ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 1 (16) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
เจ้าพนักงาน ตามบทนิยามในมาตรา 1 (16) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีหลักเกณฑ์ คือ
(1) เป็นบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(2) เป็นบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือหรือครั้งคราว และ
(3) ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
1. เป็นบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2524 เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือ ในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น จำเลยที่ 1 เป็นกำนัน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการสภาตำบลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล และมีระเบียบของสำนักนายกว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 กำหนดให้กำนันแพทย์ประจำตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทฯ เรียกโดยย่อว่า ปชลต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวนั้นเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทั้งสามดำเนินการในฐานะเป็นคณะกรรมการ ปชลต. ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น อันอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้
1.1 ข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการพลเรือนในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลทหาร ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม รวมถึงพนักงานอัยการ เหล่านี้ เป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2523 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออกและมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความ ลงในมรณบัตรตามอำนาจหน้าที่โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียน ผู้รับแจ้ง มรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่ จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับ ความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา161 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า 'ศาล' หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7663/2543 แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27 บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อ ก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุม ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91
ในส่วนของตำแหน่งที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เป็นเจ้าพนักงาน แต่ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2478 ยื่นเรื่องราวใส่ความเจ้าพนักงานหาว่ากระทำรายงานเท็จต่อสภาผู้แทนราษฎร ฯ จึงส่งเรื่องราวต่อ ๆ ไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อทำการสอบสวน ปรากฎว่าไม่เป็นความจริงดังกล่าวหา ดังนี้ถือว่าได้กล่าวแก่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่ไม่เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะผู้แทนราษฎรไม่มีหน้าที่ทางบริหาร ไม่ใช่เจ้าพนักงาน
1.3 ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการต่างๆ ไม่ว่าลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว ตามปกติไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2522 จำเลยเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ เบิกเงินค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐ กรมธนารักษ์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บเงินที่มีผู้ชำระต่อราชพัสดุจังหวัดเท่านั้น จึงมิใช่เป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมาย คำสั่งจ้างจำเลยระบุเพียงว่าให้จ้างจำเลยเข้าเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ มิได้อ้างว่าแต่งตั้งจำเลย โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายใด ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุก็มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่ยกเว้นมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน เช่น พนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางด่วน เป็นเจ้าพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2545 จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ ระดับ 2 ประจำด่านบางนาและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคน โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่านโดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้น และพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง แต่เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน 8 ครั้ง เป็นเงิน 153,700 บาท แม้ว่าจะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าผ่านทาง แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งเป็นผู้รับเงินและรวบรวมนำส่งต่อไปอันถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบ จึงถือว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินอันเป็นสิ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ทุจริตนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคัน หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน จำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมาปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป ฉะนั้น แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จรับเงินก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2523 จำเลยรับราชการเป็นพนักงานจ้าง ตำแหน่งพนักงานบำรุงป่าได้รับมอบหมายให้ใช้และรักษาดวงตราก้อนเหล็กประทับไม้ ต.3986 ของกรมป่าไม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต้องแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 4(16) ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จำเลยได้รับมอบหมายให้ช่วยป่าไม้อำเภอตรวจสอบไม้ผ่านด่านออกใบเบิกทางจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 160
2. เป็นบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว
ข้าราชการทั่วไปนั้นตามปกติถือว่าเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง แต่ในบางครั้งอาจได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นด้วย โดยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นนั้นผู้แต่งตั้งต้องมีอำนาจตามกฎหมายด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นก็เป็นเจ้าพนักงานเช่นกัน แต่หากผู้แต่งตั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อื่น กรณีนี้ผู้ถูกแต่งตั้งไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานอย่างไรก็ตาม หากมีการแต่งตั้งให้ปฏิบัตินอกหน้าที่ราชการ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2530 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 แต่การที่ อ. ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. และ อ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2523 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 24 มิได้บัญญัติให้อำนาจนายอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด การที่นายอำเภอมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานสำรวจสำหรับเขตหมู่บ้าน และแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านที่ตนปกครองรับผิดชอบ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แม้ต่อมาจำเลยได้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎร แล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตจำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2529 จำเลยทั้งสองเป็นครูโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี สังกัดกรมสามัญศึกษาไม่ได้สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน แต่จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทางธุรการและการเงินของโรงเรียนผู้ใหญ่วิสุทธิกษัตรี สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยราชการด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานและได้ปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ไม่จัดการนำส่งประธานกรรมการเก็บรักษาเงินตามระเบียบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์โดยทุจริต อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งความผิดดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแม้จะร้องทุกข์เกิน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีก็หาขาดอายุความไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2522 ข้าราชการกรมชลประทานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างตัดไม้ในบริเวณที่ทำเขื่อน ไม่มีหน้าที่รักษาเขื่อน ลงชื่อในหนังสือรับมอบงานโดยไม่ได้ไปตรวจสอบงาน แต่ไม่ปรากฏว่าทุจริตต่อไม้และต้นไม้ที่ถูกตัดคงเหลืออยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ทำให้น้ำเน่าเขื่อน และอ่างเก็บน้ำไม่เสียหาย ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 151, 157 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162 เฉพาะตัวผู้รับเงินจากผู้รับจ้างเป็นทุจริต เป็นความผิดตาม มาตรา 157 สัญญาจ้างทำ 3 คราว 52 ฉบับ เป็นเพียงวิธีการแต่ผู้รับจ้างมีรายเดียวเป็นเจตนาเดียว เป็นความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2523 จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าธุรการของโรงพยาบาลและเป็นกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างตึก จำเลยทราบดีว่าการก่อสร้างผิดรายการตามแบบแปลนแต่เพิกเฉยเสีย แล้วทำบันทึกตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานว่า ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาจ้างจนทางราชการได้อนุมัติจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับจ้างไปครบถ้วนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162(1) นั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามกฎหมายที่เป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2480 เสมียนอำเภอซึ่งมีหน้าที่เขียนและรับเงินเกี่ยวกับตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ได้ปลอมใบนำส่งเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรนั้นถือว่าเป็นการกระทำในหน้าที่ ต้องมีผิดฐานปลอมหนังสือตาม ม.229 ความผิดในเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่นั้นไม่จำต้องเป็นตำแหน่งหน้าที่ประจำ แม้เป็นหน้าที่ชั่วคราวก็เป็นผิด อ้างฎีกาที่ 758/2478 ในคดีที่จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทนั้น เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยมีผิดตามบทหนักแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะผิดกฎหมายบทเบาหรือไม่
การแต่งตั้งให้ปฏิบัตินอกหน้าที่ราชการ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2506 การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดงานปีใหม่ และเป็นกรรมการจำหน่ายบัตรผ่านประตูนั้น หาทำให้ผู้เสียหายมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ แต่เป็นเรื่องช่วยเหลือนายอำเภอปฏิบัติงานพิเศษเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ฉะนั้น การพยายามทำร้ายผู้เสียหายที่ไม่ยอมให้ผ่านประตูเข้าไปในบริเวณงานโดยไม่มีบัตร จึงมีความผิดตามมาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 80 ไม่ใช่มาตรา 296 ประกอบด้วยมาตรา 80
การเป็นเจ้าพนักงานนี้ไม่ต้องคำนึงว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ แม้ไม่มีค่าตอบแทนหากมีกฎหมายบัญญติหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติราชการ ก็ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว