30 ก.ย. 2557

การทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์บางประเภท ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ตามมาตรา 1574

          ป.พ.พ.มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (ุ6) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) รับประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

          การทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์นั้น โดยหลักแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำได้ ยกเว้นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1574 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำได้ หากกระทำนิติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นก็ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์


          ตัวอย่าง

          นาย ว.มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนาย ย.กับนาง ส. ซึ่งเป็นบิดามารดา นาย ย.กับนาง ส.จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อนาย ย.กับนาง ส.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย.กับนาง ส.ซึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลทั้งสองรวมทั้งนาย ว.ซึ่งเป็นบุตรชายด้วย ต่่อมาได้มีการตั้งผู้จัดการมรดกของนาย ย.กับนาง ส.ตามคำสั่งศาล หลังจากนั้นต่อมา นาย ว.ซึ่งเป็นทายาทได้ถึงแก่ความตาย มรดกของนาย ว.จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร(ผู้เยาว์)และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นต่อมา ได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ข้อ 4 กำหนดว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 73 เลขที่ีดิน 155 ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทนาย ว.ซึ่งในวันทำบันทึกนี้ผู้จัดการมรดกได้มอบโฉนดให้แก่ทายาทของนาย ว.ไปเรียบร้อยแล้ว 
          กรณีนี้ มีปัญหาขึ้นเมื่อทายาทบางคนนำมาฟ้องเป็นคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 1574(12) มีผลทำให้บันทึกที่ทำขึ้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด  ที่สุดศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก จะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1574(12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตและจำเลยที่ 2 กระทำบันทึกดังกล่าวแทนบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรม และกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมย์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น..... และเมื่อบันทึกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์....จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกได้....
          สรุปว่า กรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น หากนิติกรรมนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 1574 แล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หากฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ แต่ไม่ใช่เรื่องโมฆะกรรม ดังนั้น เฉพาะผู้เยาว์เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนมาตรา 1574 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามนิติกรรมดังกล่าว บุคคลอื่นไม่มีสิทธิยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้าง

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555)


 



29 ก.ย. 2557

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก คือ กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แล้วกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษ.............
          มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ต้องระวางโทษ............

          กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้วได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก


          ตัวอย่าง

          จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนาย ท.ผู้ตาย  โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. มีบุตรกับนาย ท. 2 คน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมมีชื่อนาย ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนาย ท.ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนาย ท. ในวันเดียวกัน ดังนี้ จึงเกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งโจทก์ในฐานะภริยาของเจ้ามรดก ได้ฟ้องให้ลงโทษ จำเลยที่ 1 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก 
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 (ฐานยักยอกทรัพย์มรดก)
          สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น เป็นน้องสาวของนาย ท. ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. และมีบุตรกับนาย ท. 2 คน หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของตน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมทราบว่าโจทก์และบุตรโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ท. ต้องไม่ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เสียค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์มรดกพิพาทตามที่อ้าง ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่  1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนจีนอายุมาก พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทั้งยังป่วยเป็นโรคพาร์คินสันซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเชื่อว่าการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทน่าจะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า ......... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สมคบกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนาย ท. พี่ชาย มาเป็นของตนโดยทุจริต แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลเหมือนเช่นจำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงคงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
          สรุปว่า กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น(ผู้เสียหาย) ก็จะต้องรับผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก ส่วนบุคคลอื่นที่ให้ความร่วมมือก็ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเท่านั้น เพราะบุคคลอื่นไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล




25 ก.ย. 2557

คำมั่นจะให้เช่าไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ตกติดไปกับผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า

          ป.พ.พ.มาตรา 569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
          ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

          ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 569 ว่าแม้โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์(บ้าน อาคาร หรือที่ดิน)ที่ให้เช่าไป สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ยังไม่ระงับ คือ สัญญาเช่ามีอยู่อย่างไรก็ยังคงบังคับกันไปโดยผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้โอนมีต่อผู้เช่านั้นต่อไป แต่จะมีปัญหาในบางกรณีที่มีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่า ว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงนั้นด้วยหรือไม่


