05 มีนาคม 2567

การฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่


          กรณีที่การประชุมใหญ่ของบริษัทนั้นมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทแล้ว กฎหมายได้กำหนดให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมนั้นได้ภายในหนึ่งเดือน
          มาตรา 1195  "การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น"


          บุคคลผู้ที่มีสิทธิเพิกถอน คือ กรรมการหรือผู้ถือหุ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2510   เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย เมื่อเจ้ามรดกตายหุ้นของเจ้ามรดกย่อมตกมาเป็นของทายาททันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชิย์ มาตรา 1599 และ 1600 ทายาทจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา 1195 ได้ แม้ว่าบริษัทจำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2557   ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้องเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้

          การฟ้องให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1195 นี้ให้นำมาใช้กับกรณีของนิติบุคคลอาคารชุดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2555   พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการประชุมใหญ่ แต่มิได้กล่าวถึงการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่จึงต้องเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 ที่บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย...” เมื่อโจทก์เห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้    

          โดยหลักแล้วต้องฟ้องหรือร้องให้เพิกถอนมติที่ประชุมภายในหนึ่งเดือน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2558   โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งก็คือขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 3/2536 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2536 ครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2536 และครั้งที่ 5/2536 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองถือหุ้นตามอัตราส่วนก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าว โดยอ้างว่าการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไม่ชอบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนมติโดยอ้างว่าการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นได้นัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้การขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ป.พ.พ. มาตรา 1195 ต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันลงมติ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 130/2548   คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า การเรียกประชุมหรือการประชุมและการลงมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท โดยมีคำขอให้เพิกถอนกับมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำนวนทุนกลับคืนสู่สภาพเดิม กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติฝ่าฝืนกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น

          แต่มีข้อยกเว้นที่ให้ฟ้องได้โดยไม่อยู่ภายในบังคับระยะเวลาหนึ่งเดือน คือ กรณีที่ไม่มีการประชุมกันจริง แต่ได้ทำรายงานประชุมเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2520   การประชุมใหญ่ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน มิใช่เป็นการประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตามความหมายของประมวลกฎมหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่เป็นรายงานการประชุมเท็จ เพราะไม่มีการประชุมกันจริง จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดเดือนหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2534  โจทก์ฟ้องว่า รายงานการประชุมใหญ่นั้นไม่มีการประชุมกันจริงและเป็นเท็จไม่มีผลตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ซึ่งจะต้องฟ้องร้องเสียภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7926/2557  การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มิได้ประชุมกันจริง และเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จึงชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนที่อาศัยการประชุมใหญ่เท็จดังกล่าวเสียได้ ทั้งกรณีของการทำรายงานการประชุมใหญ่เท็จเพื่อนำไปจดทะเบียน ย่อมจะมิใช่การประชุมใหญ่ผิดระเบียบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอันจะอยู่ในบังคับที่ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195