15 ธ.ค. 2561

การสละประโยชน์แห่งอายุความ


          เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน (มาตรา 193/24 แห่ง ป.พ.พ.)

          โดยหลักปกติแล้ว เมื่อสิทธิเรียกร้องใดขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ตามมาตรา 193/10 แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความ แต่ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกเหตุอายุความนั้นขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้ได้อีก


          พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

          (1)  ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทแล้ว แสดงว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จึงไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558  ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

          (2)  แม้หนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ลูกหนี้ยังยินยอมชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว ลูกหนี้จึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2544  เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้นแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม กล่าวคือ นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


          (3) ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ถือว่าได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2542  ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 รับว่ายังค้างชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท รวม 4,246,622 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในยอดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามสัญญาจำนองของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำนวน 3,000,000 บาท และให้สัญญาจำนองมีภาระตามสัญญาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2540 หนังสือสัญญารับสภาพหนี้มีข้อความระบุว่า"ถ้าหากนายพิลาไชยพร (จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์) เสร็จสิ้นภายในวันที่25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวแต่ถ้าผิดนัด นายพิลาไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้องข้าพเจ้า นายพิลาไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้ จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน" ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/24 จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539  มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิม นับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คืออย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้ จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ


          (4) พฤติการณ์ที่ลูกหนี้ยอมรับว่ายังเป็นหนี้อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2542 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ตกแต่ง จัดทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร โจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบแล้ว แต่มีงานที่ต้องซ่อมแซมอีกเล็กน้อย ส่วนจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างเกือบครบแล้ว โดยตกลงกันให้ชำระเงินที่ค้าง เมื่อโจทก์ซ่อมแซมงานดังกล่าวเสร็จ กรณีจึงเข้าลักษณะโจทก์ผู้เป็นช่างฝีมือเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
          จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 ฉะนั้น ต้องเริ่มนับอายุความ ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) การนับระยะเวลาจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2534 และครบ 2 ปี ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 23 กันยายน 2537 คดีจึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2536 อันเป็นระยะเวลาก่อนโจทก์ฟ้องซึ่งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือทักท้วงโจทก์ว่า ยอดหนี้รายพิพาทที่โจทก์ทวงถามมานั้นไม่ถูกต้อง อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือแจ้งขอให้โจทก์ลดเงินที่ค้างลงอีก 30,000 บาท และขอให้โจทก์ไปซ่อมแซมงานในส่วนที่ค้างอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังเป็นหนี้โจทก์อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถึงวันฟ้อง ไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่

          (5) เมื่อถูกทวงถามให้ชำระหนี้ ลูกหนี้มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2540  โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7804 และ 8282 ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้ออ้างว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว การฟ้องบังคับตามสัญญาเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/9 จึงต้องบังคับภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ เมื่อการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
          ตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป การเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วย่อมเกิดสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้ผู้ให้เช่าซื้อปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อคือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 572 เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่พิพาทเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2516 และมาฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2535 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่าหลังจากขาดอายุความแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการทวงถามเพื่อให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันโจทก์แต่ประการใด ตรงกันข้ามเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีใจความว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 2 แปลงและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินจัดสรรให้แก่โจทก์ต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้โต้แย้งจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

1 มิ.ย. 2561

เครื่องหมายการค้า

          มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
          “เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
          “เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
          “เครื่องหมายบริการ” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น
          “เครื่องหมายรับรอง” หมายความว่า เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น


          ความหมายของเครื่องหมายการค้า


          “เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น (มาตรา 4)
          เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการแยกความแตกต่างของสินค้า โดยเครื่องหมายใดจะจัดเป็นเครื่องหมายการค้าได้จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ข้อ กล่าวคือ
          (1) จะต้องเป็นเครื่องหมายตามความหมายในมาตรา 4 กล่าวคือ ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
          (2) จะเป็นเครื่องหมายที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าอยู่ก่อนแล้วก็ได้ หรือหากไม่ได้ใช้อยู่ก่อน แต่มีเจตนาจะใช้ในอนาคตก็ได้
          (3) เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าหนึ่งกับเครื่องหมายการค้าอื่น ซึ่งใช้อย่างเครื่องหมายการค้า หากนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2538 แม้ที่กล่องบรรจุสินค้าผงหมึกและฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายจะมีคำว่า MITA ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยสำหรับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสารแต่จำเลยทั้งห้ามิได้นำคำดังกล่าวมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า กล่าวคือ สินค้าผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายมิได้ระบุว่าเป็นผงหมึกและผงเหล็กภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า mita ของโจทก์ที่ 1สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายการค้าระบุหรือติดไว้ที่กล่องหรือขวดบรรจุสินค้า สิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 และแยกแยะให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่ 1 แตกต่างจากสินค้าของผู้ผลิตอื่นเท่านั้น หาได้รวมไปถึงสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะผลิตสินค้า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นอันเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไม่ ประกอบกับกล่องและขวดบรรจุผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายก็มิได้เขียนคำว่า MITA ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า mita เช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 แต่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ว่า MITA และคำว่า TONER กับ DEVELOPER ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกัน รวมทั้งข้อความว่า FOR USE IN ซึ่งหมายความว่า ใช้กับหรือใช้สำหรับ ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เห็นได้ชัดเจน แม้กล่องและขวดบรรจุสินค้าดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อบริษัท ผู้ผลิต แต่ก็มิได้ระบุชื่อบริษัทโจทก์ที่ 1 ว่าเป็นผู้ผลิตผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่าย ส่วนกล่องบรรจุผงหมึกของโจทก์ที่ 1 คำว่า TONER เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะอักษร T เพียงตัวเดียว ตัวอักษรนอกนั้นเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก โดยเขียนว่า Toner มีเครื่องหมายการค้าคำว่า mitaเขียนเรียงกันตามแนวนอน 6 แนว แถวละ 8 คำ อยู่ส่วนบนของกล่อง มีคำว่าmita เขียนด้วยตัวอักษรสีขาวบนพื้นกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเห็นได้เด่นชัดทั้งหกด้านของกล่องสีดำและมีชื่อบริษัทโจทก์ที่ 1 อยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อความว่า FOR USE IN ส่วนที่ฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงหมึกของโจทก์ที่ 1 ก็เป็นฉลากสีฟ้า มีคำว่าmita เป็นตัวอักษรสีขาวเห็นเด่นชัด คำว่า TONER เป็นตัวอักษรเล็กกว่าคำว่า mita มาก และฝาขวดเป็นสีน้ำเงิน แต่ฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงหมึกของจำเลยที่ 1 เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีคำว่า TONER FOR USE IN MITA เห็นได้เด่นชัดและฝาขวดเป็นสีน้ำตาลเข้ม กล่องและขวดสินค้าผงหมึกที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายกับของโจทก์ที่ 1 จึงแตกต่างอย่างชัดเจน สำหรับขวดบรรจุสินค้าผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายและของโจทก์ที่ 1 ก็แตกต่างกันชัดเจนเช่นกัน ดังนี้ จากข้อความที่ระบุข้างกล่องและขวดบรรจุสินค้าที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายอย่างชัดเจนว่า FOR USE IN MITA ซึ่งหมายถึงสินค้าที่ใช้กับเครื่อง-ถ่ายเอกสารมิต้า ประชาชนผู้ต้องใช้สินค้าผงหมึกและผงเหล็กดังกล่าวย่อมทราบดีว่าสินค้าที่จำเลยทั้งห้าจำหน่ายมิใช่สินค้าของโจทก์ที่ 1 เพียงแต่เป็นสินค้าที่อาจใช้แทนกันได้เท่านั้น ประชาชนจึงไม่สับสนหรือหลงผิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งห้าจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้นำผงหมึกและผงเหล็กเข้ามาจำหน่ายและเสนอจำหน่ายในประเทศไทยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้จำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ทั้งสองเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ห้ามจำเลยทั้งห้านำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย หรือเสนอจำหน่ายสินค้าผงหมึกและผงเหล็กที่นำเข้าดังกล่าวและเรียกให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้


          ลักษณะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้


          มาตรา 6  "เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
          (1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
          (2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
          (3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว"


          เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ


          มาตรา 7  "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น
          เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
          (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
          (2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          (3) คำที่ประดิษฐ์ขึ้น
          (4) ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น
          (5) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ
          (6) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว
          (7) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว
          (8) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น
          (9) ภาพอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นภาพแผนที่หรือภาพแสดงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          (10) รูปร่างหรือรูปทรงอันไม่เป็นลักษณะโดยธรรมชาติของสินค้านั้นเอง หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่จำเป็นต่อการทำงานทางเทคนิคของสินค้านั้น หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่ทำให้สินค้านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
          (11) เสียงอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือเสียงที่ไม่เป็นเสียงโดยธรรมชาติของสินค้านั้น หรือเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานของสินค้านั้น
          เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะตามวรรคสอง (1) ถึง (11) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
          คำว่า "CAFE" หมายถึง กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก เมื่อใช้กับกาแฟจึงเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545  คำว่า "JAVA" หรือ "จาวา" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ส่วนคำว่า"CAFE" เรียกขานว่า คาเฟ่ ความหมายตามพจนานุกรมหมายถึง กาแฟหรือภัตตคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกัน ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกันเสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรงจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้
          เครื่องหมายการค้าคำว่า "SINVINOJAVATEASTRAIGHT" มิได้มีแต่คำว่า "JAVA" อันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำว่า "TEA" ซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิได้มีแต่เพียงคำว่า "JAVA" ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักและมีคำว่า "CAFE" ซึ่งเป็นคำอันได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาแฟโดยตรงอย่างเครื่องหมายการค้าคำว่า"JAVACAFE" ของโจทก์ซึ่งไม่อาจรับจดทะเบียนได้เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2)
       
          คำว่า "จระเข้" (รวมทั้งรูปจระเข้) ไม่ใช่สิ่งบ่งเฉพาะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2533  เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปจระเข้มีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยว่าแกรนด์แสลม และตัวหนังสืออักษรโรมันว่า GRANDSLAM ยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าในจำพวก 48 รายการสินค้ายาสีฟันน้ำยาสระผม ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปจระเข้และมีตัวหนังสืออักษรโรมันว่า LACOSTE ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวก 48 รายการสินค้าน้ำหอม น้ำหอมชโลมตัวหลังอาบน้ำ น้ำหอมหลังโกนหนวด และน้ำหอมทาผิว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปจระเข้เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งและอาจเรียกได้ว่าตราจระเข้เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าจะเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามลำพังหาได้ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวหนังสืออักษรโรมันเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าอ่านออกเสียงว่า ลาคอสท์ประกอบด้วยจระเข้อยู่เหนือตัวหนังสือดังกล่าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนอกจากตัวหนังสืออักษรโรมันแล้ว ยังมีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยอ่านได้ชัดเจนว่า แกรนด์แสลม อยู่เหนือตัวหนังสืออักษรโรมันด้วย อันเป็นการบอกให้ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของจำเลยเรียกชื่อยี่ห้อว่า แกรนด์แสลม ชื่อยี่ห้อและการอ่านออกเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างจากของโจทก์เป็นอันมากย่อมเป็นที่สังเกตของสาธารณชนทั่วไป และไม่ทำให้สาธารณชนทั่วไปที่ซื้อสินค้ายี่ห้อ แกรนด์แสลม เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้ายี่ห้อลาคอสท์ของโจทก์ ส่วนคำว่าจระเข้หรือรูปจระเข้ก็มิใช่สิ่งบ่งเฉพาะ เป็นเพียงคำหรือชื่อสามัญทั่วไปโจทก์ไม่มีสิทธิจะสงวนรูปจระเข้ดังกล่าวไปไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าคนละชนิดกับของโจทก์สาธารณชนย่อมไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ไม่อาจเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

          (1) ชื่อ
          ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง (มาตรา 7 วรรคสอง (1))
          การใช้นามสกุลเป็นเครื่องหมายการค้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2540  อักษรโรมันคำว่า "WILLCOME" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือมีความหมายว่าอย่างไรและโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำว่า "WELLCOME" เป็นนามสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ในอดีตและบริษัทโจทก์ตั้งขึ้นเมื่อปี 2423 นอกจากโจทก์จะใช้คำว่า "WELLCOME" เป็นเครื่องหมายการค้าแล้วโจทก์ยังใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทโจทก์ด้วย โจทก์เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายคำว่า "WELLCOME" มาตั้งแต่ก่อนปี 2444 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2450 และที่ประเทศไทยเมื่อปี 2490 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่จำเลยอ้างว่า ว. ผู้ก่อตั้งห้างเวลล์คัมซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นผู้คิดชื่อ "WELLCOME" โดยครั้งแรกตั้งชื่อคำว่า "WELLCOME" แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนเพราะเป็นคำสามัญทั่วไปแปลว่าต้อนรับ จึงต้องเพิ่มอักษร L เข้าไปอีก 1 ตัว แต่จำเลยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ WELLCOMESUPERMARKET เมื่อปี 2488 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" หลายสิบปีด้วยแล้วย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่า ว. จะได้คิดค้นคำดังกล่าวขึ้นมาเองและเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยบังเอิญเช่นนั้น แต่น่าเชื่อว่าเป็นการนำเอาคำว่า "WELLCOME" มาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แล้วนำคำว่า SUPERMARKET มาประกอบเพื่อให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ว่าจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า "SUPERMARKET" ประกอบกับคำว่า "WELLCOME" และจำเลยขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ได้แก่ สินค้าเบ็ดเตล็ด อันเป็นสินค้าต่างจำพวก และไม่มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กันกับสินค้าจำพวกที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 48 ซึ่งเป็นสินค้ายารักษาโรคมนุษย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอางของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "WELLCOME" ก็ตาม แต่ก็ปรากฎจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์ได้โฆษณาสินค้าภายในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME"  หลายชนิด และแจกสินค้าตัวอย่างเช่น กระเป๋า ถุงพลาสติก สมุดบันทึก และกระเป๋าสตางค์ อันเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดในจำพวกที่ 50 ตามวิสัญญีสาร และแผ่นปลิวโฆษณา อันถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว กับสินค้าจำพวกที่ 50 แล้ว การใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" "SUPERMARKET" ของจำเลยกับสินค้าจำพวกที่ 50 จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อเห็นแต่คำว่า "WELLCOME" ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้า สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOMESUPERMARKET" ของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ของโจทก์ เมื่อคำว่า "WELLCOME" เป็นนายสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของและได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยหลายสิบปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายคำว่า "WELLCOME" และคำว่า "WELLCOMESUPERMARKET" ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 206656 สำหรับสินค้าจำพวกที่่ 50 ของจำเลยดีกว่าจำเลย และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวได้ ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยใช้หรือยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเข้าเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องใดๆกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" สำหรับสินค้าทุกจำพวกรวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อฟ้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนและห้ามผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าจำพวกดังกล่าวได้ ดังเช่นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท

          (2) คำ ข้อความ ชื่อทางภูมิศาสตร์
          คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (มาตรา 7 วรรคสอง(2))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2541 คำว่า "CONCERT" ซึ่งมีความหมายว่าการแสดงดนตรีสากลโดยใช้เครื่องดนตรีวงใหญ่และอาจมีนักร้องประสานเสียงด้วยหรือมโหรีสังคีตและการประสานเสียงเมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกวิทยุ ตู้ลำโพง โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอและเครื่องขยายเสียง คำว่า "CONCERT" หาใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรงไม่เพราะสินค้าวิทยุและตู้ลำโพงมิใช่สินค้าที่ใช้รับฟังได้เฉพาะเสียงการแสดงดนตรี มโหรีสังคีตหรือการประสานเสียงเท่านั้น หากแต่ใช้รับฟังเสียงอื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนพูด เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนหรือสัตว์เดินหรือวิ่งเสียงที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นทะเล ฟ้าร้องเสียงการทำและปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม และเสียงอื่น ๆอีกมากมาย เสียงดนตรีจึงเป็นเพียงเสียงอย่างหนึ่งในบรรดาเสียงอื่นอีกมากมายที่รับฟังได้จากวิทยุและตู้ลำโพงส่วนโทรทัศน์และเครื่องเล่นวีดีโอก็ใช้ได้ทั้งชมภาพและฟังเสียงทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะเสียงดนตรี เครื่องขยายเสียงก็สามารถขยายเสียงได้ทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะเสียงดนตรีเช่นกันความหมายของคำว่า "CONCERT" เน้นไปที่การแสดงดนตรีวงใหญ่ที่ทำให้เกิดเสียงดนตรีขึ้นมา แต่เสียงอื่นที่มิได้เกิดจากการแสดงมีได้มากมายหลายกรณี คำว่า "CONCERT"จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าวิทยุตู้ลำโพง โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ และเครื่องขยายเสียง โดยตรงย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง(2)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534เครื่องหมายการค้าคำว่า "CONCERT" ของโจทก์จึงมีลักษณะพึงรับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
       
          ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2)
แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ กล่าวคือ
          (1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ
          (2) ชื่อทวีป แคว้น รัฐ มณฑล หรือชื่อเมืองหลวงของประเทศ
          (3) ชื่อมหาสมุทร
          (4) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปในประเทศไทยรู้จักกันแพร่หลาย เช่น เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คาบสมุทร ทะเล อ่าว เกาะ ทะเลสาบ ภูเขา แม่น้ำ จังหวัด เมืองท่า อำเภอ ถนน เป็นต้น
          ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ
       
          (3) กลุ่มของสี ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น
          คำที่ประดิษฐ์ขึ้น, ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น, กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ (มาตรา 7 วรรคสอง (3) - (5)
          คำที่ประดิษฐ์ขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112 - 5113/2543 คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
          ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
          ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น กล่าวคือ จะเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ได้เขียนอย่างวิธีการเขียนธรรมดา
          กลุ่มของสี หมายถึง สีที่รวมกลุ่มกันตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป เช่น แถบสีส้ม เขียว แดง ของ 7 ELEVEN

          (4) ลายมือชื่อ
          ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว (มาตรา 7 วรรคสอง (6))

          (5) ภาพบุคคล
          ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว (มาตรา 7 วรรคสอง (7))

          (6) ภาพประดิษฐ์
          ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น (มาตรา 7 วรรคสอง (8))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2551 การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ (ฉบับที่ 2)ฯ โดยสรุปคือเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ไว้โดยแจ้งชัดแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น" และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ...(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น" เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า "รูปขวด" ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7

          ข้อยกเว้น
          เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะตามวรรคสอง (1) ถึง (11) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (มาตรา 7 วรรคสาม)


          เครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียน


          มาตรา 8  "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน
          (1) ตราแผ่นดิน พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ ตราจักรี ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือตราประจำจังหวัด
          (2) ธงชาติของประเทศไทย ธงพระอิสริยยศ หรือธงราชการ
          (3) พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์
          (4) พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท
          (5)  ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือพระราชวงศ์
          (6) ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ ตราประจำประมุขของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น
          (7) เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา
          (8) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายอื่นใดอันได้รับเป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้น และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น แต่ทั้งนี้ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย
          (9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
          (10) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม
          (11) เครื่องหมายที่คล้ายกับ (1) (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7)
          (12) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
          (13) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"
          ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 กำหนดให้เครื่องหมายต่อไปนี้เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน คือ
          (1) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อเภสัชภัณฑ์สากลที่องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนสงวนสิทธิการครอบครองไว้
          (2) เครื่องหมายและคำบรรยายซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้าหรือบริการ หรือสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ
          (3) ภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย คือ ภาพช้างไทย ภาพดอกราชพฤกษ์ ภาพศาลาไทย แนบท้ายประกาศฯ
          (4) เครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคล้ายกับภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทยตาม (3)


          การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า


          (1) ผู้มีสิทธิขอจดทะเบียน
          กฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้เป็นพิเศษ ดังนั้น บุคคลใดฏ้สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้ โดยมีมาตรา 28 แห่ง พรบ.เครื่องหมายการค้าฯ ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ให้มีสิทธิที่จะขอให้ถือว่าวันที่บุคคลนั้นได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศไทย
          มาตรา 28  "บุคคลใดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้ หากบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
          (1) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
          (2) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือ
          (3) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้สิทธิในทำนองเดียวกันแก่บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
          (4) มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
          ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นเป็นครั้งแรกนอกราชอาณาจักรถูกปฏิเสธ หรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งคำขอ บุคคลดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งไม่ได้
          ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ถูกปฏิเสธ หรือคำขอที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งตามวรรคสองนอกราชอาณาจักรซ้ำอีกภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลซึ่งยื่นคำขอดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งได้ เมื่อ
          (1) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองยังมิได้มีการขอใช้สิทธิในการระบุวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และ
          (2) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองไม่อาจดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อไป และ
          (3) การถูกปฏิเสธ ถอนคืน หรือถูกละทิ้งในครั้งแรกมิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน"

          (2) ใครยื่นขอจดก่อนเป็นรายแรกย่อมมีสิทธิได้รับจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
          มาตรา 20  "ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายแรก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหลังรอการพิจารณาดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน
          (1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
          (2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
          ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้เป็นรายแรกไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายถัดไป และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้นและรายอื่นทราบโดยไม่ชักช้า"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2548  โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "diamond" สำหรับใช้กับสินค้าโช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "dimond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูกับสินค้าโครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะ ลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะ และลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงกันเองก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 24 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 แต่อย่างใด เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 20 อันจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบเสียทั้งหมด แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าบางรายการที่แตกต่างกับที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้ก็ตาม
          โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นการอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนที่แตกต่างกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด

          (3) กรณีต่างคนต่างใช้กันมาโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2543  โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2524 คือเครื่องหมายการค้า และ ใช้กับสินค้าตามรายการจำพวกสินค้าเดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 จำพวกที่ 42 วัตถุที่ใช้เป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องปรุงอาหาร จำพวกที่ 44 น้ำแร่และน้ำอัดลมซึ่งเป็นเองและทำขึ้น จำพวกที่ 45 ยาสูบที่แต่งแล้วและยังมิได้แต่ง และจำพวกที่ 48 เครื่องหอม (รวมทั้งเครื่องเบ็ดเตล็ดสำหรับแต่งกาย ตบแต่งผิว สิ่งที่ทำขึ้นใช้สำหรับฟัน สำหรับผม และสบู่หอม) ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รูปวัวกระทิงคู่หันหน้าเข้าหากัน เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 (ใหม่) ตามพระราชบัญญํติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รายการสินค้า แหนบรถยนต์ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเลขที่ 234051 โจทก์ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียน จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ยกคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไป
          ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงสีแดง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าแหนบรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานกว่า 30 ปี มาแล้วโดยสุจริตตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เมื่อปี 2520 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134051 ไม่มีคำว่า "ตราวัวชนกัน" จึงแตกต่างและเป็นคนละเครื่องหมายกับเครื่องหมายการค้าที่เคยจดทะเบียนไว้ เห็นว่า สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวอยู่ที่รูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน คำว่า "ตราวัวชนกัน" เป็นเพียงส่วนประกอบ เมื่อจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายรูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากันอันเป็นส่วนสาระสำคัญนั้นมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเครื่องหมายเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ใช้มาก่อนโดยสุจริตดังกล่าวแล้วนั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 234051 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้วางเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ว่า เครื่องหมายรูปกระทิงให้ใช้สีอื่นนอกจากสีแดงนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเป็นวัวกระทิงสีแดง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาก่อนโดยสุจริต ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ประกอบกับสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องบริโภคอุปโภค ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องอะไหล่แหนบรถยนต์อันเป็นเครื่องกล จึงเป็นสินค้าต่างจำพวกกัน มีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการใช้สินค้าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับสินค้าแหนบรถยนต์นำออกจำหน่ายมาก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลากว่า 10 ปี และต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่แตกต่างกันนั้นมาอีกกว่า 10 ปี โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยโต้แย้งว่าการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายเพราะประชาชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าและเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์มาก่อนแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุสมควรกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ว่า รูปกระทิงให้ใช้สีอื่นนอกจากสีแดงย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2550  โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" มานานแล้วโดยสุจริต เช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" ของโจทก์ตามมาตรา 27 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ของผู้คัดค้าน ใช้กับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างกว้างขวางเป็นที่แพร่หลายจนสาธารณชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าของผู้คัดค้านรู้จักเป็นอย่างดี ตรงตามหลักเกณฑ์ของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2534) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 8(10) แต่ข้อห้ามดังกล่าวย่อมหมายถึงการห้ามบุคคลอื่นใดนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมายื่นขอจดทะเบียนโดยเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนโดยมิชอบ อันนำไปสู่การสร้างความสับสนหลงผิดให้แก่สาธารณชนทั่วไปในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีดังกล่าวไม่อาจแปลความรวมไปถึงเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของตนโดยสุจริตควบคู่ร่วมสมัยกับเครื่องหมายการค้าที่ต่อมาภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดั่งเช่น เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" กับเครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ในคดีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้มาโดยสุจริตให้ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการไม่ชอบธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารายการน้ำปลามาเป็นเวลานานโดยสุจริต โจทก์ย่อมรับได้ความคุ้มครองตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อป้องกันสาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้

