11 มี.ค. 2561

สัญญาเช่าซื้อ


          มาตรา 572  "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
          สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สัญญาเช่าซื้อเป็นลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ที่ประกอบด้วยคำมั่นว่า หากผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้ว ก็จะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า

          แบบของสัญญาเช่าซื้อ
          สัญญาเช่าซื้อกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามมาตรา 572 วรรคสอง "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"
          การทำเป็นหนังสือ คือ คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาด้วยกัน หากสัญญามีเพียงลายมือชื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น ก็เท่ากับไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือ มีผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2520  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรค 2 บัญญัติว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความถึงว่า เจ้าของทรัพย์สินและผู้เช่าซื้อจะต้องลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย
          โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่าลายมือชื่อกรรมการใดๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราบริษัทพึงมีผลผูกพันบริษัทแต่ตามสัญญาเช่าซื้อกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตราบริษัท ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

          การสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ

          (1) ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 573  "ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2522  โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะตำรวจยึดไปสอบสวนกรณีรถนั้นถูกลักมา เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องคืนรถแก่จำเลยผู้ให้เช่าซื้อ แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อในการที่ถูกตำรวจยึดรถไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558  จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552  การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้


          (2) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 574  "ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
          อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559  หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว
          แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญา จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551  สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ

          (3) สัญญาเช่าซื้อระงับลงด้วยเหตุอื่น เช่น ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายไปทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2540  สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว... และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ..." หมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา จึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 กรณีไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


          กรณีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค***
          ปัจจุบันนี้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561  ซึ่งออกโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา พ.ศ. 2522 ดังนั้น การทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจึงต้องมีข้อความเป็นไปตามที่ประกาศดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14578/2557  โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย ซึ่งสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ว่า หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญา แต่หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเห็นได้ว่า แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อก็ยังคงมีความรับผิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์นำมาเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้ ส่วนจะใช้ค่าเสียหายอย่างไร เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์จึงพอถือได้ว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายรวมอยู่ด้วยแล้ว
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ข้างต้นมิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า หากทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นอันระงับไปเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นราคารถยนต์นั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหาย และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนทั้ง 42 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินรวม 77,209.44 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มาเพียง 5 งวด รถยนต์ก็มาสูญหายเสียก่อน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,100 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

2 มี.ค. 2561

ความผิดฐานกระทำอนาจาร

               มาตรา 278  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (1) การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของผู้อื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2534  การกระทำอนาจารคือการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วส่วนการกระทำชำเราจะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อใช้อวัยวะเพศของชายบังคับใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 13 ปีโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษฐานกระทำชำเรา ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารอยู่ด้วยในตัวแม้ไม่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ฐานกระทำอนาจารถ้าพิจารณาได้ความว่าจำเลยได้กอดจูบลูบคลำผู้เสียหาย ก็ย่อมลงโทษฐานกระทำอนาจารซึ่งมีโทษเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอ.
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2550  การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นการอนาจารแล้ว ส่วนการกระทำชำเรานั้นเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อจำเลยพรากเด็กหญิง อ. ไปเพื่อกระทำชำเราเด็กหญิง อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเรา

               การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547  คำว่า "อนาจาร" มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้นจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 แม้บางตอนจำเลยจะได้กระทำขณะอยู่ในรถยนต์กระบะแต่การที่จำเลยจับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพักของโรงแรมขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมเช่นนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยในที่ซึ่งอาจมีคนเห็นได้ แม้ไม่มีผู้ใดเห็นในขณะกระทำนั้นก็เป็นธารกำนัลแล้ว เพราะการกระทำต่อหน้าธารกำนัลมิได้หมายความเฉพาะแต่กระทำโดยประการที่ให้บุคคลอื่นได้เห็นโดยแท้จริงเท่านั้น เพียงแต่กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ก็เป็นต่อหน้าธารกำนัลแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้

               (2) การกระทำอนาจารตามมาตรา 278 ต้องกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2503  จำเลยจับมือและกอดเด็กหญิงผู้เสียหายอายุ 14 ปีถือได้ว่าเป็นการใช้แรงกายภาพ ซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายใน มาตรา 1(6) แล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม มาตรา 278

               (3) ผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่จะเป็นความผิดตามมาตรา 278 นี้ต้องมีอายุเกินกว่า 15 ปี ถ้าผู้ถูกกระทำอายุยังไม่เกิน 15 ปี ก็เป็นความผิดตามมาตรา 279 (อนาจารเด็ก)
               มาตรา 279  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59

               (5) ถ้าการกระทำอนาจารเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 280

               (6) การกระทำความผิดตามมาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ (มาตรา 281)

               บุคคลตามมาตรา 285 ได้แก่
               ก. ผู้สืบสันดาน
               ข. ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล
               ค. ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือ
               ง. ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล

               ต่อหน้าธารกำนัล คือ กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้ผู้อื่นสามารถเห็นการกระทำของตนได้
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2506  จำเลยกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้นั้น แม้ไม่มีการร้องทุกข์ เจ้าพนักงานก็ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
               จำเลยจับนมผู้เสียหายในรถประจำทางซึ่งมีคนโดยสารแน่นนั้น เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล แม้มิได้มีพยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยมาเบิกความในชั้นศาล
               การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278 แล้ว
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2553  จำเลยกระทำอนาจารจับหน้าอกผู้เสียหายในร้านอาหารซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะอื่นด้วย และมี น. พนักงานร้านอาหารนั้นเห็นจำเลยจับหน้าอกผู้เสียหายขณะ น. เสิร์ฟอาหารอยู่โต๊ะอื่น จึงเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล และมิใช่ความผิดฐานกระทำอนาจารที่จะยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 281 ประกอบมาตรา 278 แม้ผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ยังไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

               กรณีที่ไม่ใช่กระทำต่อหน้าธารกำนัล
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2508 (ประชุมใหญ่)  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าเด็กหญิงคนหนึ่งในห้องนอนมืดเพียงแต่เหตุเกิดต่อหน้าเด็กหญิงเท่านั้น และโจทก์มิได้ยืนยันโต้แย้งว่าจำเลยได้กระทำโดยประการที่ให้เด็กหญิงได้เห็นการกระทำของจำเลย หรือว่าจำเลยได้กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นการกระทำของจำเลยได้ ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล หากผู้เสียหายได้แถลงต่อศาลไม่ติดใจเอาความจากจำเลย ขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลก็ต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2508)
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2528  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่กับบุตร 2 คน ไม่ปรากฏว่าบุตรของผู้เสียหายคนใดเห็นการกระทำของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281