27 ก.พ. 2567

ความผิดฐานยักยอก


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 352 "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง"

           การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 ผู้กระทำความผิด จะต้อง

          1.มีการครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          2.เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของบุคคลที่สาม
          3.กระทำโดยเจตนา
          4.ต้องกระทำโดยทุจริต (มีเจตนาพิเศษ)

           



          ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563  เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354 
          ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน  ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354
          โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยในฐานที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกของ ว. ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งการเบียดบังเอาที่ดินมรดกไปหรือเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปก็ย่อมถือเป็นความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิ้นฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยนำแคชเชียร์เช็คค่าซื้อที่ดินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวนเงิน 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ตามลำดับ โดยเจตนาทุจริต ซึ่งคำฟ้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าขายที่ดินมรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบ และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089-13090/2558  ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2562  ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดินจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง 
          โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559  ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

          ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558  ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

          ครอบครองเช็คพิพาทโดยผู้เสียหายเป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยซึ่งทำงานตำแหน่งสมุบัญชี การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของผู้เสียไปเข้าบัญชีตนเองเพื่อเรียกเก็บเงิน เป็นความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มี ม. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งสมุห์บัญชี ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยนำเช็ค 149 ฉบับ ของโจทก์ โดยมี ย. กรรมการผู้จัดการโจทก์ขณะนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการร้องทุกข์และการที่โจทก์อ้างว่ารู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ก็เพื่อให้เห็นว่า เป็นการร้องทุกข์ภายในอายุความ ซึ่งความจริงโจทก์ควรจะทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินตั้งแต่โจทก์ให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์แจ้งอายัดเช็คจำนวน 9 ฉบับ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้วันที่ 6 มกราคม 2554 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยจึงยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของ ม. ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3242/2552 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่า โจทก์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกรายการบัญชีและใบนำฝากของจำเลย โดยได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 จึงทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์เข้าบัญชีของจำเลย เห็นว่า อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ ดังนั้น ถึงแม้ว่าโจทก์จะให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 อันจะถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งโจทก์ได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือน แต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เงินที่จำเลยอ้างว่าให้ ย. กู้ยืมไปนั้นมีจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหลักฐานการกู้ยืมกันเป็นหนังสือ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยคงมีเพียงคำเบิกความลอยๆ ของจำเลยและจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เช็คส่วนใหญ่จำเลยเป็นผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินเจือสมกับคำเบิกความของ ม. ว่าเช็คเป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันหนี้ค่าจ้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ให้แก่คู่ค้าของโจทก์ ที่โจทก์สั่งทำเพื่อใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าครบถ้วนแล้ว คู่ค้าก็จะคืนเช็คให้แก่โจทก์เพื่อทำลายต่อไป โดยเช็คจำเลยเป็นผู้ทำ ผู้ส่ง และผู้รับคืนจากคู่ค้าทั้งต้องเป็นผู้ทำลายด้วย เมื่อเช็คพิพาทรวม 129 ฉบับ เป็นเช็คที่โจทก์ออกให้แก่คู่ค้าโดยมอบให้จำเลยเป็นผู้นำไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาท 129 ฉบับ ในฐานะตัวแทนของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาท 129 ฉบับ ไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ เมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 หมายถึง ผู้กระทำความผิดต้องเอาพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โดยทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ โดยมิได้เอาเอกสารนั้นมาเป็นของตนเองและหากจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 188 ได้ นั้น เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 นั้นแตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย ข้อเท็จจริงตามฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ สำหรับฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ เป็นประเด็นปลีกย่อย ซึ่งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น


          จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้กรรมการบริษัทฯผู้เสียหายพิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็ค มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่กรรมการบริษัทฯผู้เสียหายอนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557  โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก
          แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร

          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน ยกเว้นแต่จะต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2557  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

          การเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557  โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

