25 ม.ค. 2560

การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนสิ่งกีดขวางบนถนน | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ในเวลาประมาณ 20.00 น. นาย ค. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเลียบคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล แต่เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างและถนนมีสภาพชํารุดบางส่วน ปรากฏว่ามีถังน้ํามันขนาดความจุ 200 ลิตร ตั้งกีดขวางผิวจราจรโดยไม่มีสัญญาณแสงไฟส่องเตือน รถจักรยานยนต์ที่นาย ค. ขับขี่มาจึงเสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ศีรษะของนาย ค. กระแทกพื้นอย่างแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

          ภรรยาและบุตรของนาย ค. จึงฟ้องเทศบาลต่อศาลปกครองว่า การที่นาย ค. ถึงแก่ความตายเป็นผลจากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลถนนสาธารณะให้มีสภาพดีและไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนให้ผู้ใช้ทางได้รู้ถึงอุปสรรคที่กีดขวางผิวจราจร และมีคําขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของนาย ค.

          ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้มีการนําถังน้ำมันขนาดความจุ 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดประมาณ 5 เมตร และ 30 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถนนทราบแล้ว อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีไฟฟ้าชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่และมีป้ายแจ้งเตือนติดตั้งไว้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินเท่านั้น

          ประเด็น คือ เทศบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ? และกรณีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบํารุงรักษาทางบกตามมาตรา 53 (1) ประกอบกับมาตรา 50 (2) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้เจ้าหน้าที่นําถังน้ํามันขนาด 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินในเวลากลางคืนเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทางได้ทราบเป็นสัญลักษณ์อีกชั้นหนึ่ง โดยอ้างว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่แล้ว ย่อมเป็นการดําเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 740/2555)



การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเทศบาลปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ แต่ไปรุกล้ำที่งอกริมตลิ่งของเอกชน

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
  
          คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีอาณาเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิง ต่อมาที่ดินดังกล่าวมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้น โดยปู่ของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองที่งอกนั้นไว้ตาม ส.ค.1 และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
          ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาล) ได้จัดทำโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกโดยการก่อสร้างเขื่อนกันดิน ทางเดินเท้า ปลูกหญ้าและต้นไม้ ซึ่งมีส่วนที่จะต้องดำเนินการในที่ดินของเอกชนหลายคนรวมถึงที่ดินผู้ฟ้องคดีด้วย โดยที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ให้ความยินยอมแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะอาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดตรงหลักหมุด จึงได้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยมีการตอกเสาเข็มทำให้บ้านของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

          ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น ซึ่งตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้และคำพิพากษาศาลฎีกาได้ให้ความหมายของ “ที่งอกริมตลิ่ง” หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่เกิดจากการที่สายน้ำพัดพาที่ดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่งและที่งอกริมตลิ่งน้าท่วมไม่ถึงส่วน “ที่ชายตลิ่ง” หมายถึง ที่ชายตลิ่งที่เวลาน้ำขึ้นตามปกติจะท่วมถึง

          มีปัญหาว่าที่ดินพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองทำการปรับภูมิทัศน์เป็น “ที่งอกริมตลิ่ง”หรือ “ที่ชายตลิ่ง” เพราะหากเป็นที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว และการที่หน่วยงานทางปกครองปรับภูมิทัศน์รุกล้ำที่ดินย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยสภาพเดิมของพื้นที่ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าไปปลูกสร้างตามโครงการ มีพื้นดินระดับเดียวกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีต้นไม้ใ้หญ่และวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ประกอบกับ ส.ค. 1 ที่ทางราชการออกให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ระบุว่าทิศตะวันตกจดฝั่งแม่น้ำปิงและไม่มีพยานให้การในทางอื่นจึงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติงอกไปจากตลิ่ง มิใช่เกิดจากแม่น้ำปิงตื้นเขิน หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่ง เมื่อที่งอกริมตลิ่งนั้น เกิดจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 ของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลักหมุดได้ทำขึ้นเมื่อใด แต่จากรายงานการรังวัดที่ดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2518 สันนิษฐานได้ว่า หลักหมุดน่าจะถูกจัดทำขึ้นในวันดังกล่าว ซึ่งนับจนถึงวันที่ถ่ายภาพเป็นเวลา 26 ปีอันเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่ที่งอกริมตลิ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องออกไปจากหลักหมุด อาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้สิ้นสุดตรงหลักหมุดดังกล่าว ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นที่งอกริมตลิ่งที่มีอาณาเขตจดแม่น้ำปิง การที่โครงการใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ของเอกชน ไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ การสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ การดูแลรักษาที่สาธารณะ หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542) นอกจากนี้ยังขัดต่อเงื่อนไขข้อ 7 ของใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำ ลำ แม่น้ำ ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 เพราะเป็นการปลูกสร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
          การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกในบริเวณที่พิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วนและเมื่อการดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำในพื้นที่ดังกล่าวออกไป
          สำหรับค่าเสียหายจากการไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์จากที่ดิน และค่าเสียหายอันเป็นความเสี่ยงจากน้ำท่วม เป็นความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำบนที่งอกริมตลิ่งของผู้ฟ้องคดีและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 30,000 บาท

          (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 535/2554)