คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          คดีเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เป็นคนละกรณีกับหลักการความรับผิดทางละเมิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานของรัฐ ว่า หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีใดบ้าง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวมีในกรณีใด และหลักเกณฑ์การเฉลี่ยความรับผิดเป็นการส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอยู่อย่างไร รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการที่บุคคลภายนอกผู้ถูกกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐ
          แต่ความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)  กำหนดว่า "คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำ ละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร"

          ลักษณะของคดีละเมิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา
          ลักษณะของคดีละเมิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาต้องวินิจฉัยตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นหลัก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดลักษณะของข้อพิพาทเป็นความรับผิดละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้มีองค์ประกอบ 2 ประการ ดังนี้
          1. เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
          2. ความรับผิดทางละเมิดต้องมีเหตุมาจากการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) หรือเป็นความรับผิดทางละเมิดที่มีเหตุมาจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร




          ความรับผิดทางละเมิด ต้องพิจารณาจากหลักกฎหมายว่าด้วยละเมิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ
          1. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย คือ ต้องเป็นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้การกระทำนั้นรวมถึงการงดเว้นการกระทำด้วย
          2. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

          เมื่อเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องพิจารณาว่ากรณีใดเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

          1. หน่วยงานทางปกครอง พิจารณาจากบทนิยามศัพท์ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดว่า “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
          กรณีที่ไม่เป็นหน่วยงานทางปกครอง
          กรณีที่หน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องเอกชน ซึ่งแม้จะเป็นเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับเทศบาลตามสัญญาจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำก็ตาม แต่เอกชนดังกล่าวก็ไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ข้อพิพาทนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 46/2548)
          แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นผู้รับจ้างของหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็เป็นเพียงเอกชนผู้รับจ้างเท่านั้น ไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง ทั้งการละเมิดก็เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทำการขุดลอกบ่อตะกอนตามสัญญาที่ทำไว้กับหน่วยงานทางปกครอง มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่ข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 6/2549)
          ตามมาตรา 4 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 กำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์สำหรับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนอกเหนือจากที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง สำหรับทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น มาตรา 5 วรรคสามประกอบกับมาตรา 5 ทวิ กำหนดให้การดูแลและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ด้วย ดังนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ซึ่งมีหน้าที่เพียงดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะของอำนาจทางปกครองแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 484/2547)
          กรณีที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง
          โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานศึกษาในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาดังกล่าวโดยเฉพาะ และมีฐานะเป็นกรมตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 อยู่ในวันที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าวด้วย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 519/2549)

          2. เจ้าหน้าที่ของรัฐ จากบทนิยามศัพท์ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า  (1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  (2) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ  (3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (1)

          คดีความรับผิดทางละเมิดที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา มีอยู่ 2 ประเภท
          1.ความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
          2.ความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          1. ความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจฝ่ายเดียว เป็นคดีที่ต่อเนื่องมาจากการใช้อำนาจฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้อำนาจฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเป็นการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำอื่น กรณีนี้จึงเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คดีความรับผิดทางละเมิดประเภทนี้ต้องได้ความว่าต้องมีกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นต่อบุคคลนั้นก่อน การฟ้องคดีความรับผิดทางละเมิดประเภทแรกนี้ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เมื่อมีการดำเนินการตามเงื่อนไขการฟ้องคดี

          การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย

          กรณีเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่โดยการใช้อำนาจตามกฎหมาย
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีกรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามคลองและปรับปรุงถนนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชน เมื่อกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งได้แก่ การจัดทำถนนหนทางสาธารณะเพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่ง อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร การดำเนินการดังกล่าวจึงถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของกรุงเทพมหานคร เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เอกชน จึงเป็นคดีละเมิดตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 29/2547)
          ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้สำนักงานเขตและกรุงเทพมหานครแก้ไขการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนซึ่งบังหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดี เมื่อปรากฏว่านอกจากการร้องขอให้หน่วยงานทางปกครองแก้ไขการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยจะยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขแล้ว ยังได้มีการลงมือก่อสร้างสะพานดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น การฟ้องคดีเกี่ยวกับกรณีข้างต้นจึงไม่เพียงแต่เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แต่ยังเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันด้วย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 11/2547)
           หัวหน้าทางหลวงชนบท (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมทางหลวงชนบท (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงชนบท การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุญาตให้มีการขุดคลองส่งน้ำในแนวเขตทางริมถนนตามที่นายอำเภอเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีหนังสือร้องขอนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุมทางหลวงชนบทตามมาตรา 436 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 และเมื่อการขุดคลองส่งน้ำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 310/2547)
          องค์การบริหารส่วนตำบลใช้อำนาจตามมาตรา 68 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ประกอบกับมาตรา 58 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพื่อคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีอาศัยอยู่ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการตามคำสั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลจึงเข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน ซึ่งเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 481/2547)
          โครงการชลประทานของกรมชลประทานมอบหมายให้เอกชนดำเนินการขุดลอกลำห้วยแทนกรมชลประทาน ถือเป็นการปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมชลประทานตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 504/2547)
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กรมชลประทานขุดลอกคลองน้ำทิ้งและถมถนนเลียบคันคลองตลอดเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำในนาของผู้ฟ้องคดีระบายลงสู่คลองน้ำทิ้งไม่ได้จนเป็นเหตุให้ได้รับผลผลิตน้อยกว่าที่ควร ขอให้กรมชลประทานแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในบริเวณที่พิพาทและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เมื่อกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการขุดคลอง ซ่อม หรือดัดแปลงแก้ไขทางน้ำชลประทานหรือจัดให้มีสิ่งก่อสร้างขึ้นในทางน้ำชลประทานตามมาตรา 15 (2) แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 614/2547)
          เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดิน และ น.ส. 3 ในที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 471/2548 และที่ 144/2548)
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า นายอำเภอ เจ้าพนักงานบริหารงานที่ดินอำเภอและผู้ช่วย กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน สมคบกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) แปลงที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ให้แก่บุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอคัดค้านการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่นายอำเภอยกคำคัดค้าน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 30/2549)
          ที่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินสมคบกับนาย ส. ผู้เริ่มก่อตั้งและกรรมการของมูลนิธิส่งเสริมศีลธรรมอิสลาม ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานการมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อให้นาย ส. ไปจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่มูลนิธิส่งเสริมศีลธรรมอิสลาม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) โดยเสน่หา โดยเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพฯ ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนาย ส. ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำไปเพื่อให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้กลับมาเป็นชื่อของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันชำระเงินที่บุคคลภายนอกเช่าที่ดินพิพาททำนานั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 701/2549)
กรณีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยตรวจสอบพยานหลักฐานเฉพาะสำเนาโฉนดที่ดิน แต่ไม่ได้ตรวจสอบต้นฉบับของโฉนดที่ดินทั้งที่อยู่ในภาวะที่สามารถตรวจสอบต้นฉบับโฉนดที่ดินได้จากสำนักงานที่ดินหรือเรียกให้ผู้ยื่นขอรับเงินค่าทดแทนนำต้นฉบับโฉนดที่ดินมาแสดง ทำให้ไม่ทราบถึงการจำนองที่ดิน เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินไม่ได้รับชำระหนี้จากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.101/2548)




          กรณีที่เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย
          การที่จะถือว่าการขุดลอกลำคลองที่พิพาทเป็นการใช้อำนาจทางปกครองนั้น จะต้องเป็นการขุดลอกลำคลองซึ่งกำหนดให้เป็นทางน้ำชลประทานตามมาตรา 4 และมาตรา 5 ประกอบกับมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ หากลำคลองที่พิพาทไม่เป็นทางน้ำชลประทานตามนัยกฎหมายดังกล่าว แม้ว่ากรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) จะมีอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคตามมาตรา 6 (12) ถึง (23) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตามปกติทั่วไป มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 63/2547)
          เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้บุกรุกเข้าไปทำถนนและตัดทำลายต้นไม้ในสวนที่ผู้ฟ้องคดีปลูกไว้ในที่ดินซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้จำแนกพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตป่าไม้ถาวรเพื่อให้เป็นที่ดินทำกินของราษฎรอื่นและของผู้ฟ้องคดีแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 นั้น โดยที่มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. 2539 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลป่าสงวนแห่งชาติ และไม่สามารถสั่งให้บุคคลออกจากป่าสงวนแห่งชาติหรืองดเว้นกระทำการใด หรือสามารถทำการยึด ทำลาย รื้อถอนต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างของบุคคลผู้กระทำความผิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ดังเช่นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยแม่โจ้หรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ กระทำละเมิดดังกล่าวต่อทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี จึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่อันอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แต่เป็นการกระทำละเมิดซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 684/2549)
          กรณีที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยโรคด้วยความบกพร่องเป็นเหตุให้ทารกในครรภ์ของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ค่าเสียหายและให้พิจารณาใบประกอบวิชาชีพของแพทย์นั้น แม้แพทย์ประจำโรงพยาบาลจะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ดังกล่าวถือเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจทารกในครรภ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความเสียหายที่มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 546/2547 และที่ 119/2549)

          คดีละเมิดที่มีประเด็นหลักอยู่ที่การโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
          คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) สร้างถนนและขยายผิวการจราจรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดิน เป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีนอกจากจะอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีละเมิดเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์กัน จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 28/2545 (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 11/2546 และที่ 33/2546)
          กรณีที่มีการฟ้องว่าเทศบาลตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดำเนินการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในเขตทางสาธารณะ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่สาธารณะ นอกจากนั้นการก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งรื้อถอนบ้านและระงับการก่อสร้างถนนที่ผ่านหน้าบ้านของผู้ฟ้องคดีนั้น แม้ว่าผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจะโต้แย้งกันว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ ซึ่งการพิจารณาเรื่องสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก โดยเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 31/2546 และที่ 5/2548)
          ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงด้วยวาจากับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ยินยอมให้องค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ทำการก่อสร้างถนนและปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทำการก่อสร้างถนนรุกลํ้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมากกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ฟ้องคดีได้ทักท้วงการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่ามิได้ทำการก่อสร้างในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ทำการก่อสร้างในที่ดินที่มีผู้อุทิศให้กับทางราชการเพื่อทำถนนและปักเสาไฟฟ้านั้น คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบกตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และเป็นการฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ตาม แต่โดยที่คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินบริเวณที่ทำการก่อสร้างถนนพิพาทเป็นที่ดินที่มีผู้อุทิศให้กับทางราชการเพื่อทำเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาต่อไปได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก ซึ่งมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มิได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีละเมิดเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์กัน จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 47/2549)

          การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องผู้ฟ้องคดีในคดีอาญานั้น การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะพนักงานสอบสวนโดยใช้อำนาจตามมาตรา 121 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่การละเมิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 56/2547)
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีในข้อหาไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญา นั้น การดำเนินคดีอาญาเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง กรณีอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 4/2548)
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกรณีพนักงานสอบสวนกระทำละเมิดในการสอบสวนคดีอาญาที่โจทก์เป็นผู้เสียหายและได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนมิได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ตามกฎหมาย นั้น เนื่องจากการสอบสวนคดีอาญาเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่การที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอย่างใดหรือใช้เวลานานเพียงใดนั้นย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะใช้ดุลพินิจในการรวบรวมพยานหลักฐานภายใต้หลักเกณฑ์ทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 21/2548)
          ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นราษฎรยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิดในการจับกุมผู้ฟ้องคดีกับพวกโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและละเลยไม่ดูแลทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่เป็นของกลางทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย นั้น เมื่อกรณีเป็นการจับกุมในความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 อันเป็นความผิดอาญา โดยใช้อำนาจในการจับกุม ค้น ยึดและพิสูจน์ของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิด จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้โดยเฉพาะ กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 17/2549)
          ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกค่าเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการยึดรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งเป็นของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี และใช้ดุลพินิจไม่ส่งคืนของกลางดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าว นั้น กรณีเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ข้างต้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 20/2549)
          ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้กำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) และกรมป่าไม้ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6) เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้ให้อำนาจในการยึด ทำลาย หรือรื้อถอนสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ และมีอำนาจจับกุมหรือปราบปรามผู้กระทำความผิดได้ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) เป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการจับกุมและสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ถึงที่ 7 ในการเข้าจับกุม คุมขัง และสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้ฟ้องคดีในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ และได้รื้อถอนบ้านของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่มีกฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะ โดยมีกระบวนการที่จะนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญา จึงเป็นการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 326/2548)

          ตัวอย่างแนวคำวินิฉัยของศาลกรณีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมีคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรงโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสโต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 49/2548)
          การที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งเป็นคณะกรรมการตามมาตรา 330 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มีมติให้ยึดรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี นั้น เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีอาจนำคดีมาฟ้องได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ โดยมิต้องอุทธรณ์คำสั่งก่อนนำคดีมาฟ้องตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และเมื่อผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินของตนคืน กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ให้ยึดรถยนต์พิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ด้วย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 361/2548)
          การฟ้องขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักงานทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการของบริษัท ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าว นั้น มิใช่การฟ้องขอให้บริษัท ส่งเสริมการค้า เอสเอ็มอี จำกัด รับผิดตามสัญญาจ้างจากการมีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 385/2548)
          กรณีที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสั่งจ่ายคืนเงินสมาชิก กบข.ไม่ครบถ้วนตามสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสมาชิก กบข. ควรจะได้รับ ถือว่าการสั่งจ่ายเงินดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯอันมีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากได้รับเงินสมาชิก กบข. ลดน้อยลง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 161/2549)
          การที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานพัสดุ 6 กองคลัง เทศบาลนคร ไปช่วยปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานด้านธุรการเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทำหนังสือร้องเรียนของผู้เสนอราคาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบสูญหาย และต่อมาได้มีคำสั่งแก้ไขให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าวจึงฟ้องขอให้เทศบาลฯ ชดใช้ค่าเสียหาย นั้น แม้ว่านายกเทศมนตรีจะมีคำสั่งแก้ไขให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ตาม แต่เมื่อเป็นการฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดจากการออกคำสั่งย้ายไปช่วยราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงยังคงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งดังกล่าวอยู่ ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งย้ายไปช่วยปฏิบัติราชการดังกล่าวไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 664/2549)

