9 มี.ค. 2567

ความรับผิดในการทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ

          ผู้ไร้ความสามารถไม่ว่าจะเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตย่อมเป็นผู้ทำละเมิดได้ และต้องรับผิดในการทำละเมิดของตนเช่นกัน ซึ่งตามมาตรา 429 นี้ บัญญัติให้บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลผู้ไร้ความสามารถเช่นว่านี้ต้องรับผิดร่วมด้วย จึงถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมที่ผู้เสียหายจะเลือกฟ้องคนใดคนหนึ่งหรือฟ้องทั้งสองคนให้ร่วมกันรับผิดก็ได้       
          มาตรา 429 "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น"
          บิดาตามมาตรา 429 นี้ จะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย เพราะถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ หรือกรณีที่บิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครอง ฝ่ายที่ถูกถอนอำนาจปกครองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 429 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546  ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้
          หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3
          นอกจากนี้ บิดามารดาตามมาตรา 429 ยังรวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย และกรณีรับบุตรบุญธรรมนี้ถือว่าบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว บิดามารดาผู้ให้กำเนิดจึงไม่มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมนั้นและไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 429 เช่นกัน
          เหตุยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 429 ตอนท้าย "เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น" หมายความว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว ถ้าไม่พิสูจน์หรือพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องแพ้คดี



          แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 974/2508  มารดาต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล
          มารดาเห็นบุตรถือปืน จึงว่ากล่าวตักเตือนบุตรไม่เชื่อฟัง กลับเอาปืนไปซ่อนเสีย พอลับหลังมารดาก็เอาปืนมาเล่นอีก ถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนของมารดาเพียงเท่านี้ หาเพียงพอกับการที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลของตนในฐานะเป็นมารดาไม่ มารดาจึงต้องร่วมรับผิดในการที่บุตรประมาทเลินเล่อเอาปืนยิงผู้อื่นตาย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2515  บิดามารดาเก็บปืนไว้ใต้หมอนในห้องนอน โดยมิได้ถอดแมกกาซีนออก และมิได้ห้ามปรามมิให้บุตรเข้าไป เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจจะเกิดจากอาวุธปืนนั้น ถือว่าบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลของบิดามารดา เมื่อบุตรเอาปืนไปเล่นเป็นเหตุให้ปืนลั่นถูกเพื่อนตาย บิดามารดาต้องร่วมรับผิดกับบุตรในผลละเมิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256 - 2257/2517  บิดามารดามีรถยนต์บรรทุก 2 คันจอดไว้ที่ถนนเพราะไม่มีที่เก็บ มองจากบ้านไม่เห็นรถ บุตรเคยขับรถคันเกิดเหตุไปล้างใกล้ๆ กับที่จอด โดยบางครั้งบิดาก็ใช้ซึ่งแสดงว่าบิดามารดาทราบดีว่าบุตรขับรถยนต์ได้ ทั้งบุตรก็ยังเป็นผู้เยาว์ อายุ 18 ปี อยู่ในวัยคะนองชอบคบเพื่อนเที่ยวเตร่ แต่บิดามารดากลับเก็บกุญแจรถไว้ในลิ้นชักโต๊ะโดยไม่ใส่กุญแจ เป็นโอกาสให้บุตรเอากุญแจรถไปได้ และขับรถของบิดามารดาไปทำละเมิดต่อโจทก์ ย่อมถือได้ว่าบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงต้องรับผิดร่วมกับบุตรด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจะเคยห้ามปรามจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรผู้เยาว์ไม่ให้เอารถยนต์ไปใช้ และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บและเคยเอารถออกไปขับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถหาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ ถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2524  จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมานานพอสมควรแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับยืนยันว่าไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 3 ตามสมควรแก่หน้าที่ของบิดามารดาพึงดูแลบุตรผู้เยาว์ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2534  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกไปเที่ยวใช้หนังสติ๊กยิงด้วยกระสุนในทางเดินสาธารณะในเวลากลางคืนจนเกิดเหตุคดีนี้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มักออกเที่ยวกลางคืนด้วยกันบ่อย ๆ การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แสดงว่า บิดามารดามิได้ดูแลอบรมสั่งสอนตามสมควรแก่หน้าที่ ระหว่างนั้นแม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะไปอยู่บ้านญาติช่วยเลี้ยงกระบือหรือช่วยทำนา แต่การที่ผู้เยาว์ทำละเมิดในขณะที่มิได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 นำสืบเพียงว่าได้สั่งสอนให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้เป็นคนดี มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2535  โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานละเมิดเพราะจำเลยที่ 2 ได้ขับรถของโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์พลิกคว่ำเสียหาย จำเลยที่ 2 มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ขาดการอบรมดูแลที่ดี จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 2 ไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่ห้ามปรามในการเที่ยวเตร่จนดึกดื่น แม้แต่คืนเกิดเหตุก็ยังปล่อยให้ไปเที่ยวดื่มสุราในยามดึกและพาผู้หญิงไปนอนค้างที่โรงแรม แม้เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถโดยประมาทมิได้เกิดจากความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 อันจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะต้องระมัดระวังดูแลก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่เอาใจใส่ดูแลความประพฤติด้านอื่นของจำเลยที่ 2 ก็แสดงว่าไม่เอาใจใส่ดูแลว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้นจะไปขับรถโดยประมาทอันเป็นความประพฤติอย่างหนึ่งหรือไม่ จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 2.