4 มี.ค. 2567

ผู้แทนนิติบุคคล


          นิติบุคคล

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66  "นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง"

          นิติบุคคลเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น ซึ่งได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งตามขั้นตอนของกฎหมายถูกต้องครบถ้วน และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น (มาตรา 67)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559  บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ.


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2552  บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

          นิติบุคคลต้องมีผู้แทนทำการแทนนิติบุคคล

          มาตรา 70 "นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้
          ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล"
       
          นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่นิติบุคคลไม่มีตัวตนเช่นอย่างบุคคลธรรมดา ดังนั้น การแสดงเจตนาเพื่อทำการในเรื่องใดๆ จึงต้องมีผู้แทนนิติบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ เป็นผู้ทำการแทน โดยความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560  แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ก.จัดตั้งคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใดๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้น การแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556  โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2556  ช. ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ แม้ ช. รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ผ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทำรายงานเสนอ ผ. ว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวง ช. อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และ ผ. ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537



          กรณีที่ตำแหน่งผู้แทนนิติบุคคลว่างลง ก็อาจร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นได้

          มาตรา 73 "ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล และมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นก็ได้"

          ถ้าตำแหน่งผู้แทนนิติบุคคลว่างลง จนมีเหตุควรเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายได้ ผู้มีส่วนได้เสียก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2548  ผู้ร้องซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของห้าง โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างมีอำนาจกระทำการแทนห้าง เพื่อผู้ร้องจะได้กระทำกิจการต่างๆ ในนามห้างได้ อันเป็นการแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องของห้างมิให้เกิดความเสียหายเนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการคนอื่นไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจร่วมกับผู้ร้องเพื่อดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้อื่นฉ้อโกงห้างทำให้ห้างเสียหาย แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของห้างว่างลงตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 73 บัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาวินิจฉัยคดีได้ดังนั้นหากได้ความจริงตามคำร้องขอศาลก็สามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมายดังกล่าวได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2542  ข้อบังคับของบริษัท ซ. กำหนดให้ ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับผู้ร้องและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ แต่ ส. ขัดขวางและทำการเป็นปฏิปักษ์ไม่ยอมลงลายมือชื่อร่วมกับผู้ร้องในกิจการที่ต้องกระทำในนามบริษัท ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวของบริษัท โดยให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท เพื่อแก้ไขอุปสรรคและข้อขัดข้องของบริษัทมิให้เกิดความเสียหาย ดังนี้ แม้คำร้องขอของผู้ร้องจะไม่ใช่กรณีตำแหน่งผู้แทนของบริษัทว่างลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีนี้ได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีนี้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73 ศาลจึงสามารถตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนชั่วคราวตามบทกฎหมายดังกล่าวได้

          ผู้แทนชั่วคราวเมื่อร้องขอให้ศาลแต่งตั้งได้ ก็ย่อมร้องขอให้ศาลสั่งถอดถอนได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2540  แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 จะกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะตั้งหรือถอนกรรมการบริษัทได้ก็ตาม แต่ก็มิได้ตัดอำนาจของศาลที่จะถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติโดยตรงให้ศาลถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งได้หากมีเหตุอันสมควร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหากกฎหมายประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งขึ้นก็ย่อมจะบัญญัติไว้แต่ไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น จึงไม่ถูกต้อง
       



          กรณีประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกันกับผู้แทน

          มาตรา 74 "ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้"
          มาตรา 75 "ถ้ากรณีตามมาตรา 74 เป็นเหตุให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำความในมาตรา 73 มาใช้บังคับเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะการโดยอนุโลม"

          แม้ความประสงค์ของนิติบุคคลจะแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลเกิดขัดกัน กฎหมายก็ได้บัญญัติห้ามไว้มิให้ผู้แทนนิติบุคคลทำการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2536  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 เดิม(มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติไว้ความว่า ในการอันใดถ้าประโยชน์ทางได้เสียของนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งกับของตัวผู้จัดการอีกฝ่ายหนึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กันในการอันนั้น ผู้จัดการเป็นอันไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้ การที่ ส.ผู้จัดการโจทก์สาขาลอง กับ ป. ต้องการขายลดเช็คให้โจทก์เอง โดยให้จำเลยทั้งสามออกหน้าเป็นผู้ขายลดเช็คนั้น ส.ผู้จัดการโจทก์จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 80 เดิม(มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่) และความรู้ของ ส. ผู้จัดการโจทก์ดังกล่าวจะถือเป็นความรู้ของโจทก์ด้วยไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกับ ส. ผู้จัดการโจทก์และ ป. ขายลดเช็คให้โจทก์ จำเลยทั้งสามต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คที่จำเลยทั้งสามแสดงเจตนาต่อโจทก์ด้วย อายุความฟ้องร้องตามสัญญาขายลดเช็ค ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)

          ถ้าการที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกันกับผู้แทนนิติบุคคล ทำให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ในมาตรา 75 ก็ได้บัญญัติทางออกไว้ กล่าวคือ ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้แทนเฉพาะการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551  ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2550  การขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 75 และหากปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการบริษัทเอง ซึ่งหากผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาของบริษัทก็สามารถดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 กรณีตามคำร้องมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลง หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของบริษัท ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใดที่จะทำให้ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวนิติบุคคลได้



          ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของนิติบุคคลซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของผู้แทน

          มาตรา 76 "ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย
          ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น"
          มาตรา 77 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1