          2. คดีความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร มี 2 กรณี คือ เป็นกรณีที่เป็นความรับผิดที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ กับกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ปฏิบัติอย่างล่าช้าเกินสมควร กรณีความรับผิดทางละเมิดกรณีนี้ความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองเกิดขึ้นพร้อมกับการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

          2.1 การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
          กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะผู้ปฏิบัติแต่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ถือเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีเทศบาลตำบลจัดทำท่อระบายน้ำริมถนนในเขตพื้นที่เทศบาลฯ โดยประมาทเลินเล่อ ละเลยไม่จัดทำตะแกรงเหล็กปิดวางบนปากท่อให้มีขนาดพอดีกับปากท่อ ทั้งมิได้จัดทำบ่อรองรับตะแกรงเหล็กให้มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนหรือสิ่งของได้อย่างปลอดภัย ทำให้ผู้ฟ้องคดีพลัดตกลงในบ่อระบายน้ำทิ้งและถูกตะแกรงเหล็กทับขาของผู้ฟ้องคดีหักหลายท่อน นั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2548)
          กรณีที่กรมทางหลวงชนบท (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง และการก่อสร้างบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาถนน ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ถนน โดยมิได้ตัดแต่งต้นทองหลางซึ่งขึ้นอยู่บริเวณไหล่ถนนทางหลวงชนบท เป็นเหตุให้ต้นทองหลางซึ่งมีโคนต้นผุกลวงหักโค่นล้มทับรถจักรยานยนต์ของบุตรผู้ฟ้องคดี ทำให้บุตรของผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย นั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 24/2549 และที่ 31/2549)
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับพวก มิได้ออกประกาศลดอัตราภาษีศุลกากรตามมติคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รัฐมนตรีฯ ออกประกาศหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงการคลังให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้มีผลบังคับย้อนหลัง นั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่ารัฐมนตรีฯ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 607/2547)
          กรณีที่หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำ สาขาชลบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ระวังชี้และรับรองแนวเขตการรังวัดแบ่งแยกที่ดินบริเวณที่ติดกับชายทะเลไม่ถูกต้องตามหลักฐานโฉนดที่ดิน โดยละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน พ.ศ. 2538 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดสำคัญผิดแบ่งหักที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นที่ชายทะเล ทำให้ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียที่ดินแปลงข้างต้นบางส่วนไป จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้องนั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 184/2549)
          แต่การที่หน่วยงานทางปกครองไม่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน โดยไม่ทำการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนภายในกำหนดเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เนื่องจากสภาพการจราจรเปลี่ยนแปลงไปทำให้หมดความจำเป็นที่จะก่อสร้างทางในบริเวณข้างต้น เมื่อไม่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งให้เจ้าของที่ดินได้รับความเสียหาย จึงไม่ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันก่อให้เกิดความเสียหายที่หน่วยงานทางปกครองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตเวนคืน
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การที่กรมทางหลวงให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจะเวนคืนที่ดินที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน แต่ต่อมาไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินเนื่องจากสภาพการจราจรบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปทำให้หมดความจำเป็นที่จะก่อสร้างทางในบริเวณนั้น กรมทางหลวงจึงไม่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้าไปสำรวจที่ดินและดำเนินการจัดซื้อที่ดินของผู้ฟ้องคดีจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหมดอายุลง ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องเสียโอกาสทางธุรกิจเพราะในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีไม่อาจทำนิติกรรมหรือขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกได้ นั้น การกระทำของกรมทางหลวงซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการดำเนินการตามที่มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ บัญญัติให้อำนาจไว้ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามผู้ฟ้องคดีประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน หรือทำนิติกรรมใดๆ อันเกี่ยวกับที่ดินของตนในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับแต่ประการใด และไม่อาจถือว่าเป็นความผิดของกรมทางหลวง เนื่องจากปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอมขายที่ดินเฉพาะส่วนที่มีการรุกล้ำ โดยมีเงื่อนไขว่าประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง แต่ถ้าบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวงให้เป็นผู้ก่อสร้างทางยกระดับ ไม่สามารถซื้อที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปลงได้ ก็ขอให้เปลี่ยนแปลงการก่อสร้างทางดังกล่าวโดยมิให้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อต่อมากรมทางหลวงได้ประสานงานกับบริษัทฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างทางมิให้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีทราบเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาและการดำเนินการของกรมทางหลวงก็ตรงตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดี อีกทั้งในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีก็สามารถทำนิติกรรมใดๆ อันเกี่ยวกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ตลอดเวลา ฉะนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการทำนิติกรรมใดๆ โดยให้เหตุผลว่ารอให้กรมทางหลวงเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือรอให้กรมทางหลวงแจ้งยกเลิกการเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจนำมากล่าวอ้างได้ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อกรมทางหลวงมิได้กระทำการละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแต่ประการใดแล้ว กรมทางหลวงจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.85/2547)