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9184/2539  จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3 ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9774/2544  จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
          จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์ ปกติจำเลยที่ 1 จะขับออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาแต่ต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2548  โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย

           ***แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2517  การที่จำเลยผู้เป็นบิดามารดาปล่อยให้เด็กชาย ล. บุตรชายอายุ 5 ขวบเศษเล่นหนังสะติ๊ก ซึ่งคันหนังสะติ๊กยาวประมาณจากข้อมือถึงปลายนิ้วมือ ใช้ยางกลม ๆ โยงต่อกันมีหนังเข็มขัดโตขนาด 2 นิ้วมือเป็นที่รองกระสุน ยิงเล่นอยู่ในบริเวณบ้าน มิได้ปล่อยปละละเลยให้ออกไปเที่ยวยิงเล่นนอกบ้าน ขณะเกิดเหตุนางสาว จ. พาเด็กชาย ส. บุตรโจทก์ไปเที่ยวที่บ้านจำเลย เด็กชาย ส. ยืนอยู่ในมุมระเบียงเรือนของจำเลย ส่วนเด็กชาย ล.เล่นอยู่ที่พื้นดินภายในบริเวณบ้านของจำเลย เผอิญเด็กชาย ล.ยิงหนังสะติ๊กมาทางเรือนเพียงครั้งเดียว ถูกเด็กชาย ส. ได้รับบาดเจ็บถึงนัยน์ตาบอด ดังนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แม้จำเลยจะปล่อยให้เด็กชาย ล. เล่นโดยลำพังเช่นนั้น ก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่เด็กชาย ล. ยิงหนังสะติ๊กเล่นจะเกิดเหตุถึงกับถูกนัยน์ตาของเด็กชาย ส. จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กชาย ล.ซึ่งจำเลยได้กระทำอยู่นั้นแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลที่เด็กชาย ล. ได้กระทำละเมิดดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2524  จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดา จำเลยที่ 1 ขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์เข้าไปดับไฟซึ่งลุกไหม้ที่ไร่อ้อยเป็นเหตุให้รถแทรกเตอร์ของโจทก์ถูกไฟไหม้เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เคยเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์มาก่อนและมิได้ว่ากล่าวห้ามปรามก็ตาม การขับรถแทรกเตอร์ของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้เห็นและมิได้ห้ามปรามนั้นเป็นการขับรถแทรกเตอร์ตามปกติ แต่การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นการขับรถแทรกเตอร์ของโจทก์เข้าไปดับไฟ โดยรถแทรกเตอร์ของโจทก์มิได้มีไว้เพื่อใช้ในการดับไฟ เป็นการใช้รถแทรกเตอร์ของโจทก์ผิดจากปกติ หาใช่การขับรถที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ว่ากล่าวห้ามปรามไม่ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 1 กิโลเมตรเศษย่อมไม่อาจห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าไปดับไฟได้ และการที่ไฟไหม้ไร่อ้อยเป็นเหตุเกิดขึ้นโดยปัจจุบัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อาจคาดหมายและกำชับล่วงหน้ามิให้จำเลยที่ 1 ขับรถเข้าไปดับไฟ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2526  บุตรโจทก์กับบุตรจำเลยเป็นเพื่อนกันได้พากันขับรถพาเพื่อนออกไปเที่ยวโดยมีบุตรโจทก์เป็นผู้ขับ หลังจากพาเพื่อนกลับมาแล้วบุตรโจทก์ได้ขับรถออกไปกับบุตรจำเลยอีก โดยจำเลยไม่ทราบและไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าบุตรจำเลยจะทำหน้าที่ขับรถแทนบุตรโจทก์หลังจากนั้นบุตรจำเลยโดยความประมาทเลินเล่อขับรถโจทก์ไปประสบอุบัติเหตุเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบุตรจำเลยตามสมควรแก่หน้าที่ในขณะนั้นแล้วจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2732/2528  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยืมรถยนต์ของโจทก์ไปใช้และเกิดความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้รู้เห็นด้วยและโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ยืมโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสทักท้วงโจทก์และห้ามปรามจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2530  โจทก์ที่ 2 อายุ 15 ปี จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ต่างสมัครใจเล่นขว้างปา ก้อนดิน ใส่ กัน ก้อนดิน ถูกตา ซ้าย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บดังนี้ เป็นกรณีเกิดจากการเล่นตามวิสัยเด็กโดยโจทก์ที่ 2 สมัครใจเข้าร่วมเล่นด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนเป็นต้นเหตุให้เกิดการละเมิด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำกระบือไปเลี้ยงห่างหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปด้วยการเล่นขว้างปา ก้อนดิน เป็นการเล่นธรรมดาทั่วไปที่เด็ก ๆ จะชักชวนและสมัครใจเล่นกันเองตามวิสัยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรู้ว่าจำเลยที่ 1 เคยเล่นขว้างปา ก้อนดิน กันมาก่อนจึงเกินความคาดคิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบิดาจะควบคุมได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแล จำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6014/2534  แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว ทั้งยังรู้จักทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระของบิดามารดา นับว่าเป็นผู้มีอายุและความรับผิดชอบพอที่จะมีและขับรถจักรยานยนต์ได้โดยปลอดภัย ตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขวนขวายเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้ขับด้วยความจำเป็น มิใช่มีไว้เพื่อใช้ขับเที่ยวเตร่ไม่เป็นสาระคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่มาพักโรงแรมอันเป็นหน้าที่การงานที่จำเลยที่ 1 พึงกระทำ และคืนนั้นหากจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันอื่นออกไปกระทำการตามหน้าที่เช่นว่านั้น ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่มีโอกาสที่จะไประมัดระวังดูแลหรือทัดทาน ได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2540  จำเลยร่วมบุตรโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์พาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวสถานบันเทิงโดยจำเลยร่วมให้ ฉ. เป็นผู้ขับไปยังสถานบันเทิง ครั้นเลิกจากเที่ยวเมื่อเวลา 3 นาฬิกาของวันใหม่เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 ขับกลับจากสถานบันเทิงแล้วเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปเที่ยวและที่จำเลยร่วมยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์พาจำเลยร่วมกับเพื่อน ๆ กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์แทน ฉ. การที่จำเลยที่ 1 อาสาขับรถยนต์โจทก์ตอนขากลับต้องถือว่าเป็นการสุดวิสัยของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะรู้เห็นได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่ในขณะนั้นแล้ว เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ให้ไปกระทำหรือรู้แล้วยังยอมให้กระทำดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แต่หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2540  จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ใช้ไม้เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ถูกที่บริเวณตาขวา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 มีอายุ 14 ปีเศษ มีความรู้ผิดชอบพอสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีนิสัยเกเรชอบรังแกผู้อื่นมาก่อน ย่อมเป็นการยากที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ตลอดเวลา ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ขว้างทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการกระทำลับหลังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่อาจคาดคิดหรือควรคิดได้ว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้นต่อโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ดีกว่านี้แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2540  จำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ อายุ 17 ปี ขับรถจักรยานยนต์ได้ ทั้ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ต่างอำเภอกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของเพื่อนจำเลยที่ 1 ชนโจทก์โดยละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้รู้เห็นด้วย และไม่มีโอกาสห้ามปรามจำเลยที่ 1 มิให้ขับรถจักรยานยนต์เช่นนั้น จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้ความระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2541  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ และเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออก ไปกิจธุระนอกบ้าน จำเลยที่ 2 ได้นำรถจักรยานยนต์ คันเกิดเหตุเข้าไปเก็บไว้ในบ้านพร้อมกับใส่กุญแจล๊อก คอรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ออกไปใช้ และจำเลยที่ 2 นำเอากุญแจติดตัวไปด้วยการที่จำเลยที่ 1 ได้นำกุญแจรถยนต์กระบะไปไขออก ได้โดยบังเอิญแล้วนำไปให้เพื่อนรุ่นพี่ต่อสายไฟตรงติดเครื่องยนต์ให้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มีนิสัยหรือความประพฤติไม่ดีมาก่อน เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นเหมาะสมกับอุปนิสัยและความประพฤติของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรแล้วทุกประการ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8138/2555  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีอายุ 19 ปีเศษ ใกล้บรรลุนิติภาวะ แม้จะยังเป็นผู้เยาว์และต้องอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองไม่เป็นภาระแก่บิดามารดา การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ก็เนื่องมาจากต้องใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีวุฒิภาวะพอสมควรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไว้วางใจจำเลยที่ 1 ในการดำรงชีวิตในสังคมที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถจักรยานยนต์ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น หรือเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอยู่เสมอ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรต้องทักท้วงหรือห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์อีกจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์