1 มี.ค. 2567

การบอกล้างโมฆียะกรรม


          นิติกรรมอันเป็นโมฆียะ หมายถึงนิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง เนื่องจากเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ทำนิติกรรม หรือเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน หรือเกิดจากการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพระถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ หรือเกิดจากกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ย่อมมีผลทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะย้อนไปถึงเวลาเริ่มแรกทำนิติกรรมนั้น

          การบอกล้างโมฆียะกรรม เป็นการแสดงเจตนาทำลายนิติกรรมอันเป็นโมฆียะที่ยังมีผลสมบูรณ์อยู่นั้น ให้เป็นอันเสียเปล่าไป ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว โดยหากมีการบอกล้างแล้ว นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นย่อมเป็นอันสิ้นผลไป มีผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่หากไม่ใช้สิทธิในการบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะดังกล่าว จนล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วนิติกรรมนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตลอดไป ไม่อาจใช้สิทธิบอกล้างได้อีก


          ผู้มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
          (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
          ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16115/2557  ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)

          กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม

          มาตรา 181  "โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น"
          มาตรา 179  "การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว
          บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี
          ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
          บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์"
       
          โดยสรุป การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำภายในเวลา 1 ปี นับแต่สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะได้สิ้นสุดลง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553  ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า โครงการคิดถึง คอนโดมิเนียม เป็นอาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา จึงเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา ส่วนที่จอดรถของอาคารชุดไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่าจะมีที่จอดรถได้กี่คันและตามแผ่นพิมพ์โฆษณาอาคารชุดก็ไม่ได้ระบุจำนวนรถยนต์ที่จะจอดได้ไว้เช่นเดียวกัน ที่จอดรถจำนวน 17 คัน คงปรากฏอยู่ในคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นต่อเทศบาลตำบลแสนสุขเท่านั้น ความจริงอาคารชุดมีที่จอดรถได้เพียง 6 คัน จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้ต่อเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้ดำเนินคดีในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นหรือโฆษณาที่ให้ไว้แก่ผู้จะซื้อ อีกทั้งอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับของการจัดบริเวณที่จอดรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2517) จะถือว่าโจทก์และ ด. สำคัญผิดในข้อนี้ไม่ได้
          การผิดเงื่อนไขในเนื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่เป็นสาระสำคัญแห่งการทำสัญญาจะซื้อจะขายอันจะเป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ที่ดิน ห้องชุดจึงเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย การผิดเงื่อนไขในจำนวนเนื้อที่ดินจึงเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งจะต้องบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือภายในเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2553  ป.พ.พ. มาตรา 181 บัญญัติกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะว่าจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ การที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ตายทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจอันเป็นโมฆียะให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จึงล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้


          วิธีการบอกล้างโมฆียะกรรม

          มาตรา 178  "การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549  จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2543  โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าจะชำระราคาที่ดินพิพาทด้วยเงินสด และจำเลยที่ 1 มีฐานะดี เช็คที่นาย ย. พวกของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายก็จะเรียกเก็บเงินได้ หากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่หลอกลวงเช่นนี้โจทก์จะไม่ทำสัญญาซื้อขายด้วย ดังนี้ การแสดงเจตนาขายที่ดินพิพาทของโจทก์ถือได้ว่าเกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉล ทำให้นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนย่อมมีผลเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง
          จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามสัญญาขายฝากขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้บอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลหาได้ไม่ นิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2542  การบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาอ้างว่าถูกข่มขู่ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว


          ผลของการบอกล้างโมฆียกรรม

          มาตรา 176  "โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
          ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
          ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19696/2557  จำเลยทราบว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 แต่จำเลยก็ไม่เคยคิดจะไปขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยมีความสุจริตใจประสงค์จะขายอาคารพิพาทตามสภาพที่มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต ก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะหากโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาคารแล้วโจทก์อาจถูกระงับการใช้อาคารพิพาทหรือถูกปรับในอัตราค่าปรับสูง และการไปขออนุญาตเพิ่มเติมภายหลังเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา พฤติการณ์ที่โจทก์ยอมทำสัญญาจะซื้อขายตามที่ฝ่ายจำเลยจัดทำขึ้นซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องไปจัดการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน และไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับทั้งที่โจทก์ต้องวางเงินมัดจำจำนวนมาก เชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้างก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย การทำสัญญาจะซื้อขายของโจทก์จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมที่โจทก์ทำไปจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป