14 มีนาคม 2567

ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา  362  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 
          กรณีแรก เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          กรณีที่สอง เข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข

          ความผิดฐานบุกรุก แม้แค่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเข้าไป ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทั้งตัวก็เป็นความผิด 
          
          เข้าไปในที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครอง ไม่ผิดบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5362/2539  จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับห้ามโอนจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองให้แก่ผู้อื่นได้ การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

          มีสิทธิเข้าไปอยู่ในที่ดินโดยชอบมาตั้งแต่ต้น การที่อยู่ในที่ดินตลอดมา แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษาขับไล่ แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565  การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
          ที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          เข้าไปครอบครองที่ดินอยู่มาก่อนที่ผู้อื่นจะมีสิทธิครองครอง เมื่อมีการโต้แย้งเรื่องสิทธิครอบครองอยู่ จึงไม่ผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2540  นับจากวันที่โจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทจากกรมที่ดิน โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทั้งจำเลยที่ 1 ได้แสดงความเป็นเจ้าของโดยทำเป็นหนังสือคัดค้านการนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 และขายให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปถากถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2535 กรณีจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 นั้น ผู้เสียหายจะต้องเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้เสียหายโดยปกติสุข จำเลยได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้ว ผู้เสียหายเพิ่งจะอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง การที่จำเลยเข้าไปครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา ย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก




          กรณีเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข
          ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่า แม้ไม่มีการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์เลยก็ตาม ถ้ามีการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 362
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2537  แม้ถนนที่เป็นทางเข้าออกของที่ดินของโจทก์จะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่มีอำนาจโดยพลการที่จะนำไม้และสังกะสีไปตอกปิดกั้นประตูทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558  จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
          จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่
          คำพิพากษาฎีกาที่ 5132/2555  เดิมนาย ส.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 73948 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 38 ตารางวา ส่วนโจทก์ร่วมเป็นน้องสาวของนาย ส. และเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 54/7 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากนาย ส.  เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 นาย ส.ทำสัญญาจะขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่ จำเลยที่ 1 ในราคา 700,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย  ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2548 นาย ส.จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 และนางสาว บ. โดยระบุในสัญญาว่าเป็นการขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง  ต่อมาจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เข้าไปซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านพิพาท โดยมีการรื้อส่วนประกอบของบ้านบางส่วนในห้องครัวและห้องน้ำ โจทก์ร่วมได้เข้าห้ามปราม จำเลยที่ 1 ยังให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการซ่อมแซมบ้านพิพาทต่อไป จึงมีการแจ้งความและฟ้องร้องต่อศาลกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
          ศาลได้วินิจฉัยไว้ว่า แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจะระบุว่า นาย ส.จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นาย ส.ทำหนังสือสัญญาขายที่ีดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความระบุว่า ตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของนาย ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อถอนปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้งๆที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

          ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของถ้าเข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้เช่าย่อมมีความผิดบุกรุกได้ ยกเว้นจะมีการระบุไว้ในสัญญาชัดเจนให้ผู้ให้เช่าทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2519  ข้อสัญญาเช่าที่ว่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญาในการชำระเงินตามกำหนดเวลา เจ้าของสถานที่เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองสถานที่ ย้ายบุคคลออกไปจากสถานที่ทั้งหมด เข้าครอบครองสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง สิ่งของที่ติดกับสถานที่และทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดในสถานที่เช่า และไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าก็ตาม ก็สามารถให้เช่าสถานที่เช่าได้ใหม่ นั้น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ผู้เช่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 เจ้าของสถานที่เช่าใช้สิทธิตามสัญญานี้ได้ และการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 1 ให้คนงานใช้ลวดไขกุญแจที่ใส่ปิดประตูห้องพิพาทออกแล้วเอากุญแจลูกใหม่ใส่แทน เป็นเหตุให้โจทก์กับพนักงานเข้าไปใช้ห้องพิพาทไม่ได้ จึงไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558  ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

          การกระทำที่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยเอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561 ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

          บุกรุกที่ดินมือเปล่า แต่ผู้เสียหายไม่ฟ้องขับไล่ภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2530 จำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดิน นส.3 ก. ของ ส. ผู้เสียหาย อันเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อ ส. มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยบุกรุก ย่อมหมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1735 วรรคสอง สิทธิครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง การที่จำเลยครองครองที่ดินภายหลังจากการที่สิทธิครอบครองของ ส. สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

          บุกรุกเป็นความผิดสำเร็จทันทีตั้งแต่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการครอบครองต่อมา เป็นเพียงผลของการบุกรุก ไม่เป็นความผิดต่อเนื่อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558  ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก