10 มี.ค. 2567

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 68  "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

          การกระทำเพื่อป้องกัน แม้จะเกิดความเสียหายบ้าง แต่ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิด


          หลักเกณฑ์ ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

          1. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ
             - ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ หากผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ ก็ไม่มีสิทธิป้องกัน
             - ผู้ที่จะอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้จะอ้างป้องกันนั้น มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายนั้น ก็ไม่สามรถอ้างป้องกันได้
          2. ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือ ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้
          3. ผู้กระทำจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น
          4. การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ คือ
             - การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการถูกตบหน้า จะป้องกันโดยใช้ปืนยิง ถือว่าไม่ได้สัดส่วนกัน
             - การกระทำเพื่อป้องกันนั้น ถ้าผู้กระทำได้ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตรายแล้ว ถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

          

          ถ้าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2552  จำเลยที่ 2 เข้าไปกอดรัด ป. หลังจากที่ถูก ป. ใช้ขวดตีที่บริเวณศีรษะ แต่ ป. ยังไม่หยุดทำร้ายโดยใช้ปากกัดที่บริเวณแขนของจำเลยที่ 2 และยังใช้มือบีบคอจำเลยที่ 2 ด้วย ย่อมเป็นการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิเข้าช่วยเหลือป้องกันจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ค้อนตีศรีษะ ป. 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเพียงแผลแตกแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตีเต็มกำลังให้ถึงตาย แต่จำเลยที่ 1 กระทำเพื่อให้ ป. หยุดทำร้ายและปล่อยตัวจำเลยที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันจำเลยที่ 2 พอสมควรแก่เหตุ




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2553  ผู้ตายใช้มีดอีโต้ไล่ฟันจำเลยมาแล้ว ต่อมาผู้ตายขับรถยนต์กระบะกลับมาที่บ้านของจำเลยอีกครั้ง โดยผู้ตายเหน็บอาวุธปืนพกลูกซองสั้นไว้ที่เอวด้านหน้าขึ้นบันไดไปหาจำเลยที่ชั้นบนและร้องท้าทายจำเลยให้เอาอาวุธปืนของจำเลยมายิงกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง การกระทำของผู้ตายที่พาอาวุธปืนมาท้าทายจำเลยดังกล่าวหาใช่เป็นการข่มขู่จำเลยตามที่โจทก์ฎีกาไม่ แต่ฟังได้ว่าผู้ตายมีเจตนาจะเข้ามาใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายจำเลย จึงนับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลย แม้ ย. และ ท. ซึ่งอยู่ใต้ถุนบ้านจะไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชั้นบน แต่ ย. และ ท. ได้ยินเสียงตึงตังโครมครามและได้ยินเสียงจำเลยร้องให้ช่วยก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้น อันแสดงว่าเมื่อผู้ตายขึ้นไปพบจำเลยแล้วมีการต่อสู้กัน จำเลยจึงชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายของผู้ตายได้ การที่จำเลยยิงปืน 2 นัด แต่ลูกกระสุนปืนถูกผู้ตายเพียงนัดเดียว เมื่อผู้ตายถูกยิงแล้วจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอีก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 68
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10497/2553  ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลยเมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง 1 ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9276/2555  ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้าย ร. จากโรงลิเกไปจนถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขน ร.จนได้รับบาดเจ็บ และถีบ ร. จนล้มลง แล้วใช้อาวุธปืนจ่อ ร.พร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตาย อันเป็นการหมายเอาชีวิต ร. นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใด จึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิต ร. ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว  ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557 สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