          ตัวอย่าง

          นายแดงทำสัญญาให้นายดำเช่าบ้านมีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน และให้คำมั่นไว้ด้วยว่าจะให้เช่าต่อไปอีก 3 ปี หากผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไป จากนั้นเมื่อให้เช่าไปแล้ว 2 ปี นายแดงเอาบ้านที่ให้เช่าไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายเขียว มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี แล้วแจ้งให้นายดำซึ่งเป็นผู้เช่าทราบ ต่อมาเมื่อก่อนจะครบสัญญาเช่า 3 ปี นายดำได้ไปแสดงเจตนาต่อนายเขียวว่าจะเช่าอยู่ต่อไปอีก 3 ปี นายเขียวทราบเรื่องแล้วไม่ว่าอะไร คงเก็บค่าเช่าเรื่อยมา จากนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 3 ปีแล้วผ่านไปอีก 5 เดือน นายแดงได้ไปไถ่ถอนบ้านที่ขายฝากคืนจากนายเขียว จากนั้นนายแดงก็ฟ้องขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่าของตน เรื่องไปจบที่ศาล
          ศาลพิพากษาให้ขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่า โดยให้เหตุผลว่า สัญญาเช่าบ้าน 3 ปี ระหว่างนายแดงและนายดำมีอยู่ก่อนการขายฝาก จึงต้องตกติดไปยังนายเขียวผู้รับซื้อฝากตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 แต่คำมั่นที่จะให้เช่าไม่ตกติดไปด้วยเพราะไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า คงตกติดไปเฉพาะ "สัญญาเช่า" เท่านั้น ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายดำต่อนายเขียวซึ่งแม้จะทำตามคำมั่นก็ไม่เกิดสัญญาเช่าขึ้น แต่การอยู่ต่อมาของนายดำผู้เช่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญา 3 ปีแล้ว โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ทำให้เป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 570  การที่นายแดงไถ่ถอนการขายฝากเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าไปได้ 5 เดือนนั้น แม้นายดำจะต้องการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นในตอนนี้ก็ไม่ได้ เพราะการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นจะให้เช่าจะต้องกระทำภายในสัญญาเช่า คือ 3 ปี ส่วนระยะเวลา 5 เดือนก่อนมีการไถ่ถอนการขายฝากนั้นถือว่า เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างนายเขียวกับนายดำ เมื่อนายแดงไถ่ถอนการขายฝาก ตามมาตรา 502 วรรคหนึ่ง ทรัพย์ที่ไถ่ถอนย่อมปลอดจากสิทธิใดๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการขายฝาก การเช่าจึงไม่ติดมาในตอนที่นายแดงไถ่ถอน นายแดงจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า ตามมาตรา 566
          สรุปว่า คำมั่นจะให้เช่่าที่เป็นข้อตกลงในสัญญาเช่า ไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า ผู้รับโอนทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่ผูกพันตามคำมั่นนั้น




24 ก.ย. 2557

หุ้นส่วนบริษัท กรณีกรรมการกระทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทสามารถฟ้องกรรมการผู้นั้นได้ แต่ถ้าบริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้

          กรณีกรรมการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
          ป.พ.พ.มาตรา 1169  ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
          อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้บริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่

          กรณีกรรมการบริษัทไปทำนิติกรรมสัญญาใดๆที่ทำให้บริษัทต้องเสียเปรียบหรือได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้นของบริษัทหามีอำนาจไปฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นแต่อย่างใดไม่ คงมีสิทธิเพียงให้บริษัทฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้น หรือหากบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวก็ฟ้องเองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1169


          ตัวอย่าง

          นาย ป.เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1  ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. และนาย ว. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินจำนวน 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 54,000,000 บาทโดยมิได้รับความยินยอมจากนาย ป. และผู้ถือหุ้นคนอื่น โดยในการขายที่ดินดังกล่าวมิได้จ่ายเงินกันจริง วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 29,000,000 บาท โดยกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องดังกล่าวดี นาย ป. เมืื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเสีย
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นการจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1  นาย ป.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น หาอาจก้าวล่วงไปจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เสียเองไม่ และแม้ตัว นาย ป.(โจทก์)เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยอีกคนหนึ่ง แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้อง ลำพังนาย ป.(โจทก์) คนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นกัน นาย ป.(โจทก์) จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจำนอง  
          แต่ นาย ป (โจทก์) และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการฟ้องแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หรือหากนาย ป. (โจทก์) และผู้ถือหุ้นรายอื่นเสียหายก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยหากบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้อง นาย ป.(โจทก์) ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ก็ได้ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541)
          สรุปว่า ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีสามารถเข้าไปจัดการงานของบริษัทโดยตนเองได้ ต้องให้กรรมการของบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นคนจัดการ ส่วนหากผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจทำให้บริษัทเสียหาย ผู้ถือหุ้นต้องเรียกร้องให้บริษัทเป็นคนฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น ส่วนถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นก็ไปฟ้องเอง ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

23 ก.ย. 2557

หุ้นส่วนบริษัท กรรมการบริษัทมีอำนาจจัดการตามข้อบังคับบริษัทและมีผลผูกพันบริษัท

          วิธีจัดการบริษัท    
          ป.พ.พ. มาตรา 1144 บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง 

          การจัดการกิจการของบริษัทโดยกรรมการนั้น หากได้กระทำไปภายในกรอบข้อบังคับของบริษัท ย่อมมีผลผูกพันบริษัทให้ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก แม้กรรมการจะไม่ได้กระทำตามระเบียบขั้นตอนภายในของบริษัทนั้นก็ตาม
    