          สัญญาการเลี้ยงไก่ซึ่งต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยงและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน เป็นลักษณะสัญญาซื้อขายลูกไก่ ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด ไก่จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยง เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายแก่บุคคลอื่นของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430-8432/2557 สัญญาการเลี้ยงไก่มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 3 ต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยง และเมื่อส่งไก่ใหญ่ให้แก่โจทก์ร่วมจึงจะคิดราคาไก่ที่ส่งกับต้นทุนทุกอย่างที่รับไปจากโจทก์ร่วม เช่น ลูกไก่ อาหารไก่ วัคซีน และการขนส่ง ถ้าคิดราคาไก่ที่ส่งได้เงินสูงกว่าราคาต้นทุน จำเลยที่ 3 ก็ได้กำไร แต่หากคิดราคาไก่ได้น้อยก็ขาดทุนซึ่งโจทก์ร่วมจะหักเงินประกันชำระต้นทุนส่วนที่ขาด หลังจากโจทก์ร่วมส่งลูกไก่ให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ความรับผิดชอบในตัวไก่ทั้งหมดตกไปอยู่แก่จำเลยที่ 3 ผู้เลี้ยงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การดูแลรักษา หรือการป้องกันภัยต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดแก่ตัวไก่ หากเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นไม่ว่าจะเป็นไก่ตาย ไก่เป็นโรค หรือไก่พิการจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับไปซึ่งความเสียหายนั้นเพียงผู้เดียว กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ก็จะไม่มีไก่ไปส่งหรือไก่ที่ส่งไม่ได้น้ำหนักและราคา อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ขาดทุนเมื่อคิดหักกับต้นทุน เช่น ค่าลูกไก่ ค่าอาหารหรือค่าวัคซีนที่รับไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งกรณีขาดทุนโจทก์ร่วมก็จะหักเอาจากเงินประกัน แสดงว่า ในส่วนของโจทก์ร่วมลูกไก่ที่มอบให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงจะได้คืนหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะแม้ไม่ได้คืนหรือได้คืนในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ร่วมก็สามารถหักเอาเงินประกันได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของลูกไก่หลังจากส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแล้วได้แม้ในสัญญาการเลี้ยงไก่จะเขียนให้โจทก์ร่วมยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม นอกจากนั้น พิเคราะห์จากคำเบิกความของ ว. กรรมการผู้จัดการโจทก์ร่วมที่ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน ก็เห็นได้ชัดว่า โจทก์ร่วมมอบลูกไก่ให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงในลักษณะซื้อขาย ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก

          จำเลยมีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยเบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557  จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปิดปั๊มน้ำมันและมีรถบรรทุกหกล้อนำน้ำมันไปขายแก่ลูกค้า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมประจำรถบรรทุกหกล้อคันหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถบรรทุกน้ำมัน เขียนใบเสร็จรับเงิน จดชื่อลูกค้า จำนวนน้ำมันและเงินค่าขายน้ำมันลงในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า และเก็บเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้านำส่งให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ทำงานคู่กับจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จับหัวจ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันจ่ายน้ำมันให้แก่ลูกค้า ในช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ลักเงินค่าขายน้ำมันเบนซินของโจทก์ร่วมรวม 21 ครั้ง เป็นเงิน 92,706 บาท ไปโดยจำเลยที่ 1 รับเงินค่าขายน้ำมันและเขียนใบเสร็จรับเงินเท่าที่ขายไป แต่ลงรายการขายน้ำมันในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าน้อยกว่าที่เขียนในใบเสร็จรับเงิน ตามใบเสร็จรับเงินและสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า แล้วเอาเงินค่าน้ำมันที่เป็นส่วนต่างของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไป
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เอาเงินค่าขายน้ำมันซึ่งเป็นส่วนต่างจากใบเสร็จรับเงินไปนั้น นอกจากจำเลยที่ 1 ลงรายการขายน้ำมันในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าน้อยกว่าที่เขียนใบเสร็จรับเงินแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนให้น้อยลงให้ตรงตามที่ปรากฏในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าในแต่ละวันก่อนกลับด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 ทั้งวัน แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เพียงจับหัวจ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันจ่ายน้ำมันให้แก่ลูกค้า ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินค่าขายน้ำมัน การเขียนใบเสร็จรับเงินและการลงสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า ส่วนการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับนั้น โจทก์ร่วมฎีกาว่า จะกระทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีคนช่วยอย่างน้อย 2 คน โดยคนหนึ่งยกมิเตอร์ออก อีกคนหมุนตัวเลขย้อนกลับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และใช้เวลาประกอบมิเตอร์เข้าไปอีกประมาณ 30 นาที นั้น เห็นว่า นายเพทายเบิกความถึงวิธีการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับเท่านั้น ไม่ได้เบิกความว่าต้องใช้จำนวนคนเท่าใด และใช้เวลาเท่าใด อย่างไรก็ดีเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายแล้ว เป็นภาพถ่ายแสดงการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับโดยวิธีถอดแกนสลักออกแล้วหมุนตัวเลขย้อนกลับและนำแกนสลักใส่กลับตามเดิม โดยไม่ต้องยกมิเตอร์ออกมา ดังนี้ คนเพียงคนเดียวก็สามารถหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับได้และใช้เวลาไม่นาน จำเลยที่ 1 อาจกระทำการดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมตกอยู่ในความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เอาเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วมไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          กรณีที่จำเลยมิได้รับมอบหมายให้รับสิ่งของไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนสิ่งของที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556  จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562  โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์


