04 มีนาคม 2567

ความผิดฐานซ่องโจร

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 210 "ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท"
          
          ผู้ร่วมกระทำความผิดฐานซ่องโจรจะต้องมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป 
          ลักษณะการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด คือ ร่วมคบคิดกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน หรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533)  
          ถ้าเพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2526) หรือถ้าข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แม้จะมีคนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดอาญาอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2539)
          แต่ถ้ามีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้ที่ร่วมสมคบกันนั้นก็มีความผิดฐานซ่องโจรทันที แม้ในขณะลงมือกระทำความผิดตามที่เคยร่วมตกลงกันนั้น ตนเองจะไม่ได้อยู่ด้วย เช่น จำเลยที่ 5 กับพวกรวม 10 คนจับกลุ่มกันวางแผนเพื่อจะใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญพนันบนรถยนต์โดยสารประจำทางโดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญ แล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทงจำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่น ทุกคนเพื่อนำไปแทงใครได้เสียเท่าใดให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมดจำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทางส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง และจะขับรถมารับจำเลยอื่นระหว่างทางหลังจากเล่นการพนันเสร็จแล้ว เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 กับพวกลงมือเล่นการพนันทายเหรียญแล้วชักชวนให้ผู้โดยสารมาแทงอันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้ที่โดยสารไปกับรถยนต์โดยสารโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารพร้อมกับจำเลยอื่น แต่ก็รออยู่ที่สถานีขนส่งและจะขับรถตาม มารับจำเลยอื่นเมื่อเลิกเล่นกันแล้วอันเป็นการแสดงถึง การแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้วการกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2528)
           แต่ถ้าผู้ที่ร่วมสมคบกันเพื่อกระทำความผิดมีจำนวนไม่ถึง 5 คน ย่อมไม่มีความผิดฐานซ่องโจร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2539

          ความผิดที่สบคบกันมุ่งหมายที่จะกระทำนั้น แม้จะเลิกเสียไม่กระทำตามที่ตกลงกันก็เป็นความผิดตามมาตรา 210 แล้ว
           สาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร จะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้คบคิดประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป เมื่อได้ประชุมตกลงกันดังกล่าวแล้ว แม้จะยังมิได้ไปกระทำความผิดตามที่ตกลงไว้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรแล้ว หากมีผู้ที่เข้าร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งไปกระทำความผิดตามที่ตกลงกันไว้  ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง  ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปร่วมกระทำผิด  ก็ต้องมีความผิดด้วยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 213 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2527
          
          ผู้เข้าร่วมประชุมมีความผิดด้วย
          มาตรา 211 "ผู้ใดประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่า ได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร"

          ผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก รับโทษเท่ากับผู้กระทำผิด
          มาตรา 212 "ผู้ใด
          (1) จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร
          (2) ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร
          (3) อุปการะอั้งยี่หรือซ่องโจรโดยให้ทรัพย์หรือโดยประการอื่น หรือ
          (4) ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด
          ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรแล้วแต่กรณี"

          ถ้าความผิดได้กระทำลง พรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำผิดหรืออยู่ด้วยในที่ประชุม หรือหัวหน้า ผู้จัดการ ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำด้วยอีกฐานหนึ่ง
          มาตรา  213 "ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น และบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน"

          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ.จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร และเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ป.อ.มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2540)