          ตัวอย่าง    
          จำเลยที่ 1 ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน อันเป็นการกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ตรงตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองบริษัท ทั้งในหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ก็มิได้มีข้อความจำกัดอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจไว้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 4 พร้อมประทับตราบริษัทจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 4 ส่งวนการที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องระเบียบข้อบังคับภายในของบริษัทจำเลยที่ 4 ไม่มีผลทำให้อำนาจของกรรมการในการกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ตามที่จดทะเบียนไว้แก่นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อธนาคารโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2544
          สรุปว่า เมื่อกรรมการบริษัทได้กระทำไปภายในอำนาจตามกรอบข้อบังคับของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ย่อมมีผลผูกพันบริษัทให้ต้องรับผิดชอบ ส่วนเรื่องระเบียบภายในของบริษัทนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันเองภายในบริษัท ไม่สามารถยกเอาระเบียบภายในของบริษัทนั้นมาบอกปัดความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้

ละเมิด ห้างสรรพสินค้าซึ่งจัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้า ต้องรับผิดชอบหากรถของลูกค้าสูญหาย

          ป.พ.พ. มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          ห้างสรรพสินค้าโดยทั่วๆไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถให้แก่ลูกค้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า ซึ่งในการจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างจะจัดให้มีการอำนวยความสะดวกโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาคอยดูแล รวมทั้งมีการแลกบัตรเข้าออกสถานที่จอดรถ และมักจะมีปัญหาเมื่อเกิดรถสูญหาย ทางห้างมักจะอ้างว่า การจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างไม่รับผิดชอบหากรถสูญหาย แต่ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในกรณีนี้ไว้ ว่าห้างต้องรับผิดชอบ จะปัดความรับผิดไม่ได้

          ตัวอย่าง
          ห้างสรรพสินค้า บ. เป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ได้จัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยมีการแจกบัตรให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาจอดรถ เมื่อจะนำรถออกจากสถานที่จอดรถก็จะมีการตรวจสอบบัตรผ่านจากพนักงานของห้าง หากไม่มีบัตรผ่านก็นำรถออกไปไม่ได้ ต่อมาเปลี่ยนไปใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดแทน แล้วปรากฏว่ารถลูกค้าสูญหาย ห้างฯจึงปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบหากรถสูญหายแล้ว ลูกค้าจะมาเรียกร้องให้ห้างรับผิดชอบไม่ได้ เรื่องนี้มีการฟ้องร้องต่อสู้คดีกัน สุดท้ายไปจบที่ศาลฎีกา 
          โดยศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นๆหรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่นำเข้ามาในห้าง ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีดังกล่าวเสีย โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯของจำเลย และโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556)
          สรุปได้ว่า แม้ห้างฯจะอ้างว่าปิดประกาศไว้แล้วว่าไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆก็ตาม แต่ศาลก็ยังต้องให้ห้างฯรับผิดชอบ สาเหตุก็เพราะ ห้างฯต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน  มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง
 

21 ก.ย. 2557

ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน มีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ

          มาตรา 1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี 
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"

          โดยปกติแล้ว สิทธิของทายาทที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้น จะต้องทำภายในอายุความมรดก คือ ภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม มาตรา 1754
          แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน ทายาทที่ครอบครองนั้นมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความมาแล้ว




