01 มีนาคม 2567

สัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สิน

          ในระหว่างที่สามีภริยาทำการสมรสกันแล้ว สามีภริยาย่อมมีสิทธิทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินได้เหมือนบุคคลอื่นทั่วๆไป สัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สิน คือ สัญญาที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์สินซึ่งได้แก่ สัญญายกทรัพย์สินให้แก่กัน สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือเช่าทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสัญญาที่สามีภริยาทำสัญญาแบ่งสินสมรสไม่ว่าทั้งหมดหรือเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ 
          การทำสัญญาระหว่างสมรสไม่มีกฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี กฎหมายมาตรา 1476/1 ห้ามไม่ให้ทำสัญญาระหว่างสมรสในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสที่สำคัญที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ซึ่งถ้าสามีภริยาทำสัญญาระหว่างสมรสให้แตกต่างไปจากมาตรา 1476 สัญญาระหว่างสมรสนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้
          มาตรา  1476 "สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
          (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (4) ให้กู้ยืมเงิน
          (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
          (6) ประนีประนอมยอมความ
          (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
          การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง"
          มาตรา  1476/1 "สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
          ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา  1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476"

          เนื่องจากการทำสัญญาระหว่างสมรสนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจตกอยู่ในอิทธิพลของความรักความเสน่หา ทำให้จำต้องยอมทำสัญญาระหว่างสมรสซึ่งทำให้ตนเองเสียประโยชน์ กฎหมายจึงอนุญาตให้สามีหรือภริยาบอกล้างสัญญานั้นได้ในระหว่างสมรสหรือภายในหนึ่งปีนับจากการสมรสสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1469
          มาตรา  1469 "สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2555  โจทก์ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าซึ่งที่ถูกคือค่าเลี้ยงชีพนั้นจะต้องเป็นกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล และคดีต้องฟังได้ว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงหย่ากันในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
          ข้อตกลงตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานนอกจากเรื่องหย่าแล้วยังมีเรื่องทรัพย์สินรวมทั้งเงินที่จำเลยตกลงแบ่งให้แก่โจทก์ โดยในขณะที่ตกลงกันนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จำเลยย่อมบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นความผูกพัน โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555  โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
          แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2552  แม้ข้อความที่ ธ. ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เพิกถอนการให้ความยินยอมแก่ น. ในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่ให้สิทธิสามีหรือภริยาสามารถบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาได้ในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่ขณะ น. ยังมีสิทธิตามข้อตกลงในการแบ่งสินทรัพย์ เนื่องจากยังมิได้ถูกบอกล้าง ผลของการบอกล้างดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยไม่สุจริต ตามความตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยสุจริต โจทก์จึงยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่