          (4) การคัดค้านการขอจดทะเบียน
          มาตรา 35  "เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา 29 แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 29 พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการคัดค้าน
          การคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"
       
          เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย

          เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยการฟ้องคดีต่อศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

          ในกรณีที่มิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา หรือมิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เป็นที่สุด
       
          (5) อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
          มาตรา 53  "การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีอายุสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนตามมาตรา 42 และอาจต่ออายุได้ตามมาตรา 54
          อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 38 ด้วย"


          สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า

          เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย เป็นต้นว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้น สิทธิในการอนุญาติให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าหรือการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้ผู้อื่น รวมทั้งสิทธิในการฟ้องคดีในกรณีที่มีการละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7331/2544  เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายประกอบด้วยคำว่า KinderEm-eukal และรูปประดิษฐ์เป็นรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งโดยเฉพาะในส่วนรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งไม่มีในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นส่วนที่แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า KINDER ของจำเลยอย่างเด่นชัด ส่วนที่เป็นคำว่าKinderEm-eukal อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมในรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายนั้นแม้จะมีคำว่า KINDER คำเดียวกับคำว่า KINDER ในเครื่องหมายการค้าของจำเลย และคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำที่ใช้ในภาษาเยอรมันก็ตามแต่ตามความเป็นจริงคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมว่า เด็กหลายคนย่อมเป็นคำที่คนทั่วไปสามารถนำมาใช้ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าKINDER ไว้ ก็ไม่ถึงกับมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำคำว่า KINDER ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้
          เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า KinderEm-eukal ประกอบรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายของโจทก์มิได้มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นอยู่ที่คำว่า KINDER อย่างที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นที่คำว่า KinderEm-eukal และยังมีรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายประกอบอีกด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีจุดแตกต่างกับของจำเลยในส่วนสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้เป็นที่สังเกตแยกให้เห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้โดยง่ายทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นได้ด้วยว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้โดยสุจริต มิใช่การใช้คำว่า Kinder เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าโดยหวังที่จะอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547  แม้เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ เพราะการที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "TUSCO TRAFO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2539  โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "UNIX" ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยและสำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 ชนิดสินค้าคอมพิวเตอร์ ส่วนและอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งได้โฆษณาเผยแพร่สินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและใช้ชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า"บริษัทยูนิกซ์คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด" และ"UNIXCOMPUTER(THAILAND)COMPANYLIMITED" คำว่า "UNIX"ที่จำเลยนำไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยและเป็นส่วนหนึ่งของตรา บริษัท จำเลยเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ซึ่งใช้กับสินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรับซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ และจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำเลยอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ ทราบดีว่าคำว่า "UNIX" เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ผลิตและจำหน่าย การที่จำเลยนำคำว่า"UNIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราของบริษัทจำเลยและจำเลยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"ONIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าคอมพิวเตอร์หรือการค้าของจำเลยเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาต การใช้คำว่า "UNIX" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยจึงเป็นการใช้โดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยนำคำดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วยังจำหน่ายสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ผลิตออกจำหน่ายจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายดังกล่าวซึ่งติดมากับสินค้านั้นอยู่ในตัว ดังนี้แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ผลิตสินค้านั้นและคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" การกระทำของจำเลยก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX"ของโจทก์แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2542  แม้จำเลยที่ 2 จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องจักร กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่า "ตรารวงข้าว" อยู่ใต้รูปสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปตามมาตรา 117 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลมและคำว่า "InterNationalGroup" กับสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้าโดยไม่มีคำว่า "ตรารวงข้าว" กำกับ ทั้งยังเน้นคำว่า "National" ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่น ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "National" ของผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จำเลยคงมีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9247/2547  จำเลยเคยเห็นสินค้ารองเท้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" ของโจทก์มาก่อนจึงได้เลียนแบบมาเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ของจำเลยแล้วนำไปยื่นขอจดทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" โดยไม่สุจริต จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้นมาฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์มิให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" กับสินค้ารองเท้าของโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้ารองเท้ามาก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ดีกว่าจำเลยผู้ได้รับการจดทะเบียนและมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
          เมื่อโจทก์ไม่เคยโฆษณาเผยแพร่และส่งสินค้ารองเท้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ประกอบกับโจทก์ยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" กับสินค้ารองเท้าในประเทศไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" กับสินค้ารองเท้าแตะที่จำเลยได้จดทะเบียนให้ชดใช้ค่าเสียหายในการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" ของโจทก์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ
       

13 พ.ค. 2561

การทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล ตกเป็นโมฆียะ สามารถฟ้องเพิกถอนได้


          การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล  เป็นโมฆียะ (ป.พ.พ.มาตรา 159)

          กลฉ้อฉล ได้แก่ การใช้อุบายหลอกลวงด้วยการกล่าวความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงเอาไว้ เพื่อจะหลอกให้หลงเชื่อ ผู้แสดงเจตนาที่ถูกกลฉ้อฉลดังกล่าวแล้วหลงเชื่อแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ถูกหลอกลวง นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159

          ผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อโดยไปนำชี้ที่ดินแปลงอื่นว่าจะขายที่ดินแปลงซึ่งเป็นที่นา แต่ความจริงที่ดินตามโฉนดเป็นที่ดินอีกแปลงที่มีสภาพน้ำท่วมขัง นิติกรรมซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะ สามารถเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป 

          ผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อว่าที่ดินมีเนื้อที่ 10 ไร่ตาม ส.ค.1 ทั้งที่ความจริงมีเนื้อที่แค่ 6 ไร่ สัญญาจะซื้อจะขายที่ทำขึ้นจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5975/2540  โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยโดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินที่ซื้อ จำเลยยืนยันว่าที่ดินมีเนื้อที่ตรงตาม ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้เข้าทำสัญญา หากไม่มีการหลอกลวงโจทก์จะไม่เข้าทำสัญญา สัญญาจะซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์มีสิทธิบอกล้างตามมาตรา 175(3) ซึ่งต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้จำเลยคืนเงินมัดจำอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมทำให้สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา


          ผู้ขายปกปิดไม่ให้ผู้ซื้อทราบความจริงว่าที่ดินมีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ทั้งที่ทราบว่าผู้ซื้อต้องการจะซื้อที่ดินไปทำโรงงาน สัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2525 ที่ดินของจำเลยถูกจำกัดสิทธิห้ามปลูกสร้างอาคารเพราะถูกสายไฟฟ้าแรงสูงผ่าน ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2511 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์โดยมิได้แจ้งเรื่องนี้ให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญเพราะโจทก์ซื้อที่พิพาทเพื่อปลูกสร้างโรงงาน การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกล้างแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จำเลยต้องคืนเงินที่รับไว้ให้โจทก์