          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้  และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556  จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          การครอบครองทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นจะต้องได้รับมอบการครอบครองดูแลจัดการโดยเด็ดขาด มิใช่เพียงชั่วคราว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4169/2556  จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักยอกสินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คงมีปัญหาว่า จำเลยลักทรัพย์สินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ อันมิใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญหรือเป็นเรื่องเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความเพียงว่า นางสิริพัชรเพียงนำรายการสินค้าที่โจทก์ร่วมขอเบิกมาจากบริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด มาเปรียบเทียบกับรายการสินค้า BARTER ส่งฝากขายที่ไมด้า ใบสรุปรายการรับเงินจากการขายของ BARTER/ค่าขายนิตยสาร ซึ่งจำเลยทำขึ้น แล้วพบว่าสินค้าขาดหายไปหลายรายการตามใบสรุปผลการตรวจนับสินค้า BARTER และใบสรุปยอดสินค้าขาดสต็อกเท่านั้น หาได้มีผู้ใดพบเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลักสินค้าดังกล่าวไปอย่างไรและเมื่อใดไม่ ลำพังการตรวจสอบด้านเอกสารแล้วพบว่ามีสินค้าขาดหายไปจากสต็อกในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยแล้วจะพึงอนุมานเอาว่าจำเลยต้องเป็นคนเอาไปย่อมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นที่นางสิริพัชรเบิกความตอบโจทก์ว่า พยานตรวจสอบเอกสารที่จำเลยทำขึ้นพบว่ามีผู้มาขอเบิกสินค้าไปจากจำเลยแล้วเรียกเก็บค่าสินค้าไม่ได้หลายรายการ กับพบว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้เบิกสินค้าได้แล้ว แต่จำเลยไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด กับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า มีสินค้าบางรายการที่พนักงานของโจทก์ร่วมเบิกไปและยังไม่ได้ชำระค่าสินค้าและบางรายการเป็นสินค้าที่นำไปวางจำหน่ายตามร้านค้าของลูกค้าหรือบริษัทในเครือของโจทก์ร่วมและยังเรียกเก็บเงินไม่ได้ แต่จำเลยไม่มีเอกสารมายืนยัน พยานจึงไม่ตัดออกจากรายการสินค้าสูญหาย ย่อมแสดงว่าการเบิกสินค้าหลายรายการตามเอกสารมีผู้ขอเบิกไปจากจำเลยจริง มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเอาสินค้าไปเองโดยพลการโดยทุจริต และที่จำเลยไม่นำเงินค่าสินค้าที่รับมาเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซเซ็ส จำกัด มิใช่เป็นเหตุผลว่าจำเลยได้ลักสินค้าไป พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          จำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555  กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
          โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น


          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์ ผู้อื่นหากได้ร่วมมือร่วมใจกระทำการยักยอกกับผู้ครอบครองทรัพย์ ก็ถือว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83