ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 65 "ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
มาตรา 66 "ความมึนเมาเพราะเสพย์สุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65 ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
ถ้าผู้กระทำยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ก็ยังคงต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเมายา(ไม่ได้บ้า) จะมาอ้างว่ากระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ตามมาตรา 65 ไม่ได้ จึงยังต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ยกเว้นเป็นกรณีความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์
ตัวอย่างกรณีที่ผู้กระทำความผิดเมายา(ไม่ได้บ้า) จึงไม่ได้ยกเว้นหรือลดหย่อนโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2545 เอกสารที่จำเลยนำมาแสดงอ้างว่าตนเป็นโรคประสาทเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั้น เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ จำเลยมิได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าตนป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำการโดยไม่รู้สึกตัวทั้งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่า จำเลยให้การปฏิเสธซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของจำเลยระบุว่าจำเลยมีอาการเบลอๆ ไม่ค่อยได้สตินั้นอาจเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อนเกิดเหตุจนมีอาการมึนเมาก็เป็นได้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยมีอาการทางจิตประสาทไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ (จึงต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2545 แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงคนจำนวนมากคล้ายคนมีสติไม่เหมือนคนปกติก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้นำแพทย์มาเบิกความยืนยันและไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดงว่าจำเลยเป็นโรคจิต ศาลจึงไม่อาจที่จะวินิจฉัยได้เองว่า จำเลยมีจิตไม่ปกติ ทั้งจำเลยสามารถให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามปกติโดยไม่ปรากฏว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยดื่มสุราจนเมา การที่จำเลยกระทำความผิดไปจึงเนื่องมาจากดื่มสุรา ซึ่งจำเลยจะอ้างเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษตาม ป.อ. มาตรา 65 ไม่ได้ เพราะจำเลยสมัครใจดื่มเอง
แต่ถ้าผู้กระทำนั้นถึงขั้นปัญญาอ่อนขนาดที่ไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ถือว่ากระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544 จำเลยปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยมีความพิการทางสมอง ไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิดดังนั้นปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง หรือไม่นั้น ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 59 หรือไม่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้เป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59
ส่วนถ้าผู้กระทำผิดยังรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังบังคับตนเองได้บ้าง(บ้าเล็กน้อย) ก็ยังคงต้องรับโทษอยู่ แต่อาจได้ลดหย่อนผ่อนโทษลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2544 ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายได้รับอันตรายมีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะด้านขวาและซ้าย 10 แผลเศษ ทำให้กะโหลกศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตกกดยุบลง ศีรษะด้านข้างและท้ายทอยซ้ายแตกมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกด้านข้างซ้าย ฝ่ามือขวามีบาดแผล 2 แห่ง ยาว 4 เซนติเมตร และจมูกด้านซ้ายเป็นรอยบาดแผล ผิวหนังถลอกประมาณ 10 แผล ในขณะที่แพทย์รับตัวผู้เสียหาย ผู้เสียหายช็อกเนื่องจากเสียเลือดมาก หากไม่ได้รักษาทันท่วงทีผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายเต็มแรง อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายเป็นมีดฟันหญ้ามีขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่า
อาการโรคซึมเศร้าเกิดจากความกดดันของสภาพแวดล้อม ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง เมื่อมีเหตุมากระตุ้นจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ จำเลยไม่มีมูลเหตุที่จะเคียดแค้นจนถึงกับต้องทำร้ายผู้เสียหาย แต่เป็นเพราะอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจนแสดงออกในทางเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าจำเลยไร้ค่าจนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบผู้เสียหายกำลังขับเรือเร่ขายสินค้าเช่นเดียวกับตน จึงเป็นเหตุกระตุ้นจิตใจของจำเลยให้มีความก้าวร้าวยิ่งขึ้น จนจำเลยแสดงออกด้วยการทำร้ายผู้เสียหายอย่างรุนแรง แต่วันเกิดเหตุจำเลยขับเรือออกไปค้าขายซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามปกติ ในเรือของจำเลยมีสินค้าต่างๆ สำหรับจำหน่ายอันเป็นอาชีพของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยยังสามารถประกอบอาชีพตามที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ หลังเกิดเหตุจำเลยยังสามารถขับเรือแล่นหลบหนีกลับบ้านได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งศาลอาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้