11 มี.ค. 2567

คดีอุทลุม (ห้ามฟ้องบุพการี)

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1562  "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้"

          หลักการเรื่องห้ามฟ้องบุพการีนี้ เป็นการนำเอาหลักเรื่องคุณธรรมของมนุษย์มาใช้ในกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดี โดยมีที่มาจากกฎหมายตราสามดวง ในพระอัยการลักษณะรับฟ้อง มาตรา 21 และ 25 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของตนเอง

           โดยที่บทบัญญัติมาตรา 1562 มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น กรณีผู้สืบสันดานชั้นบุตร จึงหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ที่ต้องห้ามฟ้องบุพการีของตน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548  จำเลยที่ 1 กับ ท. อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1562
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554  การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

          กรณีทายาทฟ้องบุพการีในฐานะอื่น ก็ไม่ต้องห้าม เช่น

          ฟ้องบุพการีในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550  ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้..." อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัท จำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่า บริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่บริษัท โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกันกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้องหากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของบริษัทมิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1

          ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องให้บุพการีในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกรับผิด ฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2536  ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับโจทก์ว่ายื่นคำร้องขอออก น.ส.3ทับที่ดินโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการฟ้องในฐานะส่วนตัว หาใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562

          กรณีบุตรบุญธรรมฟ้องผู้รับบุตรบุญธรรม สามารถฟ้องได้ เพราะผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม...และในวรรคที่ 2 ที่บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้ (ตั้งแต่มาตรา 1561 ถึงมาตรา 1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายความเพียงว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุกมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา 1562 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ นั้น เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา28 ที่แก้ไขใหม่) ให้ความหมายของคำว่า ผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวด และผู้สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริง จำเลยเป็นเพียงผู้รับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาโจทก์ จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562