          ตัวอย่าง

          ***กรณีครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ทายาทที่เข้าครอบครองส่วนของตนตลอดมาแล้ว แม้ต่อมาจะมีเหตุที่ทำให้มิได้ครอบครอง ก็ยังมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้
          โจทก์ เป็นบุตรนาย ส.และนาง ค. โดยบิดามารดาโจทก์มีบุตรด้วยกัน 5 คน รวมทั้งนาย ซ. ด้วย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนาย ซ. และมีบุตรด้วยกันรวม 5 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ปัจจุบันบิดามารดาและพี่น้องของโจทก์ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว เดิมบิดามารดามีที่นาเป็นที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 95 ไร่ หลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรมพี่น้องทุกคนให้นาย ซ.ซึ่งเป็นพี่คนโตไปขอออก ส.ค.1 แทนน้องทุกคน โดยตกลงจะแบ่งปันกันภายหลัง ต่อมาน้องคนอื่นถึงแก่กรรมไปหมด ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์และนาย ซ. เพียง 2 คน ซึ่งได้ร่วมกันครอบครองทำกินตลอดมา ภายหลังนาย ซ. ขอออกเป็นโฉนดเลขที่ 3630 โดยความยินยอมของโจทก์ ครั้นปี 2521 โจทก์และนาย ซ. ตกลงแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง โดยส่วนของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ระหว่างรอการรังวัดแบ่งแยกนาย ซ.ถึงแก่กรรม หลังจากนาย ซ. ถึงแก่กรรมจำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินทั้งแปลง แต่โจทก์คัดค้าน แล้วจำเลยทั้งหกตกลงจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่เคยตกลงกับนาย ซ. โจทก์จึงถอนคำคัดค้านและยังครอบครองทำกินในที่ดินส่วนของโจทก์เรื่อยมา จนกระทั่งต้นปี 2535 ฝ่ายจำเลยห้ามโจทก์ไม่ให้เข้าทำนาโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าถูกหลอกให้ถอนคำคัดค้าน เพราะจำเลยทั้งหกขอรับโอนมรดกที่ดินไปตั้งแต่ปี 2524 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนที่เกินส่วนของนาย ซ. ทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 47 ไร่ 2 งาน 86 ตารางวา และให้จำเลยทั้งหกจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
          เรื่องนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้จะปรากฏว่าภายหลังโจทก์ยื่นคำขอถอนคำค้านการขอรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งหกตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ระบุเพียงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเองได้แล้วมิใช่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก จึงไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทแปรสภาพเป็นมิใช่ทรัพย์มรดกต่อไปแต่อย่างใด  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และนาย ซ.ร่วมกัน มิใช่เป็นของนาย ซ.แต่ผู้เดียว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกและทรัพย์มรดกดังกล่าวยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของตนตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2542)

          ***กรณีเจ้ามรดกตาย แต่ทรัพย์มรดกนั้นมีบุคคลภายนอกครอบครองอยู่โดยอาศัยสิทธิการเช่า ถือว่าบุคคลภายนอกนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน เมื่อเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน ทายาทคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความแล้วก็ตาม

          นาง ท. ที่ดินพิพาทจากนาง จ. แม้นาง จ. ถึงแก่กรรมแล้วก็ยังเช่าติดต่อกัน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่านาง ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนาง จ. คือ โจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นผู้เก็บค่าเช่าก็ตาม และการที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้านนั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบ และมีการกำหนดเวลาไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำ ขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542)  
          ***กรณีที่มีการร้องขอจัดการมรดก และผู้จัดการมรดก ยังมิได้แบ่งปันทรัพย์สินให้แก่ทายาท ต้องถือว่า ผู้จัดการมรดกนั้นครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาททุกคน ทายาทคนใดคนหนึ่งจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม
          นาย อ. เจ้ามรดกมีภริยาสองคน คนแรกชื่อนาง ศ. มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาง ว.และนาย ฬ. ต่อมานาย อ.กับนาง ศ. เลิกร้างกันไป บุตรทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายเอื้อนบิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ต่อมานาย อ. จึงได้มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ระหว่างอยู่กินกับจำเลยไม่มีบุตรด้วยกัน ส่วนโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ฬ. เมื่อปี 2523 นาย ฬ. ถึงแก่ความตาย ต่อมาปี 2526 นาย อ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. ได้ดำเนินการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทไปแล้วหลายแปลง มีทั้งที่โอนให้แก่ลูกค้าที่ชำระราคาหมดแล้ว และโอนแบ่งมรดกให้แก่ทายาทของนายเอื้อนบางคน รวมทั้งที่โอนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นภริยาจำนวน 28 แปลง คงมีที่ดินมรดกของนายเอื้อนเหลืออยู่เพียง 3 แปลงเท่านั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดก มิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดกดังที่ศาลล่างวินิจฉัย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายังมีที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกอีกจำนวน 3 แปลง ที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้แก่ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอยู่ระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวง โดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจึงชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจาก จำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544)         
          ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553)

          ***การครอบครองทรัพย์มรดกของทายาท อาจโดยให้ผู้อื่นครอบครองไว้แทนก็ใช้ได้ 
          เมื่อ นาง ล.  ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทได้ตกลงแบ่งที่ดินให้แก่ทายาทอันได้แก่นาง บ. จำเลยที่ 1 นาง ก. และนาง ว. สำหรับที่ดินมรดกส่วนของโจทก์นั้นโจทก์ให้นาง บ. ครอบครองไว้แทน
          มีปัญหาประเด็นแรกว่า การแบ่งปันมรดกรายนี้เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของ แต่โจทก์ได้ให้นาง บ. ครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
          ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และนาง บ.มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดยนาง บ.ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจากนาง บ.ถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2542)
 



19 ก.ย. 2557

ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่ออำพรางสัญญากู้ จะต้องบังคับตามสัญญากู้อันเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้

 หลักกฎหมายเรื่องนิติกรรมอำพราง มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.  มาตรา 155 วรรคสอง คือ ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ  

 กล่าวคือ การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้  และเมื่อการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ ก็ต้องมาดูว่า การแสดงเจตนาลวงนั้น ทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร ถ้ารู้ว่ามีเจตนาแท้จริงอย่างไรแล้ว ก็นำกฎหมายที่คู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงมาใช้บังคับ 

 เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ก็ต้องนำกฎหมายในเรื่องการกู้ยืมเงินมาใช้บังคับ เป็นต้น

 ตัวอย่าง
 ข้อเท็จจริงมีว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลง ซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อนาย ต.เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นาย ต.และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนาย ต.กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 
          แต่มีปัญหาว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้หรือไม่
          เรื่องนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยไว้ว่า ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเนื้อที่รวม 50 ไร่เศษ จากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ในราคา 48,000 บาท นั้น คำนวณราคาได้ไร่ละประมาณ 900 บาท เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ นางสาว น. นางสาว ท. และนาง ย. เบิกความเป็นพยานโจทก์ ในทำนองเดียวกันว่า ปี 2528 พยานทั้งสามมีที่ดินอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีราคาไร่ละ 2,000 ถึง 3,000 บาท จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินพิพาทตามท้องตลาดสูงกว่าราคาที่โจทก์อ้างว่านาย ต.และจำเลยที่ 1 ขายให้แก่โจทก์มาก คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์ให้นาย ต.และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องกับโจทก์ ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ โดยให้นาย ต.ลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินต้นที่กู้ไปจากโจทก์ 30,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินดอกเบี้ย 18,000 บาท และให้โจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา เมื่อคำนวณเงินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนจากต้นเงิน 30,000 บาท แล้ว ในเวลา 1 ปี ก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นเงิน 18,000 บาท พอดี หากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในปี 2528 จริง โจทก์น่าจะดำเนินการให้นาย ต.และจำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกัน เนื่องจากโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการเช่นนั้น จนกระทั่งปี 2532 ทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นโฉนดที่ดิน โจทก์ก็มิได้ให้ทายาทของนาย ต.และจำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพียงแต่โจทก์รับโฉนดที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อนาย ต.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเก็บรักษาไว้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2536 และปี 2541 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยที่ 2 และโอนมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่อย่างใด การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากนาย ต.และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง     
          และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อนาย ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนาย ต.กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          เมื่อคดีรับฟังได้ว่านาย ต.และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่นาย ต.และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ 30,000 บาท แล้วให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย นาย ต.และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทนนาย ต.หรือทายาทของนาย ต.และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ต.ไม่ประสงค์ให้โจทก์และบริวารอยู่ในที่ดินพิพาทของนาย ต.อีกต่อไป โจทก์และบริวารจึงต้องออกไปจากที่ดินของนายต.นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ต.หรือทายาทของนาย ต.ชำระเงินกู้ 30,000 บาท คืนแก่โจทก์ 
สรุปคือ เรื่องนี้ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากนาย ต.และจำเลยที่ 1 เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน จึงต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนาย ต.กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้

เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  2574/2556
 



18 ก.ย. 2557

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แม้อยู่กินฉันสามีภริยา ถ้ามีเจตนาทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์สินของอีกฝ่ายที่ตนครอบครองนั้นเป็นของตน ก็มีความผิด


          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 352  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก 

          - ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และ
          - ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม

          ตัวอย่าง เช่น นายโจ สามีชาวต่างชาติ มอบเงินให้นางจู ชาวไทยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่นางจูอ้างว่า นายโจเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ นางจูจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของนางจูเพียงคนเดียว ถือได้ว่านางจูครอบครองเงินที่นายโจเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อนายโจบอกให้นางจูคืนเงินแต่นางจูไม่ยอมคืนให้ การกระทำของนางจูจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งนายโจเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต นางจูจึงมีความผิดฐานยักยอก