          2.2 กรณีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
          ฟ้องว่า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนครและกรมประมง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำตามกฎหมาย ทำการระบายน้ำในหนองหารล่าช้าเกินสมควรและไม่ควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสม ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่น้ำท่วมที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 3/2549)
           ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้ประกอบธุรกิจขายบริการ Time sharing ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขจากเอกสารโฆษณา โดยมีการเรียกเก็บค่าบำรุงรายปีจากสมาชิกทั้งที่ได้ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวว่า เมื่อมีการชำระเงินเป็นสมาชิกแล้วจะได้สิทธิเข้าพักในโรงแรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีก ฟ้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเป็นเหตุให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับความเสียหายมากกว่าความเสียหายเดิมที่ได้รับก่อนนำเรื่องมาร้องทุกข์นั้น กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.119/2548)
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ในสังกัดตลาดหลักทรัพย์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งมีหน้าที่แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่รับอนุญาตของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อให้มีสิทธิทำหน้าที่ป้อนข้อมูลส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่ในการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่รับอนุญาตดังกล่าวให้กับบริษัทหลักทรัพย์แห่งใหม่ที่ผู้ฟ้องคดีย้ายมาปฏิบัติงานล่าช้าเกินสมควรเป็นเวลา 167 วัน จากเดิมที่เคยดำเนินการแล้วเสร็จในสามวันถึงเจ็ดวัน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากต้องขาดรายได้จากค่าตอบแทนที่จะได้รับตามจำนวนร้อยละของค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ในแต่ละเดือน จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบกับมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องฟ้องตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในผลแห่งละเมิดโดยตรง ไม่อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ในสังกัดตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้ได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 191 – 194/2549)

          เงื่อนไขการฟ้องคดี
          เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

          1. กรณีบุคคลภายนอกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)
          กรณีคำสั่งทางปกครอง
          การได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครอง มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้สิทธิผู้ฟ้องคดีในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วนและเมื่อเจ้าหน้าที่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วหรือมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลได้
          ในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 1 (ผู้ถูกฟ้องคดี) อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีลาออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เกษียณก่อนกำหนด แต่ผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้ารับราชการอีก เนื่องจากทราบในภายหลังว่าตนไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งให้จ่ายเงินบำนาญและเงินเพิ่มให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ต่อมากรมบัญชีกลางได้ยกเลิกการสั่งจ่ายเงินบำนาญดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเงินบำนาญใหม่ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากการสั่งจ่ายเงินบำนาญเดิมคลาดเคลื่อนเพราะผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติราชการและไม่มีสิทธิรับเงินเดือนในช่วงที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการในครั้งแรก จึงไม่สามารถนำช่วงเวลาดังกล่าวมาคำนวณบำเหน็จบำนาญให้กับผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีลาออกจากราชการตามโครงการข้างต้น เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มาปฏิบัติราชการในช่วงเวลาที่ลาออกจากราชการ จึงไม่ได้รับเงินเดือนและไม่มีสิทธินับระยะเวลาดังกล่าวเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำสั่งจ่ายเงินบำนาญต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาร้องทุกข์ตามกฎ ก.ค. ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยและขอให้นำช่วงเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการในครั้งแรกมารวมคำนวณบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย ศาลเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองเกินกำหนดระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเพราะเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนและวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 456/2547)
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ธนาคารออมสินยกเลิกการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสำนักงานเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุดได้รับความเสียหายนั้น การสั่งยกเลิกการประกวดราคาถือเป็นการสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งผู้ฟ้องคดีต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 549/2548)
          กรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าของที่ดินร้องขอ ถือเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งคู่กรณีต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ เจ้าของที่ดินจึงต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เมื่อไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย เจ้าของที่ดินจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 184/2549)
 
          2.กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีให้เพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองที่เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1)
          คำสั่งให้ใช้เงินตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ฟ้องคดีต้องอุทธรณ์ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีเข้าใจโดยสุจริตตามคำสั่งให้ชดใช้เงินและปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว หากศาลนำมาเป็นเหตุสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากผู้ฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการอุทธรณ์ก่อนฟ้องคดีจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ศาลจึงให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 163/2548)
          การที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายโดยเป็นกรณีที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบก่อนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำสั่งดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งผู้ฟ้องคดีต้องอุทธรณ์คำสั่งก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานส่วนตำบลได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่นายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ทุจริตในการจ่ายเงินค่าแรงงานให้กับราษฎรที่รับจ้างทำงานในโครงการต่างๆ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้มีคำสั่งตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้กระทำละเมิดตามที่ถูกกล่าวหาจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟ้องคดีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โดยเป็นจำนวนค่าเสียหายไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีสามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบลงวันที่ 15 ตุลาคม 2544 คำสั่งที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องอุทธรณ์ตามมาตรา 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้อุทธรณ์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินมิได้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ไว้ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงถือว่าเป็นการแจ้งคำสั่งทางปกครองที่ไม่ครบถ้วน ดังนั้น ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงขยายเป็น 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งยังเหลือระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีสามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งได้ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อปรากฏว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายหลังการฟ้องคดีจึงไม่อาจนำมาเป็นข้อพิจารณาในการรับคำฟ้องได้ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งข้างต้นแล้ว ย่อมถือเป็นการเริ่มสิทธิในการนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 37/2548)

          เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดี

          1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)

          1.1 กรณีละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
          การฟ้องโต้แย้งการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนถือว่าวันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือฉบับแรกแจ้งให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยฯเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี 
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่กำลังก่อสร้างเพื่อใช้เป็นอาคารแสดงสินค้ารถยนต์ได้ร้องขอให้สำนักงานเขต (ผู้ถูกฟ้องคดี) แก้ไขการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนซึ่งบังหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข นอกจากนั้น ยังได้มีการลงมือก่อสร้างสะพานดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งก่อสร้างสะพานลอยและสั่งห้ามการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษานั้น นอกจากจะเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แล้ว ยังเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยถือว่าวันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือฉบับแรกแจ้งให้สำนักงานเขตแก้ไขการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอย เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี อันเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีหนึ่งปีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 11/2547)
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ถือว่าวันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งปฏิเสธการใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีตกลงซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1001 จากนาย ล. แต่นาย ล. กลับนำที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 992 ไปยื่นขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่คลาดเคลื่อนและขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดและกรมที่ดินรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนให้กรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผิดพลาดแล้ว กรมที่ดินได้มีหนังสือลงวันที่ 27 มิถุนายน 2543 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า ความผิดพลาดเกิดจากการที่ผู้ขายส่งมอบที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเอากับผู้ขาย ซึ่งวันที่ผู้ฟ้องคดีทราบคำชี้แจงจากกรมที่ดินว่าความผิดพลาดเกิดจากผู้ขายส่งมอบที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกันถือเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 จึงเป็นการร้องทุกข์เมื่อพ้นระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ไม่อาจรับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ และต่อมาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาได้เช่นเดียวกัน (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 634/2547)
          กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดำเนินการก่อสร้างถนนเป็นเหตุให้ท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรของผู้ฟ้องคดีเสียหายเป็นความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 9 ตุลาคม 2544 แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการซ่อมแซมท่อส่งน้ำของผู้ฟ้องคดีให้ใช้ได้เหมือนเดิมนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งปฏิเสธของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2547 แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายแก่ตนตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ แล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดียังไม่พอใจผลคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2547 อันเป็นวันที่ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 142/2549)
          กรณีที่มีการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วพบว่าเทศบาลได้ก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยเทศบาลไม่ได้โต้แย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องขอให้รื้อถอนถนนดังกล่าวในวันที่มีการรังวัดสอบเขตที่ดิน
           กรณีที่เทศบาลเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้าไปในที่ดินมีโฉนดของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงฟ้องขอให้เทศบาลเมืองรื้อถอนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าว นั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าในขณะที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดทำการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท เทศบาลฯ ได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่เทศบาลฯ ก่อสร้างลงบนที่ดินพิพาทเป็นการก่อสร้างลงบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลฯ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้รังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 ตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดีแล้วพบว่ามีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ทางเทศบาลฯ ได้ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 ขอให้เทศบาลฯ ทำการรื้อถอนถนนที่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 316/2548)
          แต่กรณีที่มีการละเมิดต่อเนื่องตลอดมา ถือว่าระยะเวลาฟ้องคดียังไม่เริ่มนับ
          เมื่อคลองระบายน้ำที่พิพาทยังคงมีอยู่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีต่อเนื่องตลอดมา ตราบเท่าที่ยังมิได้มีการกลบคลองระบายน้ำที่พิพาทในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เหมือนเดิม การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 351/2558)

