ได้เช่นกัน ชอบที่ศาลจะยกคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดังกล่าวเสีย คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 ย่อมไม่ถูกต้องศาลฎีกาจึงแก้ไขโดยพิพากษาว่าสำหรับค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1300 "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ว่ายังไม่ได้ไปจดทะเบียน และในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็มีบุคคลภายนอกที่ได้ตัวทรัพย์นั้นหรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยการจดทะเบียน ผลของมาตรา 1300 คือ ถ้าการได้ไปของบุคคลภายนอกทำให้บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนต้องเสียเปรียบ บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนก็มีสิทธิจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้ไปของบุคคลภายนอกได้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าบุคคลภายนอกนั้นได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปโดยไม่สุจริตหรือได้ไปโดยไม่เสียค่าตอบแทน แต่ถ้าการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งบุคคลภายนอกผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน มี 2 ประเภท คือ

          1 บุคคลที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้น คือ บุคคลตามมาตรา 1299 วรรคสอง เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้มีการจดทะเบียน เป็นต้น

          2 บุคคลผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมเรียบร้อยทุกอย่าง แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการได้มาตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เช่น ทำสัญญาซื้อที่ดินโดยชำระราคากันเรียบร้อยพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แล้วเหลือเพียงการจดทะเบียนโอนเช่นนี้ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2494  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันโดยผู้ขายได้รับชำระราคาที่ดินแล้ว แต่ยังทำโอนไม่ได้เพราะพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินที่ขายให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมาจึงจะทำโอนกัน ผู้ซื้อจึงได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นตลอดมา 4 ปีเศษ  ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ก่อนแล้วตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2500  จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4,5,6,7 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแม้การยอมให้จำเลยที่ 2,4,5,6,7 ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540  การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน 23 แปลง ของจำเลยที่ 2 ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา57 (1) กรณีไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว

          กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะให้ หรือจะแลกเปลี่ยน คงมีสิทธิตามสัญญาเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2497  สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายอสังหาาริมทรัพย์นั้น เป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่ใช่ทรัพย์สิทธิซึ่งจะติดตามตัวทรัพย์เอากลับคืนจากบุคคลภายนอกได้และไม่เป็นสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2540  ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเอกสารท้ายฟ้องต่อมาจำเลยที่ 1 กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 นั้น เมื่อสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งมีสิทธิเพียงที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น โจทก์หามีทรัพย์สิทธิที่จะไปบังคับแก่จำเลยที่ 4 ผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ ดังนี้โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้

          ทางแก้ของบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน คือการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237

           ***โดยสรุป ในกรณีที่เป็นสัญญาประเภทเด็ดขาดคงเหลือแต่การไปจดทะเบียนโอนเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญานั้นถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภทจะซื้อจะขายนั้นเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าจะเพิกถอนก็อาจใช้บทบัญญัติในเรื่องหนี้ตามมาตรา 237 มาปรับใช้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2516   จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจาก ม.แต่ยังชำระราคาไม่ครบ จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามมาตรา 1300 คดีของจำเลยต้องด้วยมาตรา 237 แต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่าง ม. กับ ห. และระหว่าง ห.กับโจทก์ได้  โดยที่จำเลยมิได้ฟ้อง ม. กับ ห. เข้ามาในคดีด้วย

          การรับมรดกเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถือเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จึงใช้สิทธิเพิกถอนตามมาตรา 1300 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2487  ผู้รับมรดกปกครองที่ดินมรดกร่วมกันมา ผู้รับมรดกคนหนึ่งโอนที่ดินมรดกให้แก่บุตรของตนโดยไม่สุจริต ผู้รับมรดกอื่นฟ้องขอเพิกถอนได้ตามมาตรา 1300 และ 1359
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2566 จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเพื่อกลับคืนสู่กองมรดกได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวกลับมาเป็นของ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือ ต. เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. ดังนี้ ตามคำขอดังกล่าวจึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่า โจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่าง จ. ในฐานะส่วนตัวกับ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์ แต่ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมตามคำขอท้ายดังกล่าวของโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้ที่ดินกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. โดยผลของคำพิพากษา อีกทั้ง ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอีก

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536   จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยผลของคำพิพากษา แม้ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเพิกถอนการยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2961/2517   โจทก์นำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้เงินกู้ตามคำพิพากษา ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้จำเลยได้ขายให้ผู้ร้องขัดทรัพย์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2511 แต่การโอนขัดข้อง ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง หากจำเลยไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ยึดทรัพย์จำเลยก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีจำเลยดังกล่าว และกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยผลแห่งคำพิพากษาคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ซึ่งถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ก่อนโจทก์ ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อบังคับคดีเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เช่นกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธินั้น ๆ แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2532  แม้โจทก์ยึดที่พิพาทก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องย่อมถือได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตราบใดที่ยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้

          แม้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่หากไม่ได้ตั้งประเด็นต่อสู้ไว้ในคดี ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการโอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2542  เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท ต่อมาได้ขายให้แก่ ค. และ ค.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทระหว่างพิจารณาคดีค. และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนและจะชำระเงินให้ภายใน 6 เดือน ซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่หลังจากที่จำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่ ค.ครบถ้วนแล้ว ค. ได้ขายบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้ ค. แล้วก็ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ทำให้บ้านพิพาทดังกล่าวยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ หากการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างโจทก์และ ค. ไม่เสียค่าตอบแทนหรือกระทำการโดยไม่สุจริต แต่เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือโดยไม่สุจริตอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้แม้ก่อนหน้านี้จำเลยจะเคยแถลงต่อศาลทำนองว่า โจทก์รับโอนบ้านพิพาทมาโดยไม่สุจริต แต่การตั้งประเด็นในคดีต้องตั้งด้วยคำคู่ความ จะตั้งด้วยคำแถลงของคู่ความเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับโอนบ้านพิพาทมาจาก ค. ตามสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์และมีผลบังคับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้านพิพาทมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
          ***ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ แต่ที่แพ้คดีเพราะเป็นเรื่องความบกพร่องในการต่อสู้คดี เนื่องจากไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในเรื่องนี้คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบเพื่อต่อสู้โจทก์

          คู่สมรสที่ได้รับอสังหาริมทรัพย์มาจากสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจากการจดทะเบียนหย่า เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าได้แบ่งทรัพย์สินเรียบร้อย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนโอน แต่ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558   ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2557  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมใดๆ อันเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินพิพาทและให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น เป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) (3) ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และคำพิพากษาที่ชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลคดีนี้ คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแทน สิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสามย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และสิทธิเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นทรัพยสิทธิที่ไม่สูญสิ้นไปเพราะเหตุแห่งการไม่ใช้สิทธินั้น แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ก็ตาม คำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลก็หาได้หมดความจำเป็นแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใดไม่ จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่

          ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556   แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

           ***เมื่อผู้รับโอนคนแรกไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ผู้รับโอนคนถัดไปแม้จะรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

          การรับมรดกที่ดิน (หรืออสังหาริมทรัพย์) เป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563 เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1) การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

16 สิงหาคม 2567

ภาระจำยอม


          ภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิประเภทรอนสิทธิ เป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบกระเทือนถึงการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

          มาตรา 1387 "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น"


          อสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาระจำยอมเรียกว่า "สามยทรัพย์" ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับภาระจำยอมเรียกว่า "ภารยทรัพย์" ตัวอย่างภาระจำยอม เช่น ยอมให้มีทางเดินหรือทางน้ำ ยอมให้ชายคาหรือหน้าต่างบุคคลอื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของตน เป็นต้น

          ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2556  ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย 


          เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์นั้นเช่นเดิม จึงมีสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินที่สามารถขายที่ดินภารยทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549  ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ

          เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์หรือในสามยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามมาตรา 1388
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2546  การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จัดจำหน่ายที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งมีสภาพติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไปโดยมีทางเท้าและถนนผ่านตึกหน้าโครงการ เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดิน ดังนั้น ทางเท้าและถนนซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินจึงต้องตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 และข้อ 30 โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้ที่รับโอนที่ดินมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ภารจำยอมจึงตกติดไปยังโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทางภารจำยอมที่ตกแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้
          ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางเท้าตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะใช้ทางเท้าและกันสาดปูนซึ่งมีสภาพติดกับตึกแถวมาแต่แรกโดยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แต่วัสดุผ้าใบกันฝนที่จำเลยนำมาติดตั้งไว้หน้าตึกแถว เป็นการกระทำขึ้นภายหลัง จำเลยไม่มีสิทธิกระทำให้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพราะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จำเลยจึงต้องรื้อออกไป แม้จะมีการติดตั้งผ้าใบกันฝนที่ตึกแถวของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้

          ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้ ตามมาตรา 1389
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2555  โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทอยู่ภายใต้การจัดสรรเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น การถูกจำกัดสิทธิโดยภาระจำยอมของโจทก์ให้แก่ที่ดินที่โจทก์จัดสรรขายไปซึ่งสามยทรัพย์จึงเป็นภาระจำยอมเฉพาะใช้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสนามเด็กเล่นเท่านั้น และแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยมิได้เข้าดูแลสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ หรือสนามเด็กเล่น ภายในหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านที่ชาวบ้านภายในหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ดูแล แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนภาระจำยอมไว้
          อาคารที่จำเลยทั้งสี่ก่อสร้างเป็นอาคารที่เป็นศูนย์แสดงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพจึงเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ แม้อาคารดังกล่าวมีห้องน้ำซึ่งสามารถทำให้เด็กที่มาออกกำลังกายที่สนามเด็กเล่นใช้ประโยชน์ในห้องน้ำนั้นได้ด้วย หรือการที่ตามหนังสือขออนุญาตก่อสร้างอาคารระบุว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม และจัดกิจกรรมทางกีฬาต้านยาเสพติดของเยาวชนด้วย ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย โดยอาคารดังกล่าวยังคงเป็นศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพ และไม่อาจถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่นที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมไว้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิก่อสร้างอาคารดังกล่าวบนที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4845/2550  ภาระจำยอมรายพิพาทได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และสำเนาบันทึกข้อตำลงเรื่องภาระจำยอม จึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนาผูกพันตามสำเนาบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทตามคำขอของโจทก์ที่แจ้งแก่จำเลยว่าเพื่อให้บริษัทเงินทุนผู้รับจำนองยอมรับจำนองที่ดินของโจทก์เป็นประกันการขอกู้ยืมเงินของโจทก์นั้นวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งจำเลยยังยืนยันว่าบริษัทเงินทุนผู้รับจำนองจะรับจำนองต่อเมื่อที่ดินของโจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมเรื่องทางเดินแล้วเท่านั้น และหลังจากจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทโจทก์ได้จำนองที่ดินไว้แก่บริษัทเงินทุนผู้รับจำนอง แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงวัตถุประสงค์และผลของการจดทะเบียนทางภาระจำยอมว่าเป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินของโจทก์ที่จะใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม การจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทของจำเลยเป็นการกระทำด้วยใจสมัครและไม่ได้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงไม่เป็นโมฆะ แม้ต่อมาภายหลังโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองจากบริษัทเงินทุนดังกล่าว ก็หาทำให้ภาระจำยอมที่มีผลบริบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่ต้นกลับกลายเป็นโมฆะไม่
          เมื่อบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระบุว่าเป็น "ภาระจำยอมเรื่องทางเดิน" ย่อมไม่จำเป็นต้องมีความกว้างถึง 3 เมตร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ทางภาระจำยอมรายพิพาทกว้าง 3 เมตร โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องใช้รถยนต์ผ่านทางภาระจำยอมรายพิพาท เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากที่จดทะเบียนระบุว่าเป็นทางเดิน ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 1388 และ 1389

          แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าตามแนวทางภาระจำยอมด้านข้าง เมื่อไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออก ถือไม่ได้ว่าทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ และไม่ได้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จึงมีสิทธิทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2551  บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้

          สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของภารยทรัพย์ มีดังนี้ 
          1. ต้องไม่ประกอบการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก (มาตรา 1390)
          2. ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง (มาตรา 1392)
          3. ถ้ามีการแบ่งภารยทรัพย์ ภาระจำยอมก็คงมีอยู่ทุกส่วน ที่แยกออกไป แต่ถ้าส่วนใดไม่ใช้ หรือ ใช้ไม่ได้ เจ้าของส่วนอาจเรียกหรือ ขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้  (มาตรา 1394)
          4. ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น
          ท่านว่าจะจำหน่าย หรือทำให้ภาระจำยอมตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่นต่างหากจากสามยทรัพย์ไม่ได้ (มาตรา 1393)

          ต้องไม่ประกอบการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามมาตรา 1390

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
          เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
          จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2554  ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าในที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์เสียหาย แม้โจทก์จะก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าดังกล่าวมาก่อนที่ดินพิพาทจะตกเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนเพิงเก็บสินค้าแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการทำละเมิดแก่จำเลย
          การที่ อ. เจ้าของที่ดินคนก่อนก่อสร้างรั้วคอนกรีตกีดขวางทางภาระจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อที่ดินพิพาทโอนมาเป็นของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่รื้อถอนรั้วคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยสร้างโครงหลังคาเหล็กยึดกับผนังโรงงานของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีเสาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงเหล็กติดตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทนั้นไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์ลดลงหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนโครงเหล็กหลังคา





          เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ตามมาตรา 1391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2548  เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเชื่อมต่อกับทางสาธารณะ น. บิดาจำเลยมีเจตนาที่จะให้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นที่จัดสรรมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยสะดวก ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน และตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง
          เมื่อทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้เนื่องจากการจดทะเบียนภาระจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391

          ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง ตามมาตรา 1392
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2554  โจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 บริเวณที่เป็นทางคอนกรีตเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2516 ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 มาโดยตลอดจำเลยทั้งสี่กับพวกมาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 หลังจากโจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางในที่ดินนี้จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์โดยอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทุบทำลายทางคอนกรีตที่โจทก์ใช้เป็นทางพัฒนาที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินกว้าง 8 เมตร อันเป็นทางพิพาท โจทก์กับบริวารจึงย้ายมาใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทุบทำลายทางคอนกรีตอันเป็นทางภาระจำยอมเดิมของโจทก์แล้วไปทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 จึงเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์ให้ย้ายภาระจำยอมไปยังส่วนอื่น เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระะจำยอมเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ที่โจทก์มาใช้ทางพิพาทจึงไม่จำต้องนับอายุความกันใหม่
          คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ในเรื่องทางรถยนต์ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายภาระจำยอมเดิมมาเป็นทางพิพาทที่มีสภาพเป็นถนน สำหรับรถยนต์แล่นเข้าออก และโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำเลยเดิมมาเป็นทางใหม่ โจทก์และบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกทางพิพาท ฟังได้ว่า ทางดังกล่าวตกอยู่ภาระจำยอมทางรถยนต์ด้วย
          โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงและข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำยอมไปยังทางที่พิพาท อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ จนทำให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ซึ่งไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งทางที่พิพาทคงเป็นเพียงทางภาระจำยอม มีผู้ได้ภาระจำยอมในทางที่พิพาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ปัญหาดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาในปัญหาดังกล่าวมา จึงเป็นการพิพากษาในสิ่งใดๆ นอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

          ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ตามมาตรา 1393 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2541  เดิม ค.สามีโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางเดินบนที่ดินของ พ.ทางด้านทิศตะวันออกออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า10 ปี ที่ดินของ พ.ดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของ ค.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบกับมาตรา 1382 ต่อมา พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมเดิมมายังทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของ พ. ซึ่งประสงค์จัดสรรที่ดินขาย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแทนทางเดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 เมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสามยทรัพย์มาจาก ค. และโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินจาก พ.ซึ่งมีทางพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ให้เปิดทางพิพาทและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1391วรรคแรก
          โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินในที่ดินของ พ.โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมมิใช่ถือวิสาสะ จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 จะทราบหรือไม่ทราบระหว่างโจทก์ที่ 1 หรือ ค.เจ้าของที่ดินเดิมที่โจทก์ที่ 1 รับโอนที่ดินมา ผู้ใดเป็นผู้ได้สิทธิภาระจำยอมตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ
          เหตุที่ พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมนั้นเนื่องจาก พ.จะนำที่ดินแปลงที่เป็นภารยทรัพย์มาจัดสรรขาย ดังนั้นการย้ายทางภาระจำยอมไปใช้ทางพิพาทจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ พ. การย้ายทางภาระจำยอมดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการที่ ค.เจ้าของที่ดินแปลงที่เป็นสามยทรัพย์ตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ พ.ก็เป็นค่าตอบแทนในส่วนที่ค.จะได้ใช้ทางพิพาทกว้างขึ้นจากเดิมนั้น คู่กรณีย่อมสามารถตกลงกันด้วยความสมัครใจได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 โจทก์ทั้งสองจึงสามารถสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงดังกล่าวเพื่ออธิบายประกอบให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของคู่กรณีได้
           โจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางพิพาทจนได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยโดยอายุความ และโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิที่ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ มิใช่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่าง ค.กับโจทก์ แม้ว่า ค.จะผิดสัญญาการชำระเงินหรือไม่ก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทของโจทก์ทั้งสองที่มีอยู่สิ้นไปไม่
          การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองทุกแปลง ตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างส่ง แต่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ไม่ครบทุกแปลงโดยไม่ระบุที่ดินตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 ด้วย ย่อมทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 1 แปลงดังกล่าวนั้นไร้ผล เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

          ภาระจำยอมเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลา เหมือนทรัพยสิทธิประเภทอื่น ดังนั้น การทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระจำยอมต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ชัดเจน เช่น ความกว้างความยาว การให้ยานพาหนะผ่านได้หรือไม่ หรือการกำหนดว่าให้หมดภาระจำยอม เมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ให้บุคคลอื่น

ภาระจำยอม อาจเกิดขึ้นจากนิติกรรม โดยอายุความหรือโดยผลของกฎหมาย


          ภาระจำยอมโดยนิติกรรม จะทำได้โดยการตกลงกันระหว่างเจ้าของที่ดินแปลงที่จะจดเป็นภาระจำยอม และแปลงที่จะได้ประโยชน์จากภาระจำยอม โดยต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2553  ภาระจำยอมเมื่อจดทะเบียนแล้วมีผลผูกพันตราบเท่าที่ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนเพราะเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1298 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเข้ามาในคดีนี้ แต่ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากและคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือกลับว่าการจดทะเบียนภาระจำยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน จึงต้องฟังว่าการจดะเบียนภาระจำยอมชอบและมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ให้ต้องปฏิบัติตาม แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่ามีการจดทะเบียนภาระจำยอม ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นความรับผิดในเรื่องทรัพยสิทธิที่จดทะเบียนแล้วได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองแก่โจทก์ว่า หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น. โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้ อันเป็นเหตุให้ น. ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอจึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์เหมือนอย่างที่ดินซึ่งแบ่งแยกพร้อมกับแปลงอื่นๆ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมและบังคับให้จำเลยรื้อรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นภารทรัพย์ออกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
          จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
          จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม

          ภาระจำยอมที่เกิดจากอายุความ เกิดโดยทื่ดินแปลงหนึ่งได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยสงบ เปิดเผย และด้วยมีเจตนาเป็นเจ้าของสิทธินั้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  

          การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอม ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2552  ก่อนหน้าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1129-1130/2544 ที่ดินโฉนดเลขที่ 3437 เดิมซึ่งมีทางพิพาทอยู่บนที่ดิน เป็นที่ดินที่โจทก์กับพวกมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น การใช้ทางพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการใช้ตามกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งไม่ใช่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทาภาระจำยอม แต่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมหากจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์

          ชักน้ำเข้านาผ่านลำรางพิพาทในที่ดินจำเลยไปยังที่ดินโจทก์ ด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2552  โจทก์ทั้งสี่ใช้ลำรางพิพาทในการชักน้ำเข้านาที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แล้วขุดเป็นบ่ออยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว จากนั้นโจทก์ทั้งสี่ใช้ระหัดวิดน้ำหรือใช้เครื่องสูบน้ำชักน้ำเข้าไปยังที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วยความสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี แล้ว แม้จะได้ความว่ามีลำรางพิพาทถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการชักน้ำเข้าไปโดยการใช้ระหัดวิดน้ำหรือเครื่องสูบน้ำจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แต่ก็อยู่ในลักษณะที่ลำรางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามต้องรับกรรม หรือรับภาระเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่อยู่ถัดไปด้วยเช่นกัน เพราะสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน ถ้าการที่ต้องภาระจำยอมนั้นมีลักษณะเป็นภาระแก่อสังหาริมทรัพย์อื่น จะเป็นแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงก็ดี จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นคั่นอยู่ก็ดี ก็ตกเป็นภาระจำยอมได้ ที่ดินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทั้งหกแปลงในการใช้ลำรางพิพาทโดยอายุความ

          ภาระจำยอมที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นภาระจำยอม เช่น มาตรา 1312 มาตรา 1339-1343 และ 1352 รวมถึงกรณีกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2562  ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 กำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์ในภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดินตามโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โครงการ 1 ถึง 7 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคซึ่งจำเลยและบริษัท ก. ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต แต่ผู้ร้องสอดเพิ่งจัดให้ที่ดินพิพาทใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และสวนหย่อมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรภายหลังจากที่ดินจัดสรรด้านหน้าโครงการถูกเวนคืนแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะยินยอมให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม เมื่อที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคที่อยู่ในแผนผังและโครงการที่ดินจัดสรร ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรในโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดให้รื้อถอนกำแพงพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารจอดรถในที่ดินพิพาท ห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างรั้วกำแพงและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562  ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

          การสิ้นไปแห่งภาระจำยอม
          1. ถ้า ภารยทรัพย์ หรือ สามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดเท่ากับภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ
          2. เมื่อภารยทรัพย์ และ สามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้
          3. ภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกัน ภาระจำยอมย่อมหมดสิ้นไป
          4. ภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์
          5. เมื่อภาระจำยอมนั้นยังประโยชน์ให้แก่สามยทรัพย์นั้นน้อยมาก เจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน 

          แต่การระงับสิ้นไปแห่งภาระจำยอมซึ่งจดทะเบียนนั้น ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ยังมิได้จดทะเบียนระงับภาระจำยอมนั้น ก็มิอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนสามยทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2413/2566  ขณะโจทก์ทั้งสองซื้อโฉนดที่ดินพิพาท ตามสารบัญการจดทะเบียนปรากฏทรัพยสิทธิ คือ ภาระจำยอมบนที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ใช้สิทธิโต้แย้งทรัพยสิทธิดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าภาระจำยอมยังคงอยู่ แม้ทางภาระจำยอมพิพาทจะไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ยังมิได้จดทะเบียนระงับภาระจำยอมนั้น จำเลยจะยกเอาการระงับแห่งภาระจำยอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนสามยทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหาได้ไม่
           
          ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้จะเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะ เมื่อใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาครบสิบปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2552 โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้การใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว หาใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 ไม่ เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมแล้ว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

          จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2551  จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์

          มีข้อตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2549  โจทก์ยอมรับว่ามีข้อตกลงกับจำเลยว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย เพราะต่างคนต่างยอมให้ผ่าน ในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการยอมให้ผ่านทางพิพาทโดยถือวิสาสะซึ่งกันและกันนั่นเอง
          ที่ดิน โฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์ไม่ได้ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15671 ของจำเลย แต่ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. เพราะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์จะผ่านไปสู่ถนนคลองชลประทานระยะทางที่ใกล้ที่สุดก็คือผ่านที่ดิน โฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. ดังนั้นทางพิพาทช่วงระยะที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 15671 จึงไม่เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดเลขที่ 15673          

          การใช้ทางพิพาทโดยการใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2554  โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถว ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ว. เจ้าของที่ดินและตึกแถวเดิมได้ก่อสร้างถนนหรือทางพิพาทไว้เพื่อให้ผู้มาเช่าเซ้งตึกแถวใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งถ้าหากนับถึงขณะที่โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็ตาม แต่การใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่ อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำหรืออ้าง อ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก่อนโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมหรือไม่เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งเจ็ดแปลงของโจทก์ทั้งสอง
          เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง



10 มีนาคม 2567

บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดิน กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง


          ป.พ.พ. มาตรา 1373  "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง"

          ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้ถือตามความเป็นจริง กล่าวคือ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1367  บุคคลผู้ที่มีสิทธิครอบครองที่แท้จริงอาจจะเป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142/2544  โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสาร ภ.บ.ท. 5 แต่ยังไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์นำเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อรังวัดและนำเสาซีเมนต์ไปปักไว้ 2 ต้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท นอกจากนี้ภริยาโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินก็ไม่เคยเข้าไปดูแลหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมอบหมายให้โจทก์ไปดูแลแทนหรือกระทำแทนเท่านั้น เช่นนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง


          แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 1373 ซึ่งทะเบียนที่ดินตามมาตรานี้ หมายความถึง ทะเบียนที่ดินที่เป็นโฉนดและทะเบียนที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง เช่น น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3565/2538  ที่ดินตาม น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. เป็นที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินอำเภอ จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินดังนั้นข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองย่อมรวมถึงที่ดินที่มี น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. ด้วย

          สำหรับที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือที่ดินที่มีเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินตามความหมายในมาตรา 1373 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7324/2556  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ออกโดยส่วนจัดนิคมสหกรณ์ในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดินพิพาทดังกล่าวมีหนังสือแสดงการทำประโยชน์เป็นหลักฐาน จึงมิใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินอำเภอหรือจังหวัดในกรมที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง ที่ดินที่มีหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เป็นหลักฐานจึงถือได้ว่าเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ใบไต่สวน หรือหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่าขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้ง ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
          การที่จำเลยนำสืบว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. มิใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยแย่งการครอบครอง และแม้ว่าคำให้การของจำเลยจะไม่มีประเด็นนำสืบว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. เนื่องจากจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้อย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เท่ากับเป็นการให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง โจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน (เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้)จึงต้องฟังว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน และได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367
 
          เมื่อสิทธิครอบครองในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้ถือตามความเป็นจริง ตามมาตรา 1367 แต่มีกฎหมายมาตรา 1373 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น หากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง บุคคลนั้นก็สามารถนำสืบพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ว่าจำต้องถือตามข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าวเสมอไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2561  จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560  แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9456/2558  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ก็บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ที่ดินตามโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารมหาชน จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างและนำสืบว่า โฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีภาระพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913-6916/2550  จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามได้จัดการออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสามก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ก็ได้สิทธิครอบครองแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2550  แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2545  หลังจากตั้งวัดโจทก์ขึ้นแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นโดยยืมศาลาวัดสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ 10 ปี จึงสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดด้วยความยินยอมของโจทก์ แต่เมื่อวัดโจทก์ย้ายออกไปแล้ว โจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาทยังคงนำที่ดินออกหาผลประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่ เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้ยกให้เพื่อสร้างวัด ซึ่งต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นตามเจตนาของผู้ยกให้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่วัดและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น โดยที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่มีผู้นำที่ดินพิพาทไปออก น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลยและต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์อยู่เช่นเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326-9327/2544  น. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในนามของ น. เป็นเพียงการมีชื่อถือสิทธิครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนจำเลยทั้งสามเท่านั้น เมื่อ น. ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ น. การที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อ ส. สามีของโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ในฐานะที่ ส. เป็นทายาทของ น. โดยที่ ส. ไม่มีสิทธิ  ก็ไม่ทำให้ ส. ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสามตลอดมา แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามทำหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินด้านทิศตะวันออกของถนนขอนแก่น - มัญจาคีรี ให้เป็นของจำเลยที่ 2 กับ ส. สามีของโจทก์ร่วมกัน สัญญาดังกล่าวก็มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะ ส. สามีของโจทก์กับจำเลยทั้งสามมิได้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ น. ในขณะทำสัญญาหรือจะมีขึ้นในภายหน้า หากแต่เป็นสัญญาให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้มีการส่งมอบการครอบครอง แม้จำเลยทั้งสามจะทำเป็นหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินไว้ แต่ก็มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2541  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ความเป็นเจ้าของต้องพิจารณาจากแนวเขตที่ดินที่ทั้งสองฝ่ายยึดถือครอบครอง น.ส.3 ก.ของจำเลยเป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินส่วนที่มิได้ยึดถือครอบครอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน น.ส.3 ก.ด้านทิศตะวันออกที่อยู่นอกเขตการยึดถือครอบครองของฝ่ายจำเลย และเมื่อโจทก์และจำเลยต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของตน ดังนี้ ที่ดินตาม น.ส.3 ก. ในส่วนที่จำเลยมิได้ยึดถือครอบครองจึงเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยคงเป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยยึดถือครอบครองในกรอบเส้นสีดำประในแผนที่พิพาท ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ที่พิพาทในกรอบเส้นสีแดงดำในแผนที่พิพาท เว้นแต่ที่ดินในกรอบเส้นสีดำประ และให้เพิกถอน น.ส.3 ก.ของจำเลยด้านทิศตะวันออกเฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองที่ดิน กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
         
