20 มีนาคม 2567

นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลา และการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา

          เงื่อนเวลา

          มาตรา 191  "นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด
          นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด"

          เงื่อนเวลา หมายถึงข้อกำหนดที่คู่กรณีตกลงกำหนดจากเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอน โดยเอาเวลามากำหนด โดยอาจเป็นเวลาตามวันแห่งปฏิทิน หรือกำหนดเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ซึ่งรู้แน่นอนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อใด

          เงื่อนเวลามี 2 อย่าง ได้แก่ เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุด

          นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ทันทีที่ทำนิติกรรมนั้นมีผลสำเร็จบริบูรณ์แล้ว เพียงแต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลาเริ่มต้นที่กำหนดไว้ คู่กรณีก็จะไม่สามารถทวงถามให้ปฏิบัติตามนิติกรรมนั้นได้
          ส่วนนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมเกิดขึ้นมาแล้ว และนิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด


          เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุดจะกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงื่อนเวลานั้นกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายลูกหนี้
          มาตรา 192 วรรคหนึ่ง  "เงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะปรากฏโดยเนื้อความแห่งตราสารหรือโดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าได้ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหนี้หรือแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยกัน"

          นิติกรรมที่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ ถ้าเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นซึ่งห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด กรณีนี้ลูกหนี้ย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลาที่กำหนด แต่ถ้าเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุด ดังนี้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับผลของนิติกรรมที่ทำไปนั้นจนกว่าจะสิ้นระยะที่กำหนด

          การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          มาตรา 192 วรรคสอง  "ถ้าเงื่อนเวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้ หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น"

          อย่างไรก็ตาม คู่กรณีฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุด ย่อมมีสิทธิสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาได้ โดยไม่ถือเอาตามข้อกำหนดแห่งเงื่อนเวลานั้น

          พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14381/2553  กรณีที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 850 กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่ตามบันทึกการเจรจาตกลงชดใช้ชำระหนี้ค่าปรับที่นามีความว่า เมื่อเดือนมกราคม 2541 โจทก์ได้รับจ้างใช้รถแทรกเตอร์ปรับที่นาให้จำเลยในราคา 20,000 บาท จำเลยชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้ว ในวันทำบันทึกจำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 2,000 บาท ส่วนที่ค้างชำระ 12,000 บาท จำเลยขอผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ในวันที่ 30 เมษายน 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท และงวดที่ 2 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท ดังนี้จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวยอมผ่อนผันให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วได้ อันเป็นการที่โจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของโจทก์เองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง บันทึกดังกล่าวจึงหาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ หากแต่เป็นเพียงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 193/14 (1) อันเป็นผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างต้องเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับภายในกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 193/14 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ค่าจ้างค้างชำระแต่ละงวดถึงกำหนด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2551  โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 งวดที่สองชำระส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่ชำระงวดแรก จำเลยชำระเงินงวดแรกให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยต้องชำระส่วนที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จะครบกำหนดชำระหนี้ในงวดที่สองวันที่ 10 มีนาคม 2542 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงทวงถามให้จำเลยในฐานะลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดชำระหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง
          โจทก์ฟ้องจำเลยในวันสุดท้ายที่จำเลยยังมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้โจทก์อยู่ ยังไม่ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามข้อตกลงแล้วโดยไม่ได้ยกเงื่อนเวลาชำระหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2542  โจทก์และจำเลยทำสัญญารับฝากขายสินค้ากันโดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 120,000 บาท แก่จำเลย และโจทก์วางเงิน ไว้เป็นประกันแก่จำเลย 575,100 บาท โดยพื้นที่รับฝากสินค้า จำเลยเช่ามาจากบริษัทซ.ต่อมาบริษัทซ.บอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถให้โจทก์ใช้พื้นที่ได้ ทำให้สัญญารับฝากขายสินค้าพิพาทต้องเลิกกันโดยโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การชำระหนี้ ของคู่สัญญาอันเกิดแก่การเลิกสัญญานั้น มาตรา 392 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ โจทก์ต้องออกจากพื้นที่พิพาทเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมแต่โจทก์เมื่อยังไม่ได้ออกจากพื้นที่พิพาท จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาเงินประกันคืนจากจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 แต่เมื่อจำเลยได้ฟ้องแย้งและฎีกาขอให้เอาเงินค่าเสียหายที่โจทก ต้องชำระแก่จำเลยหักออกจากเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยขอหักหนี้โดยไม่ต้องการประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาต่อไป ซึ่งย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 วรรคสอง จึงต้องนำเอาค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทให้แก่จำเลยตลอดเวลาที่ยังไม่ส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน หักกับเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยดังกล่าว จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่พิพาทคืน การที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อหักกับเงินประกันของโจทก์ที่เหลืออยู่ จำนวน 352,361.76 บาทแล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินค่าเสียหาย ให้แก่จำเลยอีกจำนวน 212,698.56 บาทนั้นเป็นฎีกาที่เกินกว่า คำขอตามฟ้องแย้งของจำเลย ศาลบังคับให้ไม่ได้เพราะฟ้องแย้ง เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8048/2540  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมปีละ 65,000 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปี แก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า เมื่อกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยยังมีเวลารื้อถอนและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าต่อไปอีก 30 วัน ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยภายใน 35 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดที่จำเลยมีสิทธิส่งทรัพย์ที่เช่าคืนว่าจะไม่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปนับได้ว่าเป็นเวลาอันสมควรและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์มิได้นิ่งเฉย หรือไม่ทักท้วงที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เริ่มแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเป็นต้นไปและสิ้นสุดก่อนวันที่จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งใดที่ตกลงไว้ และต้องใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่โจทก์ ได้มีหนังสือขยายเวลาให้จำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาและส่งมอบทรัพย์ ที่เช่าคืนภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว เมื่อจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงมีสิทธิรื้อถอนส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์ได้จนถึง ภายในวันที่ 24 เมษายน 2536 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว คงเรียกได้แต่เพียงค่าเสียหายปกติ คือ ค่าเช่าในอัตราและเงื่อนไขเดิมส่วนค่าเสียหายที่เป็นเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2536 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามที่ตกลงไว้ได้ซึ่งถ้าเบี้ยปรับอันมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดก้นไว้ล่วงหน้านั้นสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้และเมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 2,000 บาทอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2507  เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาแล้ว ย่อมแสดงว่า ลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2505  สองฝ่ายมีหนี้สินเกี่ยวค้างกัน คิดบัญชีกันแล้วฝ่ายหนึ่งยังเป็นหนี้อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ จึงตกลงทำเป็นสัญญากู้ไว้ ดังนี้ เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเปลี่ยนข้อผูกพันจากสัญญาเดิมมาผูกพันตามสัญญากู้ สัญญากู้จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพราง
          เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ย่อมแสดงว่าลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2535  กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาไว้จึงอาจจะเป็นการแสดงออกของผู้ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่กำหนดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2530 อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยที่ยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์จนกว่าจะครบกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว จำเลยก็จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยให้การเพียงปฏิเสธหนี้ของโจทก์โดยมิได้ยกเงื่อนเวลานั้นเป็นข้อต่อสู้ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยาย ปัญหาเรื่องเงื่อนเวลามิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ โจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย และได้แจ้งกำหนดนัดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ไปตามนัดทั้งยังมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินแก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์พร้อมกับรับชำระราคาทั้งหมดไปจากโจทก์ก่อนครบกำหนดเงื่อนเวลาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2537  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์ จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยจะขายที่ดินให้ผู้อื่นในราคาสูงกว่าโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 แต่จำเลยหลบหน้าไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์วันที่ 13 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงฟ้องจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรับเงินที่เหลือและโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้

          เหตุที่ทำให้ลูกหนี้ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา
          มาตรา 193  "ในกรณีดังต่อไปนี้ ฝ่ายลูกหนี้จะถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดมิได้
          (1) ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
          (2) ลูกหนี้ไม่ให้ประกันในเมื่อจำต้องให้
          (3) ลูกหนี้ได้ทำลาย หรือทำให้ลดน้อยถอยลงซึ่งประกันอันได้ให้ไว้
          (4) ลูกหนี้นำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาให้เป็นประกันโดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ยินยอมด้วย