          1.2 กรณีละเมิดเกิดจากคำสั่ง
          การที่ผู้ฟ้องคดีขอให้หน่วยงานทางปกครองเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แม้ในคำฟ้องจะไม่ได้ระบุเรียกค่าเสียหาย แต่หากศาลเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดจริง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นกรณีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และเป็นการฟ้องคดีที่พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ย่อมเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ตรงกับเจตนาในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี
กรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในสังกัดของกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วยการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินระหว่างนิติบุคคลผู้โอนกับผู้รับโอนลงในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้บอกกล่าวการโอนให้ผู้ฟ้องคดีทราบและเป็นไปโดยปราศจากความยินยอมของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่ได้จดทะเบียนไว้ นั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงการกระทำละเมิดอันเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2545 แต่มิได้นำคดีมาฟ้องในทันที โดยมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่เห็นว่าเป็นไปโดยมิชอบหลายครั้ง และยังคอยติดตามผลการแก้ไขจากผู้ถูกฟ้องคดีมาโดยตลอด และเมื่อเห็นว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาจึงได้เรียกร้องเพิ่มเติมโดยแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท นั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีให้โอกาสผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขเยียวยาผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีก่อน แต่เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาจากผู้ถูกฟ้องคดีภายในระยะเวลาพอสมควร ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาในการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้คำขอตามคำฟ้องไม่ได้ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดจริงตามคำฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการหรืองดเว้นกระทำการได้ โดยไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าเป็นการฟ้องกรณีผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการพิจารณาสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และเป็นการฟ้องกรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แล้วนำบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีนั้น เป็นการปรับบทกฎหมายและนำมาใช้วินิจฉัยไม่ตรงกับเจตนาในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี จึงให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 604/2547)
          การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการจดทะเบียนดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้อุทธรณ์ว่าวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นวันอื่น จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนับตั้งแต่วันที่นายอำเภอยกคำคัดค้านของผู้ฟ้องคดีและแจ้งคำสั่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยไว้
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ร่วมกับ นาย ก. มาโดยตลอด ต่อมาเมื่อนาย ก. ถึงแก่ความตายผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจนถึงปี 2545 ผู้จัดการมรดกของนาย ก. จึงได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยินยอมและไม่เห็นด้วยกับการขายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำขอลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545 คัดค้านการจดทะเบียนโอนขายที่ดินข้างต้นต่อนายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณายกคำคัดค้านของผู้ฟ้องคดีและดำเนินการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามคำขอของผู้จัดการมรดกของ นาย ก. โดยได้แจ้งคำสั่งจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีทราบเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แจ้งคำสั่งการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีทราบเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องในวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 จึงเป็นคำฟ้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันและพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้อุทธรณ์ว่าวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผิดไปจากที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยไว้ จึงต้องฟังว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2545 ประกอบกับข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้ฟ้องคดีโดยตรง ส่วนจะมีบุคคลรายอื่นๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาเปรียบตามคำร้องอุทธรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องแต่ละรายต้องว่ากล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามสิทธิของแต่ละบุคคล คดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 30/2549)
          การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนและให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว ต้องฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ นับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งมีฐานะเป็น อ.ก.พ. กระทรวง โดยสำนักงานปลัดกระทรวงได้รับหนังสือร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 แล้วนั้น ย่อมถือเป็นการร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กระทรวงแล้ว ซึ่ง อ.ก.พ. กระทรวงจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ เมื่อ อ.ก.พ.กระทรวงมิได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว วันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่อ.ก.พ. กระทรวงได้รับหนังสือร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 510/2548)
          การฟ้องเรียกให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้เงินเดือนในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีถูกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายจนถึงวันกลับเข้ารับราชการนั้น ผู้ฟ้องคดีจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนดังกล่าวต่อเมื่อการดำเนินการทางวินัยถึงที่สุดแล้ว โดยต้องฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ นับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งให้ลงโทษผู้ฟ้องคดี
          ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งเพิ่มโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีไม่นำส่งเงินที่ข้าราชการครูผ่อนชำระค่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีรับไว้ในฐานะผู้ประสานงานให้แก่องค์การค้าของคุรุสภา โดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนราชการต้นสังกัดเห็นว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงเพิ่มโทษจากลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นไล่ออกจากราชการ แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าวและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามมติของคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ซึ่งได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย แต่หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีใหม่จากโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นโทษปลดออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งเพิ่มโทษครั้งหลังนี้แล้วแต่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) แจ้งว่าไม่อาจรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎ ก.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2545 ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยกเลิกคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ รวมทั้งให้ชดใช้เงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีถูกไล่ออกจากราชการจนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการนั้น ในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จ่ายเงินเดือนย้อนหลัง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเพิ่มโทษครั้งแรกที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการแล้วก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในช่วงระยะเวลาที่มิได้มาปฏิบัติราชการเนื่องจากถูกไล่ออกจากราชการก็ต่อเมื่อการดำเนินการทางวินัยถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เพราะการจ่ายเงินเดือนสำหรับระยะเวลาดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับผลการดำเนินการทางวินัย โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลัง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งเพิ่มโทษครั้งที่สองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่ได้รับทราบคำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดีหนึ่งปีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 275/2548)
          การฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฟ้องคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งต้องฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
          ผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. 8 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนัก ซึ่งในขณะนั้นผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นอันดับสองทั้งอายุราชการและเงินเดือน แต่คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้บุคคลที่มีอาวุโสน้อยกว่าผู้ฟ้องคดีรักษาราชการแทนตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ทำการประเมินผลงานและไม่พิจารณาดำเนินการตามหลักอาวุโสตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่น รวมทั้งการกำหนดตำแหน่ง ระดับ เงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกอบกับหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนฯ ดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีรักษาราชการแทนฯ รวมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อำนวยการสำนัก (เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. 9) พร้อมทั้งขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งข้างต้นนั้น ศาลเห็นว่า การฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งเป็นการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อปรากฏว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากคำสั่งที่ 98/2543 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2543 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 324/2548)
          การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีหน่วยงานทางปกครองมีคำสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันได้รับแจ้งผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อเป็นการแจ้งผลการพิจารณาโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลเมื่อครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันส่งตามนัยมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โดยวันที่ครบกำหนดดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
          ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยตำแหน่งพยาบาล 4 ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามคำสั่งมหาวิทยาลัยลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2546 เนื่องจากมีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน และไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีติดต่อกัน 5 ครั้ง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลได้ ได้ร้องทุกข์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังขึ้น และต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ อธิการบดีมหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จึงได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยลงวันที่ 29 มีนาคม 2548 ยกเลิกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการออกคำสั่งให้ออกจากราชการข้างต้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์ตอบรับด่วนพิเศษ (EMS) ในวันที่ 9 มีนาคม 2548 การนับระยะเวลาการฟ้องคดีจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ แม้คดีนี้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งกำหนดว่าการแจ้งคำสั่งทางปกครองโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันส่งสำหรับกรณีภายในประเทศ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการได้รับหรือได้รับก่อนหรือหลังจากนั้นแล้ว กรณีจึงย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2548 ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองในวันที่ 20 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 680/2549)

