28 ต.ค. 2564

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

 

          มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
          “สิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้
          “แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้
          “ผู้ทรงสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตร

          สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงหมายความถึงการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปร่าง องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของแบบผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษที่ปรากฏแก่สายตา ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2557  การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522

          ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม

          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับจดทะเบียน จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ โดยการพิจารณาสาระสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วหรือไม่ 

          โดยมาตรา 57 กำหนดว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
          (1) แบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (2) แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (3) แบบผลิตภัณฑ์ที่เคยมีประกาศโฆษณาตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 28 มาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (4) แบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใน (1) (2) หรือ (3) จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11133/2553  ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 กำหนดว่า แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" เมื่อสิทธิบัตรของโจทก์ระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของสปอยเลอร์รถจักรยาน แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่อ้างว่าได้คิดค้นขึ้นเป็นเหล็กแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวยู เป็นรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามลักษณะของการใช้สอย มากกว่าความสวยงาม เมื่อรูปร่างแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่มาก่อนแล้ว ในโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์รถจักรยานจึงต้องถือว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2552  เมื่อโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายช้อนส้อมเช่นเดียวกับที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องหยุดดำเนินการไป นับได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบหรือถูกโต้แย้งสิทธิแต่ผู้เดียวในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64 วรรคสอง ได้ความว่าช้อนส้อมของโจทก์มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ได้พิจารณาถึงแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแตกต่างจากช้อนส้อมของโจทก์ เท่ากับว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีหรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรและถือว่าไม่มีความใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1)
          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 ต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
          การที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่มีความใหม่ ย่อมจะไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64

          สิทธิในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยผู้ทรงสิทธิบัตรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตรนั้นด้วย

          อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุสิบปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 16 หรือมาตรา 74 มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของสิทธิบัตรนั้น