          แม้เป็นเรื่องสำคัญผิดว่าจะมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่ตน แต่ก็ยังมีสิทธิป้องกันตัว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2553  ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยนอนในเปลที่ขนำในนากุ้งเพื่อเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์แล่นผ่านเข้ามาใกล้ก็ใช้สปอทไลท์ส่องซึ่งจะทำให้ผู้ที่ผ่านมาทราบว่ามีผู้เฝ้าดูแลอยู่ในบริเวณนั้น อันเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน แต่โจทก์ร่วมกลับขับรถแล่นเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรทั่วไป แต่เป็นถนนทางเข้านากุ้งในยามวิกาลเวลาประมาณ 3 นาฬิกา แล้วชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าขนำ ย่อมทำให้จำเลยตกใจกลัวและสำคัญผิดว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากคนร้ายที่มุ่งเข้าทำร้ายตน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าก่อนและยิงอีก 1 นัด ในระยะเวลาที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันขณะ ช. และโจทก์ร่วมกำลังเปิดประตูรถออกมา ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในรถมีอาวุธหากจำเลยช้าเพียงเล็กน้อย จำเลยก็อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้นแก่ตนและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อีกทั้งหลังจากจำเลยยิงปืนนัดที่สองไปแล้ว จำเลยก็วิ่งหลบหนีไปในทันทีโดยมิได้ยิงหรือทำร้ายโจทก์ร่วมหรือ ช. ซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและลงมาจากรถแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก

          เมื่อภยันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่นหมดไปแล้ว จะอ้างเหตุป้องกันไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553   ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือ ช. แต่มารดาดึงตัว ช. ไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลาม ช. บุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่มแหงการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

          แต่ถ้าเป็นการสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาท จะอ้างเหตุป้องกันตัวมิได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554 ในวันเกิดเหตุตอนเช้าเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 มีเหตุชกต่อยกับผู้ตายมาก่อน มีอาจารย์เข้ามาห้ามแต่จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยังคงไม่ยุติ ออกติดตามหากลุ่มของผู้ตายต่อไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ยังต้องการพบผู้ตายด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด มิฉะนั้นคงไม่ออกติดตามจนกระทั่งมาพบผู้ตายตอนเย็นจำเลยที่ 1 ก็เดินเข้าไปหาผู้ตายทั้งๆ ที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กับผู้ตายมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในตอนเช้า การเดินเข้าไปหาผู้ตายในลักษณะดังกล่าวนั้น ย่อมเล็งเห็นผลแล้วจะต้องเกิดเหตุทะเลาะวิวาทอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแน่นอน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ควรเข้าไปหาผู้ตายก่อน เพราะผู้ตายก็ยังมิได้ทำอะไรจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุการณ์ในตอนเช้ายุติไปแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องเดินเข้าไปหาผู้ตายอีกการที่จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตายโดยมีอาวุธปืนติดตัวเตรียมพร้อมมาด้วยจึงไม่มีทางฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องการมีเรื่องกับผู้ตายอีก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย และเมื่อเป็นการสมัครใจวิวาทซึ่งกันและกันแล้ว การที่ผู้ตายยิงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ยิงผู้ตายเช่นเดียวกัน จึงหาอาจอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2554 การที่จำเลยพกมีดปลายแหลมไปตามหาผู้เสียหายที่บ้าน เพราะโกรธผู้เสียหายที่ไปทำร้าย ส. บุตรเขยจำเลย เมื่อผู้เสียหายได้ยินจึงเดินออกจากบ้าน แล้วต่างฝ่ายต่างเดินเข้าหากัน ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยไป 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจวิวาทกับผู้เสียหาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2554  ตามพฤติการณ์ที่ผู้ตายยืนร้องตะโกนด่าอยู่หน้าบ้านแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปแย่งอาวุธปืนแล้วตีศีรษะผู้ตายโดยแรงทันที แม้ข้างศพผู้ตายจะมีมีดปลายแหลมตกอยู่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าเมื่อแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วผู้ตายชักอาวุธมีดจะแทงจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า "ทนไม่ไหวแล้วโว้ย" แล้ววิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายอันมีลักษณะเหมือนจะทำร้ายผู้ตาย จึงมีสภาพเสมือนจำเลยที่ 2 สมัครใจเข้าไปวิวาทกับผู้ตาย ไม่อาจยกเอาการป้องกันสิทธิของตนขึ้นอ้างเพื่อลบล้างความผิดของตนได้

          กล่าวคำหยาบเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้รู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483 - 484/2550  ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ห้ามจำเลยเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน จำเลยจึงออกจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจ ส. ร้องขอ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยกลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอก ย. จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า "พี่ผิดไปแล้ว" ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่