          2.คดีปกครองที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง
          การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว หากศาลเห็นว่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ทำให้ไม่อาจฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีได้ ศาลปกครองย่อมมีดุลพินิจที่จะรับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาได้
          กรณีที่ผู้ฟ้องคดีติดตามร้องเรียนให้หน่วยงานทางปกครองแก้ไขเยียวยาความเสียหายมาโดยตลอด แต่หน่วยงานทางปกครองผัดผ่อนไม่ดำเนินการเยียวยาแก้ไขให้แก่ผู้ฟ้องคดี ถือว่ากรณีมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
          กรณีที่บ้านของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมขังของผู้รับจ้างที่เทศบาลเมืองปัตตานี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ว่าจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ติดตามร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีให้มีการแก้ไขเยียวยาหรือชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ผัดผ่อนการชดใช้ค่าเสียหายและมิได้ดำเนินการเยียวยาแก้ไขให้บ้านของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาวะเดิมหรือชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวหากถือว่าผู้ฟ้องคดีเพิกเฉยไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาจะทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น แม้ผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แล้ว กรณีก็ถือว่ามีเหตุจำเป็นที่ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินการต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 746/2548)
          ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรี(ผู้ถูกฟ้องคดี) เวนคืนและนำที่ดินของผู้ฟ้องคดีไปใช้ประโยชน์ในการเวนคืนโดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบการเวนคืนเนื่องจากไม่มีรายชื่อในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ทราบและติดตามทวงถามในภายหลัง โดยผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าเป็นกรณีที่ขาดอายุความแล้วนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไม่ได้ทำการสำรวจตรวจสอบหรือสำรวจที่ดินแปลงพิพาทตกหล่นไป อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบการเวนคืนและไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และจากการละเลยดังกล่าวเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยที่ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือฉบับแรกลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้ การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 จึงเป็นการฟ้องคดีที่พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้เฝ้าติดตามและทวงถามผลจากผู้ถูกฟ้องคดีมาโดยตลอดหลังจากที่ได้มีหนังสือทวงถามฉบับแรก โดยหวังว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งตลอดมาว่าเรื่องอยู่ระหว่างการหารือ แต่เมื่อรอจนเวลาล่วงเลยมาปีเศษแล้วยังไม่ได้รับแจ้งผลคืบหน้า ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีแล้วนั้น ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลควรรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 435/2549)
          แต่กรณีที่จะถือว่ามีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จะต้องเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถนำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี โดยต้องไม่ใช่เหตุอันจะโทษผู้ฟ้องคดีได้ การอ้างว่าต้องรอผลคำพิพากษาในคดีก่อนจึงจะคำนวณค่าเสียหายในคดีนี้ได้ ไม่ใช่เหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 414/2548)