          ผู้ขายอ้างว่าที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สามารถออกโฉนดได้ทั้งแปลง ทั้งที่ความจริงออกโฉนดได้เพียงบางส่วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2549 โจทก์ได้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยแล้ว ส่วนจำเลยได้ชำระเงินบางส่วนให้โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท และจะชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 39,900,000 บาท ให้โจทก์ภายหลังจากที่ที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินถูกต้องเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ แต่การจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้หรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพของที่ดินพิพาทที่อยู่ในขณะทำสัญญาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิใช่ขึ้นอยู่กับความสามารถของจำเลยที่จะไปดำเนินการได้หรือไม่ กรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยรับรองว่าจะกระทำการใดในอนาคตแล้วไม่ได้กระทำ หรือไม่สามารถกระทำได้ตามที่รับรองไว้อันไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่อ บ. มารดาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าสามารถขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้ทั้งหมด ซึ่งแท้จริงเป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ทั้งหมด จึงเป็นการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมแล้วจึงตกเป็นโมฆะ

          ผู้ซื้อหลอกลวงว่าโอนเงินค่าที่ดินให้แก่บุตรของผู้ขายแล้ว ผู้ขายหลงเชื่อจึงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ผู้ซื้อไป สัญญาซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550 การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว

          ทั้งนี้ การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้นั้น กลฉ้อฉลนั้นต้องมีผลถึงขนาดก่อให้เกิดการทำนิติกรรมนั้นด้วย



          กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง

          ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น (มาตรา 162)

          การแสดงเจตนาที่เกิดจากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ ทำให้ไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้วจึงแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกไปด้วยความหลงผิด ถ้าพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น นิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลโดยการนิ่งย่อมตกเป็นโมฆียะ

          ผู้ขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับผู้ซื้อ ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่ผู้ขายยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของผู้ขายถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้ผู้ซื้อทราบความจริงว่าผู้ซื้อขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น รวมทั้งปกปิดความจริงว่าอาคารพิพาทที่ผู้ขายยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน การปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าว ล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของผู้ขายซึ่งหากผู้ขายไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว ผู้ซื้อก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาท การแสดงเจตนาของผู้ซื้อจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2544  จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสนอขายอาคาร 5 ชั้นพร้อมที่จอดรถใต้ดิน แต่ไปยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อสำนักงานเขตประเวศ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับโจทก์ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่จำเลยยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้ จำเลยได้ทำบันทึกการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทฯ รับทราบว่าอาคารพิพาทที่จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน แต่จำเลยยังมีความประสงค์จะก่อสร้างโดยจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทมีราคาสูงถึง 15,000,000 บาท หากโจทก์ทราบหรือแม้แต่เพียงสงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมจะไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการถูกเวนคืนนั้นไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้นล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของจำเลยซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์ก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ประกอบด้วยมาตรา 162 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ

          กลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก

          ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น (มาตรา 159 วรรคสาม)

          การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก จะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีที่ทำนิติกรรมอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ด้วยถึงกลฉ้อฉลนั้น แต่แม้จะไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรคสาม เพราะคู่กรณีไม่รู้ถึงกลฉ้อฉลของบุคคลภายนอก ก็อาจเป็นโมฆะเพราะเหตุสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ตามมาตรา 156 หรืออาจเป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ตามมาตรา 157

          กลฉ้อฉลที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นยิ่งกว่าปกติ

          ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้ (มาตรา 161)



          นิติกรรมที่เกิดจากกลฉ้อฉลที่เป็นเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นยิ่งกว่าที่จะยอมรับโดยปกตินี้ เนื่องจากคู่กรณีที่จะทำนิติกรรมนั้นมีเจตนาต้องการทำนิติกรรมอยู่แล้ว จึงไม่เป็นโมฆียะ เพียงแต่มีผลให้ผู้ที่ยอมรับข้อกำหนดหนักขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลนั้นมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2531  โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 4 ซื้อที่ดินตามโฉนดที่พิพาทโดยหลงเชื่อตามที่จำเลยฉ้อฉลว่าที่ดินดังกล่าวติดแม่น้ำ ไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ ซึ่งเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ กล่าวคือ เพียงจูงใจให้โจทก์ยอมรับเอาซึ่งราคาที่ดินอันแพงกว่าที่จะยอมรับโดยปกติ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉล ส่วนที่โจทก์ต้องเสียค่าทำภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะปรากฏว่าก่อนซื้อที่ดินโจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทไม่มีถนนออกสู่ทางสาธารณะจึงมิใช่ผลโดยตรงจากกลฉ้อฉลของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5246/2543  จำเลยให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทที่จะขายให้แก่โจทก์ติดกับทางสาธารณะ แต่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทไม่ติดทางสาธารณะตามที่จำเลยให้คำรับรอง เมื่อโจทก์มีเจตนาซื้อที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ และได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่แพงกว่าปกติของที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ไม่ติดทางสาธารณะ ถือว่าจำเลยขายที่ดินแก่โจทก์โดยทำกลฉ้อฉล เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระราคาสูงขึ้นกว่าราคาซื้อขายปกติ แต่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพราะติดกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ด้วย จึงเป็นกลฉ้อฉลแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2534  จำเลยโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ เพิ่งพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ความจริงเป็นรถยนต์รุ่นเก่า และเคยเปลี่ยนสีมาหลายครั้งกับกล่าวอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์โดยเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของจำเลย การซื้อขายรถยนต์จึงเกิดจากกลฉ้อฉลให้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์ยังคงเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยจึงมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้นโจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

          ผลของกลฉ้อฉลต่อบุคคลภายนอก

          การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต (มาตรา 160)

          กฎหมายห้ามมิให้คู่กรณียกการบอกล้างโมฆียะกรรมที่เกิดขึ้นตามมาตรา 159 นั้นขึ้นมาต่อสู้กับบุคคลภายนอกทำการโดยสุจริต แต่หากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2545  โจทก์ทั้งสองทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้วนิติกรรมการซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริตการบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ทั้งสองย่อมยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

          กรณีที่ต่างฝ่ายต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          ถ้าคู่กรณีต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อบอกล้างการนั้นหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้ (มาตรา 163)

          กรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างกระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่สามารถยกเหตุกลฉ้อฉลขึ้นอ้างเพื่อบอกล้างโมฆียะกรรมหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "บุคคลที่มาศาล ต้องมาด้วยมือที่สะอาด (He who comes to equity must come with clean hands.)"


