14 มี.ค. 2567

การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่

          การร้องขอให้ศาลสั่งให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่

          เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ (มาตรา 48 วรรคสอง)


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ออกไปจากภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาอีกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตายร้ายดีประการใด จำเลยไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผู้ร้องได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีมาพร้อมคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
         

          การร้องขอให้ศาลสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่

          เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ(ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ) ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้ (มาตรา 48 วรรคสอง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2546   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในคดีนี้ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารโรงเรียนเทคโนโลยี ร. การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการกิจการโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. แทนจำเลยผู้ไม่อยู่ชั่วคราว จนกว่าจำเลยจะกลับมา และผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ผู้ร้องมีอำนาจจัดการแต่เฉพาะในกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. อันเป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง  หาใช่กรณีที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่แม้ในเหตุฉุกเฉินผู้ร้องก็ไม่อาจจะก้าวล่วงไปจัดการในกิจการอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่

          ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 49) กล่าวคือ เป็นกรณีที่กฎหมายอนุโลมให้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งจัดการทรัพย์สินหรือตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้เช่นกัน

          อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน

          ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 54)
          ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้ (มาตรา 55)

          ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน

          ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
          (1) ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
          (2) ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
          (3) ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
          (4) ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
          (5) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
          (6) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
          (7) ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน (มาตรา 58)
          ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4) (5) หรือ () ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง (มาตรา 59)

          ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม (มาตรา 60)