          แม้มีสิทธิป้องกัน แต่ถ้าการป้องกันนั้นเกินสมควรแก่เหตุ ก็ยังคงมีความผิด ยังต้องรับโทษ เพียงแต่อาจได้รับโทษน้อยลง ตามมาตรา 69

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7940/2551  บ้านและบริเวณบ้านของจำเลยถือว่าเป็นเคหสถานที่ประชาชนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องหลบหนีและมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนเพราะจำเลยเป็นผู้สุจริตหาต้องถูกบังคับให้ไปเสียจากเคหสถานของจำเลยซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและเคลื่อนไหวโดยอิสระ หากจำเลยจำต้องหนีแล้วเสรีภาพของจำเลยก็จะถูกกระทบกระเทือน
          ผู้ตายขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านของจำเลยเพื่อจะบังคับ ผ. ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยและเคยเป็นภริยาของผู้ตายให้ไปอยู่กินด้วยกันเช่นเดิมแล้วเกิดโต้เถียงกันจำเลยพูดจาห้ามปราม ผู้ตายไม่ฟังและได้ลงจากรถพร้อมกับถืออาวุธมีดยาว 12 นิ้ว เดินไปหาจำเลย จำเลยจึงวิ่งขึ้นไปบนบ้านหยิบเอาอาวุธปืนยาวกึ่งอัตโนมัติขนาด .22 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งเป็นอาวุธปืนที่ปกติใช้ยิงนกหรือสัตว์ขนาดเล็กและมีแรงปะทะน้อยลงจากบ้าน เพื่อปรามมิให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยหรือทำลายทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับให้ ผ. ไปอยู่กับผู้ตาย โดยไม่มีกริยาอาการที่จะยิงทำร้ายผู้ตายซึ่งถูก ผ. โอบกอดไว้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีเจตนาสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายหาได้ไม่ หลังจากนั้นสักครู่ผู้ตายสะบัดตัวหลุดและเดินเข้าหาจำเลยเพื่อทำร้ายจนห่างประมาณ 1 วา โดยมีอาวุธมีดยาวเช่นนี้นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิจะป้องกันเนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ตายเข้ามาใกล้กว่านั้น โอกาสที่จะใช้อาวุธปืนยาวยิงเพื่อป้องกันตัวย่อมจะขัดข้อง การที่จำเลยใช้อาวุธดังกล่าวยิงไปที่ผู้ตายไป 1 นัด แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาหาจำเลยอีก จำเลยจึงยิงผู้ตายอีก 2 นัด ติดต่อกันผู้ตายจึงล้มลง นับว่าเป็นการพอสมควรแก่เหตุในภาวะและวิสัยเช่นนั้น แต่หลังจากผู้ตายล้มลงนอนหงายจำเลยยังเดินเข้าไปยิงผู้ตายอีก 2 นัด จึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2553  พฤติการณ์ที่ผู้ตายทำร้าย ส. ล้มลงแล้วจะตามไปทำร้าย ส. อีก เมื่อจำเลยเข้าห้ามปราม ผู้ตายก็ใช้มีดแทงจำเลย ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ส. และจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้ด้ามพร้าตีผู้ตายจนล้มลงนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ตายพยายามจะลุกขึ้นอีก แต่จำเลยใช้เท้าขวาเหยียบมือผู้ตายที่กำลังถือมีดอยู่แสดงว่าภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายนั้นถูกจำเลยควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกได้ ถือว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ ส. และจำเลยหมดไปแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ดังนั้น การที่จำเลยใช้มือซ้ายจับคางผู้ตายใช้มือขวาซึ่งถือมีดเชือดคอผู้ตาย 1 ครั้ง และเมื่อผู้ตายยังดิ้นรนอยู่จำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยอีกเล่มหนึ่งมาแทงผู้ตายถึง 2 แผลอีก นับเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 เพราะหากจำเลยไม่เชือดคอผู้ตาย ผู้ตายก็คงไม่ถึงแก่ความตาย คดีจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2553  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้เสียหายไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคง โดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่า และเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อนซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าว ก็หักทันที อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้น โดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 69 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69