12 มีนาคม 2567

สัญญาว่าจ้างที่หน่วยงานเทศบาลไม่กำหนดรายละเอียดงานบางอย่างไว้ในสัญญา แม้มิใช่เหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาทำงานได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นฯ

               สัญญาทางปกครอง

               ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (1) (2) และ (3) กําหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีอํานาจงดหรือลดค่าปรับ หรือขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาได้ กรณีมีเหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

               แต่มักจะเกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจพิจารณาสั่งการ ที่จะวินิจฉัยว่ากรณีใดบ้างจะถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” หรือ “เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงาน” ที่ทําให้สามารถงดหรือลดค่าปรับหรือขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ และสำหรับในส่วนของผู้รับจ้างซึ่งเป็นเอกชนที่อาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบข้อกฎหมาย ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ไม่ถูกต้อง

               มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยไว้
               คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 480/2557   เป็นกรณีการใช้อํานาจของนายกเทศมนตรีมีคําสั่งอนุญาตขยายเวลาให้กับผู้รับจ้างก่อสร้าง แต่ต่อมาสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า เหตุผลการขอขยายระยะเวลามิใช่ “เหตุสุดวิสัย” ทําให้เทศบาลใช้อํานาจเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินในช่วงที่มีการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาและท้ายที่สุดเมื่อเทศบาลไม่สามารถใช้สิทธิเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินได้ เทศบาลจึงใช้อํานาจออกคําสั่งเรียกให้นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจอนุญาตให้ผู้รับจ้างขยายเวลาการปฏิบัติตามสัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
               ข้อเท็จจริงในคดีคือ ผู้ฟ้องคดีขณะนั้นดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีได้ทําสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจํากัด ป. ก่อสร้าง “สวนภูมิรักษ์” ของเทศบาล (สวนสาธารณะ) โดยผู้รับจ้างต้องปลูกต้นไม้ต่างๆ พร้อมจัดวางระบบให้น้ํา โดยสัญญาแบ่งการจ่ายเงินค่าจ้างเป็น 7 งวด ในระหว่างการทํางานผู้รับจ้างได้ขอขยายระยะเวลาตามข้อ 22 ของสัญญา และผู้ฟ้องคดีได้มีคําสั่งอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้าง โดยงดเว้นค่าปรับ 36 วัน คิดเป็นเงินค่าปรับจํานวน 1,349,568 บาท และผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายกับรับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว  
               ต่อมาสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคได้ตรวจสอบการจัดจ้างและเห็นว่ามิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามสัญญาได้เทศบาลจึงมีหนังสือเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้จากการขยายระยะเวลาดังกล่าว แต่ผู้รับจ้างเพิกเฉยและเทศบาลได้ฟ้องผู้รับจ้างเพื่อเรียกคืนเงินต่อศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งศาลปกครองมีคําพิพากษาว่าเทศบาลไม่อาจเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินค่าปรับอันเกิดจากการงดเว้นค่าปรับได้ตามบันทึกตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาก่อสร้าง
               เทศบาลจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกเทศมนตรี) ได้มีคําสั่งไล่เบี้ยให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจํานวนดังกล่าวแก่เทศบาล
               ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ในการขยายระยะเวลาตามสัญญาโดยงดเว้นค่าปรับเป็นไปตามระเบียบ (ข้อ 132 (3) ) ผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการตรวจการจ้าง ช่างควบคุมงาน และนิติกร ที่ทําหน้าที่ให้คําปรึกษาตามระเบียบขั้นตอนปฏิบัติของกฎหมาย ซึ่งมีความเห็นว่ามีความจําเป็นต้องเก็บน้ําในบ่อเพื่อทดสอบระบบน้ําและใช้น้ําดูแลรักษาพันธุ์ไม้เพื่อจะได้เห็นปัญหาและประสิทธิภาพของระบบและช่างผู้ควบคุมงานคํานวณระยะเวลาการจัดหาน้ําว่าต้องใช้เวลา 36 วัน การขยายเวลาก่อสร้างจึงเกิดประโยชน์ต่อเทศบาลมากกว่าการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงไม่ได้กระทําโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เป็นการใช้อํานาจของนายกเทศมนตรีในการบริหารราชการตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496  และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
               หลังจากผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คําสั่ง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัด) มีคําวินิจฉัยยกอุทธรณ์จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่ง
               ข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็น คือ (1) ผู้ฟ้องคดีกระทําละเมิดโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทําการโดยประมาทเลินเล่อ เนื่องจากมิได้พิจารณาสั่งการขยายระยะเวลาโดยอาศัยอํานาจของตนเองตามที่กฎหมายกําหนดโดยพลการ แต่ได้สั่งการให้คณะกรรมการตรวจการจ้างและนิติกรพิจารณา ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้ฟ้องคดีที่เป็นนายกเทศมนตรีควรมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาและผู้ฟ้องคดีก็ได้กระทําในลักษณะเช่นเดียวกัน
               (2) การขยายระยะเวลาก่อสร้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ในสัญญาจ้างกําหนดให้ผู้รับจ้างต้องปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่อนุรักษ์ไม้ยืนต้นเดิม ปลูกไม้ประดับ จัดมุมนั่งพักผ่อน ลานอเนกประสงค์สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น ทําทางเดินเท้า จัดวางระบบให้น้ํา และทําเรือนเพาะชําขนาดเล็ก โดยงานเกี่ยวกับการถมดินปรับแต่งขอบบ่อพร้อมทั้งขนย้ายตะกอนท้องบ่อ อยู่ในงวดที่ 2 งานเกี่ยวกับการปลูกหญ้าและปลูกต้นไม้อยู่ในงวดที่ 5 และงานเกี่ยวกับการวางระบบน้ํา สําหรับสนามและระบบน้ําพุอยู่ในงวดที่ 6 ย่อมแสดงว่า ในช่วงระหว่างการดําเนินงานในงวดที่ 2 บ่อน้ําจะต้องไม่มีน้ําเหลืออยู่เพื่อให้สามารถขุดลอกและขนย้ายตะกอนท้องบ่อได้ในขณะเดียวกันก็มีความจําเป็นที่จะต้องจัดหาน้ําหรือเติมน้ําลงในบ่อเพื่อใช้สําหรับการดูแลรักษาต้นไม้และหญ้าที่กําหนดให้ปลูกในงวดที่ 5  และทดสอบระบบน้ําสําหรับสนามและระบบน้ําพุในงวดที่ 6 แต่สัญญาจ้างไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการจัดหาน้ําหรือเติมน้ําลงในบ่อเพื่อใช้สําหรับการดูแลรักษาต้นไม้และหญ้า รวมทั้งการทดสอบระบบน้ําสําหรับสนามและระบบน้ําพุแต่อย่างใด
               โดยคู่สัญญาไม่ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นดังกล่าวมาก่อน จนกระทั่งผู้รับจ้างได้ขอขยายเวลาการก่อสร้างและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้มีความเห็นว่า เทศบาลมิได้เตรียมการเกี่ยวกับเรื่องการเติมน้ําในบ่อดินที่ขุด ทําให้มีปัญหาในระบบน้ําที่จะใช้ดูแลรักษาหญ้าและต้นไม้ฯลฯ และมีข้อสังเกตว่าน้ําในบ่อไม่มีจึงไม่สามารถทดสอบการใช้งานของปั๊มน้ําพุหรือสปริงเกอร์ได้หากปลูกต้นไม้ปลูกหญ้า ต้นไม้และหญ้าอาจตายได้
               ดังนั้น ปัญหาในเรื่องนี้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงมิได้พิจารณามาตั้งแต่ต้น ทั้งสัญญาจ้างก็มิได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้กรณีจึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง (เทศบาล) ที่ไม่ได้กําหนดรายละเอียดในการเติมน้ําในบ่อดินที่ขุดแต่งในโครงการ การขอขยายระยะเวลาจึงไม่ใช่กรณีเหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (3) และตามสัญญาจ้างข้อ 22
               การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถขยายระยะเวลาให้ผู้รับจ้างได้ เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยมิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง และระเบียบ ข้อบังคับ และข้อสัญญาจ้างในกรณีอื่น ๆ จึงเป็นการพิจารณาและฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนและไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาโดยรับฟังความเห็นของคณะกรรมการตรวจการจ้าง งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน และช่างผู้ควบคุมงานแล้วก่อนมีคําสั่งถือว่าได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาขยายเวลาทําการตามสัญญาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (1) จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้กระทําการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย