27 ก.พ. 2567

ความผิดฐานฉ้อโกง


          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 341  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งชัด และต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น จากนั้น  โดยผลของการหลอกลวงนั้น ผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ  

          แต่หากมีเจตนาทุจริตและทำการหลอกลวงในภายหลังจากที่ได้ทรัพย์สินไปแล้ว ดังนี้ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอก

          ความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ผู้กระทำผิด จะต้อง
          1. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
          2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
               (1) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
               (2) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
          3. กระทำโดยเจตนา
          4. กระทำโดยทุจริต (มีเจตนาพิเศษ)

         
          
          1. กรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          
          ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าวๆ ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับตอนที่รังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558  จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          ขายบ้านและที่ดินในโครงการหมู่บ้าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าโครงการหมู่บ้านไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมาย กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          จทก์ทั้งสิบสองซื้อบ้านและที่ดิน โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 โดยจำเลยทั้งสองและ จ. ปกปิดข้อความจริงว่า โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายและ จ. แจ้งว่าโครงการจัดให้มีลานจอดรถอันเป็นสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสิบสองชำระเงินครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแล้ว ดังนั้น เงินค่าซื้อที่ดินและบ้านที่จำเลยทั้งสองได้รับจากโจทก์ทั้งสิบสอง จึงเกิดจากการซื้อขายที่ดินและบ้าน มิใช่เกิดจากการปกปิดข้อความจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการให้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสิบสอง และที่จำเลยทั้งสองไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ จ. จัดให้เป็นลานจอดรถโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบนั้น มิใช่การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพราะจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ทั้งสิบสองเพราะที่ดินเป็นลานจอดรถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ส่วนการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเจ็ดชั้นบนที่ดินสาธารณูปโภคที่เป็นลานจอดรถ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำมั่นของ จ. ที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสิบสองเท่านั้น กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1429/2555  จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น หากจำเลยไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11089/2557  สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.เหมืองแร่ ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ตลอดจนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแสดงต่อโจทก์ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำแร่เหล็กไปขาย เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ในกิจการที่ระบุไว้เท่านั้น โจทก์ก็มีแร่เหล็กในที่ดินของโจทก์แต่ไม่มีประทานบัตรจึงนำออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยประทานบัตรของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าตอบแทน แสดงว่าโจทก์เองก็ทราบดีว่าการที่จำเลยที่ 1 นำประทานบัตรและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดง ก็เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 สามารถขนแร่เหล็กของจำเลยที่ 1 มาขายให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยประทานบัตรดังกล่าว เช่นเดียวกับโจทก์ที่ต้องขนแร่เหล็กในส่วนของตนไปขายให้แก่ลูกค้าที่ประเทศจีนก็ใช้วิธีการเดียวกัน ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

          ถ้าการหลอกลวงนั้นถึงแม้จะสำเร็จ ก็ไม่มีผลให้ผู้ถูกหลอกลวงต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไปแก่ผู้หลอกลวงแต่อย่างใด แต่อาจจะไม่ได้ผลประโยชน์หรือค่าจ้างจากผู้หลอกลวง เช่นนี้เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          จำเลยได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557   จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุนยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2555   จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น


          2. กรณีที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554  ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร

          หลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลที่สาม อันเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          จทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม

          ขายที่ดินโดยหลอกลวงว่ามีอาคารอาพาร์ตเม้นต์ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นความเท็จ ผิดฐานฉัอโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893 - 4895/2565 โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงว่า ที่ดินพิพาทมีอาคารอะพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ มิใช่เพราะหลงเชื่อว่าจะมีการซื้อคืนในราคา 17,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพวกของตนมาแอบอ้างแสดงตนเป็น บ. ผู้จะซื้อคืน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่การหลอกลวงขายที่ดินพิพาทอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) เท่านั้น หาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 341 (เดิม)

          ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558  ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

          จำเลยหลอกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหาย ว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556  การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

          ผู้เสียหายจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5612/2556  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563  พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561  โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย
          สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง

          จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งเพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556  จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

          จำเลยเป็นลูกจ้างร้านทองใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555  จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555   แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้ 
          จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

3. ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ การดำเนินคดีจึงอยู่ภายใต้อายุความร้องทุกข์ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวคือ ต้องร้องทุกข์ภายในเวลา 3 เดือนหรือกรณีไม่มีการร้องทุกข์ก็จะต้องฟ้องคดีภายในเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2564  ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562  การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
จทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)