8 พ.ค. 2561

ลิขสิทธิ์

          ลิขสิทธิ์คืออะไร

          "ลิขสิทธิ์"  หมายความว่า  สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น (พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 )

          สิทธิที่เจ้าของลิขสิทธิ์มี ได้แก่ สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง  เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามที่กล่าวมาข้างต้น (พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15)

          ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง โดยลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ไม่มีรูปร่าง เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่หวงห้ามมิให้ผู้อื่นนำงานของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4076/2533  จำเลยทั้งสองซื้อภาพเขียนไปจากโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยขายลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นให้จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองนำภาพเขียนที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสองไปพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนของโจทก์ทั้งสองนั้น


          ไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อครอบครองปรปักษ์ในลิขสิทธิ์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2534  เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้แก่ป. ต่อมา ป. ขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทระหว่าง ป. กับโจทก์เป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้ ป. ไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทที่จะขายให้จำเลย เพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
          ในแผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. ที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่า เนื้อร้องและทำนองเป็นของผู้ใด ใครเป็นผู้ขับร้อง จำเลยทั้งสองจึงทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพิพาทจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. โดยสุจริต เพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริง ก่อนซื้อจำเลยทั้งสองน่าจะให้ ป. แสดงหลักฐานว่า ป. ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ ป. แสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว
          โจทก์เพิ่งทราบว่า จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้น มีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ลิขสิทธิ์" "งาน" และ "ผู้สร้างสรรค์" กับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ให้ความหมายของคำว่า "สิทธิแต่ผู้เดียว" ไว้โดยเฉพาะแล้ว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรมซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทตามคำจำกัดความของคำว่า"งาน" ดังกล่าวข้างต้น การจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8มาตรา 12 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้างเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ได้

          ผู้สร้างสรรค์คือใคร

          "ผู้สร้างสรรค์"  หมายความว่า  ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 4 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)

          งานอันมีลิขสิทธิ์

          งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้ หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (มาตรา 6 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)
       

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559  การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2558  เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดกับอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ขึ้นมาด้วยตนเอง ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์มีขอบเขตแห่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นแก่ผู้อื่น กับอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกง กีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้สำหรับสินค้าดังกล่าวได้ และไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่โจทก์อนุญาตให้บริษัท ส. นำภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง แล้วบริษัท ส. โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อและกางเกงจึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมายการค้านี้อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดหาใช่การกระทำต่อภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดของโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543  พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
          การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
          หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
          แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์"แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
           แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7


          การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ด้วย
          มาตรา 8 "ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
          (1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น
          (2)ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักร หรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่ง ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรกในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย"

          ซึ่งการโฆษณาอันเป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 8 มีความหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 4 กล่าวคือ "การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูปหรือ ลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนาจำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดง หรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยาย หรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพเกี่ยวกับงานใด  การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้าง งานสถาปัตยกรรม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9801/2555  น. เป็นผู้คิดค้นรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทสปอร์ตเรียลลิตี้ “THE WINNER” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์จัดประกวดและคัดเลือกนักฟุตบอลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อทำการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ แม้รูปแบบรายการโทรทัศน์ดังกล่าวที่ น. คิดขึ้นในขณะนำมาเสนอกับจำเลยจะยังไม่มีการแสดงออกทางความคิดจนเกิดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์โดยมี น. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวและได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน โดยจำเลยตกลงที่จะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการได้สิทธิผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์อนุญาตให้สิทธิจำเลยผลิตรายการตามรูปแบบรายการดังกล่าวและนำไปออกอากาศจึงมีผลผูกพันและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลย
          โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ชื่อ “THE WINNER” ก่อนที่โจทก์จะได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวซึ่งขณะนั้นไม่มีงานลิขสิทธิ์เกิดขึ้น การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะต้องมีการสร้างสรรค์งานและเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
          โจทก์เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนที่จำเลยจะนำมาตัดต่อเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เป็นตอนที่ 1 ถึง 3 โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
          จำเลยได้มีการประชุมร่วมกับโจทก์และตกลงให้จำเลยตัดต่อเทปต้นฉบับเพื่อออกอากาศใหม่ ถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำการตัดต่อเทปตอนที่ 1 ถึง 3 ใหม่ตามการแสดงออกทางความคิดของจำเลยเพื่อออกอากาศ เป็นการที่โจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงงานโสตทัศน์วัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปโทรทัศน์รายการโทรทัศน์ที่ดัดแปลงแล้วนำออกอากาศในตอนที่ 1 ถึง 3 ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11 จำเลยนำเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึง 3 ที่จำเลยได้ออกอากาศมาตัดต่อใหม่เป็นเทปรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตอนที่ 4 ถึง 6 เป็นการที่จำเลยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ตอนที่ 4 ถึงที่ 6 ดังกล่าว
          เทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 เป็นเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยสร้างสรรค์ขึ้นภายหลังที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ให้สิทธิจำเลยในการผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในรูปแบบรายการดังกล่าว โดยไม่ปรากฎข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิต จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2553  โจทก์มีสัญชาติเยอรมัน แต่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าประเทศที่โจทก์ถือสัญชาติเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี หรือขณะสร้างสรรค์งานโจทก์อยู่ในราชอาณาจักรหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งาน หรืองานของโจทก์ได้มีการโฆษณางานในราชอาณาจักรหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีแล้ว อันเป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2534  ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาทำขึ้นพร้อมคำแปลและอ้างเป็นพยานว่า พ. รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท ด. ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของ พ.ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ ร.โนตารีปับลิกมลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า พ. และ ด. ทำการปฏิญาณต่อหน้าตน น. เสมียนเคาน์ตี้และจ่าศาลของศาลซูพรีมคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์กประจำเคาน์ตี้ออฟนิวยอร์กรับรองว่า ร.เป็นโนตารีปับลิกประจำมลรัฐนิวยอร์กและเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย.กงศุลใหญ่ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์กรับรองลายมือชื่อของ น. ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวมีการรับรองกันมาตามลำดับเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง จึงนำมาฟังประกอบคำเบิกความของ ล. กรรมการบริษัท ซ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งบริษัท ซ. ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทยติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของโจทก์ได้
          ขณะเกิดเหตุประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า "งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)... ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา..." ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ  งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาแม้จะถือเป็นการโฆษณา แต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯและมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า "โฆษณา" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาเท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้.


          อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

          มาตรา 19 "ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย
          ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
          ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
          มาตรา 20 "งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้ นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ ห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างงานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
          มาตรา 21 "ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
          มาตรา 22 "ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นแต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
          มาตรา 23 "ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมตาม มาตรา 14 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นแต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
          มาตรา 24 "การโฆษณางานตามมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือมาตรา 23 อันเป็นการเริ่มนับอายุ แห่งการ คุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกทำการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์"

          การละเมิดลิขสิทธิ์

          มาตรา 27 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน"
          มาตรา 28 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียง และหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
          (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว
          มาตรา 28/1  "การทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพหรือทั้งเสียงและภาพจากภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ในโรงภาพยนตร์ตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ในระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมิให้นำมาตรา 32 วรรคสอง (2) มาใช้บังคับ"
          มาตรา 29 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
          (2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
          (3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า"
          มาตรา 30 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราช-บัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
          (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว"
          มาตรา 31 "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดัง ต่อไปนี้
          (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
          (3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
          (4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559  องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ
          แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2559  โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานบันทึกเสียงและงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย โดยนำแผ่นซีดีที่บันทึกเนื้อร้อง ทำนองเพลง และภาพคาราโอเกะ ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการเผยแพร่งานดังกล่าวของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551 โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ซึ่งความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้นแต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10377/2555  การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 ต้องเป็นการกระทำโดยตรงแก่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำโดยใช้งานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน โดยกรณีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายบัญญัติแยกลักษณะการกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ต่างหากในมาตรา 31 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์กับการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแล้วจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
          ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยนำเอาแผ่นซีดีเพลงซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายมาเปิดเผยแพร่เสียงต่อสาธารณชนภายในร้านข้าวต้มของจำเลย โดยจำเลยรู้ว่าแผ่นดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 28 แต่กลับเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 69 ไม่ว่าจะเป็นวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

          ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

          มาตรา 32 "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงาน อันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
          (5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ โดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
          (7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอน หรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
          (8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
          (9)  ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร  ทั้งนี้ รูปแบบของการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการ และองค์กรผู้จัดทำ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา"
          มาตรา 32/1  "การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
          มาตรา 32/2  "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำหรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำที่จำเป็นต้องมีสำหรับการนำสำเนามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการส่งงานอันมีลิขสิทธิ์ทางระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
          มาตรา 33 "การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึง ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง"
          มาตรา 34 "การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
          (2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการ วิจัยหรือการศึกษา"
          มาตรา 35 "การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อหากำไรและได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควร โดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจาก บุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษา หรือป้องกันการสูญหาย
          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
          (7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
          (8) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
          (9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิงหรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ ของสาธารณชน"
          มาตรา 36 "การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรม ออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการ เพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อ สาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม และนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง"
          มาตรา 37 "การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การ แกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการ กระทำใดๆ ทำนอง เดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมนั้น"
          มาตรา 38 "การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การ พิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์หรือ การแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น"
          มาตรา 39 "การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใดๆ อันมีศิลปกรรมใด รวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น"
          มาตรา 40 "ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วยการที่ผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ทำ ศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูล ที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบในส่วนอันเป็น สาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น"
          มาตรา 41 "อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
          มาตรา 42 "ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น"
          มาตรา 43 "การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง"

          สิทธิของนักแสดง

          มาตรา 44 "นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดัง ต่อไปนี้
          (1) แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว
          (2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว
          (3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือสิ่งบันทึกการแสดง ที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงตามมาตรา 53"
          มาตรา 45 "ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
          คำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด"
          มาตรา 46 "ในกรณีที่การแสดงหรือการบันทึกเสียงการแสดงใดมีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงเหล่านั้นอาจแต่งตั้งตัวแทนร่วมเพื่อดูแลหรือบริหารเกี่ยวกับสิทธิของตนได้"
          มาตรา 47 "ให้นักแสดงมีสิทธิในการแสดงตามมาตรา 44 หากเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
          (1) นักแสดงนั้นมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือ
          (2) การแสดงหรือส่วนใหญ่ของการแสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"
          มาตรา 48 "ให้นักแสดงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมาตรา 45 หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
          (1) นักแสดงมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ในขณะที่มีการบันทึกเสียงการแสดงนั้น หรือในขณะที่เรียกร้องสิทธิ หรือ
          (2) การบันทึกเสียงการแสดงหรือส่วนใหญ่ของการบันทึกเสียงการแสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง สิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"
          มาตรา 49 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการแสดง ในกรณีที่มีการบันทึกการแสดงให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการบันทึกการแสดง"
          มาตรา 50 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 45 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการบันทึกการแสดง"
          มาตรา 51 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 และมาตรา 45 ย่อมโอนให้แก่กันได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครอง ก็ได้
          ในกรณีที่มีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงมีสิทธิโอนเฉพาะสิทธิส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น
          การโอนโดยทางอื่นนอกจากทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนดระยะเวลาสามปี"
          มาตรา 51/1  "นักแสดงย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่า ตนเป็นนักแสดงในการแสดงของตน และมีสิทธิห้ามผู้รับโอนสิทธิของนักแสดงหรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่การแสดงนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของนักแสดง และเมื่อนักแสดงถึงแก่ความตาย ทายาทของนักแสดงมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง  ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร"
          มาตรา 52 "ผู้ใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือไม่จ่ายค่าตอบแทนตามมาตรา 45 ให้ถือว่าผู้นั้นละเมิดสิทธิของนักแสดง"
          มาตรา 53 "ให้นำมาตรา 32 มาตรา 32/2 มาตรา 32/3 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลม"

          งานอันไม่มีลิขสิทธิ์

          สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
          (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี  แผนกวิทยาศาสตร์  หรือแผนกศิลปะ
          (2) รัฐธรรมนูญ  และกฎหมาย
          (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือตอบโต้ของ กระทรวง  ทบวง  กรม  หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
          (4) คำพิพากษา  คำสั่ง  คำวินิจฉัย  และรายงานของทางราชการ
          (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น (มาตรา 7 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)