          ข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน เพราะหากผู้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองแล้วย่อมมีผลให้การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจถูกเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8551/2550  โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยบางส่วนออกทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ ก็มีผลให้จำเลยยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานที่มีชื่อในทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์มาด้วยนั้น พอแปลได้ว่าเป็นคำขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนที่ดินที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนชื่อของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2548  การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ถึง 24289 ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ของจำเลยล้ำเข้าไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ โจทก์มีเจตนาซื้ออาคารเลขที่ 56/56 และที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงที่ดินพิพาท โดยโจทก์ได้ใช้ผนังด้านข้างของอาคารเลขที่ 56/56 กับรั้วที่สร้างต่อจากแนวผนังด้านข้างของอาคารกั้นระหว่างอาคารเลขที่ 56/56 กับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยปลูกต้นไม้ประดับไว้ โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารโดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลย 
          การได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และที่ดินที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ คดีนี้โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินโฉนดเลขที่ 24286 โดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินรวมไปถึงที่ดินพิพาท จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทและจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนาของผู้ขอออกโฉนดที่ดินทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 กลับไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะอ้างสิทธิใดๆในที่ดินพิพาทโดยอาศัยการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ซึ่งคลาดเคลื่อนไปหาได้ไม่ 
          โฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ซึ่งรุกล้ำที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยคลาดเคลื่อน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อนนั้นได้ ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 61 แม้จำเลยจะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอนก็ตาม เนื่องจาก มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติรองรับว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด และเมื่อความในมาตรา 61 วรรคแปด ดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินโดยกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการตามคำพิพากษานั้นอย่างไร ซึ่งจำเลยสามารถนำคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปดำเนินการให้ได้รับผลตามคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องอาศัยคำพิพากษาบังคับโจทก์ให้ไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินอีก 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้          



          แม้จะมีชื่อในทะเบียนที่ดิน แต่ถ้าความจริงแล้วไม่ใช่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครอง ก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น เช่น ไม่มีสิทธินำไปขาย นำไปยกให้ หรือไม่มีสิทธินำไปจำนองกับบุคคลอื่นต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001-4002/2548  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยยอมให้โจทก์ที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนับเป็นการสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป การที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองต่อมาและชำระภาษีบำรุงท้องที่มาตลอดจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดเพื่อตน โจทก์ที่ 1 ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว แม้จะมีชื่อจำเลยที่ 2 ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546  การที่จำเลยซื้อที่ดินซึ่งเกิดที่งอกริมตลิ่ง จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ส่วนที่เกิดที่งอกด้วยโดยผลของกฎหมาย ส่วนเจ้าของที่ดินเดิมพ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมจะได้ขอออกโฉนดในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไว้และต่อมาได้รับโฉนดในภายหลังแล้วโอนขายให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2543 (ประชุมใหญ่)  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แปลงหนึ่งมี น.ส.3 อีกแปลงหนึ่งไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิ โดยได้มาจากการให้ต่างตอบแทนจาก ป. และจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เงินยืม โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็หมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1378 การที่จำเลยที่ 1 ยังคงมีชื่อใน น.ส.3 มีผลให้จำเลยที่ 1 ยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตาม ป.ที่ดินมาตรา 4 ทวิ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ตามความเป็นจริงโดยตรง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 1 ออกจาก น.ส.3 ได้ กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการโต้แย้งตัวทรัพย์ คือ ที่ดินที่ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองตามน.ส.3 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยกระทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 2 ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตาม น.ส.3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2552  ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนาย ค. และนาง บ. ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อนาย ค.และนาง บ. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ค. และนาง บ. จึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้อง เมื่อนาย ค. และนาง บ. ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ นาง ท. ผู้เป็นทายาทของนาย ค.กับนาง บ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยหามีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่โจทก์ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่เกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551   จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน

          ผู้ที่กล่าวอ้างว่าที่ดินมิใช่เป็นของบุคคลที่มีชื่อปรากฎในโฉนด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565 ที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127