         กรณีนี้มีข้อเท็จจริงว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2550 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รู้จักจำเลยและอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาโจทก์ร่วมซื้อที่ดินที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาและปลูกสร้างบ้านอยู่กับจำเลย ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 โจทก์ร่วมต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ต่อมาจำเลยได้รับเงินตามฟ้องจากโจทก์ร่วม และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 จำเลยนำเงินดังกล่าวฝากธนาคารในนามของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมทวงถามจำเลยไม่ยินยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม และไม่กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ร่วมอีก วันที่ 27 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ติดตามจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืน แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์ร่วมจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาฐานยักยอกทรัพย์เงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ร่วมไปเป็นคดีนี้
         ข้อเท็จจริงมีว่า หลังจากโจทก์ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยแล้ว โจทก์ร่วมได้ออกเงินซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้านโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เนื่องจากโจทก์ร่วมไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ต่อมาหลังจากโจทก์ร่วมเดินทางจากประเทศอังกฤษกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมได้มอบเงิน 400,000 บาท กับเงินที่เหลือจากการตกแต่งบ้านอีก 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 450,000 บาท ให้จำเลยนำไปฝากธนาคารในชื่อบัญชีโจทก์ร่วมร่วมกับจำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน แต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2550 โจทก์ร่วมทราบว่าโจทก์ร่วมสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้เอง จึงเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อของโจทก์ร่วม หลังจากนั้นโจทก์ร่วมบอกจำเลยให้นำเงิน 450,000 บาท ซึ่งอยู่ในบัญชีของจำเลยนำเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมาอ้างว่าจะไปดำเนินการให้ในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายจำเลยไม่ยอมโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วม หลังจากนั้นจำเลยได้หนีออกจากบ้านไป ไม่กลับมาที่บ้านอีก โจทก์ร่วมโทรศัพท์บอกให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยปิดโทรศัพท์ไม่ยอมพูดคุยด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยอีก 
          ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยไว้ว่า การที่โจทก์ร่วมมอบเงินเข้าบัญชีของจำเลยเนื่องจากเข้าใจว่าชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ประสงค์ที่จะมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งหมดเพียงคนเดียว โจทก์ร่วมยังประสงค์ที่จะนำเงินฝากมาใช้จ่ายร่วมกันในส่วนของโจทก์ร่วมด้วย แต่เมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ ดังนั้น การที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียวจึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินตามฟ้องที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ว่าหลังจากโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินและนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ไม่ยอมโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วมและหาเหตุหนีออกจากบ้านไป ไม่ยอมกลับมาอยู่กับโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมโทรศัพท์ให้จำเลยคืนเงิน จำเลยก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ไม่ยอมพูดคุยด้วย อันส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเอาเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยคนเดียวทั้งหมด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังเกิดเหตุ 3 ถึง 4 เดือน จำเลยก็ได้แต่งงานใหม่กับสามีคนไทย การที่จำเลยอยู่กินกับโจทก์ร่วมก็เพียงเพื่อต้องการได้ผลประโยชน์จากโจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมขอให้จำเลยโอนเงินที่ฝากไว้ในชื่อจำเลยเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม จำเลยก็บ่ายเบี่ยงหาทางเลิกกับโจทก์ร่วมโดยหนีออกจากบ้านไม่มาอยู่ กับโจทก์ร่วมเพื่อไม่ต้องการคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อเงินในบัญชีเงินฝากในชื่อของจำเลยเป็นเงินของโจทก์ร่วมและจำเลยร่วมกัน จำเลยได้ถอนเงินของโจทก์ร่วมไปและไม่ยอมถอนเงินคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555)
          เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่กินฉันสามีภริยากัน แต่ถ้ามีเจตนาทุจริต เบียดบังทรัพย์สินที่อีกฝ่่ายเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ก็เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกได้ 

          ความผิดฐานยักยอก เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ ดังนั้น จึงต้องมีการร้องทุกข์ก่อน จึงจะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และการร้องทุกข์หรือกรณีไม่ร้องทุกข์แต่เลือกจะฟ้องคดีเองนั้น  ต้องกระทำภายในอายุความสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 

 

17 ก.ย. 2557

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน หากผู้จะซื้อผิดสัญญา แต่ผู้จะขายยังต้องการบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป ผู้จะขายไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ

          โดยปกติแล้ว กรณีทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะขายย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้ แต่ถ้าผู้จะขายยังต้องการบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป ผู้จะขายก็ไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำนั้น รวมทั้งไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ
          ตัวอย่าง
          นายเอ ทำสัญญาจะซื้อที่ดินหนึ่งแปลงจาก นายบี ราคา 6 แสนบาท วางมัดจำไว้ 3 หมื่นบาท และนัดไปจดทะเบียนการซื้อขายกัน ณ สำนักงานที่ดินในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 โดยสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่า ถ้านายเอ ผิดสัญญาไม่ซื้อหรือไม่ไปรับโอนที่ดินภายในกำหนด ยินยอมให้นายบึริบมัดจำและเรียกเบี้ยปรับได้อีก 3 หมื่นบาท หลังจากทำสัญญาแล้ว นายเอ เห็นว่าที่ดินที่จะซื้อตามสัญญามีราคาสูงเกินไป จึงไม่ยอมซื้อที่ดินตามสัญญา โดยขอให้นายบีริบเงินมัดจำและเรียกเบี้ยปรับ แต่นายบียังคงต้องการขายที่ดินตามสัญญา จึงฟ้องบังคับนายเอซื้อที่ดินตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายรวมทั้งริบมัดจำและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา 
         ศาลมีคำวินิจฉัยว่า เมื่อนายเอไม่ซื้อที่ดินตามสัญญาอันเป็นการละเลยไม่ชำระหนี้ นายบีเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายเอปฏิบัติตามสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 213  แต่เมื่อนายบีเจ้าหนี้บังคับให้นายเอลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญา นายเอเจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิริบมัดจำ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378(2) เพราะเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องส่งมัดจำคืนหรือหักมัดจำเป็นการชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378(1) ส่วนถ้าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อย่างไร ก็ย่อมเรียกเอาได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 215
         ส่วนที่สัญญาระบุให้เรียกเบี้ยปรับ 3 หมื่นบาท กรณีนายเอผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดินนั้น เป็นการที่ลูกหนี้ให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 380 เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้หรือเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิของนายบี ที่จะเลือก ดังนั้น เมื่อนายบีเลือกที่จะเรียกให้นายเอซื้อที่ดินโดยการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อไป อันเป็นการเลือกในทางบังคับให้นายเอลูกหนี้ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 213 สิทธิเรียกเบี้ยปรับย่อมหมดไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 380 
         สรุปแล้ว นายบีมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายเอซื้อที่ดินตามสัญญาและเรียกค่าเสียหาย แต่ไม่มีสิทธิริบมัดจำและเรียกเบี้ยปรับด้วย

         (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2506, 556/2511)





กรณีผู้ครองครองแทนได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยแสดงเจตนาว่าจะไม่ยึดถือแทนผู้ครอบครองอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    
          
          มาตรา 1381  "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก"     
          มาตรา 1375  "ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้   
          การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง"
           
          การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินนั้น  ก็โดยการที่บุคคลใดเข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ซึ่งการเข้ายึดถือทรัพย์สินหรือที่ดินแปลงใด ก็อาจทำได้โดยผู้มีสิทธิครอบครองเดิมสละการครอบครองให้ หรือโดยการแย่งการครอบครอง

          ผู้ครอบครองแทนได้ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้ตนเอง ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ครอบครองแทนได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2543  โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันเมื่อปี 2530 ซึ่งขณะนั้นที่ดินพิพาทอยู่ในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายภายในกำหนด 10 ปี การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 (เดิม) เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินจึงปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวซึ่งทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ ยังไม่ปล่อยเป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน ดังนั้น โจทก์จะสละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลจึงยกบทบัญญัติมาตรา 411 แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
          นับแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินพิพาทกันตั้งแต่ปี 2530 จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนปัจจุบัน แม้จะถือว่าในระหว่างระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ก็ตามแต่ในปี 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2539 จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เอาคืนซึ่งการครอบครอง     
                   
          ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันแล้วต่อมาเมื่อผู้ซื้อชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายได้แสดงเจตนาจะให้ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่ผู้ขายยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้เพราะที่ดินพิพาทยังติดจำนองกับธนาคาร พฤติการณ์ของผู้ซื้อที่เรียกร้องให้ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวของผู้ซื้อ โดยผู้ขายได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าผู้ซื้อมิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนผู้ขายอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

          จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินให้บิดามารดาโจทก์โดยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังพร้อมส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครอง แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นโมฆะ บิดามารดาโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552  จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
          การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
          เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

          การครอบครองที่ดินที่ขายฝากแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ถือว่าผู้ขายฝากครอบครองแทนเจ้าของซึ่งเป็นผู้ซื้อ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2552  ค. บิดาโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแก่ บ. ภริยาจำเลยแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด สิทธิในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของ บ. แม้ ค. ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเวลานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของ บ. หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ และหลังจาก ค. ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. แล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง การครอบครองและรับโอนที่ดินพิพาทเป็นการสืบสิทธิของ ค. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ค.ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง บ. หรือจำเลยผู้ครอบครองว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่อย่างใด แม้โจทก์จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

          เข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่า การครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าผู้เช่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551  จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

          เข้าครอบครองที่ดินโดยเจ้าของรวมคนหนึ่งอนุญาต ถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2551  จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดย จ. และเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

          ปลูกบ้านในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของบิดา เมื่อบิดาอยู่อาศัยในที่ดินโดยอาศัยสิทธิผู้อื่น ตนเองย่อมจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับบิดา ถือว่าครอบครองที่ดินแทนเจ้าของเดิม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2550  พ. ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยขออาศัยสิทธิของ ส. จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทสืบต่อจาก พ. จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับ พ. แม้โจทก์จะมิได้ห้ามปรามขณะจำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนบ้านหลังเดิมของ พ. ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยที่เป็นเพียงผู้อาศัยเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ และไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 130 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 3 ไร่ 8 ตารางวา และมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนาง ล. นาง ส. และนาง บ. โดยโจทก์จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนมาจากนาย ส. บิดาโจทก์เมื่อปี 2514 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ที่ดินส่วนที่นาง ล. และนาง ส. ครอบครองอยู่ทางด้านทิศเหนือ ส่วนของโจทก์อยู่ตรงกลาง และส่วนของนาง บ. อยู่ทางด้านทิศใต้ตามแผนที่วิวาท เดิมนาย พ. บิดาจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทตามแนวเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทดังกล่าว หลังจากนาย พ. ถึงแก่ความตายจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยปลูกบ้านใหม่ขึ้น 1 หลัง คือบ้านเลขที่ 35/2 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ตามสำเนาทะเบียนบ้านและภาพถ่ายบ้าน ส่วนบ้านหลังเดิมจำเลยรื้อถอนออกไป คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดิน โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว และจะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทางนำสืบจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน กับมีนาง ศ. นาง ม. นาง ย. นาง ง. และนาย น. เบิกความทำนองเดียวกันว่า นาย พ.บิดาจำเลยเข้าปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยซื้อที่ดินพิพาทมาจากนาย ส. บิดาโจทก์ แต่พยานจำเลยดังกล่าวคงมีจำเลยเพียงปากเดียวที่อ้างว่ารู้เห็นขณะนาย พ. กับบิดาโจทก์ซื้อขายที่ดินพิพาทกัน โดยจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นอกจากจำเลยเลยแล้วไม่มีบุคคลอื่นรู้เห็นอีก พยานจำเลยปากอื่นจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ จำเลยกับนาง ศ.พี่สาวจำเลยซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดและน่าจะทราบความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดียังเบิกความขัดแย้งกันอย่างเป็นพิรุธ จำเลยเบิกความว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาย พ. กับบิดาโจทก์ไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่นาง ศ. กลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า มีหลักฐานเป็นหนังสือ ที่จำเลยอ้างว่าบ้านหลังใหม่ของจำเลยมีสภาพมั่นคงแข็งแรง และจำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ขอเลขบ้านสำหรับบ้านที่ปลูกใหม่ต่อทางราชการด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าบ้านหลังเดิมของนาย พ. ที่จำเลยรื้อถอนออกไปมีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งจำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏว่านาย พ. ได้ขอเลขบ้านไว้ การที่จำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนหลังเดิมกลับทำให้เห็นว่าบ้านหลังเดิมที่นาย พ. เป็นผู้ปลูกน่าจะมีสภาพที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยนัก แนวกั้นเขตที่ดินพิพาทจะมีมาแต่เดิมอย่างไรหรือไม่ จำเลยซึ่งน่าจะทราบเรื่องดีที่สุดก็มิได้เบิกความถึง แต่ในข้อนี้โจทก์มีนาย อ. และนาง ล.ซึ่งมีบ้านและครอบครองที่ดินติดที่พิพาทเป็นพยานเบิกความว่า ต้นมะขามที่ปลูกเป็นแนวด้านทิศตะวันตกของที่ดินพิพาทนาย อ. เป็นผู้ปลูก ส่วนแนวรั้วสังกะสีด้านทิศเหนือของที่ดินพิพาทนาง ล. เพิ่งทำขึ้นภายหลังซึ่งตามภาพถ่ายบ้านปรากฏว่ามีรั้วสังกะสีอยู่จริง จำเลยยังเบิกความยอมรับว่านาย พ. เคยอาศัยอยู่ในที่ดินของกำนัน ช. มาก่อน และได้ความจากนาย น. พยานจำเลยที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านต่อไปว่า นาย พ. ย้ายมาอยู่ในที่ดินพิพาทเนื่องจากกำนัน ช. ต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินของตน พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า นาย พ. มีเหตุจำเป็นที่ต้องมาขออาศัยบิดาโจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นายทองหล่อพยานโจทก์ก็เบิกความทำนองเดียวกันและยืนยันว่านายเพลมาขออาศัยนายสุขปลูกบ้านนาย ท. มีบ้านอยู่ใกล้ที่ดินพิพาท ทั้งได้ความว่านาย ท. ได้ช่วยนาย พ. ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทด้วย พยานโจทก์ปากนี้จึงน่าจะทราบได้ดีว่าสิทธิของนาย พ. มีอยู่หรือไม่เพียงใด ดังนี้ จึงเห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่เป็นคุณอยู่แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นาย พ. ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยขออาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทสืบต่อจากนาย พ. จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับนาย พ. แม้โจทก์จะมิได้ห้ามปรามขณะจำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนบ้านหลังเดิมของนาย พ. ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยที่เป็นเพียงผู้อาศัยเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ และไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ฎีกาของจำเลยในข้ออื่นที่ว่าโจทก์ยอมขายที่ดินบางส่วนให้แก่นาย อ. แต่ไม่ยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ไม่เป็นสาระที่จะทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”